ธันวาคม 28, 2018

ผลลัพธ์ทางการเงินปี 2018 และคำทำนายฟอเร็กซ์ปี 20191

มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง: ในปี 2018

ในแต่ละปี ผู้เชี่ยวชาญธนาคาร Deutsche Bank จะสรุปรายงานประจำปีในช่วงปลายเดือนธันวาคม และในปี้นี้ผลลัพธ์ก็ออกมาชัดเจนส่งสัญญาณในทางลบ โดยสินทรัพย์กว่า 93% จากทุกรายการมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับตัวเลขของเดือนมกราคมปี 2018 และตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เลวร้ายที่สุดในช่วง 118 ปีที่ผ่านมา มากกว่าของปี 1920 ที่ 84%

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสาเหตุหลักของการชะลอตัวดังกล่าวคือ “นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างสุดโต่ง” ซึ่งนำมาซึ่งการตึงตัวทางการเงิน การปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสี่ครั้งโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ เพียงพอที่จะส่งผลให้เกือบทั้งตลาดเข้าสู่แนวโน้มขาลง ซึ่งสามารถพลิกผันเป็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหานายเจอโรม พาวเวลล์ และทีมงานของเขาว่าบ้าคลั่งและเรียกร้องให้ยุติการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ผลก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าประธานาธิบดีไม่สามารถมีอำนาจสั่งการธนาคารได้ และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ได้ตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 0.25% นอกจากนี้ ดูเหมือนว่า มีกรรมการเพียงสองคนในคณะฯ ที่ตั้งเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% อีกหกคนตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.75% สี่คนที่ 3.25% สามคนที่ 3.30% และสมาชิกคณะกรรมการ FOMC อีกสองคนที่อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.6%!

ผลลัพธ์ปรากฏชัดเจน: ในช่วงปลายปี ทุกอย่างในตลาดดิ่งลงมา

ดัชนีค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์มีตัวเลขที่เลวร้ายที่สุดของเดือนธันวาคมตั้งแต่เหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงปี 1930 และเป็นไปตามที่ Bloomberg ได้คำนวณไว้ว่าภาวะตกต่ำดังกล่าวได้ทำให้บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลก 500 คนแรก มูลค่าทรัพย์สินลดลงไปกว่า $511 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งบริษัท Facebook ก็พบกับภาวะทรุดตัวมากที่สุด โดยมีความเสียหายกว่า $23 พันล้านดอลลาร์

สำหรับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ในช่วงต้นปี 2018 ค่าเงินยูโรแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในจุดสูงสุด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ราคา EUR/USD ขยับถึง 1.2555 แต่หลังจากนั้นความแตกต่างในนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟ็ดสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป ประกอบกับปัญหาในข้อตกลง Brexit รัฐบาลอิตาลี และการชะลอตัวในเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ได้เปรียบและราคาคู่นี้ขยับลดลงถึงกรอบด้านล่างที่ 1.1215 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน

สำหรับคู่ GBP/USD พบลักษณะความผันผวนที่คล้ายคลึงกัน ราคาขยับถึงค่าสูงสุดที่ 1.4375 เมื่อวันที่ 17 เมษายน และราคาต่ำสุดทำสถิติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมเมื่อราคาได้ตกลงมาที่ 1.2475 เสีย 1,900 จุดในช่วงเวลาแปดเดือน

สำหรับค่าเงินเยนญี่ปุ่น นักลงทุนมองว่าสกุลเงินนี้เป็นสกุลเงินลี้ภัยหลักในกรณีที่มีความตึงเครียดในสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นพิเศษเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คู่อัตราแลกเปลี่ยน USD/JPY จึงปิดตลาดใกล้กับจุดกลับตัวในรอบสองปีที่ผ่านมาในโซน 111.00 ดังนั้น เมื่อเทียบกับต้นปี 2018 ราคาคู่นี้เสียตำแหน่งไปเพียงประมาณ 200 จุด เท่านั้น

 

จะเกิดอะไรขึ้น: ในปี 2019

ตามความเห็นของนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า ทุกอย่างที่ได้เกิดขึ้นในปีที่กำลังจะผ่านไปนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภาวะตกต่ำระยะยาว ในอันดับแรก คำทำนายเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลระยะสองปีได้ครบกำหนดแล้ว และผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสิบปีตกต่ำสุดในรอบเจ็ดเดือน ซึ่งถึงว่าเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สถานการณ์ในยูโรโซนดูดีขึ้นเล็กน้อยแม้ว่าธนาคารกลางยุโรปได้ทบทวนคำทำนายระดับเงินเฟ้อและสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ในปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าสงครามทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ค่อยแย่สำหรับโลกตะวันตกอย่างที่สันนิษฐานไว้ในตอนต้น อย่างไรก็ตาม ทั้งสกุลเงินยูโรและค่าเงินปอนด์อังกฤษก็ยังคงได้รับผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา Brexit

ในทางกลับกัน อีกไม่นาน การพักสงครามทางการค้า 90 วันระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะสิ้นสุดลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ

ในระหว่างนี้ คำทำนายโดยนักยุทธศาสตร์จากธนาคารโลกชั้นนำและหน่วยงานต่างๆ ปรากฏออกมาค่อนข้างใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก

สำนักข่าว Bloomberg กำหนดคำทำนายอัตราการส่งออกยุโรปที่เป็นบวก ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีจะพัฒนาในทางที่ดีขึ้น และอัตรารายได้เฉลี่ยจะเติบโตขึ้น ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การปรับสมดุลนโยบายทางการเงินของยูโรโซนและการปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโรไปที่ระดับ $1.20 ภายในสิ้นปีนี้

Morgan Stanley คาดการณ์ด้วยเช่นกันว่าในปี 2019 จะเป็นปีที่ลำบากสำหรับค่าเงินดอลลาร์และแนะนำให้ขายต่อค่าเงินยูโรท่ามกลางคำทำนายระดับเงินเฟ้อในยูโรโซน โดยเป้าหมายถัดไปสำหรับคู่ EUR/USD อยู่ในโซน $1.18

ทั้งนี้ ควรคำนึงว่าโดยทั่วไปแล้ว นักวิเคราะห์ให้คำทำนายที่เป็นไปในแง่ดีอย่างยิ่งสำหรับแนวโน้มค่าเงินยูโรในรอบสามเดือนข้างหน้า โดยธนาคาร Societe Generale และ CIBC Capital Markets กำหนดระดับไว้ที่ $1.17 คำทำนายของ TD Securities อยู่ที่ $1.18 ของ Unicredit อยู่ที่ $1.19 และสุดท้ายของ Lloyds Bank กำหนดเป้าหมายไว้ที่ $1.24

อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองที่ดูระมัดระวังมากกว่า โดยผู้เชี่ยวชาญ Citi เชื่อว่าสกุลเงินยูโรยังขยับไม่ถึงกรอบด้านล่าง และภายในช่วงท้ายของไตรมาสแรกปี 2019 ราคาอาจตกลงมาที่ $1.13 และหลังจากนั้นราคาถึงจะเริ่มขยับขึ้นมาที่ระดับ $1.18 ในช่วงครึ่งหลังของปี ในส่วน Barclays Capital คาดการณ์ว่าราคาจะตกลงมาที่ $1.12 ภายในวันที่ 31 มีนาคม และคำทำนายของ ING Group ระบุว่าราคาต่ำสุดอาจอยู่ที่ระดับ $1.11

นักวิเคราะห์ของ JPMorgan Chase เชื่อเช่นกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2019 ด้วยแรงกระตุ้นทางการเงินของรัฐบาลทรัมป์จะสิ้นสุดลง และนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟ็ดสหรัฐฯ จะไม่ปล่อยสินเชื่อราคาถูกอีกต่อไป ดังนั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจะแซงหน้าและค่าเงินยูโรจะเติบโตท่ามกลางความคาดหวังให้ธนาคารกลางยุโรปปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 เท่านั้น

คำทำนายเป็นตัวเลขดังนี้: อัตราแลกเปลี่ยนตกลงไปที่ $1.11 ในช่วงไตรมาสแรกและปรับเพิ่มขึ้นไปที่ $1.18 ภายในปลายไตรมาสที่สี่ของปี 2019

สำหรับคู่ GBP/USD คำทำนายของ JPMorgan Chase คาดการณ์ว่าค่าเงินปอนด์อังกฤษจะขยับขึ้นไปที่ $1.30 ในช่วงไตรมาสแรก และเร่งขยับขึ้นไปที่ $1.37 ภายในสิ้นปีนี้ โดยมีข้อแม้ว่าสถานการณ์ Brexit จะต้องนิ่งสงบ (มีความเป็นไปได้ 40%) ในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อสรุปในข้อตกลงการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ค่าเงินปอนด์อังกฤษอาจลดมูลค่า 10% และในกรณีที่มีการยกเลิกข้อตกลง Brexit ค่าเงินปอนด์จะส่งผลในทางกลับกัน โดยจะเติบโตขึ้น 10%

สำหรับอนาคตค่าเงินเยนเป็นไปในทางลบ ดังนั้น คู่ JPY/USD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 คาดว่าอัตราการเติบโตจะขยับไปในช่วงแรกที่ระดับ 112 เยนต่อดอลลาร์ และหลังจากนั้นจะกลับไปที่ราคาของปี 2016 ที่ 118.00 ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายถึงความเป็นไปได้ที่ค่าเงินเยนญี่ปุ่นจะอ่อนค่าลงตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นและตัวเลขการขาดดุลการค้าที่แย่ลง นอกาจกานี้ยังมีการคาดการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลในทางลบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน

นักยุทธศาสตร์ของ Citi ให้คำทำนายภาพรวมเทรนด์ที่คล้ายคลึงกัน พวกเขามองว่าอัตราแลกเปลี่ยน GBP/USD น่าจะเติบโตขึ้นมาที่ 1.26-1.30 และ JPY/USD จะขยับไปที่ 113.00-115.00

 

จอห์น กอร์ดอน, NordFX



หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)