กันยายน 2, 2022

ราคาของคู่สกุลเงิน รวมถึงคริปโตเคอเรนซี หุ้น ทองคำ และสินทรัพย์อื่น ๆ ได้รับอิทธิพลเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งรัฐสภา ประธานาธิบดี การตัดสินใจของธนาคารกลาง การประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญ และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย คำอธิบายและวันที่นั้นมีเผยแพร่ในปฏิทินเศรษฐกิจบนเว็บไซต์ของโบรกเกอร์ NordFX ในส่วน “เครื่องมือ” เพราะปฏิทินสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก ให้นักเทรดสามารถเพิ่มผลกำไรและป้องกัน “เซอร์ไพรส์” ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจพาให้คำสั่งถูกปิดลงหรือแม้แต่ทำให้เงินฝากต้องกลายเป็นศูนย์

มีอะไรอยู่ในปฏิทินบ้าง

เราลองมาดูรายละเอียดแต่ละส่วนของปฏิทินเศรษฐกิจ (Economic Calendar) กัน ในส่วนด้านบนสุด คุณสามารถเลือกวันใด ๆ โดยเฉพาะที่คุณอยากจะดูสถิติหรือดูตามการตั้งค่าเริ่มต้นที่ “ทั้งหมด” ซึ่งในกรณีนี้ คุณจะเห็นปฏิทินตลอดสัปดาห์ปัจจุบัน

เมื่อคลิกที่เครื่องหมายจุดสามจุดทางด้านขวาจะเป็นการเปิดเมนูการตั้งค่า ซึ่งคุณสามารถ:

- กำหนดเวลาของกิจกรรมตามภูมิภาคของคุณ

- จัดเรียงกิจกรรมตามลำดับความสำคัญ (เครื่องหมายรูปดาวสีดำบ่งบอกถึงกิจกรรมที่สำคัญที่สุด ที่อาจสร้างความผันผวนสูง ในขณะที่ดาวสีขาวจะแสดงถึงเหตุการณ์ที่มีความสำคัญน้อยที่สุด)
- ไฮไลต์ประเทศที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการเทรดของคุณ เช่น หากคุณเทรดคู่ EUR/USD และ GBP/USD คุณอาจอยากจะไฮไลต์เฉพาะค่าเงิน EUR, USD และ GBP ดังนั้น คุณจะได้ไม่ต้องสับสนเนื่องจากข้อมูลที่ไม่จำเป็น (แต่อย่าลืมว่า ราคาคู่สกุลเงินเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจประเทศจีน)

ตารางปฏิทินเศรษฐกิจประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้:

- วันที่ ส่วนนี้บอกวันที่และเวลาที่กิจกรรมจะเกิดขึ้นหรือจะมีการประกาศสถิติใด ๆ โดยคุณสามารถตั้งค่าเขตเวลาของตนเอง (และควรตั้งค่า) ได้ในส่วนการตั้งค่า

- สกุลเงิน กิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นเจ้าของค่าเงินที่คุณเลือกจะปรากฏที่นี่ ดังนั้น กิจกรรมเหล่านี้จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนของคู่ที่มีสกุลเงินนั้น ๆ และอาจรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนของคู่รอง

- ข้อความ นี่คือคำอธิบายกิจกรรม หากคุณคลิกที่ข้อความจะปรากฏเป็นข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมว่าจะมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้น กิจกรรมนั้น ๆ มักส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร และมีการประกาศหรือเผยแพร่บ่อยครั้งแค่ไหน เป็นต้น

- ผลที่ตามมา กิจกรรมทั้งหมดในปฏิทินเศรษฐกิจจะจัดลำดับตามความสำคัญของแต่ละเหตุการณ์ และยิ่งกิจกรรมมีความสำคัญมากเท่าไร ตลาดจะยิ่งตอบสนองต่อผลลัพธ์มากเท่านั้น

- ตัวเลขจริง ในส่วนนี้เป็นค่าดัชนีที่ประกาศจริงหลังจากกิจกรรมได้เกิดขึ้นแล้ว ทิศทางของเทรนด์หรือความผันผวนที่เพิ่มขึ้นจะขึ้นอยู่กับผลลัพธ์นี้

