กรกฎาคม 23, 2022

EUR/USD: การทดลองทางการเงินของ ECB: นกพิราบแซงหน้านกเหยี่ยว

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 25 - 29 กรกฎาคม 20221

  • ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทำระดับสูงสุดไว้ที่ 1.0272 สาเหตุมีสามประการด้วยกัน ประการแรกและเป็นเหตุผลทั่วไปมากที่สุดก็คือคู่ EUR/USD เกิดการรีบาวด์ปรับฐานหลังจากตัดทะลุระดับคู่ขนานที่ 1.000 และลงไปแตะที่ 0.9951 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เหตุผลประการที่สองก็คือ การเริ่มส่งออกก๊าซจากรัสเซียมายังยุโรปผ่านทางท่อส่งก๊าซ Nord Stream เหตุผลข้อสุดท้ายและเป็นข้อที่สำคัญที่สุดคือ ความคาดหวังว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเงินยูโร นอกจากนี้ ตลาดยังคาดว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ย 50 จุดพื้นฐาน (bp) ในครั้งเดียว แทนที่ 25 จุดตามที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เคยประกาศไว้ในการประชุมครั้งที่แล้ว และสถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นจริง นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปีที่ธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0 เป็น 0.5% เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา และทำให้อัตราดอกเบี้ยออกจากโซนติดลบ -0.5% เป็น 0%

    ECB อธิบายเหตุผลในการแถลงข่าวว่า ธนาคารฯ รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะต้องดำเนินการก้าวแรกในการปรับสมดุลอัตราดอกเบี้ยเนื่องด้วยสาเหตุสองประการ ประการแรกเป็นเรื่องที่ชัดเจน โดยเป็นผลมาจากการประเมินแนวโน้มการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อ และสาเหตุประการที่สอง ECB ได้เปิดตัวเครื่องมือใหม่ คือ Transmission Protection Instrument (TPI) ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็จะไม่อนุาตให้มีการขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างก้าวร้าวเกินไปในประเทศเศรษฐกิจอ่อนแอในยูโรโซน คำอธิบายของมาตรการ TPI อธิบายว่าเครื่องมือนี้จะเริ่มบังคับใช้เพื่อรับมือกับความเคลื่อนไหวที่บ้าคลั่งและผิดปกติในตลาด ซึ่งได้เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

    กล่าวสั้น ๆ ก็คือ หัวใจสำคัญของมาตรการ TPI จะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปสามารถซื้อคืนสินทรัพย์ที่ออกโดยประเทศในกลุ่มอียูได้ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีเงื่อนไขทางการเงินที่ขาดเสถียรภาพมาจากปัจจัยพื้นฐานบนตลาดรอง โดยไม่จำกัดปริมาณการซื้อขายและปริมาณนี้จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเสี่ยง หรือกล่าวได้ว่า ธนาคารจะพยายามใช้นกพิราบบินแซงนกเหยี่ยว คือ ในทางด้านหนึ่งก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ย (QT) และอีกด้านหนึ่งก็ยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) การตอบสนองของตลาดต่อการทดลองทางการเงินนี้ปรากฏว่าดูเหมาะสมและเป็นไปตามการคาดการณ์ คู่ EUR/USD ขยับลงมาที่ 1.0152 หลังจากนั้น ราคาก็ขยับขึ้นไปอีกครั้งและปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ระดับ 1.0210

    ธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะจัดการประชุมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการตลาดเสรีสหรัฐฯ) ในสัปดาห์หน้า วันพุธที่ 27 กรกฎาคม แทบจะไม่มีใครสงสัยว่าธนาคารเฟดอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ แต่คำถามคือจะขึ้นเท่าไร? ขึ้น 100 จุดพื้นฐาน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1981 หรือ 75 จุดพื้นฐาน? หากคณะกรรมการ FOMC เลือกทางเลือกแรก อัตราดอกเบี้ยจะขยับถึง 2.75% อัตราการเติบโตนี้เองคือสิ่งที่ตลาดเก็งไว้ในอัตราแลกเปลี่ยน โดยคาดว่าราคา EUR/USD  จะจู่โจมระดับ 1.0000 อีกครั้ง แต่ถ้าหากธนาคารเฟดล้มเลิกไอเดียดังกล่าวและขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก ราคาก็จะมีโอกาสรีบาวด์ขึ้นไปยังทิศเหนือ

