มกราคม 8, 2022

EUR/USD: จับตารอการประชุมคณะกรรมการ FOMC เดือนมกราคม

  • คู่ EUR/USD ได้ขยับในเทรนด์ด้านข้างเป็นเวลา 7 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยเคลื่อนที่ตามแนว 1.1300 ในกรอบ 1.1220-1.1385 แม้การเผยแพร่รายงานเดือนธันวาคมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการนโยบายตลาดเสรีสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นการยืนยันความจริงจังในความตั้งใจของธนาคารที่จะจำกัดนโยบายทางการเงินและเพิ่มความแข็งแกร่งให้ดอลลาร์ ทั้งนี้ มีความชัดเจนว่าธนาคารกลางฯ หวาดวิตกกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ประกอบกับไม่ได้คาดคิดว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอไมครอนจะส่งผลในทางลบเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

    เพื่อให้สถานการณ์กลับเป็นปกติ ธนาคารเฟดได้ตัดสินใจที่จะหยุดพิมพ์ธนบัตรในท้ายที่สุด และเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย แผนปฏิบัติการในอนาคตอันใกล้นั้นประกอบด้วย 3 ขั้นหลัก คือ 1. การจำกัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉินในเดือนมีนาคม 2. การขึ้นอัตราดอกเบี้ยสามครั้งในปี 2022 ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมเช่นกัน หลังจากนั้น 3. ธนาคารฯ จะเริ่มปรับสมดุลให้เป็นปกติ

    ความตั้งใจเหล่านี้ของธนาคารเฟดส่งผลให้กระแสเงินไหลออกจากสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง ดัชนีหุ้นและคริปโตเคอเรนซีร่วงลง ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และดัชนีดอลลาร์ DXY ขยับสู.ขึ้น แต่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไม่มากนัก โดยขึ้นมาเพียง 45 จุดเทียบกับยูโร ทำให้คู่ EUR/USD ขยับลงมาจาก 1.1345 ลงมาที่ Pivot Point คือ 1.1300

    การประกาศสถิติจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญของสัปดาห์ จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 249K เป็น 400K อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวกลับลงมาเหลือ 199K ในอีกด้านหนึ่ง อัตราว่างงานลดลงจาก 4.2% เหลือ 3.9% จากตัวเลขคาดการณ์ที่ 4.1% ดังนั้น นักลงทุนจึงไม่ได้รับสัญญาณที่ชัดเจนใด ๆ และราคาก็ปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่กรอบด้านบนที่ 1.1360

    ผู้เชี่ยวชาญบางท่านมองว่า ความแตกต่างระหว่างทัศนคติแบบเหยี่ยวของธนาคารเฟดและแบบพิราบของธนาคารกลางยุโรปจะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อในที่สุด และคู่ EUR/USD เคลื่อนที่ไปยังทิศใต้

    ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของปี 2022 ในที่ประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2021 แต่ก็ยังมองว่าเป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว ตอนนี้จึงยังไม่ควรกังวลใด ๆ และก็มีการประกาศอีกครั้งว่าอัตราดอกเบี้ยในการปรับโครงสร้างหนี้จะยังคงอยู่ที่ระดับปัจจุบันไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2.0% และจะอยู่ที่ระดับดังกล่าวไปอีกนาน ท้ายที่สุด ผลลัพธ์ “หลัก” ของการประชุมประจำเดือนธันวาคมของธนาคารกลางยุโรปคือคำแถลงของ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารฯ ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 นั้น “มีแนวโน้มต่ำ”

    นักยุทธศาสตร์ธนาคารจากเนเธอร์แลนด์ ING Group (Internationale Nederlanden Groep) ได้โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น พวกเขาเชื่อว่าคู่ EUR/USD จะขยับลงมายังโซน 1.1100 ในไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และจะลงมาต่ำอีกที่ 1.1000 ในไตรมาสที่ 4

    นักวิเคราะห์จากหนึ่งในเครือบริษัทการเงินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก HSBC (Hongkong and Shanghai Banking Corporation) เห็นด้วยกับ ING โดยทำนายแนวโน้มขาลงของคู่นี้เช่นกัน

