กุมภาพันธ์ 13, 2021

อันดับแรกเป็นการทบทวนเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว:

  • EUR/USD. หลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คำทำนายรายเดือนเป็นจริงเร็วกว่ารายสัปดาห์ และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เช่นกัน ในครั้งที่แล้วมีผู้เชี่ยวชาญเพียง 30% ที่คาดการณ์ว่า EUR/USD จะขยับขึ้นในรอบสัปดาห์ และเมื่อปรับเป็นรอบเดือน จำนวนผู้เห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 60%
    เราได้เริ่มพูดถึงความขัดแย้งในตัวเองของความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีหุ้นและดัชนีดอลลาร์ไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เมื่อภาวะโรคระบาดเริ่มขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ได้เกิดความสัมพันธ์แบบแปรผกผันขึ้นอย่างชัดเจนระหว่างสองดัชนีดังกล่าอันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยเงินราคาถูก ดัชนีหุ้น S&P500, Dow Jones และ Nasdaq ขยับขึ้น และดัชนีดอลลาร์ DXY ขยับลง ซึ่งก็สมเหตุสมผลดี
    ตอนนี้มาถึงปี 2021 ทุกอย่างกลับตาลปัตร ท่ามกลางสถิติเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการคาดหวัง “การอัดฉีด” เงินเข้าเศรษฐกิจเกือบ $2 ล้านล้านดอลลาร์ ระดับความเสี่ยงและดัชนีหุ้นยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่คู่ขนานกันนั้น ผลตอบแทนในระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ก็เติบโตขึ้นเช่นกัน
    แต่เรื่องน่าประหลาดใจไม่หยุดแค่นั้น อ้างอิงจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญจาก Wall Street Journal ปรับเพิ่มการคาดการณ์ตัวเลข GDP สหรัฐฯ ในปี 2021 ขึ้นจาก 4.3% เป็น 4.9% ในยุโรปกลับตรงกันข้ามกัน การฉีดวัคซีนมีความล่าช้ากว่ามาก ประเทศอียูแต่ละประเทศค่อย ๆ เพิ่มมาตรการต้านโควิดอย่างเข้มงวดมากขึ้นอีกครั้ง การล็อคดาวน์ยังดูไม่มีที่สิ้นสุด คณะมนตรียุโรปปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนลงเหลือ 3.9% แต่ในขณะเดียวกัน เงินยูโรก็แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และดอลลาร์อ่อนค่าลง
    ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะนโยบายธนาคารเฟดสหรัฐฯ ในระยะยาวที่ยังคงไม่ปรับลดโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จนถึงปลายปี 2021 และจะไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ก่อนปี 2023 เหตุการณ์นี้ควรนำไปสู่ภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่เฉพาะกับอเมริกา แต่รวมถึงเศรษฐกิจโลก อีกทั้งด้านอียู นโยบายนี้ทำให้เงินยูโรกลายเป็นสกุลเงินที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีนซึ่งมีผลประโยชน์สูงในยุโรป และมีความต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงสนับสนุนความต้องการถือเงินยูโรให้เพิ่มมากขึ้น
    ด้วยเหตุนี้ เมื่อคู่ EUR/USD เริ่มต้นสัปดาห์ที่ 1.2050 ก็ขยับขึ้นไป 100 ปิป ก่อนที่จะทำระดับสูงสุดรอบสัปดาห์ที่ 1.2150 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ ตามมาด้วยการปรับตัวของราคา และปิดตลาดที่ 1.2120
  • GBP/USD สถิติมหภาคที่ประกาศออกมาดูค่อนข้างมีความขัดแย้ง เนื่องด้วยสถานการณ์ไวรัสโคโรนา เงินลงทุนถูกตัด และปัญหาเบร็กซิต GDP ของสหราชอาณาจักรจึงหดตัวลง 9.9% ซึ่งทำสถิติขาลงที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 300 ปี ในขณะเดียวกัน GDP รายเดือนและรายไตรมาสก็ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ การเติบโตของ GDP ใน Q4 ปี 2020 อยู่ที่ +1% ตัวเลขการผลิตทางอุตสาหกรรมต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ แต่ดุลการค้าก็ทำให้นักลงทุนพึงพอใจ
    นโยบายทางการเงินที่เข้มแข็งของธนาคารแห่งชาติอังกฤษ อัตราดอกเบี้ยที่เป็นบวก และการเป็นประเทศแรกในยุโรปและประเทศที่สามในโลก (รองจากอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสนับสนุนเงินปอนด์ ในขณะที่กำลังเขียนบทรีวิวฉบับนี้ ประชากรของประเทศจำนวน 20% ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว (ตัวเลขของสหรัฐฯ อยู่ที่ 14.02%)
    ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (65%) ก็เข้าข้างกับเงินปอนด์อังกฤษ บทวิเคราะห์หลักสันนิษฐานว่า ราคาน่าจะไต่ขึ้นไปได้สำเร็จจนตัดผ่านระดับแนวต้านที่ 1.3750 ขึ้นไปถึง 1.3800 และอาจจะขึ้นไปอีก 25-50 จุด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เกิดขึ้นจริง ราคาทำสถิติสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ 1.3865 และปิดตลาดสุดท้ายให้ GBP/USD อยู่ที่ 1.3850