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันที่ 22 กรกฎาคม ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 25% สนับสนุนแนวโน้มขาขึ้นของคู่นี้ ส่วน 75% ชี้ทิศทางขาลง ด้านออสซิเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้สัญญาณที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย 60% ให้สีแดง 25% เป็นสีเขียว และ 15% เป็นสีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ 65% หันไปทางทิศใต้ 35% ที่เหลือให้ทิศทางตรงกันข้าม โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่ EUR/USD อยู่ที่โซน 1.0150-1.0200 แน่นอนว่าจากนั้นจะเป็นระดับ 1.0000 และหากราคาตัดผ่านได้สำเร็จ ตลาดหมีจะตั้งเป้าที่ราคาต่ำสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมคือ 0.9950 และที่ต่ำกว่านั้นจะเป็นโซนแนวรับ/แนวต้านที่สำคัญของปี 2002 ที่ 0.9900-0.9930 ด้านภารกิจที่สำคัญของฝั่งตลาดกระทิงคือต้องตัดผ่านแนวต้านที่ 1.0270 และกลับไปยังโซน 1.0400-1.0450 ตามมาด้วยโซนที่ 1.0520-1.0600 และ 1.0650-1.0750

    อย่างที่เราเคยกล่าวไว้แล้ว กิจกรรมที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้จะเป็นการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ในธนาคารกลางสหรัฐฯ และการตัดสินใจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ในวันเดียวกันนั้นจะมีการประกาศปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าทุนและสินค้าคงทนคือวันพุธที่ 27 กรกฎาคม ด้านเยอรมนีและยูโรโซนจะประกาศดัชนีตลาดผู้บริโภค (CPI) ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม และวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคมตามลำดับ นอกจากนี้ เราจะได้ทราบ GDP สหรัฐฯ (Q2) เบื้องต้นในวันที่ 28 กรกฎาคม และ GDP ของเยอรมนีและยูโรโซนในวันที่ 29 กรกฎาคม

GBP/USD: ศึกชิง 1.2000 ยังดำเนินต่อไป

  • สัปดาห์ที่แล้วเป็นสัปดาห์ที่ค่อนข้างยุ่งสำหรับเงินปอนด์ เพราะมีการประกาศสถิติมหภาคหลายชุดด้วยกัน และแม้ว่าผลลัพธ์จะออกมาค่อนข้างกำกวม แต่ก็มีนัยสำคัญในทางบวกอยู่บ้าง โดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานของสหราชอาณาจักร โดยจำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานในประเทศรายเดือนลดลงจาก 34.7K เหลือ 20.0K จากการคาดการณ์ที่ 41.2K

    ทั้งนี้มีความแตกต่างจาก EUR/USD โดยคู่ GBP/USD แสดงการเติบโตอย่างมั่นใจมากกว่าและกลับไปสู่ช่วงราคาในช่วงสองและห้าสัปดาห์ก่อนหน้า โดยปิดตลาดที่บริเวณ 1.2000 ตอนนี้คำถามสำคัญก็คือ ระดับนี้จะกลายเป็นระดับแนวรับหรือแนวต้านที่สำคัญกันแน่?