- ตัวเลขคาดการณ์ เป็นค่าดัชนีที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยทั่วไป เราจะให้ความสนใจกับตัวเลขคาดการณ์เพื่อทำความเข้าใจว่าแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร

- ค่าก่อนหน้า เป็นค่าดัชนีเดียวกันในระยะเวลาที่มีการรายงานครั้งก่อนหน้า เมื่อเปรียบเทียบดัชนีการคาดการณ์และดัชนีครั้งก่อนหน้า คุณจะสามารถสร้างกลยุทธ์การเทรดจากข่าวได้

ปฏิทินเศรษฐกิจ: คืออะไรและใช้ในการทำงานอย่างไร1

วิธีเทรดโดยใช้ปฏิทินเศรษฐกิจ

อันดับแรกเราได้กล่าวไปแล้ว สิ่งสำคัญคือการไฮไลต์กิจกรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณที่จะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์หรือในวันใดวันหนึ่ง เช่น สำหรับผู้ที่ชอบการเทรดสั้น (scalping) ทั้งเหตุการณ์ที่มีรูปดาวสีดำทึบ ดาวสีดำครึ่งดวงกำกับอยู่ และแม้แต่ที่ไม่มีการใส่สีก็ล้วนมีความสำคัญ ในขณะที่นักเทรดที่ใช้กลยุทธ์ที่ผ่อนคลายมากกว่า อาจจะให้ความสำคัญแค่กับกิจกรรมที่สำคัญมากที่สุดเท่านั้น เป็นต้น 

กิจกรรมที่สำคัญมาก ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลาง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะค่าเงินจะตอบสนองอย่างค่อนข้างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงหรือสัญญาณเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางการเงินในอนาคต หากคุณเจอกิจกรรมดังกล่าวในปฏิทิน คุณสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้ล่วงหน้า ลองศึกษาคำคาดการณ์ที่เผยแพร่อย่างเป็นประจำบนเว็บไซต์ NordFX และเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานโดยพัฒนากลยุทธ์ที่จำเป็น

ตัวอย่างเช่น เราลองมาดูการดำเนินการของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ในช่วงปี 2020-2022 ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้บังคับใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรน (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ โดยลดอัตราดอกเบี้ย และเพิ่มสภาพคล่องจำนวนมหาศาลโดยการพิมพ์ดอลลาร์เพิ่ม ส่งผลให้ตลาดหุ้นเติบโต ในขณะที่ดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง

ปริมาณเงินที่มากเกินไปส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และธนาคารเฟดก็ถูกบังคับให้ต้องถอนมาตรการนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และกลับทิศทางนโยบายมาใช้มาตรการถอนสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) และขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผลที่ตามมาก็คือ ดัชนีดอลลาร์ DXY ขยับขึ้นอย่างน่าประทับใจเทียบกับค่าเงินสกุลหลักทั้ง 6 สกุล ดอลลาร์เริ่มแข็งค่าขึ้นเทียบกับยูโร (EUR), เยนญี่ปุ่น (JPY), ปอนด์อังกฤษ (GBP), ดอลลาร์แคนาดา (CAD), โครนสวีเดน (SEK), ฟรังก์สวิส (CHF) และสกุลเงินอื่น ๆ ที่ธนาคารกลางยังคงยึดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากกว่า

