มกราคม 3, 2021

หากมีใครสักคนถามว่าคู่สกุลเงินใดสำคัญและมีสภาพคล่องมากที่สุดในตลาดฟอเร็กซ์ เราจะได้ยินคำตอบโดยทันที แม้แต่นักเทรดมือใหม่ก็จะตอบว่า “EUR/USD แน่นอน” อย่างไม่ต้องมีข้อสงสัยใด ๆ โดยปริมาณการซื้อขายของคู่นี้อยู่ที่ $1.1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ต่อวัน ทั้งสองสกุลเงินนี้เป็นตัวแทนของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสองแห่ง และดอลลาร์สหรัฐก็เป็นสกุลเงินสำรองที่สำคัญมากที่สุดอันดับหนึ่ง ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงสำรองทองคำและเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก (มากกว่า 60%) ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโรมาเป็นอันดับสองซึ่งมากกว่า 22%

บทวิเคราะห์ปี 2021: เราควรคาดหวังอะไรจากยูโรและดอลลาร์1 

ทั้งนี้ ดอลลาร์กำลังค่อย ๆ สูญเสียตำแหน่งในตลาด ตามรายงานของ Bloomberg ดอลลาร์ทำระดับสูงสุด (45.3%) ในการชำระเงินรอบโลกเมื่อเดือนเมษายนปี 2015 ในขณะนี้ ตามรายงานสถิติ SWIFT ชี้ว่า ยูโรได้แซงหน้าดอลลาร์ไปแล้วแม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ในเดือนตุลาคม 2020 เงินชำระโอนคิดเป็นสัดส่วน 37.8% ในระบบเป็นเงินยูโร ในขณะที่สัดส่วนของเงินดอลลาร์อยู่ที่ 37.64% (เงินปอนด์ติดอันดับที่สามโดยตามหลังทิ้งห่างที่ 6.92%)

แม้ว่าดอลลาร์จะอ่อนค่า แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะขุดหลุมฝังดอลลาร์ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ได้ประกาศว่า ในช่วงฤดูร้อนของปี 2020 เงินสินเชื่อข้ามเขตแดนและพันธบัตรระหว่างประเทศกว่า 50% ได้ซื้อขายด้วย USD และท้ายที่สุด กว่าครึ่งหนึ่งของใบเสร็จในการซื้อขายทั้งหมดบนโลกออกเป็นเงินดอลลาร์ แม้แต่การซื้อขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ

และอย่าลืมว่านักวิเคราะห์ตลาดประเมินความแข็งแกร่งของแต่ละสกุลเงินโดยดูที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (DXY) โดยดัชนีนี้สะท้อนถึงหน่วยสกุลเงินจากหกประเทศ ซึ่งเทียบกับค่าเงิน USD และยูโรก็มีสัดส่วนอันดับหนึ่งที่ 57.6% (ในขณะที่ 5 สกุลที่เหลือมีส่วนแบ่งรวมกันแค่เพียง 42.4% เท่านั้น)

สถิติข้างต้นทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นภาพคร่าว ๆ ว่า EUR/USD คือ คู่สกุลเงินเบอร์หนึ่งในตลาดฟอเร็กซ์ คู่สกุลเงินนี้เองที่เป็นตัวกำหนดเทรนด์หลักสำหรับสกุลเงินอื่น ๆ และเพราะเหตุนี้ นักเทรดทุกคนจึงจำเป็นจะต้องรู้และเข้าใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นไปแล้ว กำลังเกิดขึ้น และอะไรที่จะเกิดขึ้น

 