    ด้าน CIBC (Canadian Imperial Bank of Commerce) มองภาพรวมของ EUR/USD ดังนี้: Q2 - 1.1100, Q3 - 1.1000, Q4 - 1.1000 ส่วน JP Morgan ประเมินแนวโน้มของคู่นี้น้อยกว่า โดยชี้ไปที่ระดับ 1.1200

    อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองในทางตรงกันข้ามในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ เช่น Barclays Bank ประเมินแล้วว่าดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินความเป็นจริง ดังนั้นคาดว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเมื่อความต้องการในความเสี่ยงและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอัตราเงินเฟ้อที่นิ่งขึ้น การคาดการณ์ของ Barclays มองว่า EUR/USD จะมีแนวโน้มดังนี้: Q1 - ขยับขึ้นไปที่ 1.1600, Q2 - 1.1800, Q3 และ Q4 ในโซน 1.1900

    Morgan Stanley เชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดจะเป็นไปอย่างราบรื่น ในขณะที่ธนาคารกลางแห่งอื่น ๆ จะเปลี่ยนทิศทางนโยบายจากแบบพิราบเป็นเหยี่ยว (จากผ่อนคลายเป็นรัดเข็มขัดมากขึ้น) สถานการณ์นี้จะนำไปสู่ท่าทีที่พ้องกันในหมู่ธนาคารกลาง และจะยิ่งเสริมแรงกดดันต่อดอลลาร์ ทำให้คู่ EUR/USD ขยับขึ้นไปที่ 1.1800 ด้านนักยุทธศาสตร์จาก Goldman Sachs ก็ชี้ถึงเป้าหมายเดียวกัน

    สำหรับในระยะใกล้นั้น แม้ดัชนี NFP จะออกมาย่ำแย่ เราคาดว่าราคาคู๋นี้จะขยับต่อไปตามระดับ 1.1300 จนกว่าจะถึงการประชุมรอบเดือนมกราคม โดยราคาจะผันผวนในกรอบ 1.1220-1.1385 โดยมีฝั่งหมีปกคลุมเป็นหลัก นักวิเคราะห์ 70% ก็เห็นด้วยกับการคาดการณ์นี้ ในขณะที่ 15% มีท่าทีเป็นกลาง และอีก 15% เห็นด้วยกับฝั่งกระทิง

    ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ไม่สม่ำเสมอกัน เพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวโน้มด้านข้างในรอบหลายสัปดาห์ ในส่วนออสซิลเลเตอร์ 60% ชี้ไปยังทิศเหนือ แต่ 20% ให้สัญญาณแล้วว่าราคาอยู่ในโซน overbought, 20% ชี้ไปทางทิศใต้ และ 20% ชี้ไปทางทิศตะวันออก ส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ให้ผลลัพธ์ 55% สีเขียว และอีก45% เป็นสีแดง

    ระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ 1.1385 จากนั้นคือ 1.1435-1.1465 และ 1525 ส่วนระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุด คือ

    1.1275 ตามมาด้วย 1.1220 ซึ่งเป็นระดับที่ต่อจากระดับต่ำสุดของวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ 1.1185 และโซน 1.1075-1.1100

    ปฏิทินเศรษฐกิจของสัปดาห์ที่จะถึงนี้เน้นการประกาศรายงานในวันที่ 12, 13 และ 14 มกราคม จากสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนียอดขายปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต และปริมาณการขายปลีกในเดือนธันวาคม 2021

GBP/USD: เหยี่ยวธนาคารอังกฤษ vs เหยี่ยวธนาคารเฟด

  • ข้อเท็จจริงก็คือ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษเริ่มรับมือกับราคาที่ปรับสูงขึ้นในเดือนธันวาคมและส่งผลเป็นแรงสะเทือนต่อตลาด ซึ่งเป็นแนวทางที่แตกต่างไปจากธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรป หลังจากอัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรขยับขึ้นมาที่ 5.1% ถึงระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ธนาคารฯ ก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบสามปีจาก 0.1% เป็น 0.25% การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ของโรคระบาดที่เลวร้ายยิ่งขึ้นเนื่องด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แอนดริว ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษประกาศว่าภารกิจอันดับแรกสุดคือการรับมือกับแรงกดดันของราคาต่อเศรษฐกิจและสังคม

