กันยายน 10, 2022

EUR/USD: 2 เหตุการณ์แห่งสัปดาห์

  • สัปดาห์ที่ผ่านมามีสองเหตุการณ์ที่สำคัญ อันดับแรก คู่ EUR/USD ทำระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีเมื่อวันอังคารที่ 6 กันยายนอีกครั้ง โดยลงมาที่ 0.9863 และจากนั้น ธนาคารกลางยุโรปก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ขึ้นดอกเบี้ย 75 จุดพื้นฐาน (bp) เป็น 1.25% เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยการแถลงความเห็นสายเหยี่ยว (เน้นนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด)

    เราต้องบอกว่า ทั้งสองเหตุการณ์นี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด และทุกอย่างสอดคล้องตามการคาดการณ์ที่เราเคยให้ไว้ในบทวิเคราะห์ครั้งที่แล้ว ราคาคู่นี้รีบาวด์ขึ้นมาด้านบนหลังการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรป โดยขึ้นมา 250 จุด และทำระดับสูงสุดที่ 1.0113 เมื่อวันที่ 9 กันยายน หลังจากนั้น ราคาก็ปรับฐานขึ้นทิศเหนือและปิดตลาดที่ 1.0045

    แม้จะมีท่าทีสายเหยี่ยว ธนาคารกลางยุโรปยังคงอยู่ห่างไกลจากธนาคารเฟดสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันของดอลลาร์อยู่ที่ 2.50% ซึ่งสูงกว่าของยูโรหนึ่งเท่าพอดี อีกทั้ง การประชุมเดือนกันยายนของธนาคารกลางยุโรปได้จัดขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่ของฝั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงไม่เริ่มขึ้น และหากคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารเฟด (คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ) สั่งขึ้นดอกเบี้ยในวันที่ 21 กันยายน อีกครั้ง ดอลลาร์จะยิ่งแข็งค่าขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกือบ 100%

    ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าธนาคารกลางทั้งสองแห่งจะมีท่าทีอย่างไรในเดือนตุลาคม แต่มีความรู้สึกอยู่ว่าธนาคารกลางยุโรปอาจลดทัศนคติสายเหยี่ยวลงสักพัก เพื่อรอดูว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและสภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ปัจจัยเรื่องวิกฤติพลังงานในยุโรปจากการคว่ำบาตรรัสเซียยังคงส่งผลลบต่อยูโร อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหภาพยุโรปกำลังมีมาตรการเชิงรุกที่จะลดการพึ่งพาอาศัยพลังงานจากรัสเซียในช่วงเข้าฤดูหนาวนี้ และหากพิจารณาถึงการเติบโตของ GDP ยูโรโซนที่รายงานเมื่อวันที่ 7 กันยายน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขก่อนหน้าและตัวเลขคาดการณ์ (4.1% กับ 3.9%) เราอาจรอดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 9 กันยายน คะแนนเสียงของผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 55% เห็นด้วยว่า EUR/USD จะขยับลงทิศใต้ในอนาคตอันใกล้ ส่วน 30% โหวตให้กับแนวโน้มขาขึ้น และยูโรที่แข็งค่า ด้าน 15% ที่เหลือทำนายแนวโน้มด้านข้างตามแนว Pivot Point ที่ 1.0000 ผลการอ่านอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ไม่ให้ความแน่นอนใด ๆ ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ มีอัตราส่วน 50%-50% ในขณะที่ออสซิลเลเตอร์ให้ฝั่งสีเขียวเป็นฝ่ายได้เปรียบกว่าเล็กน้อย เป็นสีเขียว 50% สีแดง 35% และ 15% เป็นสีเทากลาง

    กรอบการเทรดหลักในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 0.9900-1.0050 แต่ถ้าคำนึงถึงโอกาสที่ราคาจะทะลุออกทั้งสองทิศทาง กรอบจริงจะกว้างขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.9863-1.0113 โดยมีแนวรับที่แข็งแกร่งถัดจากโซน 0.9860 ที่บริเวณ 0.9685 ระดับและเป้าหมายแนวต้านของตลาดหมีจะอยู่ที่ 1.0130, 1.0254 และบริเวณเป้าหมายถัดไปคือ 1.0370-1.0470

    ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้จะมีกิจกรรมที่สำคัญค่อนข้างมาก โดยจะมีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเยอรมนีและสหรัฐฯ ในวันอังคารที่ 13 กันยายน ดัชนี CPI เป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อของภาคการบริโภคและสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับราคาสินค้าและบริการในเดือนสิงหาคม ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนกันยายนโดยสถาบัน ZEW ของเยอรมนีจะประกาศในวันเดียวกัน สถิติเศรษฐกิจอีกชุดหนึ่งจะรายงานในวันพุธที่ 14 กันยายน และ 15 กันยายน ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และสถิติยอดขายปลีกและการจ้างงานในสหรัฐฯ อีกทั้ง เราจะรอฟังการประกาศดัชนี CPI ของยูโรโซน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน ซึ่งปิดท้ายสัปดาห์

GBP/USD:ปอนด์อังกฤษทำสถิติสวนทาง

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 12 - 16 กันยายน 20221

  • ในสัปดาห์ที่แล้ว เราตั้งชื่อหัวข้อบทรีวิวคู่ GBP/USD ว่า "อยู่บนทางสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปี” ทั้งนี้ ระดับต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2020 (1.1409-1.1415) เป็นระดับต่ำสุดเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 37 ปีที่แล้ว และในขณธนี้ การคาดการณ์ของเงินปอนด์ก็กลายเป็นจริง ราคาได้ขยับถึงระดับต่ำสุดที่บริเวณ 1.1404 เมื่อวันที่ 7 กันยายน โดยทำลายสถิติในทางตรงกันข้ามของปี 2020 จากนั้นยูโรก็เริ่มแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์ และดึงค่าเงินต่าง ๆ ขึ้นไป รวมถึงเงินปอนด์ ส่งผลให้คู่ GBP/USD ขยับขึ้นไปที่ 1.1647 และปิดท้ายห้าวันทำการที่ 1.1585

    เหตุการณ์สำคัญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เป็นการประกาศรายงานอัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรและถ้อยแถลงโดยคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน ซึ่งมี นายแอนดริว ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษเป็นประธาน ผลเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คณะกรรมการฯ ยืนยันที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด (QT) และคำกล่าวของพวกเขาส่งผลให้ตลาดมีความมั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 1.75% เป็น 2.50% ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเดิมมีกำหนดการประชุมในวันพฤหัสบดีหน้า แต่เนื่องด้วยกำหนดการไว้อาลัยการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 จึงเลื่อนการประชุมออกไปหนึ่งสัปดาห์เป็นวันที่ 22 กันยายน หลังจากธนาคารเฟดสหรัฐฯ กำหนดอัตราดอกเบี้ยแล้ว

    หากการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเงินปอนด์เป็นจริง สิ่งนี้จะสร้างภาระที่หนักหน่วงยิ่งขึ้นต่อเศรษฐกิจอังกฤษ ซึ่งสร้างความกังวลที่รุนแรงอยู่แล้ว สหราชอาณาจักรกำลังอยู่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาวะเงินเฟ้ออาจแตะ 14% ในปีนี้ หอการค้าสหราชอาณาจักร (BCC) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้ออาจขยับถึง 22% ภายในสิ้นปี 2023 ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเศรษฐกิจขาลงที่ยืดเยื้อ และเศรษฐกิจหดตัวมากกว่า 3.5% Ofgem หน่วยงานด้านพลังงานของอังกฤษประกาศแล้วว่า ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนอังกฤษจะสูงขึ้น 80% ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป และ Financial Times รายงานว่า จำนวนครัวเรือนที่จะเผชิญภาวะยากจนทางพลังงานจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเป็น 12 ล้านครัวเรือน

    แน่นอนว่า นักลงทุนกังวลว่า ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศที่ท้าทายในขณะนี้ได้หรือไม่ หลังจากประเทศล้มเหลวไม่สามารถฟื้นตัวจากเบร็กซิตและสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างสมบูรณ์ อังกฤษยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ กำลังซื้อที่ลดลงของประชากร และการทรุดตัวลงอย่างหนักหน่วงของค่าเงินปอนด์

    การคาดการณ์ระยะกลางในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ดูค่อนข้างเป็นกลาง นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งในสามเห็นด้วยกับฝั่งกระทิง อีกหนึ่งในสามเห็นด้วยกับฝั่งหมี และอีกหนึ่งในสามมีท่าทีเป็นกลาง ด้านการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้สีแดงเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ มีสัดส่วน 70% ต่อ 30% โดยฝั่งสีแดงเป็นต่อ สำหรับออสซิลเลเตอร์ 65% ชี้ลงทิศใต้ และ 35% ชี้ไปทางทิศตะวันออก และไม่มีออสซิลเลเตอร์ใดที่ชี้ไปทางทิศเหนือ