 
ในการวางแผนการเทรดโดยอ้างอิงสถิติเศรษฐกิจและการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้น ทางที่ดีควรพิจารณาความคาดหวังเบื้องต้นของตลาดที่สะท้อนให้เห็นในตัวเลขคาดการณ์ ในขณะเดียวกัน บางครั้งตลาดก็ประเมินการคาดการณ์ (และแม้แต่ข่าวลือ) ไว้ในอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าอยู่แล้ว และเหตุการณ์จริงจึงไม่เกิดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามที่คาดไว้ เช่น ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารเฟดสหรัฐฯ อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) ในการประชุมครั้งหน้า ค่าเงินดอลลาร์เริ่มแข็งค่าขึ้นจากความคาดหวังดังกล่าว แต่ผลการประชุมปรากฏว่า ธนาคารฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงแค่ 0.50% จากที่คาดการณ์ 0.75% จริงอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยมีการปรับขึ้น แต่ดอลลาร์กลับอ่อนค่าลง เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น? เพราะท่าทีของธนาคารนั้นไม่เป็นไปตามความคาดหวังของตลาดที่มีการเก็งไว้ในอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าอยู่แล้ว เราจึงต้องคำนึงด้วยว่า การเคลื่อนที่ของราคาที่แท้จริงจากเหตุการณ์ใด ๆ อาจแตกต่างไปจากค่าเฉลี่ยตามสถิติ

ควรเปิดคำสั่งเทรดตอนไหนดี? หากคุณทำงานโดยใช้ปฏิทินเศรษฐกิจ ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการเปิดคำสั่งเทรดคือ 1 ชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมงครึ่งก่อนการประกาศข่าว ตลาดจะยังคงนิ่งสงบในช่วงเวลานี้และสามารถวางคำสั่งเทรดที่ราคาตลาด ณ ปัจจุบันได้ การเปิดคำสั่งเทรดในภายหลังมีความเสี่ยงสูงเป็นอย่างมาก เพราะเหตุผลแรกก็คือความผันผวนจะเพิ่มขึ้น และประการที่สองก็คือ ค่าสเปรดในตลาดมักสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น การเทรดในช่วงนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่แนะนำหรือแม้แต่มีกฎห้ามเทรดในบางโบรกเกอร์ (คำแนะนำนี้ไม่มีผลกับการเทรดโดยใช้กลยุทธ์การเทรดสั้นแบบ scalping)

เครื่องหมาย "ดาวสีดำ" บนปฏิทินเศรษฐกิจ

คุณควรให้ความสนใจกิจกรรมใดบ้างอย่างใกล้ชิด? อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้ว กิจกรรมที่มีเครื่องหมายรูปดาวสีดำทึบมักเป็นการประชุมของธนาคารกลาง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางมักมีเครื่องมือในการกำกับนโยบายทางการเงินเสมอ การติดตามฟังความเห็นของผู้แทนหรือประธานธนาคารกลางจึงมีความสำคัญมาก พวกเขาอาจบ่งบอกถึงทิศทางในอนาคตและมาตรการที่อาจเกิดขึ้นของธนาคาร

โดยทั่วไป สถิติทางเศรษฐกิจจะรายงานในรอบเดือน ไตรมาส หรือปีที่ผ่านมา คุณสามารถดูสถิติ GDP ของแต่ละประเทศได้ในปฏิทิน อย่างไรก็ดี สถิติ GDP เป็นดัชนีวัดผลตามหลัง ในขณะที่ตัวชี้วัดอย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เป็นดัชนีชี้นำในกรณีนี้ ดัชนีเหล่านี้จะสะท้อนถึงกิจกรรมในอุตสาหกรรมและภาคบริการโดยอ้างอิงจากผลการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ และเป็นเกณฑ์บ่งชี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจว่าอยู่ในแนวโน้มการเติบโตหรือถดถอย

กลุ่มตัวชี้วัดที่สำคัญถัดไปคือ สถิติเงินเฟ้อ ตัวอย่างเช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI หรือ Consumer Price Index) ซึ่งบันทึกการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการในช่วงเวลาการรายงานที่ผ่านมา CPI จึงเป็นดัชนีล่วงหน้าที่บ่งบอกระดับเงินเฟ้อของผู้บริโภค และสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในค่าครองชีพในประเทศ และอำนาจซื้อของค่าเงินประเทศ สถิติค้าปลีกก็เป็นตัวบ่งบอกสภาพตลาดของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

อีกหนึ่งภาคเศรษฐกิจที่สำคัญคือตลาดแรงงาน สถิติในส่วนนี้โดยทั่วไปคืออัตราว่างงาน จำนวนตำแหน่งงานใหม่ (เช่น NFP หรือดัชนี Nonfarm Payrolls ในสหรัฐฯ) และการเปลี่ยนแปลงในระดับค่าจ้าง สถิติเหล่านี้สามารถส่งผลต่อราคาเป็นอย่างมาก เนื่องจากการมีระดับการจ้างงานที่ดี และการลดภาวะเงินเฟ้อเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของรัฐบาลแต่ละประเทศ

