กันยายน 9, 2023

EUR/USD: 13 และ 14 กันยายน - วันสำคัญในสัปดาห์นี้

  • เป็นเวลาสัปดาห์ที่แปดติดต่อกันที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ขยับขึ้น EUR/USD จึงลดลง คู่สกุลเงินนี้กลับมายังระดับเดียวกันกับช่วงสามเดือนก่อนหน้าในโซน 1.0700 และเพราะว่าฝั่งกระทิงของดอลลาร์เริ่มเก็บกำไรเมื่อวันศุกร์ที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ราคาจึงไม่ขยับลงต่อ

    สถานการณ์ปัจจัยพื้นฐานยังคงส่งผลดีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ Services PMI แสดงการเติบโตที่ต่อเนื่องจาก 52.7 เป็น 54.5 จากการคาดการณ์ที่ 52.5 นอกจากนี้ สถิติที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายนชี้ให้เห็นว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่างน้อยก็เป็นที่น่าพอใจ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอยู่ที่ 216K ต่ำกว่าทั้งการคาดการณ์ที่ 234K และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 229K

    ในวันเดียวกันนั้น สถิติยุโรปปรากฏว่าค่อนข้างอ่อนแอ ตัวอย่างเช่น ในไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจอียูเติบโตขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์อยู่ที่ 0.3% ในส่วนดัชนีรายปีมีการคาดการณ์อยู่ที่ 0.6% แต่อัตราการเติบโตจริงต่ำกว่าเช่นกันอยู่ที่ 0.5% ปริมาณการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลง -0.8% ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ว่าจะลดลงที่ -0.5%

    ในระหว่างนี้ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะลดอัตราเงินเฟ้อ แต่ตัวเลขเงินเฟ้อในเยอรมนียังคงที่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 8 กันยายนอยู่ที่ 0.3% เดือนต่อเดือน (m/m) และ 6.4% ปีต่อปี (y/y)

    นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เจอภาวะลำบากใจ ในด้านหนึ่ง จะสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้ก็ต้องอาศัยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อีกด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงมีความเป็นไปได้ที่ในวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายนนี้ ธนาคารกลางฯ จะหยุดพักและคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมคือ 4.25% ในเวลามีโอกาสที่จะเกิดการตัดสินใจดังกล่าวคือ 35%

    ในส่วนของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ (FOMC) จะมีการประชุมในวันที่ 20 กันยายน ตลาดมั่นใจว่าธนาคารเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมเช่นกัน แต่เหตุผลนั้นแตกต่างออกไป ในขณะที่ฝั่งยูโรกำลังอยู่ใกล้การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเศรษฐกิจชะงักตัว สหรัฐฯ กำลัง “ลงจอดอย่างนิ่ม ๆ” ตามความเห็นของ John C. Williams ประธานธนาคารเฟดสาขานิวยอร์ก “นโยบายการเงินอยู่ในสถานการณ์ที่ดี” แน่นอนว่า ความสมดุลอาจหันไปทางใดทางหนึ่งหลังการประกาศสถิติเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 13 กันยายนนี้

    ด้าน CME FedWatch ชี้ว่า มีโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 จุดพื้นฐานในเดือนกันายนอยู่ที่ 37% แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย มันก็ไม่น่าจะส่งผลเสียใด ๆ ต่อดอลลาร์ ตลาดได้เก็งสถานการณ์ในทางลบไว้อยู่แล้วใน USD เนื่องจากมีการเดิมพันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและธนาคารเฟดจะต้องเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ตอนนี้ดูเหมือนจะมีความชัดเจนแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงไปใช้นโยบายแบบผ่อนคลายนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น และอัตราดอกเบี้ยน่าจะคงอยู่ที่ระดับสูงสุด 5.5% ไปอีกระยะหนึ่ง