    สำหรับฝั่งตลาดกระทิง ราคาอาจเจอกับแนวต้านในโซนและระดับที่ 1.1600, 1.1650, 1.1720, 1.1800, 1.1865-1.1900, 1.2000, 1.2050-1.2075, 1.2160-1.2200 ในขณะที่แนวรับที่ใกล้ที่สุด นอกจากโซน 1.1475-1.1510 แล้ว จะเป็นราคาต่ำสุดของวันที่ 7 กันยายนที่ 1.1404 ถัดจากนั้นก็ไม่มีใครเดาได้ว่าราคาจะลงไปที่จุดใดต่อ เนื่องด้วยความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้น เราอาจต้องให้ความสำคัญกับระดับที่เป็นเลขจำนวนเต็ม หรือระดับตาม Fibonacci Levels หรือเลขใด ๆ ตามการวิเคราะห์กราฟ

    ในส่วนของสถิติเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ในวันจันทร์ที่ 12 กันยายน จะมีการประกาศค่า GDP และการส่งออก ส่วนในวันอังคารที่ 13 กันยายน จะมีการประกาศระดับค่าจ้างและอัตราการว่างงาน สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะประกาศในวันพุธที่ 14 กันยายน และดัชนีค้าปลีกในอังกฤษจะประกาศในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน โดยแหล่งที่มาของข้อมูลเหล่านี้มาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ ดังนั้น ตารางการเผยแพร่ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เนื่องด้ยยกำหนดการไว้อาลัยพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2

USD/JPY: คู่มนุษย์อวกาศ

  • USD/JPY ขยับขึ้นไปที่ระดับ 140.70 เมื่อวันที่ 2 กันยายน ราคาจึงทำระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างรอให้ราคาทะยานขึ้นอีกรอบหนึ่งและทำสถิติสูงสุดใหม่จากสัปดาห์ที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ราคาไต่ขึ้นไปที่ระดับ 144.985 เมื่อวันพุธที่ 7 กันยายน และปิดตลาดต่ำลงมาเล็กน้อยที่ 142.65

    คำอธิบายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างเรียบง่ายเสมือนกับการกดคัดลอกและวางบนปุ่มคีย์บอร์ด เพราะเหตุผลยังคงเป็นเหมือนเช่นเคย คือ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางอื่น ๆ โดยเฉพาะธนาคารเฟดสหรัฐฯ ที่เป็นสายเหยี่ยว ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงตั้งใจจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบสุดโต่งต่อไป ซึ่งมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการคงอัตราดอกเบี้ยติดลบ (-0.1%) ความไม่สอดคล้องกันนี้เป็นปัจจัยหลักให้เงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่องและคู่ USD/JPY ขยับขึ้น และสถานการณ์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นสั่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย

    และทำไมธนาคารกลางญี่ปุ่นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยด้วย? สถิติ GDP ของญี่ปุ่น (Q2) ที่ประกาศดูค่อนข้างดี ดัชนีขยับขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.9% ในขณะที่ตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 0.7% แน่นอนว่าอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี แต่ก็ถือว่าไม่มีความหมายอะไรเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยูโรโซน หรือสหราชอาณาจักร ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกังวลอะไรให้มากนัก ชุนอิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่นได้กล่าวว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นจะไม่ได้ถูกสกัดโดยนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด แต่ในทางกลับกัน จะเป็นเพราะการอัดฉีดเงินเยน 5.5 พันล้านเยนจากงบประมาณสำรอง นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า เขา “เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด” และ “สิ่งสำคัญคือมันควรเคลื่อนไหวอย่างมั่นคง” และ “ความเคลื่อนไหวที่ฉับพลันใด ๆ ของค่าเงินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์"

    ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นกล่าวแทบจะคำพูดเดียวกันเมื่อวันศุกรที่ 9 กันยายน หลังการประชุมร่วมกับ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ โดยกล่าวว่า “ผมได้หารือเรื่องตลาดอัตราแลกเปลี่ยนกับคิชิดะ” “อัตราแลกเปลี่ยนที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์” “เราจะติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนนี้อย่างใกล้ชิด”