    แน่นอนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 15 จุดพื้นฐานนั้นถือว่าไม่มากนัก แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ก้าวแรกได้เกิดขึ้นแล้วและตลาดก็คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สองในเดือนกุมภาพันธ์

    การคาดการณ์ดังกล่าวสนับสนุนเงินปอนด์อังกฤษอย่างต่อเนื่อง และคู่ GBP/USD ก็ได้ทำระดับสูงสุดในรอบแปดสัปดาห์เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ 1.3598 และปิดตลาดท้ายสัปดาห์ต่ำกว่าเล็กน้อยที่ระดับ 1.3590

    นักยุทธศาสตร์ที่ธนาคาร Barclays Bank จากอังกฤษเชื่อว่า เงินปอนด์ยังมีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรมาก และนโยบายของธนาคารเฟดจะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงในที่สุด พวกเขายังไม่ตัดโอกาสว่า คลื่นการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับอียูเนื่องด้วยเบร็กซิตนั้นอาจส่งผลให้ราคาคู่นี้ร่วงลงต่อไปยัง 1.3300 ในไตรมาสที่ 1 อย่างไรก็ตาม จากนั้นราคาจะขยับขึ้นอีกครั้ง (Q2 - 1.3700, Q3 - 1.4000) และจะกลับสู่ระดับสูงสุดปี 2021 ภายในสิ้นปี (Q4) ที่ระดับ 1.4200

    Capital Economics หนึ่งในศูนย์วิจัยอิสระชั้นนำจากสหราชอาณาจักรมีมุมมองในทางตรงกันข้าม ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นี้มองว่าเงินปอนด์จะอ่อนค่า และกล่าวถึงการผสมผสานกันระหว่าง 1) อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ 2) การชะลอตัวของภาวะเงินเฟ้อ และ 3) ความเชื่องช้าของธนาคารแห่งชาติอังกฤษ ปัจจัยทั้งสามประการนี้อาจส่งผลให้ธนาคารกลางฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เพียง 0.5% เท่านั้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แทนที่จะเป็น 1.0% ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดผิดหวังเป็นอย่างมาก

    แต่นอกเหนือไปจากการเติบโตและการอ่อนค่าของเงินปอนด์แล้ว ยังมีมุมมองในสถานการณ์ที่สาม นักวิเคราะห์จาก ING Group ทำนายว่าเงินปอนด์จะอยู่บริเวณตรงกลางของรูปสามเหลี่ยมของดอลลาร์ที่แข็งแกร่งมากกว่า รวมถึงค่าเงินสินค้าโภคภัณฑ์ที่คงที่ และผลตอบแทนต่ำที่อ่อนแอลง ดังนั้น ในมุมมองนี้ คู่ GBP/USD จะขยับในทิศทางด้านข้างตามแนวระดับ 1.3400

    หากเราพูดถึงอนาคตอันใกล้ของคู่นี้ นักวิเคราะห์ 40% โหวตให้กับแนวโน้มการเติบโตไปที่ระดับ 1.3600 อีก 50% โหวตแนวโน้มขาลงต่ำกว่า 1.3400 และอีก 10% โหวตให้กับเทรนด์ด้านข้าง

    อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 สรุปผลที่ค่อนข้างสดใส ในหมู่ออสซิลเลเตอร์ 100% ให้สัญญาณสีเขียว อีก 25% ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought แล้ว ส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ชี้ว่า  90% เป็นสีเขียว และมีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นสีแดง

    ระดับแนวรับตั้งอยู่ที่ 1.3525, 1.3480, 1.3430, 1.3375 ส่วนแนวรับที่สำคัญถัดไปอยู่ต่ำลงมา 100 จุด ส่วนแนวต้านคือ 1.3600, 1.3735, 1.3835

    ในสัปดาห์หน้านี้จะมีการประกาศสถิติเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญจากสหราชอาณาจักรไม่มากนัก เราอาจเน้นสถิติปริมาณการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจะเผยแพร่ในวันอังคารที่ 11 และวันศุกร์ที่ 14 มกราคม

USD/JPY: ราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี

  • สีของอินดิเคเตอร์สำหรับคู่นี้เป็นสีเขียวปกคลุมเป็นหลัก แต่มีความแตกต่างไปจาก GBP/USD ตรงที่ คู่นี้ไม่บ่งชี้ถึงดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง แต่กลับเป็นการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์