    ในเวลานี้มีผู้เชี่ยวชาญ 75% เชื่อว่า เงินปอนด์อังกฤษจะอ่อนค่าลงต่อ ส่วน 25% มองว่าราคาจะรีบาวด์ขึ้นไป ด้านผลลัพธ์ของอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 มีดังนี้: อินดิเคเตอร์เทรนด์ให้สัดส่วนอยู่ที่ 65-35% โดยฝั่งสีแดงเป็นฝั่งที่มากกว่า ด้านออสซิลเลเตอร์ ฝั่งตลาดหมีเป็นต่อน้อยกว่า โดย 35% ชี้ถึงแนวโน้มขาลง 25% ชี้แนวโน้มขาขึ้น และ 40% ที่เหลือให้ท่าทีเป็นกลาง แนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 1.1875-1.1915 ซึ่งต่ำกว่าระดับนี้จะเป็นระดับที่ 1.1800 ต่อมาคือราคาต่ำสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 1.1759, จากนั้นคือช่วง 1.1650, 1.1535 และ ราคาต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2020 ที่โซน 1.1400-1.1450 ด้านฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านในโซนและระดับที่ 1.2100, 1.2160-1.2175, 1.2200-1.2235, 1.2300-1.2325 และ 1.2400-1.2430

    ด้านปฏิทินเศรษฐกิจมหภาคไม่มีข่าวสำคัญจากสหราชอาณาจักรในสัปดาห์นี้ แต่ปัจจัยที่เป็นตัวตัดสินความเคลื่อนไหวของคู่ GBP/USD แน่นอนว่าเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 27 กรกฎาคมนี้ ซึ่งขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยของเงินปอนด์อยู่ที่ 1.25% และการประชุมครั้งถัดไปของธนาคารแห่งชาติอังกฤษมีกำหนดในวันที่ 4 สิงหาคม 2022

USD/JPY: การปรับฐานหรือเทรนด์เปลี่ยนแล้ว?

  • ในที่สุดสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ฝันไว้มานานก็เป็นจริง คู่ USD/JPY ไม่ได้ทำระดับสูงสุดในรอบ 24 ปีอีกครั้ง และไม่ได้หยุดพักแต่อย่างใด แต่ราคาทรุดลงอย่างจริงจัง แม้ว่าธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) ได้คงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมอีกครั้งที่ -0.1% เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม ผู้บริหารธนาคารฯ ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณการใช้นโยบายทางการเงินแบบรัดเข็มขัดแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุว่าจะไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มเติมใด ๆ หากจำเป็น และยังคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงที่ระดับเดิมหรือแม้กระทั่งต่ำกว่านี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

    ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มปรับขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่า 2% ซึ่งต่ำกว่าในสหรัฐฯ และยุโรปหลายเท่าตัว ดังนั้น ด้วยอุปสงค์ภายในประเทศและการเติบโตของรายได้ที่อ่อนแอ ก็แทบจะไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้ BOJ เปลี่ยนแนวทางสายพิราบสุดโต่งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนในปัจจุบันและแนวโน้มขาลงของคู่ USD/JPY จาก 139.38 ลงมาที่ 135.56 จึงรออยู่ พร้อมมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาอยู่ในช่วง overbought อย่างรุนแรง

    ในครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 70% กำลังรอให้ราคาดันขึ้นไปรอบใหม่ที่ระดับ 142.00 โดย 15% หวังว่าแนวโน้มขาลงจะไปต่อ ส่วน 15% ที่เหลือมองว่าราคาจะขยับออกด้านข้าง ภาพรวมนั้นยังกำกวมมากกว่าเมื่อดูผลการอ่านอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1: โดยอินดิเคเตอร์เทรนด์ให้ผลลัพธ์เท่ากันที่ 50% ต่อ 50% ส่วน 25% ของออสซิลเลเตอร์ชี้แนวโน้มขาขึ้น 40% ชี้ขาลง และ 35% ชี้ทิศทางด้านข้าง ในที่นี้มีแนวรับอยู่ในโซนและระดับ 135.55, 134.75, 134.00, 133.50, 133.00 และ 131.40 ด้านแนวต้านอยู่ที่ 136.35-137.00, 137.90-138.40, 138.50-1.139.00 ตามมาด้วยราคาสูงสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 139.38 และเป้าหมายตลาดกระทิงที่เลขตัวกลมคือ 140.00 และ 142.00

