กุมภาพันธ์ 18, 2023

EUR/USD: ธนาคารเฟดไม่ขัดขวางเศรษฐกิจสหรัฐฯ

  • สถิติเดือนมกราคมที่ประกาศเมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ชี้ให้เห็นว่า ชัยชนะของธนาคารเฟดสหรัฐฯ เหนือภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ห่างไกล ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายเดือนคงที่ที่ +0.4% ในขณะเดียวกัน แม้ว่าตัวเลขรายปีจะต่ำกว่าดัชนีครั้งก่อนหน้าที่ +6.4% เทียบกับ +6.5% ดัชนียังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ +6.2% สถิติอเมริกาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งประกาศออกมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หลังจากดัชนีปรับตัวลดลงสองเดือนติดต่อกัน ยอดค้าปลีกในสหรัฐฯ แสดงอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยดัชนีพุ่งขึ้นจาก -1.1% ในเดือนธันวาคมเป็น +3.0% ในเดือนมกราคม (จากการคาดการณ์ที่ +1.8%)

    ปฏิกิริยาตอบสนองเบื้องต้นต่อการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ (ดัชนี DXY ขยับขึ้นเป็น 104.1 ซึ่งสูงสุดที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม) และดัชนีหุ้นที่ลดลงอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า สถิติเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวจะบีบให้ธนาคารเฟดต้องเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินต่อไป หากอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดทำนายไว้ที่ 4.9% เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยอัตราดอกเบี้ยลดลงมาที่ 50 จุดพื้นฐาน (bp) ภายในสิ้นปี ในขณะนี้ระดับสูงสุดถูกประเมินไว้ที่ 5.25% และอาจลดลงเพียง 25 bp ในปี 2023 ในขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้ 50% ที่อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นอีกสามครั้งในเดือนมีนาคม พฤษภาคม และมิถุนายน

    อย่างที่เราเคยพูดถึงไปแล้ว การแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์และดัชนีตลาดหุ้นที่ร่วงลงอย่างฉับพลันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองแรกของตลาด แต่หลังจากนั้นก็เกิดแนวโน้มกลับตัวอย่างเท่ากัน และความต้องการในความเสี่ยงของนักลงทุนก็กลับมาอีกครั้ง ดัชนีหุ้นบวกเขียว และตลาดตัดสินว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถรับมือกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างดุดันในช่วงรอบทศวรรษที่ผ่านมาได้อย่างง่ายดาย เศรษฐกิจก็น่าจะรับมือได้ดีเช่นกันในอนาคต ทั้งดัชนีค้าปลีกและดัชนีเศรษฐกิจอื่น ๆ กลับดูเขียวสดใสในขณะนี้ โดยอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจที่ 517K ตำแหน่งงานใหม่ และ GDP สหรัฐฯ ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำตามรายงานของธนาคารเฟดสาขาแอตแลนตา คาดว่าจะเติบโตขึ้นไม่ใช่แค่ 2.2% แต่ถึง 2.4% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2023

    จากนั้นสภาพอารมณ์ตลาดก็เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง สถิติอีกหนึ่งชุดชี้ว่า ชาวอเมริกันที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานมีจำนวนลดลงอย่างผิดความคาดหมาย ในขณะที่ดัชนีผู้ผลิต (PPI) ขยับขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนในเดือนมกราคม ในสถานการณ์เช่นนี้ ความคาดหวังในตลาดเกี่ยวกับการเพิ่มข้อจำกัดในมาตรการทางการเงินจึงเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ S&P500, Dow Jones และ Nasdaq วิ่งลงทิศใต้ ในขณะที่ DXY ขึ้นทิศเหนือทำระดับสูงสุดในรอบหกสัปดาห์ที่ 104.58 หลังจากนั้นก่อนจะถึงวันหยุดยาวในสหรัฐฯ ดัชนีดอลลาร์ก็ร่วงลงอีกครั้งหนึ่งลงมาที่ 103.85 จุด

    EUR/USD ตอบสนองต่อความผันผวนของ DXY โดยในช่วงต้นสัปดาห์ราคาอยู่ที่ 1.0679 และปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.0694 ซึ่งแทบจะเท่ากับผลลัพธ์เป็นศูนย์ ในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์) นักวิเคราะห์ 80% คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อ 10% คาดว่ายูโรจะแข็งค่าขึ้น และ 10% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง

    ในครั้งนี้ ผลวิเคราะห์ของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ตรงกันกับความเห็นของนักวิเคราะห์แทบจะสมบูรณ์ 80% ให้สัญญาณสีแดง (20% ชี้ว่าราคาอยู่ในภาวะ oversold) ส่วน 20% ที่เหลือให้สัญญาณสีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 60% ที่แนะนำให้ขาย 40% แนะนำให้ซื้อ สำหรับระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ในโซน 1.0600-1.0620 จากนั้นตามมาด้วยระดับและโซนที่ 1.0560, 1.0500, 1.0440 and 1.0370-1.0400 ด้านฝั่งกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0700-1.0710, 1.0745-1.0760, 1.0800, 1.0865, 1.0895-1.0925, 1.0985-1.1030, 1.1110 ซึ่งหลังจากนั้นราคาจะพยายามยืนในกรอบ 1.1260-1.1360 ให้สำเร็จ

    กิจกรรมที่สำคัญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ได้แก่ การประกาศดัชนีกิจกรรมธุรกิจ (PMI) ในเยอรมนีและยูโรโซนเมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ โดยมูลค่าของดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี (CPI) จะประกาศให้ทราบในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ ในวันนี้จะมีการประกาศรายงานการประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) ในช่วงเย็นเช่นกัน รายงานที่จะก่อให้เกิดความผันผวนจะเป็นสถิติเงินเฟ้อ (CPI) ในยูโรโซน รวมถึงอัตราการว่างงานและ GDP สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ ซึ่งเราจะได้ทราบดัชนี GDP เยอรมนีและสถิติการจับจ่ายใช้สอยของชาวอเมริกันในช่วงปลายสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยนักเทรดควรคำนึงด้วยเช่นกันว่าในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันหยุดในสหรัฐฯ เนื่องในวันประธานาธิบดี

GBP/USD: BoE อาจทำเงินปอนด์อ่อนค่า

  • เงินปอนด์พยายามจะฟื้นคืนส่วนที่ขาดทุนไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว โดย GBP/USD ดีดตัวออกจากระดับ 1.2030 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ และทำระดับสูงสุดในรอบสองสัปดาห์ที่ 1.2270 ในวันถัดมา จากนั้นเงินปอนด์ก็เริ่มอ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในดัชนี DXY ส่งผลให้ราคาต่ำสุดในรอบสัปดาห์อยู่ที่ 1.1915 ตามมาด้วยการกลับตัวไปยังระดับเริ่มต้นและ GBP/USD ปิดตลาดที่ 1.2040

    สถิติเงินเฟ้อและอัตราว่างงานของสหราชอาณาจักรไม่ได้ช่วยเงินปอนด์ได้แต่อย่างใด (CPI ลดลงที่ +10.1% ในเดือนมกราคมเทียบกับการคาดการณ์ที่ +10.3% และ +10.5% ในเดือนธันวาคม) ตลาดยังเพิกเฉยต่อสถิติค้าปลีกเช่นกัน แม้ว่าดัชนีจะปรับขึ้นมา +0.5% ในเดือนมกราคมจากตัวเลขคาดการณ์ที่ -0.3% และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ -1.2% รายงานข่าวที่ว่าสหราชอาณาจักรและอียูได้ผลลัพธ์ที่ดีในการเจรจาเบร็กซิตที่ยืดเยื้อนั้นไม่ได้ส่งผลที่ชัดเจนใด ๆ ต่อค่าเงินปอนด์เช่นกัน

    สิ่งที่สำคัญมากกว่าต่ออัตราแลกเปลี่ยนของเงินปอนด์คือสถิติเศรษฐกิจมหภาคจากสหรัฐฯ รวมถึงความคาดหวังว่าธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) อาจสิ้นสุดวัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ “ธนาคารแห่งชาติอังกฤษกังวลอย่างเห็นได้ชัดเจนว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากอาจชะลอเศรษฐกิจมากเกินไป” เป็นความเห็นของนักยุทธศาสตร์จาก Commerzbank โดยอธิบายมุมมองตลาดหมีของ GBP และธนาคาร United Overseas ของสิงคโปร์ก็เห็นด้วยเช่นกัน โดยมองว่า GBP/USD อาจกลับมาทดสอบระดับที่ 1.1900 ในอนาคตอันใกล้