  • USD/JPY การเคลื่อนที่ของคู่นี้ในกรณีส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่เป็นเหตุการณ์ในสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีหุ้น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และการเคลื่อนที่ของดัชนีดอลลาร์ DXY ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเคลื่อนไหวในสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน
    ดัชนี DXY ไต่ขึ้นมาที่ 91.21 ทำให้ USD/JPY ขยับขึ้นมาที่ 105.66 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ดัชนีดอลลาร์ปรับลดลงมาที่ 90.26 ตามมาอัตราแลกเปลี่ยนทำราคาต่ำสุดที่ 104.40 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ดัชนีขยับขึ้นมายังระดับ 90.71 และอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นไปอีกที่ 105.17 ก่อนที่จะปรับตัวลงมาเล็กน้อย เมื่อดัชนีขยับไปที่ 90.39 ราคาก็ขยับตามมาที่ 104.95 ดังนั้น หากใครต้องการที่จะลองใช้ดัชนี DXY เป็นดัชนีชี้นำสำหรับคู่นี้ ก็สามารถทดสอบดูได้
  • คริปโตเคอเรนซี ในช่วงปลายปี 2020 Forbes ได้จัดทำรายชื่อผู้แทนจากธุรกิจแวดวงเงินคริปโตที่มีฐานะร่ำรวยที่สุด โดยมีเงินทุนมากกว่า $1 พันล้านดอลลาร์ สามอันดับแรกเป็นของ นายไบรอัน อาร์มสตรอง ซีอีโอของ Coinbase ที่ $6.5 พันล้านเหรียญ ถัดมาคือ แซม แบงค์แมน-ฟรีด ประธาน FTX ที่ $4.5 พันล้านดอลลาร์ และคริส ลาร์เซน ผู้ร่วมก่อตั้งเหรียญ Ripple ที่ $2.9 พันล้านดอลลาร์ โดยรวมแล้ว Forbes นับรวมได้เศรษฐีพันล้าน 11 คน แม้ว่าเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มขาขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตอนนี้อาจจะมีจำนวนมากกว่าเดิม นอกจากนี้ มูลค่ารวมในตลาดเงินคริปโตยังเพิ่มขึ้นถึง 87% ในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนครึ่งของปี 2021 จาก $776 พันล้าน เป็น $1,452 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
    สัปดาห์ที่แล้วเป็นหนึ่งในสัปดาห์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของปีนี้ การทะยานขึ้นเริ่มต้นจากรายงานข่าวว่าบริษัท Tesla ซื้อบิทคอยน์จำนวน $1.5 พันล้านเหรียญ ในขณะเดียวกัน นายอีลอน มัสก์ ประธานบริษัทก็กล่าวว่าเขาวางแผนที่จะขายรถยนต์ยี่ห้อของตนเอง และรองรับเงินคริปโตในอนาคตอันใกล้ บิทคอยน์จึงขยับขึ้นมา 23% จากข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์
    แต่นี่ยังไม่จบแค่นั้น บริษัทชำระเงินระดับโลก MasterCard ได้ออกมาประกาศถึงแผนการที่จะให้ร้านค้าสามารถรับชำระเงินคริปโตเริ่มตั้งแต่ปลายปีนี้ ราคาบิทคอยน์จึงทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ $48,930 ในช่วงกลางวันของวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ โดยมูลค่ารวมของ BTC เพิ่มขึ้นเป็น $885 พันล้านเหรียญในขณะนี้ และมีมูลค่ารวมเกินปริมาณเงินสำรองของประเทศขนาดใหญ่อย่างรัสเซียเป็นครั้งแรก
    ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับถึง 92 (อยู่ที่ 81 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) และอยู่ในโซน overbought ในขณะเดียวกัน ดัชนีการครองตลาดของ BTC ก็ลดลงจาก 70.36% เหลือ 61.06% ตั้งแต่ต้นปี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ดัชนีนี้ไม่ได้แปลว่านักลงทุนมีความสนใจต่อบิทคอยน์น้อยลง แต่เป็นความสนใจต่ออัลท์คอยน์สกุลอื่น ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
    ทางด้านตลาดหลักทรัพย์ชิคาโก (CME) ได้เริ่มเปิดตัวการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ส Ethereum เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยมีอัตราการซื้อขายที่ $30 ล้านเหรียญดอลลาร์ในวันแรก โดยมีความสนใจตอนเปิดตัวที่ $20 ล้านเหรียญ ซึ่งแสดงถึงความสนใจที่มั่นคงในหมู่นักลงทุนของเหรียญนี้ มูลค่ารวมของ ETH เพิ่มขึ้น 32% ตั้งแต่ต้นปี และคิดเป็นเงินมากกว่า $203 พันล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์
    อีกหนึ่งเหรียญอันดับต้น ๆ ที่เราให้ความสนใจในบทรีวิวฉบับที่แล้วคือ Litecoin ในช่วงเวลาสามเดือนที่ผ่านมา ฟิวเจอร์สำหรับ LTC เพิ่มขึ้นเป็น 285% เป็นเงิน $584 ล้านเหรียญ และแม้ว่าส่วนแบ่งของ Litecoin ในมูลค่ารวมของตลาดเงินคริปโตจะค่อนข้างเป็นสัดส่วนขนาดเล็ก (อันดับที่ 8 ที่ 0.85%) ตอนนี้กลับเป็นเหรียญที่ติดอันดับที่สามในกลุ่มอนุพันธ์ถัดจากบิทคอยน์และอีธีเรียม

