มิถุนายน 25, 2022

EUR/USD: แค่สัปดาห์ที่นิ่งสงบ

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 27 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม1

  • สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ค่อนข้างนิ่งสงบสำหรับคู่ EUR/USD ราคาขยับตามระดับ Pivot Point ที่ 1.0500

    และช่วงความผันผวนสูงสุดนั้นต่ำกว่า 140 จุด (1.0468-1.0605) ซึ่งค่อนข้างเล็กน้อยสำหรับช่วงปัจจุบัน

    การร้องขอของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ โดยยกเว้นข้อเสนอมาตรการหยุดพักภาษีเชื้อเพลิงเป็นเวลา 3 เดือนนั้นจริง ๆ แล้วไม่มีความหมายอะไรนัก เพราะภาษีน้ำมันนั้นคิดเพียง 18 เซนต์ต่อแกลลอนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า 4% ดังนั้น มาตรการระยะสั้นดังกล่าวจึงไม่มีผลต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อแต่อย่างใด

    สำหรับธนาคารเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดได้กล่าวต่อสภาคองเกรส โดยไม่มีเรื่องใหม่ ๆ เช่นกัน เขาแค่เพียงยืนยันว่า แม้จะมีภัยภาวะเศรษฐกิจถดถอย ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อโดยการลดสภาพคล่องออกจากระบบต่อไป ความตั้งใจเหล่านี้ยังได้รับการยืนยันจาก มิเชลล์ โบว์แมน กรรมการบริหารของธนาคารเฟด ซึ่งเธอกล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนกรกฎาคมและอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมครั้งถัด ๆ ไปของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการนโยบายตลาดเสรีสหรัฐฯ) ไม่ใช่แค่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังมีความจำเป็น

    ผู้บริหารทั้งสองคนนี้ไม่ได้กล่าวอะไรที่น่าประหลาดใจ และตลาดก็ได้เก็งท่าทีดังกล่าวไว้ในราคาอยู่นานแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชุด 10 ปี ลดลงทำระดับต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จาก 3.5% เหลือ 3% ด้านตลาดหุ้น (S&P500, Dow Jones และ Nasdaq) รวมถึงสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ขยับขึ้นมาเล็กน้อย และราคาสินค้าเชื้อเพลิงพลังงานต่ำลง โดยราคาน้ำมันลดลง 10-13% ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา

    เศรษฐกิจมหภาคซึ่งประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน แม้จะก่อให้เกิดความผันผวนในช่วงต้น แต่ท้ายที่สุดก็พาคู่ EUR/USD กลับมายังระดับสมดุลราวกับเป็นการแกว่งตัว สาเหตุก็คือดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจทั้งในอียูและสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ ในยูโรโซน ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิตคาดว่าจะลดลงจาก 54.6 เหลือ 54.0 แต่ในความเป็นจริงลดลงเหลือ 52.0 ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคบริการให้ตัวชี้วัดที่คล้ายกัน โดยลดลงจาก 56.1 เหลือ 52.8 แทนที่การคาดการณ์ที่ 55.8 จุด ด้านดัชนี Markit ลดลง 2.9 จุด แทนที่ 0.6 โดยขยับลดลงจาก 54.8 เหลือ 51.9 (ตัวเลขคาดการณ์ที่ 54.2)

    ทางด้านสถิติจากฝั่งอเมริกาก็น่าผิดหวังไม่ต่างกัน ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิตลดลง 4.6 จุด เหลือ 52.4 (ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 57.0 และตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 56.0) ดัชนีที่คล้ายกันในภาคบริการปรากฏว่าดีขึ้นเล็กน้อย โดยลดลงจาก 53.4 เหลือ 51.6 จุด (ตัวเลขคาดการณ์คือ 53.0) ส่งผลให้ดัชนีประกอบของกิจกรรมทางธุรกิจลดลงจาก 53.6 เหลือ 51.2 แทนที่การคาดการณ์ที่ 52.8 จุด