    เราไม่รู้ว่ามีอะไรที่เป็นบวกในคำพูดของกรรมการระดับสูงเหล่านี้ แต่สื่อต่าง ๆ รายงานว่า เงินเยนได้รับแรงหนุน และขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญ 45% ที่โหวตว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้น ส่วนอีก 45% ที่เหลือวางตัวเป็นกลาง และมี 10% เท่านั้นที่มองว่าราคาคู่ USD/JPY จะขยับขึ้นต่อ อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ฝั่งสีเขียวเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างชัดเจน โดยมี 100% เป็นออสซิลเลเตอร์ ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ 90% ก็เป็นสีเขียว และมี 10% เท่านั้นที่อยู่ข้างสีแดง

    ระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 143.75 โดยภารกิจอันดับ 1 ของตลาดกระทิงคือ การทำระดับสูงสุดใหม่ของวันที่ 7 กันยายน และยืนเหนือ 145.00 ให้สำเร็จ ทั้งนี้ เมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิ เราเคยให้การคาดการณ์ไว้ว่าราคาอาจขยับถึงระดับสูงสุดที่ 150.00 ในเดือนกันยายน จึงดูเหมือนว่าคำคาดการณ์ดังกล่าวอาจกลายเป็นจริง โดยระดับแนวรับสำหรับคู่นี้ตั้งอยู่ที่ระดับและโซน 142.00, 140.60, 140.00, 138.35-139.05, 137.50, 135.60-136.00, 134.40, 132.80, 131.70.

    ในสัปดาห์นี้ไม่คาดว่าจะมีกิจกรรมที่สำคัญทางเศรษฐกิจใด ๆ ในญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: สัปดาห์สำคัญของปฏิทิน

  • ในสัปดาห์ที่แล้วเกิดคลื่นการขายอีกครั้งหนึ่ง ราคาบิทคอยน์ขยับถึงระดับต่ำสุดของวันที่ 19 มิถุนายน ($17,600) โดยราคาลงมาที่ $18,543 เมื่อวันที่ 7 กันยายน ในขณะเดียวกัน Ethereum ดิ่งลงต่ำกว่า $1,500 ซึ่งเป็นระดับแนวรับ/แนวต้านที่สำคัญ และทำระดับต่ำสุดในกรอบที่ $1,488 สถานการณ์นี้โดยหลักแล้วเป็นผลมาจากท่าทีสายเหยี่ยวของธนาคารเฟด และการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมของฝั่งธนาคารกลางยุโรป เหรียญทั้งสองฟื้นตัวกลับขึ้นมาโดยสมบูรณ์ และราคาก็ปรับขึ้นอย่างจริงจังอีกด้วย ในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในวันศุกร์ที่ 9 กันยายน ราคาเหรียญทั้งสองอยู่ที่: BTC/USD - $21.275, ETH/USD - $1,715 โดยมูลค่ารวมตามราคาตลาดคริปโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสูงกว่าระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ $1 ล้านล้านโดยอยู่ที่ $1.042 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.976 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ในส่วนของดัชนี Crypto Fear & Greed Index ปรับลดลง 3 จุดในรอบเจ็ดวันจาก 25 เป็น 22 และอยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear)

    บริการจาก TradingView ชี้ว่า อัตราส่วนของ Ethereum ต่อ Bitcoin เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดของปี 2022 โดยอยู่ที่ 0.0843 ในช่วงบ่ายวันที่ 6 กันยายน ทั้งนี้ ครั้งสุดท้ายที่ราคาอยู่ที่ระดับดังกล่าวคือเมื่อเดือนกันยายนปี 2021 โดยในขณะนี้ 1 BTC มีมูลค่าประมาณ 12.4 ETH ณ มูลค่าปัจจุบัน

    ชุมชน ETH ได้เชื่อมโยงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของดัชนีนี้กับกิจกรรมการบูรณาการเครือข่ายที่จะเกิดขึ้น ผู้ใช้งานหลายรายได้พูดถึงมาเป็นเวลาเกือบปีแล้วว่า การปฏิวัติจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว จากนั้น Ethereum จะแซงหน้าบิทคอยน์ในแง่ของมูลค่ารวมตามราคาตลาด กระบวนการบูรณาการมีกำหนดจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13-15 กันยายน 2022 นี้ แต่ช่วงเตรียมการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน

    การบูรณาการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของปี 2022 ในอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี ซึ่งเป็นเพราะว่ามันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการในการทำงานของเครือข่าย การเปลี่ยนแปลงหลักคือการลดการใช้พลังงาน 99.99% และลดการออกเหรียญ ETH