    คู่ EUR/USD เริ่มขยับลงมาจากระดับสูงสุดที่ 1.1275 เมื่อแปดสัปดาห์ก่อน วันที่ 18 กรกฎาคม และปิดตลาดในสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 1.0699 คือขยับลงมาถึง 576 จุด ในช่วงเย็นวันที่ 8 กันยายนที่มีการเขียนรีวิวฉบับนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 45% คาดการณ์ว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้นในระยะใกล้ อีก 45% คาดการณ์แนวโน้มขาลง และ 10% ไม่มีความเห็นชัดเจน ในส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิค ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อินดิเคเตอร์เทรนด์ทั้งหมดและออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ยังคงมี 100% ที่อยู่ฝั่งดอลลาร์ และให้สัญญาณสีแดง อย่างไรก็ตาม มี 30% ของอินดิเคเตอร์ส่วนใหญ่ที่ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดที่บริเวณ 1.0680 ตามมาด้วย 1.0620-1.0635, 1.0515-1.0525, 1.0480, 1.0370 และ 1.0255 ด้านฝั่งกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0730-1.0745 ตามมาด้วย 1.0780-1.0800, 1.0835-1.0865, 1.0895-1.0925, 1.0985, 1.1045, 1.1090-1.1110, 1.1150-1.1170, 1.1230 และ 1.1275-1.1290

    เหตุการณ์สำคัญในปฏิทินเศรษฐกิจคือวันพุธที่ 13 กันยายนนี้ จะมีการประกาศสถิติเงินเฟ้อของผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประกาศการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ย และแน่นอนว่าตลาดจะจับตาดูการแถลงข่าวโดยผู้บริหารธนาคารฯ หลังการประกาศดังกล่าว ในวันเดียวกันนั้น ทางฝั่งสหรัฐฯ จะประกาศยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้น ตามมาด้วยดัชนีค้าปลีก และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ

GBP/USD: อัตราดอกเบี้ยสูงสุดยังคงต่ำลง

  • ณ ขณะนี้ คำถามสำคัญสำหรับธนาคารกลางหลายแห่ง รวมถึงธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คือคำถามว่าควรจะทำอะไรก่อนระหว่างการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ หรือการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย? จริงอยู่ที่เศรษฐกิจอังกฤษดูเหมือนว่าจะเลือกอย่างที่สองมากกว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคการผลิตของประเทศในเดือนสิงหาคมอยู่ที่เพียง 43.0 เท่านั้น โดยทำระดับต่ำสุดในรอบ 39 เดือน รายงานล่าสุดชี้ว่า ดัชนี PMI ในภาคบริการลดลงเหลือ 49.5 ต่ำกว่าระดับ 50.0 ในโซนการหดตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมกราคม

    แล้วภาวะเงินเฟ้อล่ะ? ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อรายปีในอังกฤษจะลดลงจาก 7.9% เหลือ 6.8% (ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022) แต่ก็ยังเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่มประเทศ G7 อีกทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ 6.9% ปีต่อปี โดยต่ำกว่าระดับสูงสุดเมื่อสองเดือนก่อนหน้าเพียง 0.2% เท่านั้น

    ผลการสำรวจล่าสุดโดย Monthly Decision Maker Panel (DMP) ของธนาคารแห่งชาติอังกฤษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายนชี้ว่า ธุรกิจต่าง ๆ ในอังกฤษคาดหวังว่า CPI จะลดลงเหลือ 4.8% ปีต่อปีภายในปีหน้านี้ ทั้งนี้ ธนาคารฯ เองก็มุ่งที่จะทำให้ดัชนี CPI เข้าใกล้ 5.0% ภายในปีนี้ให้สำเร็จ

    ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลของอังกฤษกำลังให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ Huw Pill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางอังกฤษกล่าวว่า ถึงแม้เรื่องภาวะเงินเฟ้อยังไม่มีความน่าพึงพอใจ เขาขอเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยให้เสถียรต่อไปในระยะหนึ่งก่อน เขากล่าวเสริมว่า ในการประชุมของ BoE ในวันที่ 21 กันยายนนี้ เขาจะโหวตให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันคือ 5.25%