    เราเคยเขียนวิเคราะห์ไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ญี่ปุ่นต้องการให้ค่าเงินประเทศตนเองอ่อนค่า ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ออกมาชี้แจงไม่นานมานี้ว่า เงินเยนที่อ่อนค่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากกว่าสร้างความเสียหาย ซึ่งเขามองว่า เงินเยนที่อ่อนค่าจะช่วยสนับสนุนการส่งออกและกำไรของบริษัท และหากคุณดูที่กราฟของ USD/JPY คำพูดของเขาไม่ได้ต่างไปจากการกระทำ ราคาคู่นี้ได้ขยับทำระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม และขึ้นมาในจุดที่ไม่เคยขยับถึงมาก่อนตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2017 ที่ระดับ 116.35

    ผู้เชี่ยวชาญจาก ING Group ชี้ว่า การเติบโตจะไม่หยุดแค่นั้น และเราจะได้เห็นราคาคู่นี้ที่ระดับ 120.00 ภายในสิ้นปี ส่วน Morgan Stanley ก็เข้าข้างฝั่งดอลลาร์เช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้นไปที่ 118.00 ในทางกลับกันนั้น ด้าน Goldman Sachs เชื่อว่าราคาจะขยับลงมายัง 111.00 ภายในปี 2023

    ราคาปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 115.55 อย่างที่กล่าวไปแล้ว แม้ว่าจะมีการปรับฐานเล็กน้อย อินดิเคเตอร์ส่วนใหญ่บนกรอบ D1 ชี้ไปทางทิศใต้ ในหมู่ออสซิลเลเตอร์มี 90% (10% ซึ่งให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน) ส่วนอีก 10% ที่เหลือให้สัญญาณเป็นสีเทากลาง ส่วนในหมู่อินดิเคเตอร์เทรนด์ 85% แนะนำให้ซื้อ และอีก 15% ให้ขาย ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นด้วยกับอินดิเคเตอร์เช่นกัน โดย 80% ของผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับตลาดกระทิง 0% กับตลาดหมี และ 20% เลือกโซนตรงกลาง แนวรับในที่นี้ ได้แก่ 115.50, 115.00, 114.25, 113.75, 113.20, 112.55 และ 112.70 และแนวต้านที่ใกล้ที่สุด คือ 116.35

คริปโตเคอเรนซี: ฤดูหนาวคริปโตแบบสมบูรณ์? หรือแค่เย็นยะเยือกชั่วคราว?

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 10 - 14 มกราคม 20221

  • ขณะนี้เป็นช่วงกลางฤดูหนาวในภูมิภาคตอนเหนือของโลก และบรรยากาศในตลาดคริปโตก็เช่นเดียวกันคือต่ำกว่าศูนย์ ราคาปรับลงต่อเนื่อง และยังไม่มีสัญญาณว่าจะอุ่นขึ้นแม้แต่น้อย อีกหนึ่งคลื่นความหนาวปรากฏขึ้นหลังจากมีข่าวออกมาเมื่อคืนวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมาว่า ธนาคารเฟดพร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดและในอัตราที่เร็วกว่าความคาดหมาย เรื่องนี้เริ่มมีความชัดเจนจากผลการประชุมประจำเดือนธันวาคมของธนาคารเฟดโดยคณะกรรมการนโยบายตลาดเสรี (FOMC)

    ข่าวนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ฝั่งตลาดหมีจู่โจมอีกครั้ง ข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในคาซัคสถานยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับบรรดานักลงทุน อย่าลืมว่านักขุดเหรียญส่วนหนึ่งย้ายหนีออกมาจากการสั่งห้ามการขุดเหรียญในจีน ทำให้คาซัคสถานกลายเป็นประเทศอันดับสองของโลกในการผลิต BTC (3 อันดับแรก คือ: สหรัฐฯ - 35.4%, คาซัคสถาน - 18.1%, รัสเซีย - 11.23%) อินเทอร์เน็ตถูกตัดการเชื่อมต่อเนื่องด้วยการประท้วงในคาซัคสถาน ซึ่งทำให้แฮชเรตในเครือข่าย BTC ลดลงเป็นอย่างมาก