    หากเราพูดถึงการคาดการณ์กลางในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ มี 70% ที่โหวตว่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าลง อีก 10% ไม่ให้คำทำนายใด ๆ และมีนักวิเคราะห์เพียง 20% เท่านั้นที่โหวตว่าเงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้น ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 สมดุลแห่งอำนาจอยู่ที่ 85% ต่อ 15% โดยฝั่งสีแดงเป็นฝ่ายได้เปรียบ และได้เปรียบถึง 100% ในกลุ่มออสซิลเลเตอร์ ระดับและโซนแนวรับของคู่นี้อยู่ที่ 1.1990-1.2025, 1.1960, 1.1900-1.1915, 1.1840, 1.1800, 1.1720 and 1.1600 และเมื่อตลาดขยับขึ้นด้านเหนือ จะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2085, 1.2145, 1.2185-1.2210, 1.2270, 1.2335, 1.2390-1.2400, 1.2430-1.2450, 1.2510, 1.2575-1.2610, 1.2700, 1.2750 และ 1.2940

    ในส่วนของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ ความสนใจจะอยู่ที่การประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจของสหราชอาณาจักร (PMI)

USD/JPY: ความหวังต่อมาตรการ QT ยังคงอยู่

  • “รัฐบาลญี่ปุ่นได้เลือก Kazuo Ueda นักวิชาการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่จากความคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมายระดับเงินเฟ้อคงที่ และระดับรายได้เพิ่มขึ้นในเชิงโครงสร้าง” กล่าวโดย Shunichi Suzuki รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่น และไม่ดูเหมือนว่าตัวเลือกนี้จะส่งผลดีต่อค่าเงินเยน เงินเยนได้เริ่มต้นสัปดาห์ที่ 131.39 USD/JPY ทำระดับสูงสุดในกรอบที่ 135.15 และปิดท้ายสัปดาห์ที่ 134.17

    ทั้งนี้ Kazuo Ueda วัย 71 ปี เป็นอดีตศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว โดยเขาได้ร่วมเป็นกรรมการบริหาร BOJ ตั้งแต่ 20 กว่าปีมาแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายน 1998 จนถึงเดือนเมษายน 2005 ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2000 เขาได้พูดต่อต้านการละทิ้งนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ของธนาคารกลางฯ ดูเหมือนว่าในตอนนี้เขาก็ยังคงไม่เร่งที่จะจำกัดนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่ง ซึ่ง Ueda ได้กล่าวยืนยันเองเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ว่า นโยบายปัจจุบันของธนาคารกลางนั้นเพียงพอและจำเป็นต้องยึดตามแผนการต่อไป

    แม้ว่าจะมีคำพูดดังกล่าว คำถามที่ว่านโยบายนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปภายใต้ผู้บริหารคนใหม่ยังคงเป็นคำถามปลายเปิดในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (60%) ยังคงทัศนคติรอดูไปก่อน 15% คาดว่าราคาจะขยับขึ้นในอนาคตอันใกล้ และ 25% คาดว่า USD/JPY จะขยับลดลง หากเราพูดถึงแนวโน้มในช่วงสามเดือนมีนักวิเคราะห์แค่ 10% เท่านั้นที่มองว่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงต่อไป 25% ยังคงความเห็นเป็นกลาง แต่ 65% รอให้นโยบายทางการเงินเข้มงวดมากขึ้น (QT) และจะยิ่งช่วยให้เงินเยนแข็งค่า ซึ่งตรงกันข้ามกับคำกล่าวของ Kazuo Ueda