ประวัติศาสตร์เล็กน้อย

ข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจแต่ค่อนข้างสำคัญก็คือ คู่ EUR/USD จริงๆ แล้วมีมาไม่นาน เงินยูโรกำเนิดขึ้นมาเนื่องจากการก่อตั้งสหภาพยุโรปเมื่อปี 1992 ในตอนแรกเป็นรูปแบบที่ไม่ใช่เงินสด และเพิ่งจะเข้ามาแทนที่สกุลเงินที่เหลือในประเทศยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 1999 ไม่กี่ปีต่อมา ในเดือนมิถุนายน 2002 EUR กลายเป็นสื่อกลางในการชำระเงินเดียวในยูโรโซน เข้ามาแทนที่ค่าเงินมาร์คเยอรมัน (USD/DEM) ที่เคยเป็นที่ชื่นชอบในขณะนั้น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากสองเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งส่งอิทธิพลสำคัญต่อพัฒนาการของอัตราแลกเปลี่ยน EUR/USD เหตุการณ์แรกคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารเฟดของสหรัฐฯ เมื่อช่วงปลายปี 2000 และเหตุการณ์ที่สองคือการก่อการร้ายถึงสี่ครั้งติดต่อกัน โดยเฉพาะครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2011 รวมถึงการที่ตึก World Trade Center ทั้งสองแห่งถูกทำลายลงในนครนิวยอร์ก ทำให้ราคาที่เริ่มจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 0.93 ดอลลาร์ต่อยูโร ขยับขึ้นมาเป็น 1.60 ภายในกลางปี 2008 หรือกล่าวได้ว่า ดอลลาร์อ่อนค่าลงกว่า 70% เมื่อเทียบกับยูโร

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ต้องการเห็นยูโรแข็งค่ามากเกินไป เพราะถือเป็นปัญหาที่รุนแรงสำหรับการส่งออกสินค้ายุโรปและจะส่งผลกระทบต่อดุลการค้าเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงเกิดการแทรกแซงทางคำพูดในตลาด นอกจากนี้ ข่าวดียังปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศ ทำให้ EUR/USD เริ่มขยับลงทิศใต้และทำระดับต่ำสุดในรอบทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 ที่บริเวณ 1.032 ภายในปลายเดือนธันวาคม 2016

นักวิเคราะห์หลายคนในขณะนั้นทำนายว่าคู่สกุลเงินนี้จะปรับตัวคู่ขนานกันอย่างรวดเร็วที่ระดับ 1:1 แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น และขณะนี้ สกุลเงินยุโรปอยู่ที่บริเวณ 1.22 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโร


สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว: ในปี 2020

เมื่อช่วงนี้ของปีที่แล้ว เราได้เผยแพร่บทวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกชั้นนำเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน EUR/USD ของปี 2020 และขณะนี้ เราสามารถตัดสินได้ว่าคำทำนายใดที่ถูกต้องและถูกต้องเพียงใด

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2019 นักวิเคราะห์ที่ Deutsche Bank, Goldman Sachs, Bank of New York Mellon และธนาคารอื่น ๆ อีกหลายแห่งเห็นร่วมกัน โดยทำนายว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าลงในปี 2020 เหตุผลหลักก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยังมีการทำนายว่าในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปภายใต้แรงกดดันจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ หรืออย่างน้อยจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม

คำทำนายทั้งสองนี้ปรากฏว่าถูกต้องอย่างสมบูรณ์ เมื่อช่วงปลายปี 2019 ดัชนี DXY ผันผวนอยู่ที่บริเวณ 97 ในขณะที่ 12 เดือนต่อมา ดัชนีปรับตัวลงมาต่ำกว่า 90 จุด อัตราดอกเบี้ยก็ลดลงเช่นกัน ในเดือนธันวาคมปี 2019 - มกราคม อัตราดอกเบี้ยเดิมอยู่ที่ 1.75% ในขณะที่ต้นเดือนมีนาคมถูกปรับลดลงมาที่ 1.25% และจากนั้นลดฮวบลงมาเป็น 0.25%

เดิมเมื่อเดือนธันวาคมปี 2019 นั้นเป็นช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ชุดแรกที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน และยังไม่มีปรากฏการณ์การแพร่ระบาดรอบโลก แม้แต่ในตอนนั้น Financial Times ได้เผยแพร่คำทำนายของผู้เชี่ยวชาญจาก Citigroup ว่า นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งควบคุมโดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ และการเทเงินใส่ตลาดด้วยสภาพคล่องดอลลาร์ราคาถูกนั้นจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง คำทำนายนี้ยังได้รับการสนับสนุนโดย Lombard Odier ธนาคารสวิส รวมถึง BlackRock หนึ่งในบริษัทการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง 100% และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้มีบทบาทเป็นตัวกระตุ้นกระบวนการดังกล่าว: ส่งผลให้มีการพิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่มเข้ามาเกือบหนึ่งในสี่ของเงินที่มีในปัจจุบันในเวลาเพียงแค่หนึ่งปีที่ผ่านมา