    สำนักข่าว Reuters ชี้ว่า ขณะนี้ ตลาดกำลังเก็งความเป็นไปได้ 85% ว่าอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายของ BoE ภายในสิ้นปีนี้น่าจะถูกปรับขึ้นหนึ่งหรือสองครั้งเป็น 5.75% การคาดการณ์นี้ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิมในเดือนกรกฎาคมอยู่มาก เพราะเคยประเมินไว้ที่ 6.5% ทั้งนี้ อนาคตอัตราดอกเบี้ยที่ 5.75% ของเงินปอนด์นั้นอยู่ห่างจากอัตราปัจจุบันที่ 5.50% แค่ 25 จุดพื้นฐานเท่านั้น ช่องว่างดังกล่าวแน่นอนว่าไม่ส่งผลดีต่อเงินปอนด์ อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดสหรัฐฯ อาจขยับขึ้นได้อีก 25-50 จุดพื้นฐาน

    GBP/USD ปิดตลาดในสัปดาห์ที่แล้วที่ 1.2465 นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร United Overseas Bank Limited (UOB) ของสิงคโปร์คาดว่า ราคาคู่นี้อาจทดสอบแนวรับที่สำคัญที่ระดับ 1.2400 ในช่วง 1-3 สัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่า สภาวะ oversold ระยะสั้นอาจชะลอตัวไม่ให้ราคาลดต่อลงได้ในขณะนี้ การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญนั้นมีผสมกันไปเหมือนกันกับคู่ EUR/USD โดย 45% คาดการณ์ว่าราคาจะขยับขึ้น 45% โหวตให้กับขาลง และ 10% ที่เหลือคาดว่าราคาจะออกไซด์เวยส์ด้านข้าง ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 100% ให้สัญญาณสีแดง โดย 15% ในกลุ่มนี้ชี้ถึงสภาวะ oversold ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์แสดงอัตราส่วน 90% ต่อ 10% โดยฝั่งสีแดงเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่าง จะต้องเจอกับแนวรับที่ระดับและโซน ได้แก่ 1.2445, 1.2370-1.2390, 1.2300-1.2330, 1.2270, 1.2190-1.2210, 1.2085, 1.1960 และ 1.1800 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นด้านบนจะต้องเจอกับแนวต้าน ได้แก่ 1.2510, 1.2560-1.2575, 1.2600-1.2615, 1.2690-1.2710, 1.2760, 1.2800-1.2815, 1.2880, 1.2940, 1.2995-1.3010, 1.3060 และ 1.3125-1.3140 รวมถึง 1.3185-1.321

    ในส่วนสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญในสหราชอาณาจักร ในวันอังคารที่ 12 กันยายน จะมีการประกาศตัวเลขอัตราการว่างงาน ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ดัชนี GDP เดือนกรกฎาคมจะรายงานให้ทราบในวันพุธที่ 13 กันยายน ซึ่งน่าสนใจเช่นกัน

USD/JPY: ฝั่งกระทิงเริ่มหมดแรง เพราะคาดว่าฝั่งหมีจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงิน

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 11 - 15 กันยายน 20231

  • ทางด้านญี่ปุ่น คำถามว่า “เศรษฐกิจหรือภาวะเงินเฟ้อ” นั้นไม่ใช่ประเด็นที่ถกเถียงกัน คำตอบนั้นแน่นอนว่าเศรษฐกิจต้องมาก่อน เมื่อวันพุธที่ 6 กันยายน Kyodo News ได้อ้างแหล่งข่าวนิรนามว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ในเดือนตุลาคมนี้ Reuters อ้างสื่อญี่ปุ่นโดยระบุเป้าหมายหลักของมาตรการกระตุ้นคือ “เพื่อสนับสนุนการขึ้นค่าจ้างในบริษัทต่าง ๆ และจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้า” “โดยคาดว่านายกรัฐมนตรี Fumio Kishida จะมอบหมายให้พรรคการเมืองที่รับผิดชอบทำการเตรียมร่างเพื่อจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับมาตรการเหล่านี้” Reuters ยังให้การวิเคราะห์ด้วยว่า ภาระหนี้สินของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเนื่องด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว การประเมินตัวเลขชี้ว่า ภาระหนี้รัฐบาลของญี่ปุ่นซึ่งปกติก็สูงกว่า GDP สองเท่าอยู่แล้ว จะเพิ่มทำระดับสูงสุดที่ 112 ล้านล้านเยน (760 พันล้านดอลลาร์) ในปีงบประมาณหน้า