    ตัวอย่างเช่น นักเศรษฐศาสตร์จาก Danske Bank ได้ทำนายว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ USD/JPY จะขยับลดลงมาที่ 125.00 ในอีกสามเดือน ความเห็นที่คล้ายกันนั้นยังเป็นของนักยุทธศาสตร์จาก BNP Paribas Research “เราคาดว่าความแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐฯ จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว” “ เราเชื่อว่าดอลลาร์สหรัฐจะเข้าสู่แนวโน้มขาลงในรอบหลายปี และการไหลของเงินจะติดลบมากขึ้นสำหรับดอลลาร์” BNP Paribas ทำนายว่าผลตอบแทนที่เป็นบวกในญี่ปุ่นอาจกระตุ้นให้เงินของนักลงทุนในประเทศไหลกลับเข้าม ดังนั้น USD/JPY จะขยับลดลงมาที่ 121.00 ภายในสิ้นปี 2023

    ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 100% ชี้ไปยังทิศเหนือ (15% อยู่ในโซน overbought) ในส่วนของอินดิเคเตอร์แนวโน้ม 75% ชี้ไปยังทิศเหนือ และ 25% ชี้ไปยังทิศทางตรงกันข้าม ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดตั้งอยู่ในโซน 134.00 ตามมาด้วยโซนและระดับที่ 133.60, 132.80-133.20, 131.85-132.00, 131.25 130.50, 129.70-130.00, 128.90-129.00, 128.50, 127.75-128.10, 127.00-127.25 และ 125.00 ด้านระดับและโซนแนวต้านอยู่ที่ 134.40, 134.75-135.10, 135.60, 136.00, 137.50, 139.35, 140.60, 143.75

    ในสัปดาห์นี้ไม่คาดว่าจะมีสถิติเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญใด ๆ จากญี่ปุ่น นอกจากนี้ อย่าลืมว่าในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันหยุดในญี่ปุ่น เนื่องวันพระราชสมภพของจักรพรรดิญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: เหตุผล 5 ประการให้ BTC เติบโตขึ้น

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 20 - 24 กุมภาพันธ์ 20231

  • ประเด็นเรื่องการกำกับดูแลตลาดคริปโตเริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ อินฟลูเอนเซอร์หลายคนโต้แย้งว่า เราจะได้เห็นเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้ามาจากนักลงทุนสถาบันได้ก็ต่อเมื่อมีการวางกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนก่อน นี่คือหนึ่งในคำพูดล่าสุดจาก Michael Saylor ผู้ร่วมก่อตั้ง MicroStrategy “สิ่งที่จำเป็นจริง ๆ คือ การตรวจสอบ … แนวทางที่ชัดเจนจากสภาคองเกรสเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องการหลักปฏิบัติที่ชัดเจนจากกลต. (คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์) ของสหรัฐฯ” และต้องยอมรับว่าคำเรียกร้องดังกล่าวจากผู้แทนบริษัทยักษ์ใหญ่ตรงกับความเห็นของและพฤติกรรมของนักการเมือง เช่น สมาชิกวุฒิสภา Elizabeth Warren ที่พยายามระดมเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาในสหรัฐฯ ให้สนับสนุนร่างกฎหมายของเธอที่จะเพิ่มกฎระเบียบมากขึ้นให้กับอุตสาหกรรมคริปโต

    เราตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจในปี 2022 จากความล้มเหลวของผู้แทนชั้นนำหลายรายในวงการนี้ ทำให้กิจกรรมด้านการตรวจสอบดูแลของทางการสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทางการก็เริ่มที่จะทำงานอย่างแข็งขันมากขึ้นในปีนี้ โดยเริ่มจากการโจมตีตลาดคริปโต Kraken ซึ่งจริง ๆ แล้วถูกสั่งห้ามไม่ให้บริการซื้อและจัดสรรเหรียญ แต่ยังไม่หมดแค่นั้น Paxos บริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรับผิดชอบในการออกเหรียญ Stablecoin อย่าง USDP, PAXG และ Binance BUSD ก็เจอผลกระทบไปด้วย การสืบสวนเริ่มขึ้นโดยกรมบริการทางการเงินของรัฐนิวยอร์ก (NYDFS) ซึ่งได้สั่งให้บริษัทหยุดออกเหรียญ BUSD กลต. ยังประกาศความพร้อมที่จะฟ้องร้อง Paxos อีกด้วย