วันดำบนปฏิทินเศรษฐกิจ

ในการทำงานกับปฏิทินเศรษฐกิจ เราต้องเข้าใจว่า เราไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์สุดวิสัยล่วงหน้าได้ เช่น ความขัดแย้งปะทุขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้าย เหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง หรือการตัดสินใจของหน่วยงานทางการที่ไม่คาดคิด ตัวอย่างจริง เช่น:

- สงครามอิรักในปี 2003 และเหตุการณ์รัสเซียบุกรุกยูเครนในปี 2022 ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤติพลังงาน

- เหตุการณ์สึนามิที่ทำให้เกิดหายนะในโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นที่ “ฟุกุชิมา ไดอิชิ” ในปี 2011

- ผู้ก่อการร้ายโจมตีตึก World Trade Center ทางอากาศในนครนิวยอร์กปี 2001

- ข่าวฉาวเรื่องเพศที่นำไปสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษในปี 2022

- "วันพฤหัสบดีทมิฬ” (Black Thursday) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2015 เนื่องจากการตัดสินใจของธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ที่จะลดมูลค่าเงินฟรังก์ 40% ทำให้มีหลายผู้เล่นทางการเงินในตลาดรายใหญ่ต้องล้มละลายในเวลาไม่กี่วินาที

เหตุการณ์สุดวิสัยทั้งหลายเหล่านี้สามารถทำให้คุณร่ำรวย (หากคุณเปิดคำสั่งเทรดถูกคู่สกุลเงินในทิศทางและจังหวะที่ถูกต้อง) หรือทำลายคุณได้หากโชคไม่เข้าข้าง ดังนั้น เราถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องย้ำเตือนเรื่องการจัดการเงินและการกำหนดคำสั่ง stop loss และไม่ควรเพิกเฉยต่อคำสั่ง take profit เช่นกัน เพราะคุณอาจไม่มีเวลาที่จะปิดคำสั่งเทรดที่ได้กำไร และราคาเกิดกลับทิศทางและไปในทิศทางตรงกันข้ามได้

ใครบ้างที่ควรใช้ปฏิทินเศรษฐกิจ

แม้ว่าเครื่องมือนี้มักเรียกว่าเป็นปฏิทินฟอเร็กซ์ แต่มันมีประโยชน์ไม่ใช่แค่สำหรับผู้ที่เทรดค่าเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่เทรดคริปโตเคอเรนซี ดัชนีหุ้น หุ้นบริษัท ทองคำ เงิน และน้ำมันด้วยเช่นกัน เพราะอะไร? ลองเปรียบเทียบสินทรัพย์เหล่านี้ดู และคุณจะพบกับคำตอบด้วยตนเอง ตลาดเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์ต่อกันในระดับใดระดับหนึ่ง ทั้งความสัมพันธ์โดยตรงและแบบผกผัน เช่น อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ บีบบังคับให้ธนาคารเฟดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งนำไปสู่ดอลลาร์ที่แข็งค่า และราคาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่ลดลง เช่น หุ้น และคริปโตเคอเรนซี เป็นต้น

เครื่องมืออย่างปฏิทินยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เทรดโดยใช้เฉพาะกราฟและการวิเคราะห์ทางเทคนิคอีกด้วย จริง ๆ แล้ว ความผันผวนจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในตลาดในช่วงที่มีการประกาศข่าวสถิติที่สำคัญ ซึ่งราคาจะทะลุออกจากรูปแบบกราฟและอินดิเคเตอร์จะให้สารพัดสัญญาณมากมาย ในกรณีนี้ปฏิทินจะช่วยให้นักเทรดหยุดรอดูอยู่นอกตลาดในช่วงเวลาที่โกลาหลดังกล่าว และช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินให้กับนักเทรด


« บทความมีประโยชน์
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)