    ชัดเจนว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ USD/JPY ได้ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องทำระดับ 147.86 เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน ส่วนวันศุกร์ที่ 8 กันยายน รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่น Shunichi Suzuki ได้กล่าวย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลญี่ปุ่น “ไม่ได้ตัดโอกาสที่จะแก้ปัญหาหากความผันผวนของค่าเงินนั้นสูงเกินไป” อย่างไรก็ดี ไม่มีผู้เล่นในตลาดคนไหนที่เชื่อว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับติดลบ -0.1% มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ความกังวลเริ่มเพิ่มขึ้นในหมู่นักลงทุนว่า กระทรวงการคลังและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) อาจไม่ได้แทรกแซงด้วยคำพูด แต่จะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินจริง ๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงครั้งก่อน รายงานเดียวกันจาก Reuters ระบุด้วยว่า Masato Kanda ทูตผู้แทนด้านสกุลเงินของญี่ปุ่นกล่าวว่า หน่วยงานธนาคารของญี่ปุ่นกำลังพิจารณาโอกาสการเข้าแทรกแซงเพื่อยุติความเคลื่อนไหว “ที่เก็งกำไร”

    ในสถานการณ์ที่ดัชนีดอลลาร์ DXY คงตัวอยู่ที่ระดับ 105.00 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม คงมีแต่การแทรกแซงค่าเงินโดยธนาคารกลางญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะช่วยให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง แต่นักวิเคราะห์บางท่านก็มองว่า สาเหตุหลักที่เงินเยนอ่อนค่านั้นเป็นเพราะความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในหมู่นักการเมืองในประเทศเกี่ยวกับนโยบายทางการเงิน

    ราคาสุดท้ายในสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 147.79 นักยุทธศาสตร์จาก UOB Group คาดว่า ราคาจะคงโมเมนตัมขาขึ้นต่อไปและอาจดัน USD/JPY ขึ้นไปที่ 149.00 ได้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้ ด้านนักวิเคราะห์ 20% เท่านั้นที่ยังคงเชื่อในศักยภาพของดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าราคาจะขึ้นต่อ ในส่วนของฝั่งหมีมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 80% (แต่อย่าลืมว่าต่อให้มีเสียงเอกฉันท์ 100% ก็ไม่ได้การันตีความแม่นยำของการคาดการณ์แต่อย่างใด โดยเฉพาะในกรณีของเงินเยนญี่ปุ่น) ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 100% ที่ให้สัญญาณสีเขียว แต่ 40% จากกลุ่มนี้ชี้แล้วว่าราคาอยู่ในโซน overbought โดยมีระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 146.85-147.00 ตามมาด้วย 146.10, 145.55-145.70, 145.30, 144.90, 144.50, 143.75-144.05, 142.90-143.05, 142.20, 141.40-141.75, 140.60-140.75, 139.85, 138.95-139.05, 138.05-138.30 และ 137.25-137.50 ทางด้านแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 148.45 ตามมาด้วย 148.85-149.10, 150.00 และสุดท้ายคือระดับสูงสุดของเดือนตุลาคมปี 2022 ที่ 151.90

    ในสัปดาห์นี้ไม่มีการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญใด ๆ เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: ความกลัวและความกังวลในตลาด

  • เป็นสัปดาห์ที่สามที่ตลาดอยู่ในภาวะนิ่งสงบ จากการสังเกตโดย William Clemente เศรษฐีเงินล้านคริปโตชี้ว่า ปริมาณการเทรดรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลลดลงทำระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2020 กราฟ BTC/USD บนกรอบ H1 และ H4 แทบจะมีลักษณะคล้ายกับทางเดินมด เพราะสัตว์เหล่านี้เคลื่อนไหวกันแบบเบาบาง เป็นเส้นที่ไม่ขาดจากกัน