    เหตุการณ์ทั้งสองนี้เป็นสาเหตุให้คู่ BTC/USD ตัดทะลุแนวรับที่บริเวณ $46,000 ซึ่งเป็นจุดที่เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วันตัดผ่าน และขยับลงมาต่ำกว่า $42,000 ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ก็ปรับลงมายังโซนน่ากลัวอย่างยิ่ง (Extreme Fear) ที่ 15 จุด จาก 100 บ่งชี้ถึงภาวะหวาดวิตกที่ปกคลุมตลาด ส่วนดัชนี Bitcoin Dominance Index ปรับตัวลงมาเหลือ 39.65% ถึงระดับต่ำสุดของเดือนธันวาคม 2021 (ทั้งนี้เคยอยู่ที่ 95.88% ที่ระดับสูงสุดเมื่อปี 2013) โดยธรรมชาติแล้ว การทรุดลงของบิทคอยน์มักจะฉุดตลาดคริปโตทั้งตลาดลงไปด้วย หากมูลค่ารวมในตลาดเคยอยู่ที่ $2.439 ล้านล้านเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม มูลค่าดังกล่าวลดลงมากว่า 19% ในวันที่ 7 มกราคม เหลือ $1.980 ล้านล้านดอลลาร์ และเป็นการตัดทะลุระดับที่สำคัญทางจิตวิทยาคือ $2 ล้านล้านดอลลาร์

    ทั้งนี้ การโจมตีของตลาดหมีเพื่อต้อนรับการประชุมครั้งถัดไปของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ในวันที่ 26 มกราคมจะเป็นอย่างไรนั้นยังคาดการณ์ไม่ได้ อเล็กซ์ ครูเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังกล่าวว่า “คาดว่านักลงทุนจะหันออกจากสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงก่อนการประชุมของธนาคารเฟด” ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ฝั่งกระทิงจะต้องเตรียมต้านทานการโจมตีรอบถัดไปในโซน $39,500- $41,900 ซึ่งบริเวณนี้เองที่ใกล้กับระดับต่ำสุดเมื่อวันที่ 12 เมษายนปีที่แล้ว นั้นเป็นช่วงที่มีสภาพคล่องสูง และรายงานจาก TradingView ชี้ว่าสภาพคล่องดังกล่าวไม่ลดต่ำลงแม้ก่อนคลื่นการทะยานขึ้นครั้งล่าสุดของสินทรัพย์เมื่อราคาบิทคอยน์ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

    แม้ว่าตลาดคริปโตจะอ่อนค่าลงเป็นสัปดาห์ที่แปดติดต่อกัน ผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนหลายคนหวังให้ฤดูใบไม้ผลิของคริปโตมาถึงในเร็ววัน เช่น บร็อค เพียร์ซ ผู้ประกอบการชื่อดังและผู้ร่วมก่อตั้ง Block One อดีตนักแสดง และอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มั่นใจว่า ราคาบิทคอยน์อาจขยับถึง $200,000 ในปีนี้ รัฐบาลกำลังพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาล และยิ่งกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น และนี่จะเป็นเหตุผลหลักที่ BTC จะพุ่งทะยานขึ้น “ผมจะไม่ประหลาดใจเลยหากบิทคอยน์มีราคาซื้อขายที่ $100,000 และก็ค่อนข้างเป็นไปได้ที่ราคาอาจกระโดดขึ้นไปเกิน $200,000 ชั่วขณะหนึ่ง” เขากล่าวอย่างมองโลกในแง่ดี

    แอนโธนี เทรนเชฟ ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้บริหาร Nexo ผู้ให้สินเชื่อคริปโตเคอเรนซีรายใหญ่ (กว่า $6 พันล้านเหรียญ) เชื่อคล้าย ๆ กับ บร็อค เพียร์ซ “ผมคิดว่าบิทคอยน์จะขยับถึง $100,000 ในปีนี้ หรือบางทีอาจภายในกลางปีนี้” ทำนายโดย เทรนเชฟ