    EUR/USD ปิดตลาดที่ 1.0555 ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ในช่วงเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน คะแนนโหวตของผู้เชี่ยวชาญนั้นแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้: 35% โหวตให้กับฝั่งกระทิง 55% โหวตให้กับฝั่งตลาดหมี และ 10% ไม่สามารถตัดสินใจได้ ด้านผลวิเคราะห์ของอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ดูค่อนข้างน่าสับสน ในส่วนออสซิลเลเตอร์มี 35% ให้สัญญาณสีแดง 25% สีเขียว และ 40% เป็นสีเทากลาง ในหมู่อินดิเคเตอร์เทรนด์มี 60% เปีนสีแดง และ 40% เป็นสีเขีบว ระดับแนวต้านที่แข็งแกร่งและใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 1.0600 ซึ่งหากพิชิตสำเร็จ ฝั่งกระทิงจะพยายามตัดผ่านแนวต้านที่ 1.0640 และขยับขึ้นไปยังโซน 1.0750-1.0770 โดยเป้าหมายถัดไปคือ 1.0800 และนอกจากระดับที่ 1.0500 ภารกิจที่ 1 ของฝั่งตลาดหมีคือการหลุดแนวรับที่ 1.0470 และอัปเดตราคาต่ำสุดของวันที่ 13 พฤษภาคมที่ 1.0350 หากทำสำเร็จ ตลาดหมีจะลงไปจู่โจมราคา low ของปี 2017 ที่ 1.0340 ซึ่งจะมีแค่แนวรับจาก 20 ปีก่อนหน้ารออยู่ด้านล่างเท่านั้น

    ในสัปดาห์นี้จะมีการประกาศสถิติตลาดผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน สถิติตลาดผู้บริโภคของเยอรมนีในวันที่ 29 และ 30 มิถุนายน และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (CPI) ในวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม ด้านดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ จะประกาศในวันที่ 1 กรกฎาคมเช่นกัน นอกจากนี้ นักเทรดควรให้ความสนใจสถิติ GDP สหรัฐฯ (Q1) ซึ่งจะประกาศให้ทราบในวันที่ 29 มิถุนายน อีกทั้ง การกล่าวแถลงของ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปในสัปดาห์นี้ ซึ่งเธอจะแถลงในวันที่ 27 28 และ 29 มิถุนายน นอกจากนี้ เจอโรม พาวเวลล์ ก็กล่าวแถลงด้วยเช่นกันในวันพุธที่ 29 มิถุนายนนี้

GBP/USD: มองหาปัจจัยขับเคลื่อน

  • หลังจากราคาปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ระดับ 1.2216 คู่ GBP/USD ก็ได้ปิดตลาดที่ 1.2280 ถ้าเทียบกับระยะเวลาตั้งแต่ 13 ถึง 17 มิถุนายน ซึ่งความผันผวนสูงสุดนั้นมากกว่า 470 จุด ความผันผวนในสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าน้อยกว่าถึง 3 เท่า โดยอยู่ที่เพียง 160 จุดเท่านั้น ความนิ่งสงบนี้นั้นเป็นเพราะไม่มีเหตุการณ์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็บ่งบอกด้วยว่า ตลาดไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอะไรกับเงินปอนด์ และกำลังมองหาปัจจัยขับเคลื่อนที่จะพาราคาไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

    นักวิเคราะห์บางคนมองว่า เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นไม่ได้เพราะติดอุปสรรคเรื่องการขาดเสถียรภาพทางการเมือง นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ได้เอาตัวรอดจากการลงคะแนนไม่ไว้วางใจในเดือนมิถุนายน โดยมีสมาชิกสภาบางท่านจากพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาเองที่ลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเขา นอกจากนี้ หลังจากการเลือกตั้งซ่อม พรรคของเขาสูญเสียสองที่นั่งในสภาอังกฤษ

    ในแง่ของเศรษฐกิจอังกฤษ ดัชนีค้าปลีกลดลง 0.5% เดือนต่อเดือนในช่วงเดือนพฤษภาคม อ้างอิงจากสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งผลปรากฏว่าดีกว่าการคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อย ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าดัชนีจะลดลง 0.7% แต่ก็ไม่ได้ช่วยค่าเงินปอนด์เท่าไรนัก เนื่องจากดัชนีต่อปีขยับถึง 9.1% ทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นนั้นเป็นเพราะราคาน้ำมันและราคาสินค้าอาหารที่สูงขึ้น

    ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า อัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรจะเพิ่มขึ้นต่อไป และอาจสูงเกิน 11% ภายในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ มีความชัดเจนว่าสิ่งนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน เพราะระดับรายได้ลดลง มูลค่าจริงของเงินออมก็ลดลง และยังบั่นทอนกำลังซื้อในปัจจุบันอีกด้วย ในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารอังกฤษ (BoE) จึงด้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 1.00% เป็น 1.25% เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 365 จุด ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ธนาคารกลางจะเลิกกลัวว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่? นักเทรดและนักลงทุนหลายคนยังมีข้อกังขาในเรื่องนี้

    ณ ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 40% เชื่อว่าคู่ GBP/USD จะพยายามทดสอบระดับแนวต้านอีกครั้งที่ 1.2400 ในอนาคตอันใกล้ ในทางกลับกันก็รอให้ราคากลับมาทดสอบแนวรับที่บริเวณ 1.2170-1.2200 ด้านนักวิเคราะห์ 35% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง

    ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 สมดุลอำนาจอยู่ที่ 75-25% ซึ่งส่วนใหญ่ให้สัญญาณสีแดง ทั้งนี้ ไม่มีความได้เปรียบที่ชัดเจนในหมู่ออสซิลเลเตอร์ มี 45% เท่านั้นที่บ่งชี้แนวโน้มขาลง 25% ชี้ถึงขาขึ้น และส่วน 30% ที่เหลือบ่งบอกทิศทางด้านข้าง ระดับแนวรับอยู่ที่ระดับ 1.2170-1.2200 จากนั้นคือ 1.2075 และ 1.2040 ระดับแนวรับที่สำคัญของคู่นี้อยู่ที่ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1.2000 ตามมาด้วยราคา low ของวันที่ 14 มิถุนายนที่ 1.1932 ในกรณีที่ราคาสูงขึ้น ราคาจะพบกับแนวต้านในโซนและระดับที่ 1.2300-1.2325, 1.2400-1.2430, 1.2460 และจากนั้นคือเป้าหมายที่บริเวณ 1.2500 และ 1.2600

    สำหรับกิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้เกี่ยวกับสหราชอาณาจักร เราอาจเน้นการประกาศสถิติ GDP ของอังกฤษในไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน คำแถลงของ นายแอนดริว ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะมีขึ้นหนึ่งวันก่อนหน้า ในวันพุธที่ 29 มิถุนายน ซึ่งจะเป็นที่น่าสนใจเช่นกัน และดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในสหราชอาณาจักรของภาคการผลิตจะประกาศในช่วงท้ายสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม

USD/JPY: "หัว" และ "ไหล่" มองเห็นได้ชัด แต่จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

  • กราฟคู่ USD/JPY ทำรูปแบบหัวและไหล่ตามการวิเคราะห์ทางเทคนิคแบบคลาสสิกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากระดับที่ 134.95 ราคาได้ขยับขึ้นไปที่ 136.70 จากนั้นกลับมาที่ระดับต่ำสุดคือ 134.25 และปิดตลาดที่ 135.20

    ความไม่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ราคาขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 24 ปีอีกครั้ง โดยขยับขึ้นจาก 136.70 เมื่อวันพุธที่ 22 มิถุนายน เราเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้แล้วหลายครั้ง สำหรับการย่อตัวกลับลงมาน่าจะเป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงแร่ธาตุที่ลดลงในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ญี่ปุ่นพึ่งพาเป็นอย่างมาก รวมถึงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชุด 10 ปีที่ลดลงเช่นกัน

    เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชุด 10 ปี และคู่ USD/JPY มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อกัน และหากผลตอบแทนของพันธบัตรลดลง เงินเยนจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และคู่ USD/JPY จะเกิดเป็นแนวโน้มขาลง นี่คือสิ่งที่เราสังเกตเห็นได้ในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์ เมื่อผลตอบแทนของพันธบัตรลดลงเหลือ 3%

    สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ภาวะเงินเฟ้อของผู้บริโภครายปีของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมนั้นสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางฯ วางไว้ที่ 2% เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน ซึ่งเป็นสัญญาณถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางของญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นรอบโลก