    สถานการณ์ยิ่งกระตุ้นโดยคำพิพากษาของศาลในคดี Grayscale บริษัทการลงทุนชั้นนำที่บริหารจัดการสินทรัพย์คริปโต บริษัทฯ นี้ชนะการอุทธรณ์เหนือคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ด้วยเหตุนี้ วันที่ 29 สิงหาคม ราคาบิทคอยน์จึงพุ่งขึ้นจาก $26,060 เป็น $28,122 ภายในสามชั่วโมง ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ดีที่สุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความตื่นเต้นดังกล่าวก็อยู่เพียงชั่วครู่ กลต. โต้กลับโดยตัดสินใจเลื่อนการประกาศผลการพิจารณาการอนุมัติเปิดกองทุน ETF บิทคอยน์แบบสปอตออกไป ทำให้ราคาบิทคอยน์กลับมายังโซนแนวรับเดิมที่ $25,500

    มาดูกันที่การวิเคราะห์เชิงเทคนิค แนวรับนี้ตรงกับระดับ Fibonacci level ที่ 0.382 หากราคาหลุดระดับนี้อาจตกลงต่อไปที่ $21,700 ซึ่งเป็นระดับ Fibonacci ที่ 0.618 ผู้เชี่ยวชาญจาก Fairlead Strategies ชี้ว่า เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม กราฟรายเดือนของบิทคอยน์ยืนยันว่าราคาได้ออกจากโซน overbought ในออสซิลเลเตอร์ Stochastic แล้ว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณความผิดหวังให้กับฝั่งกระทิงของบิทคอยน์ นักวิเคราะห์เชื่อว่า สัญญาณที่ปรากฏขึ้นนี้มักแปลว่าราคาสูงสุดในกรอบนั้นได้ผ่านไปแล้ว เหมือนที่เคยเห็นเมื่อช่วงปลายปี 2017 และต้นปี 2021 “แนวโน้มขาลงใน Stochastic Oscillator ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการทำราคาต่ำสุดอาจยืดเยื้ออีก โดยเฉพาะเมื่อ  Ichimoku cloud อาจทำหน้าที่เป็นแนวต้านได้ (~$31,900)" อธิบายในรายงานจาก Fairlead Strategies

    นักวิเคราะห์ที่ใช้ชื่อเล่นว่า Tolberti ระบุว่า ความผันผวนล่าสุดของราคาบิทคอยน์อาจทำหน้าที่เป็น “กับดักกระทิง” ในปีนี้ Tolberti สังเกตเห็นรูปแบบ “Head and Shoulders” ซึ่งโดยทั่วไปนั้นเป็นสัญญาณตลาดหมี ที่ปรากฏขึ้นบนกราฟ BTC ในเวลานี้

    นอกจากนี้ Tolberti ยังอ้างถึงตัวชี้วัดอีกหลายตัวที่ให้ภาพรวมตลาดหมี อินดิเคเตอร์หนึ่งชี้ว่า บิทคอยน์จะเทรดอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 สัปดาห์ (MA) ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นสัญญาณการยืดเยื้อของแนวโน้มขาลง เขาชี้ว่ามูลค่าของบิทคอยน์อาจร่วงลงมาที่ $10,000 โดยมีโอกาสที่ตลาดจะกลับทิศทางสายที่สุดคือเดือนมีนาคม 2024

    การคาดการณ์ในทางลบมาจากนักวิเคราะห์จาก Cointelegraph เช่นกัน พวกเขามองว่า มูลค่าของ “ทองคำดิจิทัล” อาจเจอกับช่วงขาลงครั้งใหญ่ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า การคาดการณ์นี้อ้างอิงจากแนวโน้มขาลงที่ปรากฏขึ้นในตราสารอนุพันธ์บิทคอยน์ กราฟราคา BTC ชี้ให้เห็นว่าอารมณ์ของนักลงทุนยังไม่ดีขึ้น หลังจากที่ Grayscale มีชัยชนะเหนือกลต. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2023 ผู้เชี่ยวชาญจึงคาดว่ามูลค่าของบิทคอยน์อาจลดลงมาเหลือ $22,000 ในอนาคตอันใกล้