    จอห์น วู ประธานบริษัทการลงทุน Ava Labs แสดงความเห็นในบทสัมภาษณ์กับ CNBC ว่า มูลค่ารวมในตลาดคริปโตจะสูงเกิน $5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2022 เขาทำนายว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีศักยภาพที่จะทวีคูณมูลค่าตลาดในปีหน้านี้ (ซึ่งมูลค่ารวมในตลาด ณ ปัจจุบัน ขณะเขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้คือ $2.25 ล้านล้านดอลลาร์

    เขายังมองด้วยว่า คริปโตเคอเรนซีจะเป็นสินทรัพย์ประเภทเดียวที่สามารถทนทานต่อการดำเนินการของธนาคารเฟด และอัตราเงินเฟ้อที่ทำสถิติสูงสุด ซึ่งขยับถึงระดับสูงสุดในสหรัฐฯ ในรอบเกือบ 40 ปี เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา นายวูยังทำนายด้วยว่าส่วนแบ่งของบิทคอยน์จะลดลงต่ำกว่า 30% เมื่อตลาดคริปโตเติบโตขึ้น แต่ราคาเหรียญอาจขยับสูงขึ้นเป็น $75,000 ต่อเหรียญ

    อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจในการประเมินแนวโน้มราคาบิทคอยน์นั้นถูกนำเสนอโดยนักวิเคราะห์ที่ชื่อว่า เบนจามิน โคเวน เขามองว่าบิทคอย์ถึงจุดต่ำสุดไปเรียบร้อยแล้ว แต่นักเทรดหลายคนยังมองว่าเทรนด์ตลาดหมียังคงดำเนินต่อไป โคเวนชี้ว่า การมองมูลค่าของบิทคอยน์จะชัดเจนมากขึ้นหากไม่มองที่คู่ BTC/USD แต่เป็นการพิจารณามูลค่าโดยเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเมื่อเทียบ BTC กับดัชนี S&P500 บิทคอยน์นั้นได้ขยับถึงระดับแนวรับสำคัญแล้ว ซึ่งเขาเชื่อว่า “หากคุณมองบิทคอยน์ในกระจกของตลาดหุ้น บิทคอยน์กำลังทดสอบระดับที่เคยทดสอบเมื่อเดือนกันยายน”

    ผู้เชี่ยวชาญ Glassnode เห็นด้วยกับ เบนจามิน โคเวน เช่นกัน แต่พวกเขาใช้แนวทางการวิเคราะห์ตลาดที่แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง พวกเขาประเมินว่า ดัชนีตลาด BTC ให้ภาพในเชิงค่อนข้างบวก เนื่องจากมีปริมาณสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องเพิ่มสูงขึ้น Glassnode วิเคราะห์อุปทานของบิทคอยน์ในรายงานฉบับวันที่ 3 มกราคม 2022 ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่บิทคอยน์เคลื่อนที่ในทิศทางด้านข้างในปีนี้ ปริมาณที่ขาดสภาพคล่องเร่งตัวสูงขึ้นและตอนนี้คิดเป็น 76% ของปริมาณรวมทั้งหมด Glassnode ให้นิยามคำว่าขาดสภาพคล่องว่าเป็นเหรียญบิทคอยน์ที่เก็บในวอลเล็ตโดยไม่มีประวัติการใช้จ่าย ส่วน BTC ที่มีสภาพคล่องคิดเป็น 24% อยู่ในวอลเล็ตที่มีการใช้จ่ายเป็นประจำหรือใช้ซื้อเหรียญต่าง ๆ

    ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่ามีเหรียญบิทคอยน์เพิ่มขึ้นที่ถูกเก็บออมไว้ ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มการสะสมที่เพิ่มสูงขึ้น ปริมาณเหรียญที่มีสภาพคล่องสูงยังเป็นสัญญาณด้วยว่า ไม่มีความจำเป็นที่แนวโน้มการเทขายครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นหรือการต้องยอมจำนนพ่ายแพ้ต่อตลาดหมีในอนาคตอันใกล้

    อีกไม่นานก็จะถึงการประชุมของธนาคารเฟดในวันที่ 26 มกราคม เราจะได้ทราบกันว่าการคาดการณ์ดังกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่ โดยสรุปแล้ว เราขอเอ่ยถึงคำกล่าวของ เบนจามิน โควิน ว่า “ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ในเรื่องของการลงทุน…ทุกโมเดลอาจผิดได้ แต่บางโมเดลก็อาจมีประโยชน์ได้”

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)