    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า หากการเปลี่ยนไปใช้เครือข่าย Ethereum 2.0 และการใช้กลไก Proof-of-Stake เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อัลท์คอยน์เหรียญนี้อาจมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและดันตลาดคริปโตขึ้นไปทั้งตลาดได้ โดยเฉพาะบิทคอยน์ที่เป็นคู่แข่งหลัก แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นและตามแผนเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา มีรายงานว่าเครือข่าย Ethereum ประสบปัญหาหลังการอัปเดตที่เรียกว่า Bellatrix ซึ่งเครือข่ายล้มเหลวในการประมวลบล็อกธุรกรรมที่มีกำหนดให้มีการตรวจสอบความถูกต้อง ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 1700% ก่อนการอัปเดตครั้งนี้อยู่ที่ 0.5% และหลังจาก Bellatrix ก็เพิ่มขึ้นเป็น 9%

    เมลเทม เดมีเรอร์ ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์ CoinShares เชื่อว่า นักลงทุนจะเพิกเฉยต่อสถานการณ์ทั่วไปในตลาดท่ามกลางกระแสเรื่องการเปลี่ยนไปใช้กลไก PoS ของ ETH และถึงแม้ว่าเครือข่ายจะมีการเปลี่ยนผ่านที่มีประโยชน์ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าเหตุการณ์นี้จะดึงดูดเงินลงทุนได้มาก “แม้ว่าจะมีกระแสความกะตือรือร้นเป็นอย่างมากในแวดวงคริปโตต่อการบูรณาการที่สามารถลดอุปทานและเพิ่มอุปสงค์ได้อย่างรวดเร็ว ความเป็นจริงนั้นยังไม่น่าตื่นเต้น นักลงทุนต่างกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ผมเชื่อว่าไม่น่าจะมีเงินจำนวนมากไหลเข้าสู่ ETH มีความเสี่ยงบางประการที่จะส่งผลต่อตลาดเพราะการบูรณาการนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างให้คนเข้ามาซื้อเพราะข่าวลือและขายตามข่าวจริง แล้วความเสี่ยงนี้จะเกิดกับอะไร? มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดกับฝั่งนักลงทุนรายสถาบันหรือผ่านการเทรด แต่น่าจะเป็นสัญญาออปชั่นมากกว่าการซื้อขายสินทรัพย์โดยตรง”

    ผู้เชี่ยวชาญจากเว็บไซต์ u.today ชี้ว่า วันที่ 13 กันยายน 2022 จะเป็นวันสำคัญของตลาดคริปโต ไม่ใช่เพราะการเปลี่ยนผ่านในเครือข่าย Ethereum (ETH) เท่านั้น แต่ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยคือ สถิติดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐฯ (CPI) จะเผยแพร่ในวันเดียวกัน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สถิติดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ซึจะส่งผลต่อตลาดการเงินโดยตรง รวมถึงคริปโตเคอเรนซี

    U.today ชี้ว่าหากการอัปเดตเครือข่ายไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความผันผวน สภาพคล่อง และความปลอดภัย และดัชนี CPI แสดงถึงภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง เราอาจได้เห็นโมเมนตัมขาขึ้นของราคาได้ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ตลาดคริปโตก็จะร่วงลงต่อไ

    Glassnode มองว่า BTC ขยับร่วงลงต่อไปยังแนวรับได้ที่ $17,000 ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ตัดโอกาสที่จะเกิดคลื่นการยอมแพ้ เนื่องด้วยมีสัดส่วนของเหรียญ “ที่ไม่ทำกำไร” เพิ่มขึ้นเพื่อกำจัดเหล่านักเก็งกำไร (คนที่เทรดในช่วง 155 วันที่ผ่านมา) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 96% (3.11 ล้านบิทคอยน์ จาก 3.24 ล้านล้านบิทคอยน์) สถานการณ์นี้ยิ่งรุนแรงขึ้นจากคลื่นขาลงระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน ถึง 15 สิงหาคม โดยราคาที่ขยับขึ้นไปในตอนแรกที่ $25,000 ตามมาด้วยการดิ่งลงในเวลาไม่กี่วันส่งผลให้นักเก็งกำไรกว่าครึ่งหนึ่งต้องตกอยู่ในกลุ่ม “ผู้ที่ไม่ได้กำไร” ในที่สุด