    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การคาดการณ์ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ต่อราคาที่สูงขึ้นว่าเป็นภาวะชั่วคราวโดยธรรมชาตินั้นเป็นการคาดการณ์ที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น นโยบาย “ผ่อนคลายสุดโต่ง” ของธนาคารฯ จึงเป็นนโยบายที่ผิดพลาด ราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่สูงขึ้นจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย และเงินเยนที่อ่อนค่าบีบให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น และอาจทำให้เงินเฟ้อในญี่ปุ่นสูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางฯ ไปตลอดปี 2022 กล่าวโดยนักวิเคราะห์เหล่านี้

    ผู้บริหารธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ได้ปฏฺิเสธปัญหาเรื่องนี้ รัฐบาลและธนาคารกลางฯ จึงได้ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน โดยระบุว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของเงินเยน เซอิจิ คิฮาระ รองเลขาคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวเช่นกันว่ ผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี มาซาโยชิ อะมามิยะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศค่อย ๆ ดีขึ้น และธนาคารฯ จะยึดนโยบายการให้สินเชื่อแบบผ่อนคลายต่อไป

    เมื่อพิจารณาปัจจัยข้างต้น เบื้องหลังปัจจัยพื้นฐานโดยรวมยังคงเข้าข้างฝั่งกระทิงของ USD/JPY และแนวโน้มขาลงปัจจุบันอาจถือได้ว่าเป็นการปรับฐานจากระดับสูงสุดในรอบหลายปี ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงและอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่ลดลง

    นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (50%) คาดการณ์ว่าราคาจะปรับฐานต่อไปอย่างน้อยที่ระดับ 133.00-133.50 ด้านผู้เชี่ยวชาญ 30% ได้โหวตว่า ราคาคู่นี้จะพยายามทำระดับสูงสุดใหม่อีกครั้ง และขยับขึ้นไปเหนือ 137.00 และ 20% เชื่อว่า ราคาคู่นี้จะหยุดพักโดยขยับออกทิศทางด้านข้าง ในส่วนอินดิเคเตอร์ D1 ให้ภาพที่แตกต่างออกไปอย่างมาก โดย 85% ของออสซิเลเตอร์ให้สัญญาณสีเขียว (10% จากจำนวนนี้ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought) ด้าน 15% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ในด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 85% ชี้ไปทางทิศเหนือ และ 15% ชี้ไปทางทิศใต้ ส่วนแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 134.40 ตามมาด้วยโซนและระดับที่ 134.00, 133.50, 133.00, 132.30, 131.50, 129.70-130.30, 128.60 และ 128.00 นอกเหนือจากการตัดผ่านแนวต้านระยะกลางที่ 135.40 และราคา high ของวันที่ 22 มิถุนายนที่ 136.70 เป้าหมายถัดไปของฝั่งกระทิงจะบอกได้ยาก โดยส่วนใหญ่มักเป็นเลขจำนวนเต็มอย่างเช่น 137.00, 140.00 และ 150.00 และหากราคาคู่นี้คงที่ที่ระดับเดิมเหมือนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาจะสามารถขยับถึงโซน 150.00 ได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน

    สำหรับปฏิทินในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เราอาจเน้นการประกาศดัชนี Tankan (ไตรมาสที่ 2) ในวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานการณ์ของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่และบริษัทที่ไม่ใช่ผู้ผลิตในญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: การคาดการณ์ BTC จากประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์

  • เราให้หัวข้อบทรีวิวครั้งที่แล้วว่าเป็น “การนองเลือดหรือศึกชิง $20,000” สำหรับในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีการนองเลือดเท่าไรนัก แต่ศึกชิง $20,000 ก็ไม่ได้คลี่คลายลงอย่างที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน ราคาต่ำสุดในสัปดาห์นี้อยู่ที่ $17,597 ราคาสูงสุดคือ $21,667 และคู่ BTC/USD ทำราคาที่ $21,350 เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน ณ จุดนี้ มูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $0.960 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.895 ล้านล้านเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ยังคงไม่ออกจากโซนความกลัวขั้นสุด และอยู่ที่บริเวณ 11 จุด จาก 100 จุด (อยู่ที่ 7 จุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว)