    เราไม่คาดว่าจะมีกิจกรรมสำคัญเกิดขึ้นในญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ แน่นอนว่า เราอาจเน้นการประกาศรายงานของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม แต่ไม่คาดว่ารายงานดังกล่าวจะส่งแรงกระเพื่อมหรือแม้แต่คลื่นเล็ก ๆ ในตลาดแต่อย่างใด ดังนั้น ความสนใจหลักจะไปอยู่ที่คู่สกุลเงินอื่น ๆ โดยเฉพาะการประชุมของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 27 กรกฎาคม

คริปโตเคอเรนซี: อดทนอีกนิดนะ!

  • เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายนที่ BTC/USD ขยับขึ้นเหนือระดับ $23,000 และแตะถึง $24,263 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นหรือนี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ที่รอคอยกันมายาวนาน? หรือเป็นการพักตัวเล็กน้อยท่ามกลางช่วงฤดูหนาวคริปโต? หรืออาจเป็นอีกหนึ่งกับดักตลาดหมีเพื่อหลอกลวงนักลงทุนที่โดนหลอกง่าย? เรามาหาคำตอบกัน

    เราได้เขียนไว้แล้วหลายครั้งว่า ระดับสำคัญในมุมมองของนักวิเคราะห์คริปโตทั้งหลายคือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รอบ 200 สัปดาห์ (SMA200) ซึ่งเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุก็คือนี่เป็นเส้นแนวรับหลักสำหรับคู่ BTC/USD แต่มันไม่มีความชัดเจนเลยว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีตจะเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในอนาคต และหลักฐานก็คือการที่ราคาตัดทะลุลงเส้น SMA200 ไปแล้วนี้เอง แต่อินดิเคเตอร์การวิเคราะห์เชิงเทคนิคก็ยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เป็นที่ใช้งานมากที่สุดในการคาดการณ์ราคา

    บิทคอยน์ได้ขยับขึ้นเหนือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รอบ 200 สัปดาห์ในสัปดาห์ที่แล้ว สาเหตุนั้นไม่ใช่เพราะว่าบิทคอยน์แข็งแกร่งขึ้น แต่เป็นเพราะดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย ท่ามกลางสถานการณ์นี้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ, S&P500, Dow Jones และ Nasdaq ล้วนขยับขึ้น และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่างคริปโตเคอเรนซีก็ขยับขึ้นตามด้วยเช่นกัน

    ในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม) บิทคอยน์ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $22,670) โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.026 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.945 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นจาก 15 เป็น 33 จุดในหนึ่งสัปดาห์ และก็ออกจากโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) สู่โซนความกลัว (Fear) ได้ในที่สุด

    โดยรวมแล้ว บิทคอยน์ขยับขึ้นมาประมาณ 20% นับจากราคาต่ำสุดในวันที่ 13 กรกฎาคม ($18,886) และขึ้นมาอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 สัปดาห์ ($22,565) นักวิเคราะห์จากตลาดคริปโต Binance ชี้ว่า การปิดสัปดาห์ดังกล่าวให้ความหวังว่า SMA200 เป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับบิทคอยน์วัฎจักรตลาดหมี.

    การที่บิทคอยน์ตัดทะลุเหนือเส้น SMA 200 สัปดาห์ก่อให้เกิดกระแสความตื่นเต้นในหมู่นักลงทุน ไมเคิล วอน เดอ ปอบเปอ นักลงทุนตลาดหุ้นอัมสเตอร์ดัมทวีตข้อความคาดการณ์ราคาขยับขึ้นไปยังที่ระดับ $28,000 ในช่วงแรก และหลังจากนั้นก็เปรียบเทียบสถานการณ์กับการฟื้นตัวจากภาวะช็อคเนื่องจากมีการประกาศการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ในตอนนั้น บิทคอยน์ร่วงลงมาถึง $3,782 แต่จากนั้นก็พุ่งขึ้น 1,600% ในเวลา 13 เดือน (ขึ้นมาถึง $64,853 ในเดือนเมษายน 2021)