    นระยะสั้น มันเป็นการทดสอบความเครียดของนักเก็งกำไร ซึ่งจะกำหนดท่าทีในตลาด เนื่องจากกิจกรรมบนเครือข่ายเกือบทั้งหมดนั้นขับเคลื่อนด้วยคนกลุ่มนี้ แนวโน้มสามครั้งในเทรนด์ขาลงในตอนนี้นำไปสู่การวางแผนแค่ในระยะสั้นและตามมาด้วยราคาทำกรอบด้านล่าง นักวิเคราะห์จาก Glassnode ชี้ว่า แนวโน้มระยะยาวของบิทคอยน์ยังคงมีศักยภาพ ซึ่งยืนยันได้จากจำนวนเหรียญที่สะสมเพิ่มขึ้นโดยผู้ที่ถือเหรียญระยะยาว

    เควิน สวานสัน นักวิเคราะห์ชื่อดัง เห็นด้วยกับคำคาดการณ์ที่น่ากังวลของ Glassnode โดยเขาได้เตือนเกี่ยวกับแนวโน้มขาลงของบิทคอยน์เช่นกัน ดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ในขณะที่บิคอยน์ดิ่งลงต่ำกว่าแนวรับทแยงมุม ซึ่งพยุงราคาให้อยู่เหนือระดับต่ำสุดในเดือนมิถุนายนที่ $17,600 กล่าวโดยสวานสัน โดยเขายอมรับว่า สถานการณ์ตลาดหมีของบิทคอยน์จะดำเนินต่อไป เนื่องจากดัชนีดอลลาร์ DXY ยังคงอยู่ในเทรนด์ขาขึ้นที่แข็งแกร่ง

    นาอีม อัสลาม ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งเชื่อว่า แนวโน้มขาลงจะไม่ลงไปที่ระดับ $18,000 หรือ $15,000  แต่จะลงไปต่ำกว่านั้นคือที่ระดับ $12,000

    นิโคลัส แมร์เทน นักวิเคราะห์คริปโตยังไม่ตัดโอกาสที่บิทคอยน์จะดิ่งลงไปยังระดับแนวรับที่แข็งแกร่งในช่วง $12,000-14,000 โดยเขาได้ทำการคาดการณ์โดยอ้างอิงจากกำไรและการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงสุทธิ (NUPL) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาวะของผู้ถือ BTC (เมื่อค่า NUPL มากกว่า 0 นักลงทุนทั้งหมดจะได้กำไร แต่ถ้าต่ำกว่า 0 นักลงทุนส่วนใหญ่จะขาดทุน)

    ในขณะเดียวกัน แมร์เทนเชื่อว่า การเคลื่อนที่ของ BTC ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากสินทรัพย์นี้ไม่เคยมีการซื้อขายในช่วงเวลาแห่งการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดและช่วงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เขายังตั้งข้อสงสัยถึงการกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ เหมือนกับในอดีต ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เขียนว่า “ผมอยากจะเน้นว่า มันไม่เคยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 50% การปรับฐานที่แทบจะตกต่ำครั้งใหญ่ หรือภาวะตลาดหมีในตลาดหุ้นพร้อมกันทั้งหมดใน 10 ปีที่มีการซื้อขายบิทคอยน์บนตลาดแลกเปลี่ยน ตลาดหมีทั่วไปเคยเกิดขึ้นที่ประมาณ 20% จากนั้นธนาคารเฟดก็เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ แต่ธนาคารเฟดทำแบบนั้นไม่ได้ในตอนนี้ หากคุณพิมพ์เงินและพยายามจะกู้สถานการณ์ คุณอาจทำให้สถานการณ์ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้”

    และส่งท้ายบทรีวิวด้วยเรื่องดี ๆ กันบ้าง แม้ว่ามูลค่ารวมในตลาดคริปโตจะลดลงและมีโครงการคริปโตหลายแห่งต้องล้มละลาย  แฮชเรตหรืออัตราความเร็วในการขุดบิทคอยน์นั้นใกล้ระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ สถานการณ์ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับแนวโน้มขาลงของคริปโตเคอเรนซี โดยราคาลดลง 70% จากระดับสูงสุด และหุ้นบริษัทขุดเหรียญมหาชนร่วงลง อย่างไรก็ดี บริษัทขุดเหรียญยังคงนำเสนอสมรรถภาพใหม่ ๆ นักวิเคราะห์เชื่อมโยงทัศนคติที่ดีขอบริษัทบางแห่งและการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์โกลาหลในตลาด หากเราพิจารณาสิ่งนี้ประกอบกับสถิติ Glassnode เราจะสังเกตเห็นแนวโน้มเหรียญที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ถือเหรียญหุ้นระยะยาว (hodlers) จากนั้นเราอาจหวังว่าฤดูหนาวคริปโตจะตามมาด้วยฤดูใบไม้ผลิ

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)