นักทฤษฎีสมคบคิดบางคนโต้แย้งว่า ไวรัสโคโรนาถูกคิดค้นขึ้นมาอย่างจงใจเพื่อแผนการของรัฐบาลลับบนโลก และช่วยให้กลุ่มผู้นำทางการเงินสามารถซื้อสภาพคล่องดอลลาร์จำนวนมหาศาลได้อย่างถูก ๆ แต่บทรีวิวฉบับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะมาเปิดเผยทฤษฎีสมคบคิดใด ๆ ดังนั้น เราจะมาดูกันที่ตัวเลขเฉพาะเจาะจงกันและดูว่าคำทำนายของใครที่แม่นยำมากที่สุด

ตามรายงานของ Bloomberg การคาดการณ์ของสถาบันตลาดการเงินขนาดใหญ่ที่สุดต่างชี้ว่า ภายในท้ายปี 2020 ดอลลาร์สหรัฐจะ “สูญเสียน้ำหนัก” อีก 400-500 จุด และคู่ EUR/USD จะขยับขึ้นมายังโซน 1.16

ผู้เชี่ยวชาญจาก JPMorgan Chase คาดการณ์ระดับที่ 1.14 สำหรับคู่นี้ภายในสิ้นปี 2020 ด้าน Goldman Sachs และ Bank of America Merrill Lynch คาดการณ์ที่ 1.15 ในขณะที่ Deutsche Bank ของเยอรมนีและ Societe Generale ของฝรั่งเศสกำหนดระดับที่ $1.20 ต่อยูโร ผลปรากฏว่าคำทำนายสองตัวเลขสุดท้ายนั้นแม่นยำมากที่สุด: ราคาได้ขยับถึงระดับที่ 1.225 ในช่วงท้ายปี 2020 (โดยสถานการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้พิจารณารวมถึงผลที่ตามมาของ COVID-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ)

 

อะไรจะเกิดขึ้น: ในปี 2021

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว สถานการณ์ไวรัส COVID-19 อาจเปรียบเทียบได้กับสงครามโลกครั้งที่สาม: โดยมีคนเสียชีวิตกว่า 300,000 หนึ่งในสามของประชากรกลุ่มแรงงานของประเทศต้องสูญเสียรายได้ที่มั่นคง ภาวะโรคระบาดกระทบกับวัฏจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบสิบปี และเป็นปีการเลือกตั้งประธานาธิบดี แรงกดดันเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจยังมีผลมาจากสงครามการค้าที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศศึกกับจีนและยุโรป รวมถึงปริมาณเงินดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นในตลาด

มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่ในปี 2021 เงินจะเริ่มหลั่งไหลเข้ายุโรป และดอลลาร์จะอ่อนค่าอย่างรุนแรง จริงอยู่ที่นักวิเคราะห์หลายคนต่างประเมินความลึกของแนวโน้มขาลงในเงิน USD แตกต่างกันไป

เช่น Goldman Sachs คาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ USD ในปี 2021 จะลดลงเพียง 6% ในขณะที่ Morgan Stanley คาดว่า EUR/USD จะขยับขึ้นจากระดับปัจจุบันไปที่ 1.25 (ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ที่ 1.25 ในการคาดการณ์โดยเฉลี่ยอีกหลายแห่ง)