    สภาวะอารมณ์โดยทั่วไปของตลาดนั้นเป็นไปตาม “ความกลัวขั้นสุด” ดังกล่าวโดยชัดเจน ในโลกอินเทอร์เน็ตมีการพูดถึงความตายของบิทคอยน์อีกครั้ง สถิติจาก Google Trends ชี้ว่า จำนวนคำค้นหาหัวข้อนี้กลับมาสู่ระดับสูงสุด ใกล้กับระดับเมื่อเดือนธันวาคม 2017 โดยในครั้งนั้น หลังจากราคาเข้าใกล้ $20,000 ราคาก็กลับทิศทางและดิ่งลงกว่า 40% ในเวลาเพียงไม่กี่วัน ความแตกต่างเดียวของสถานการณ์ที่ยืดเยื้อดังกล่าวก็คือ ในครั้งนี้ ราคาบิทคอยน์ขยับถึงระดับ $20,000 จากด้านล่างขึ้นมาด้านบน แต่ในครั้งนี้เป็นบนลงล่าง และตลาดในตอนนั้นมองหาจุดสูงสุด แต่ในครั้งนี้มองหาจุดต่ำสุด นอกจากนี้ ผู้มีอิทธิพลหลายคนคิดว่า มันไม่จำเป็นที่ราคาต่ำสุดจะต้องอยู่ที่จุดนี้

    ปีเตอร์ ชิฟฟ์ นักวิจารณ์คริปโตชื่อดังและประธาน Euro Pacific Capital กล่าวว่า “ณ ตอนนี้ ยังไม่มีสัญญาณการยอมแพ้ ซึ่งมักจะเห็นได้ในจุดต่ำสุดของตลาดหมี” ในฐานะที่เขาเป็นผู้สนับสนุนทองคำ เขากล่าวด้วยว่า ระดับที่ $20,000 จะเป็นเสมือนกับ “กับดักกระทิง” อย่างที่ $30,000 เคยเป็นมาก่อน “ไม่มีอะไรที่ดิ่งลงเป็นเส้นตรง จริง ๆ แล้ว มันเป็นการตกต่ำลงอย่างมีระเบียบมากอย่างช้า ๆ” กล่าวโดยชิฟฟ์ ทั้งนี้ นายปีเตอร์ ชิฟฟ์ เคยทำนายไว้ในเดือนพฤษภาคมว่า บิทคอยน์จะทดสอบระดับ $8,000 และนักลงทุนชี้ว่าในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ราคาต่ำสุดจะต่ำกว่ายิ่งกว่านั้นโดยอยู่ที่บริเวณ $5,000

    ประธาน Euro Pacific Capital กล่าวด้วยว่า การทรุดตัวลงของตลาดคริปโตจะเป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจ เควิน โอ’เลียรี พิธีกรทีวีรายการ Shark Tank ก็เชื่อเหมือนกัน เขากล่าวว่า บริษัทใหญ่ ๆ ไม่ควรกลัวที่จะล้มละลายในช่วงฤดูหนาวคริปโต เพราะการจากไปของพวกเขาจะสร้างพื้นด้านล่างของตลาดที่น่าสดใส “นี่คือสิ่งที่ดีสำหรับบริษัทอื่น ๆ เพราะพวกเขาจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ ผมคิดว่าในเร็ว ๆ นี้ เราจะได้เห็นคลื่นการล้มละลายในตลาดคริปโต ผมไม่รู้หรอกว่าจะมีใครบ้าง แต่ผมการันตีได้ว่าผมเคยเห็นมันมาแล้ว หลังจากนั้น คุณจะดูออกว่าใครคือคนที่ถือธุรกรรมความเสี่ยงสูงเอาไว้บ้าง พวกเขาถูกทำลายจนหมด และมันก็เป็นเรื่องดี” กล่าวโดยเศรษฐีเงินล้านรายนี้