    นักวิเคราะห์ Cointelegraph เชื่อว่า ความล่าช้าในการเปิดให้บริการกองทุน ETF บิทคอยน์แบบสปอตได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อตลาด อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อมโยงปัญหาตลาดกับท่าทีของหน่วยงานรัฐสหรัฐฯ ต่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Binance และ Coinbase โดยแหล่งข่าวหลายแห่งชี้ว่า กระทรวงยุติธรรม (DOJ) สหรัฐฯ น่าจะเดินหน้าฟ้องร้องแพลตฟอร์มเทรดขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและเริ่มดำเนินการสอบสวน โดยเน้นเรื่องข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการฟอกเงินและการละเมิดกฎการคว่ำบาตรบริษัทรัสเซีย

    ในขณะนี้ ตลาดยังอยู่ในภาวะนิ่งเฉย โดยไม่แน่ใจว่าควรจะคาดหวังอะไร ความไม่แน่นอนจากทางการนี้กำลังช่วยให้ตลาดหมีเป็นฝ่ายได้เปรียบ ความกลัวและความกังวลมาปกคลุมตลาดอนุพันธ์ จึงเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดิมพันตลาดขาลง

    ก่อนหน้านี้ เราได้ให้ข้อสังเกตว่า ปัจจัยกระตุ้นตลาดอันทรงพลังในระยะกลางและระยะยาวอาจเป็นการอนุญาตให้เปิดกองทุนบิทคอยน์ ETF และเหตุการณ์ Halving บิทคอยน์ที่มีกำหนดในเดือนเมษายนปี 2024

    ทั้งนี้ ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ มีสถาบันการเงินขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ได้ยื่นขอเปิดกองทุนบิทคอยน์ ETF แบบสปอตกับกลต. สหรัฐฯ เพื่อเป็นการเข้าสู่ตลาดคริปโต เช่น BlackRock รวมถึงบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่อย่าง Invesco และ Fidelity การคาดการณ์ชี้ว่า ในช่วงหกเดือนแรกหลังจาก ETF เปิดตัว ความต้องการถือบิทคอยน์อาจเพิ่มขึ้นเป็น $5-10 พันล้านดอลลาร์ และมูลค่าของ BTC อาจขึ้นเป็น $50,000-120,000 ต่อเหรียญได้

    แม้ว่ากลต. สหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะเลื่อนการพิจารณาดังกล่าวออกไปจนถึงกลางฤดูใบไม้ร่วง โอกาสที่จะอนุมัติค่อนข้างสูง เพราะ BlackRock ไม่ใช่บริษัทเล็ก ๆ แต่เป็นสถาบันการลงทุนรายใหญ่ของโลก และมีจุดยืนที่ดีกับทางการสหรัฐฯ และที่เราควรทราบก็คือ ธนาคารเฟดได้ตัดสินใจในปี 2020 เข้าซื้อหลักทรัพย์ผ่านกองทุน ETF เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งปริมาณที่ซื้อขายครึ่งหนึ่งนั้นก็ซื้อผ่านกองทุนของ BlackRock นั่นเอง

    ที่น่าสนใจก็คือ บริษัทประเมินโอกาสการอนุมัติไว้สูง ซึ่งเห็นได้จากการเข้าซื้อหุ้นบริษัทที่ขุดบิทคอยน์และซื้อเหรียญบิทคอยน์ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมมีรายงาน BlackRock ซื้อหุ้นของบริษัทขุดเหรียญรายใหญ่สี่แห่ง โดยใช้เงินกว่า $400 ล้านเหรียญ Larry Fink ซีอีโอของ BlackRock เรียกบิทคอยน์ว่าเป็นทองคำดิจิทัลและเป็นสินทรัพย์ระหว่างประเทศที่จะสามารถให้ความคุ้มครองจากภาวะเงินเฟ้อได้