    นักวิเคราะห์จากตลาดแลกเปลี่ยนคริปโต Kraken ใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รอบ 200 สัปดาห์บนแผนภูมิบิทคอยน์เป็นอินดิเคเตอร์หลัก โดยเขาให้ความสนใจกับตัวคูณที่ BTC เทรดในอดีตตามเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ SMA 200 สัปดาห์ โดยหลังจากราคาดีดขึ้นมาจาก SMA200 บิทคอยน์ได้ขยับขึ้นถึง 15.2 เท่าในเดือนธันวาคม 2017 และมีการเติบโตที่ 13.2 เท่าในเดือนพฤศจิกายน 2013 ในขณะนี้ BTC ซื้อขายอยู่ใกล้ระดับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 สัปดาห์ โดยราคาอยู่ที่ประมาณ $22,485 หากราคาสามารถทำสถิติอัตราคูณที่ 13x-15x เท่าได้อีกครั้ง ราคาอาจขึ้นไปได้ถึง $300,000

    แน่นอนว่า อัตราคูณของ BTC จะไม่ใช่ 10x เท่าเสมอไปเมื่อราคาขยับถึงเส้น SMA200 ราคาเคยทำระดับสูงสุดที่ 5.8x เท่าในเดือนมีนาคม 2021 ก่อนที่ตลาดคริปโตจะเริ่มขยับลงอย่างสังเกตเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี แม้แต่ค่าอัตราคูณดังกล่าวนี้ บิทคอยน์ก็ขยับขึ้นไปต่อถึง $130,000 ได้ แต่มันจะเกิดขึ้นเมื่อไร? ความอดทนของผู้เล่นในตลาดหลายคนเริ่มหมดลงแล้ว

    เราเคยเขียนไว้แล้วว่า Glassnode ชี้ว่า ราคาขาลงที่ทำสถิติของบิทคอยน์ในเดือนมิถุนายนแทบจะกำจัดบรรดา “นักท่องเที่ยวตลาด” ที่เหลือออกจากเกม จนเหลือไว้แค่ผู้ถือเหรียญระยะยาว (hodlers) “อยู่แนวหน้า” เท่านั้น ซึ่งในบริบทแนวโน้มรายเดือน สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้นคือปี 2011 เท่านั้น โดยมีกระแสเงินไหลออกมากที่สุดในหมู่นักลงทุนรายสถาบัน (บริษัทที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ $1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปฉ นักขุดเหรียญรายสาธารณะ (ที่ขยายกิจการด้วยเงินสินเชื่อ) รวมถึงนักเก็งกำไรและผู้เล่นตามฤดูกาล

    หากเราสมมติว่าวัฎจักรตลาดมักเกิดขึ้นแบบซ้ำ ๆ ระยะตลาดหมีของบิทคอยน์นั้นควรจะสิ้นสุดลงในช่วงครึ่งแรกของฤดูใบไม้ร่วง บทสรุปนี้มาจากสถิติในอดีตของนักวิเคราะห์จาก Grayscale Investments โดยบิทคอยน์ใช้เวลา 1,290 และ 1,257 ในการสร้างวัฎจักรที่สมบูรณ์ในปี 2012 และ 2016 ตามลำดับ โดยใช้เวลา 391 และ 364 วัน ในการดิ่งลงมา 73% ในปี 2012 และ 84% ในปี 2016 จากระดับสูงสุด ระยะเวลาของวัฎจักรรอบปัจจุบันซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2020 ขณะนี้เกิดขึ้นมาแล้ว 1206 วัน (ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2022) กล่าวคือ อาจจะต้องใช้เวลาอีกสองหรือสามเดือนก่อนที่ราคาจะขยับขึ้นถึงระดับต่ำสุด