    ช่องคริปโต InvestAnswers ได้ให้ปัจจัยกระตุ้น 3 ประการที่ตลาดจะทรุดต่ำ ราคา BTC อาจดิ่งลงมากกว่าเดิมหาก นายไมเคิล เซย์เลอร์ ซีอีโอของ MicroStrategy ตัดสินใจขายบิทคอยน์ที่เป็นเงินสำรองของบริษัท นอกจากนี้ โอกาสการล่มสลายของเหรียญ Tether (USDT) และปัญหาของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Three Arrow Capital อาจส่งผลให้ BTC ดิ่งลงต่อได้ InvestAnswers ชี้ว่า เราต้องไม่ลืมโอกาสที่ Tesla อาจเทขายสินทรัพย์คริปโตได้เช่นกัน

    MicroStrategy ได้รายงานการขาดทุน $1.2 พันล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากแนวโน้มขาลงของราคาบิทคอยน์ ในส่วนของกองทุน Three Arrows Capital ในขณะนี้มีมูลค่าของสินทรัพย์เหลืออยู่ $2.4 พันล้านดอลลาร์จาก $18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ไม่ใช่นักลงทุนเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ แต่นักขุดเหรียญก็เช่นกัน เนื่องด้วยราคาขาลงอย่างหนักของ BTC และความซับซ้อนทางการประมวลผลที่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนโดยรวมของการขุดเหรียญในขณะนี้ลดลง 65% จากค่าเฉลี่ยของปี ในขณะเดียวกัน ประสิทธิภาพของ Antminer S19 ASIC จาก Bitmain นั้นต่ำกว่าระดับเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ถึง 80% และโมเดล S9 ที่โด่งดังก็ได้ขาดทุนเช่นกัน สถานการณ์นี้ส่งผลให้บริษัทขุดเหรียญถูกบีบให้ต้องขายเหรียญ BTC เพื่อจ่ายสินเชื่อและค่าปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อตลาด เงินสำรองที่เหลือของพวกเขาคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 46,000 เหรียญ (ประมาณ $920 ล้านดอลลาร์) ในกรณีที่บิทคอยน์เหล่านี้ถูกเทขายทิ้ง ราคาเหรียญก็จะดิ่งลงต่ออย่างแน่นอน

    นักวิเคราะห์ที่มีชื่อว่า Capo ซึ่งได้คาดการณ์การทรุดต่ำลงของตลาดคริปโตได้อย่างถูกต้องในปีนี้ ได้อัปเดตคำทำนายของเขา เขาคาดว่า BTC จะลดลงไปที่ $16,200 และ ETH ที่ $750 โดยเขามองว่านักลงทุนกำลังหลอกตนเองให้เชื่อว่าการทะยานขึ้นในระยะสั้นนั้นหมายถึงบิทคอยน์ได้ขยับถึงจุดต่ำสุดในวัฎจักร Capo เชื่อว่า บิทคอยน์ขยับขึ้นเพราะว่านักลงทุนกำลังกำจัดเหรียญอัลท์คอยน์และลงทุนใน BTC เพื่อออกจากมัน “กับดักกระทิง กระแสเงินที่ไหลจากอัลท์คอยน์เข้าสู่ BTC ซึ่งจะถูกนำมาขายออกในภายหลังในไม่ช้า มันยังลงต่ำไม่สุด” เขากล่าว

    เควิน สเวนสัน นักยุทธศาสตร์คริปโตชี้ว่า บิทคอยน์มีโอกาสจะทำราคาต่ำสุดอยู่ในกรอบ $17,000-18,000 หลังจากนั้นราคาอาจทะยานขึ้นไประยะสั้นไปที่เหนือ $30,000 ในขณะเดียวกัน แม้ว่า สเวนสันจะคาดการณ์การเติบโตในระยะสั้น เขาไม่เห็นเงื่อนไขที่ตลาดกระทิงรอบใหม่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ “การพิชิตแนวต้านขาลงหลักคืออุปสรรคสำคัญและกระบวนการนี้อาจกินเวลาไปจนถึงปลายปี”

    นักยุทธศาสตร์รายนี้มองว่า หลังจากราคาทะลุแนวต้านแนวทแยง บิทคอยน์อาจซื้อขายอยู่ในกรอบแคบ ๆ เป็นเวลาหลายเดือนและเริ่มเทรนด์ขาขึ้นครั้งใหม่ในปี 2024