แต่ก็มีผู้ที่ทำนายแนวโน้มขาลงแบบทรุดตัวหนักสำหรับค่าเงินอเมริกันเช่นกัน นายปีเตอร์ ชิฟฟ์ ประธาน Euro Pacific Capital และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง รวมถึง นายสตีเฟน โรช อดีตประธาน Morgan Stanley และกรรมการบริหารธนาคารเฟดประมาณการแนวโน้มที่ดอลลาร์จะทรุดตัวในปี 2021 ที่ 50% ในขณะเดียวกัน นายโรชเชื่อว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์อาจสูงถึง 35% ด้านนักวิเคราะห์จาก Citigroup ก็คาดการณ์ว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าลงในสัดส่วนที่ต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 20% กล่าวคือ ในความเห็นของพวกเขา เราอาจได้เห็นคู่ EUR/USD ในโซน 1.40-1.44 ภายในสิ้นปีหน้านี้

อะไรจะสามารถหยุดดอลาร์ไม่ให้อ่อนค่าต่อไปได้?

โดยปกติแล้วก็ต้องเป็นนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวของธนาคารเฟด ณ ปัจจุบันนี้ ระดับเงินเฟ้อในระยะยาวคาดว่าจะพุ่งกระโดดไปแล้วที่ 1.85% ซึ่งไม่ไกลจากเป้าหมายของธนาคารที่ 2.0-2.5% ระดับเงินเฟ้อนำไปสู่การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และในจุดหนึ่งอาจส่งผลให้ดอลลาร์ทรุดตัวลงอย่างฉับพลัน และธนาคารเฟดอาจถูกบีบบังคับให้ต้องหยุดการอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ แม้ว่าจะลังเลมากแค่ไหน แล้วต้องเริ่มวัฏจักรการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในที่สุด

นอกจากนี้ บางทียุโรปอาจจะเป็นฝ่ายที่สนใจจะหยุดแนวโน้มขาขึ้นของคู่ EUR/USD มากกว่าฝั่งสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ

นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2020 ยูโรเริ่มแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์มาโดยเกือบตลอด นี่เป็นเพราะว่าธนาคารกลางยุโรปได้พิมพ์เงินออกมากว่า €2.2 ล้านล้านยูโรในหนึ่งปี และกำหนดอัตราดอกเบี้ยติดลบ

นอกจากนี้ยังมีการคำนวณที่ชี้ให้เห็นว่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น 10% นั้นจะลด GDP ของยูโรโซนลงประมาณ 1% ลองจินตนาการดูว่า หาก EUR/USD ขยับขึ้นอย่างที่ทำนายโดย Citigroup ไปที่ระดับ 1.40 การเติบโตดังกล่าวจะส่งผลให้ภาคการส่งออกของยุโรปได้รับผลกระทบหนักทั้งหมด แล้วใครจะซื้อสินค้าจากอียูที่ราคาสูงขึ้นอย่างฉับพลันขนาดนั้น? 

ธนาคารกลางยุโรปมีโอกาสแล้วที่จะปรับเงินยูโรให้อ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ธนาคารกลางฯ ตัดสินใจที่จะไม่แทรกแซงในกิจการของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และจำกัดตนเองแค่เพียง “ติดตามอัตราแลกเปลี่ยน” แต่ตามความเห็นของนักวิเคราะห์หลายท่าน การเติบโตของคู่นี้ไปที่บริเวณ 1.25 ธนาคารกลางยุโรปจะถูกบีบบังคับให้ใช้มาตรการอย่างจริงจังเพื่อจำกัดแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นเพิ่มเติมของยูโร และมีโอกาสที่จะเริ่มอนุมัติโครงการช่วยเหลือเศรษฐกิจอียูเป็นจำนวนเงินอีก 2 หรือ 3 ล้านล้านยูโรในอนาคตอันใกล้นี้ และในกรณีที่มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นในยุโรป เราก็จะได้เห็นท่าทีที่คล้ายกันจากสหราชอาณาจักร แคนาดา จีน และอีกหลายประเทศ และหากปี 2019-2020 เรียกได้ว่าเป็นเวลาแห่งสงครามการค้าโลก ปี 2021 อาจกลายเป็นช่วงเวลาแห่งสงครามค่าเงินโลก

แต่….ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะได้เห็นสงครามทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน

สวัสดีปีใหม่ 2021! แน่นอนว่าปีนี้จะเป็นปีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง!

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)