    Alistair Milne ผู้อำนวยการด้านการลงทุนของกองทุนสกุลเงินดิจิทัล Altana เชื่อว่า ราคาบิทคอยน์อาจไปถึง $100,000 โดยไม่ต้องมีการอนุมัติกองทุนรวมบิทคอยน์แบบสปอต (ETF) ในสหรัฐฯ เขามองว่า ประเด็นเรื่อง ETF เพียงแค่ทำให้ตลาดไขว้เขวเท่านั้น ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนตอนที่ BlackRock และองค์ทางการเงินดั้งเดิมหลายแห่งได้ยื่นขอเปิดกองทุน ETF กับกลต. สหรัฐฯ บิทคอยน์ทะยานขึ้นมามากที่สุดในรอบหนึ่งปี ขึ้นเหนือระดับ $30,000 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มขาขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

    Milne มั่นใจว่า ประเด็นเรื่องภาคธนาคารของสหรัฐฯ เรื่องเสถียรภาพของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงหลังจากธนาคารเฟดปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น และความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจขุดเหรียญคริปโตจะเป็นตัวดันราคาบิทคอยน์ให้สูงขึ้น

    Arthur Hayes ผู้ร่วมก่อตั้ง BitMEX ตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตได้กล่าวว่า บิทคอยน์อยู่ในเทรนด์กระทิงมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 และคาดว่าจะมีแนวโน้มขาขึ้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า Hayes เชื่อว่า เทรนด์ขาขึ้นนั้นได้รับแรงกระตุ้นจากโครงการสร้างความเสถียรให้กับภาคธนาคารมูลค่า $25 พันล้านดอลลาร์ของธนาคารเฟด เพื่อที่จะ “กอบกู้” ธนาคาร Silicon Valley นาย Hayes มองว่า สถานการณ์นี้กระตุ้นให้นักเทรดโฟกัสกับสินทรัพย์ที่มีปริมาณจำกัดอย่างเช่นบิทคอยน์ ในขณะที่ปัจจุบันนั้นยังเป็นผู้เล่นในตลาดในวงจำกัด แต่ผู้เล่นจำนวนนี้จะเพิ่มมากขึ้นตามความเห็นของเขา

    ในส่วนตัวกระตุ้นที่สอง Halving นั้น Lark Davis บล็อกเกอร์และนักวิเคราะห์ชื่อดังเชื่อว่า Halving อาจพาราคาบิทคอยน์ขึ้นไปได้ 500-600% โดยอาจดันราคาไปที่ $150,000 หรือแม้แต่ $180,000 เขามองว่ามีเหตุการณ์สำคัญสองอย่างที่อาจมีอิทธิพลอย่างสูงให้นักลงทุนอยากซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง คือ การประกาศดัชนีเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 13 กันยายน และการประชุมของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ในวันที่ 20 กันยายนนี้

    ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 8 กันยายน BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $25,890 โดยมีมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.043 ล้านล้านดอลลาร์ ต่ำกว่า $1.048 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพียงเล็กน้อย ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ของบิทคอยน์ชี้ว่าราคาคงอยู่ในโซนความกลัว (Fear) ที่ 46 จุด ขึ้นมาจาก 40 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ก็เข้าใกล้โซน “ปานกลาง” (Neutral) เช่นกัน

    กล่าวโดยสรุป อีกหนึ่งการคาดการณ์มาจากเอไอซึ่งใช้อินดิเคเตอร์เชิงเทคนิคหลายตัว ได้แก่ Moving Average Convergence Divergence (MACD), Relative Strength Index (RSI), Bollinger Bands (BB) เป็นต้น เอไอของแพลตฟอร์ม PricePredictions ได้คำนวณราคาบิทคอยน์คาดการณ์ไว้ที่ $26,228 ในวันที่ 30 กันยายนนี้ เราจึงไม่ต้องรอนานเพื่อคอยดูว่าเอไอดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)