    แม้ว่าราคาบิทคอยน์จะตกต่ำในเวลานี้ ผู้ร่วมตลาดหลายคนในอุตสาหกรรมคริปโตยังคงเชื่อในอนาคตการเติบโตของเหรียญ เช่น มีความเชื่อว่า BTC อาจขยับถึง $100,000 ภายในปี 2025 หนึ่งในผู้ที่สนับสนุนแนวโน้มเชิงบวกดังกล่าวคือนักวิเคราะห์ที่มีชื่อว่า PlanB เขาเคยให้การคาดการณ์ที่อ้างอิงจากโมเดล Stock-to-Flow (S2F) โมเดลนี้ทำงานได้ดีเป็นเวลาสามปีจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม 2022 หลังจากนั้นก็ล้มเหลว

    วิตาลิก บูเทอริน ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum สนับสนุน แอนโธนี ซัสซาโน ผู้สร้าง The Daily Gwei  ได้วิจารณ์โมเดล S2F และแนะนำให้ PlanB ลบบัญชีของเขาทิ้งซะ

    ด้าน PlanB ตอบโต้ต่อคำวิจารณ์ของนายบูเทอรินอย่างอดกลั้น เขากล่าวว่าหลังจากราคาเหรียญทรุดลง หลายคนกำลังมองหาแพะรับบาป ซึ่งรวมถึงบรรดาผู้นำต่าง ๆ จากนั้น PlanB ก็นำเสนอกราฟโมเดลการทำนายราคาบิทคอยน์ที่แตกต่างกัน 5 กราฟ ซึ่งภาพที่แม่นยำมากที่สุดนั้นคำนวณโดยการอ้างอิงความซับซ้อนและต้นทุนในการขุดเหรียญคริปโต ในขณะที่โมเดล S2F นั้นให้มุมมองที่ดีเกินจริงไปมาก

    เบนจามิน โคเวน นักวิเคราะห์คริปโตได้เสนอโมเดลค้นหากรอบด้านล่างสำหรับบิทคอยน์ เขาเชื่อว่าราคาต่ำสุดอาจคำนวณได้จากความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อ ดัชนี S&P500 และราคา BTC นักวิเคราะห์โต้แย้งว่าดัชนี S&P500 ไม่เคยดิ่งลงต่ำสุดจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นสูงสุดและกลับตัว ดังนั้น ราคา BTC ก็จะไปไม่ถึงจุดต่ำสุดด้วยเหตุผลเดียวกัน “ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคดูมืดมัวมากในตอนนี้ หากคุณย้อนกลับไปช่วงปี 1970s คุณจะเห็นการเคลื่อนที่ที่คล้ายกันมากเมื่อดัชนี S&P500 ทำระดับต่ำสุดหลังจากอัตราเงินเฟ้อทำระดับสูงสุด ซึ่งในตอนนั้น ดัชนี S&P ดิ่งลงไปประมาณ 50%” เขียนโดย โคเวน

    และเพื่อเป็นการสรุปบทรีวิวฉบับนี้ เรายังมีอีกหนึ่ง “โมเดลการคาดการณ์” ซึ่งเราจะกล่าวถึงในส่วนไลฟ์แฮ็คตลก ๆ เพื่อปิดท้ายบทวิเคราะห์ ซึ่งเป็นโมเดลที่นำเสนอโดยประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ นายิบ บูเคเล “คำแนะนำของผมก็คือให้หยุดดูกราฟและไปสนุกกับชีวิต หากคุณลงทุนใน BTC เงินลงทุนของคุณนั้นปลอดภัย มูลค่าของมันจะเพิ่มขึ้นอย่างประเมินค่าไม่ได้หลังจากตลาดหมีสิ้นสุดลง สิ่งสำคัญคือความอดทน” เขากล่าว กองทุนบิทคอยน์ของเอลซัลวาดอร์นั้นมีบิทคอยน์อยู่ 2,301 BTC ซึ่งซื้อที่ราคาเฉลี่ย $43,900 ซึ่ง ณ ตอนนี้ กองทุนนั้นขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 55% แต่เมื่ออ้างอิง “โมเดล” ของประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล เรื่อง “ขี้ปะติ๋ว” แค่นี้ไม่ควรนำมาใส่ใจ เพราะสิ่งสำคัญคือเราจะต้องสนุกกับชีวิตให้มากที่สุด!

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)