    Rekt Capital นักยุทธศาสตร์คริปโตก็ให้ข้อสรุปเดียวกัน เขามีความเห็นว่าแม้จะมีสัญญาแรงขายมากเกินไป (oversold) การเคลื่อนที่ขาลงของอัตราแลกเปลี่ยนอาจยืดเยื้ออีกเป็นเวลาค่อนข้างนาน นักวิเคราะห์รายนี้ให้ข้อสังเกตว่า Relative Strength Index (RSI) บนกรอบเวลารายเดือนของ BTC ขณะนี้อยู่ต่ำกว่าระดับที่ต่ำที่สุดของตลาดหมีเมื่อปี 2015 และ 2018 ซึ่งอาจกลายเป็นระดับแนวต้านใหม่สำหรับบิทคอยน์

    Rekt Capital ชี้ว่า แนวโน้มระยะสั้นของเหรียญดูไม่ดีเท่าไรนัก และราคาต่ำสุดอาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า “บิทคอยน์มีเวลาอีกประมาณ 650 วัน ก่อนจะถึงการฮาล์ฟเหรียญครั้งถัดไป บิทคอยน์จะต้องใช้เวลาอีก 100-150 วัน ก่อนที่ราคาจะขยับถึงจุดต่ำสุด ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2022

    โธมัส ปีเตอร์ฟี นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณการที่ $18.4 พันล้านดอลลาร์ พร้อมที่จะซื้อบิทคอยน์เมื่อมูลค่าของคริปโตเคอเรนซีลดลงเหลือ $12,000 ประธาน Interactive Brokers รายนี้ยอมรับในบทสัมภาษณ์ล่าสุดกับ Forbes ว่า เขายังไม่ตั้งใจจะซื้อคริปโตเคอเรนซีที่ราคาสูงสุดในตอนนี้ เขาเชื่อว่าในอนาคตบิทคอยน์จะลดมูลค่าลงหรือถูกสั่งห้ามในสหรัฐฯ

    นักเทรดส่วนใหญ่จากจีนเห็นด้วยกับนายโธมัส ปีเตอร์ฟี โดยโพลสำรวจบน Weibo โซเชียลเน็ตเวิร์คซึ่งมีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามกว่า 2,200 คน ชี้ให้เห็นว่า นักเทรดชาวจีนกำลังรอให้ราคาบิทคอยน์ร่วงลงต่อ 8% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาจะซื้อเหรียญที่ราคา $18,000 ต่อเหรียญ 26% บอกว่าจะเริ่มซื้อที่ราคา $15,000 แต่ถ้าหากราคาบิทคอยน์ลดลงไปที่ $10,000 ส่วน 40% ของผู้ตอบกล่าวว่าจะซื้อบิทคอยน์

    เราจะเห็นได้จากข้อมูลข้างต้นว่า แม้ว่ามีแนวโน้มที่ BTC จะขยับขึ้นไปยังระดับ $300,000 แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนให้ลงทุนในเหรียญนี้แต่อย่างใด ธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยในวันพุธที่ 27 กรกฎาคม และมีความน่าจะเป็นสูงที่แนวโน้ม BTC/USD จะเริ่มชัดเจนขึ้นหลังจากนั้น โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจะนำไปสู่การเติบโตของดัชนีดอลลาร์ DXY และความต้องการในความเสี่ยงที่ลดลงของนักลงทุน และจากนั้น โอกาสที่เราจะได้เห็นบิทคอยน์ที่ $10,000 จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หรือไม่เช่นนั้น เราจะเราจะเห็นราคาตั้งเป้าไปที่ $30,000 ซึ่งจะอาศัยเวลาไม่นานจนกว่าเราจะได้คำตอบว่าสถานการณ์ไหนจะเกิดขึ้นจริง ดังนั้น นักเทรดและนักลงทุนที่รักทั้งหลาย กรุณาอดทนรออีกนิด

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)