    สถานการณ์นี้นำไปสู่เหตุการณ์ที่เงินจำนวนมหาศาลไหลออกจากเหรียญ Stablecoin ผู้ใช้งานหลายคนเริ่มนำเงิน BUSD ไปแลกเป็น USDT แต่ก็เจอปัญหาอีกครึ่งหนึ่งคือ ผู้ใช้งานที่หวาดกลัวบางคนก็เลิกใช้บริการ Binance ไปเลย และในช่วงวันที่ 14 กุมภาพันธ์วันเดียว จำนวนเงินสุทธิที่ไหลออกจากแพลตฟอร์มนี้คิดเป็นเงินกว่า $831 ล้านดอลลาร์ สถิติสูงสุดนับตั้งแต่การล่มสลายลงของ FTX

    Changpeng Zhao ซีอีโอ Binance ตอบสนองต่อแรงกดดันจากหน่วยงานทางการสหรัฐฯ โดยเรียกร้องให้คนในวงการย้ายไปอยู่ประเทศอื่น เขามองว่าดูไบ (UAE) บาห์เรน และฝรั่งเศสอาจเป็นเขตอำนาจศาลที่มีกฎระเบียบที่เอื้อต่อคริปโตมากกว่า ความเห็นของเขายังได้รับการสนับสนุนโดย Hayden Adams ผู้ก่อตั้ง Uniswap “มันน่าเสียดายที่ต้องดูความพยายามของสหรัฐฯ ในแวดวงคริปโต” เขากล่าว “บริษัทที่มีนวัตกรรมจะมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะย้ายไปต่างประเทศ มันเหมือนกันกับการสั่งห้ามการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลเมื่อ 30 ปีที่แล้ว”

    ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้จะมีสถานการณ์เบื้องหลังที่เป็นลบอย่างชัดเจน ราคาบิทคอยน์ขยับขึ้นโดยทำระดับ $25,241 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ BTC/USD ไต่ขึ้นทำระดับสูงสุดเช่นนี้คือเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2022 โดยมีเหตุผลหลายประการที่ราคาขยับขึ้นในรอบนี้

    ประการแรกอย่างที่กล่าวไปคือมาตรการจาก NYFDS และกลต. ต่อ Kraken และ Paxos ทางการสหรัฐฯ ปรนนิบัติต่อเหรียญ PoS ราวกับเป็นสินทรัพย์ที่เป็นพิษ เนื่องด้วยรายได้เชิงรับที่ได้จากการวางเงิน (เพื่อหวังกินกำไร) เหรียญดังกล่าวจึงสามารถรับสถานะเป็นหลักประกัน และมีผลที่ตามมาทางกฎหมายเช่นกัน ในอีกด้านหนึ่ง บิทคอยน์ยังเป็นผลงานของนักขุดเหรียญ ซึ่งอนุญาตให้มันหลีกเลี่ยงชะตากรรมที่คล้ายกันได้ (อย่างน้อยก็ได้ในปัจจุบัน) แฮชเรตของเครือข่ายจึงยังคงทำสถิติต่อไป

    อีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต (และแนวโน้มลดลง) ของราคา “ทองคำ” ดิจิทัลคือความสัมพันธ์ของมันกับตลาดหุ้น ( S&P500, Dow Jones และ Nasdaq)

    ประการที่สามก็คือ บิทคอยน์เจอแรงขายมากเกินไปในปี 2022 ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตลดลงต่ำกว่าราคาตลาด และนักขุดเหรียญส่วนใหญ่ถูกบีบให้ต้องขายเหรียญ BTC ในคลังของตนเองเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และแน่ใจว่าสามารถชำระบัญชีได้

    เหตุผลถัดมาคือโปรโตคอล Ordinals ได้เปิดตัวเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่แค่ดำเนินธุรกรรมทางการเงินในเครือข่ายบิทคอยน์เท่านั้น แต่ยังโอนสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ รวมถึงรูปภาพ ไฟล์เสียง และวิดีโอ การเริ่มใช้งานโปรโตคอลนี้ทำให้กิจกรรมในเครือข่ายมีปริมาณมากขึ้น จำนวนกระเป๋าเงินที่มีมูลค่ามากกว่าศูนย์ก็ทำสถิติใหม่ และนักขุดเหรียญได้รับเงิน $876,000 เป็นรายได้เสริมในรูปแบบของค่าธรรมเนียมในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน

    ช่วงเริ่มต้นของการทะยานขึ้นของ BTC บีบให้นักเก็งกำไรระยะสั้นต้องปิดคำสั่งขาย ซึ่งยิ่งกระตุ้นการเติบโตของราคาบิทคอยน์ และนี่จึงเป็นเหตุผลประการที่ห้านั่นเอง

    ผู้เชี่ยวชาญจาก Glassnode ชี้ว่า มูลค่าที่เหมาะสม ณ ปัจจุบันของบิทคอยน์อยู่ที่ $33,000 โดยเป็นตัวเลขเป้าหมายของบิทคอยน์ Kaleo นักวิเคราะห์ชื่อดังผู้มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ 563,000 ให้ตัวเลขที่คล้ายกันคือ $30,000 เขาทำนายว่าอัลท์คอยน์ชั้นนำก็จะมีอนาคตที่สดใสเช่นกัน ระดับเป้าหมายของ ETH/USD อยู่ที่บริเวณ $3,000 โดย Raoul Pal อดีตผู้บริหาร Goldman Sachs ให้คำทำนายราคา Ethereum เช่นกัน โดยให้ราคาเป้าหมายที่บริเวณ $10,000 แต่การเติบโตดังกล่าวย่อมใช้เวลานานกว่า

    หากเราพูดถึงระยะเวลาสามปี ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ชื่อดัง Willy Woo จำนวนผู้ใช้งานบิทคอยน์จะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 300 ล้านดอลลาร์เป็น 1 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสามปีข้างหน้า ซึ่งจะเท่ากับประชากรโลก 12% โดยประมาณ โดยเขาให้ข้อสังเกตว่า บิทคอยน์ใช้เวลาหกเดือนในการมีผู้ใช้งาน 1,000 คนแรก และใช้เวลา 5 ปีจนมีผู้ใช้งานหนึ่งล้านคน เครือข่ายทำระดับปัจจุบันที่ 300 ล้านคนได้หลังจากสร้างบล็อกเชนนี้ขึ้นมา 13.8 ปี เมื่อเทียบแล้ว Woo ชี้ว่าผู้ใช้งาน PayPal (430 ล้านคน) และ Twitter (400 ล้านคน) ส่วนใหญ่นั้นเป็นบอทมากกว่า

    Anthony Scaramucci ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ SkyBridge Capital  เรียกปี 2023 ว่าเป็น “ปีแห่งการฟื้นตัว” ของบิทคอยน์ แต่คำทำนายของเขาดูถ่อมตัวมากกว่า เขามองว่า มูลค่าของบิทคอยน์บนตลาดอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเป็น $50,000 ในช่วงสองหรือสามปีข้างหน้า

    สำหรับอินฟลูเอนเซอร์อีกท่านหนึ่ง เจ้าของหนังสือขายดีเรื่อง Rich Dad Poor Dad Robert Kiyosaki กล่าวว่าราคาบิทคอยน์จะเพิ่มขึ้นเป็น $500,000 ภายในปี 2025 “การทรุดตัวครั้งใหญ่จะมาถึง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอาจเกิดขึ้น และธนาคารเฟดจะถูกบีบให้ต้องพิมพ์เงินหลายพันล้าน ทองคำจะอยู่ที่ราคา $5,000 เงินที่ $500 และบิทคอยน์ที่ $500,000 ภายในปี 2025” เขาเขียน และกล่าวเพิ่มว่าทองคำและเงินเป็นเงินของพระเจ้า และบิทคอยน์นั้นเป็นดอลลาร์สำหรับคนธรรมดาทั่วไป

    สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงติดลบอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่วันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากดัชนีหุ้นแล้ว ราคาคริปโตเคอเรนซีก็ลดลงเช่นกัน แต่ก็ฟื้นตัวค่อนข้างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์) BTC/USD ซื้อขายอยู่ในโซน $24,600 โดยมีมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.106 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.010 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้า) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นมาจาก 48 เป็น 61 จุดในรอบสัปดาห์ และขยับจากโซนตรงกลาง (Neutral) เข้าสู่โซนความโลภ (Greed)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)