 

สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:

  • EUR/USD ตลอดสัปดาห์หน้านี้จะเป็นช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนในประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อปริมาณการเทรดในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้แปลว่าจะมีความผันผวนที่ลดลงหรือเป็นช่วงที่นิ่งสงบ อย่างไรก็ดีในตอนนี้นักลงทุนเหมือนอยู่ท่ามกลางสี่แยก หลังจากแนวโน้มขาขึ้นกำลังแรงในเดือนมกราคม ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ค่อย ๆ ขยับเข้าสู่ช่วงแข็งตัวและอยู่ในโซน overbought โดยไม่คาดว่าจะมีข่าวน่าประหลาดใจใด ๆ จากธนาคารเฟดในเร็ว ๆ นี้ และรายงานจากการประชุมของคณะกรรมาธิการตลาดเสรีในวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ คาดว่าจะเป็นรายงานที่น่าเบื่อตามเคย ในวันเดียวกันนั้นจะมีการประกาศรายงานการประชุมของธนาคารกลางยุโรปเกี่ยวกับนโยบายทางการเงิน แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเต็มไปด้วยข้อความและวลีแบบปกติทั่วไป ดังนั้น ปัจจัยกระตุ้นสำคัญสำหรับคู่ EUR/USD จะเป็นข่าวเกี่ยวกับความสำเร็จในการต่อสู้กับไวรัส COVID-19 บนทั้งฝั่งสองฟากมหาสมุทรอีกครั้ง
    สำหรับผู้เชี่ยวชาญ 60% ประกอบกับการวิเคราะห์กราฟในกรอบ H4 และ D1 คาดว่า ราคาคู่นี้จะขยับลดลงอย่างน้อยมาที่ระดับแนวรับ 1.2050 ในกรณีที่ราคาตัดทะลุ เป้าหมายถัดไปสำหรับตลาดหมีจะเป็นระดับต่ำสุดของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ 1.1950 แนวรับใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 1.2100
    ในส่วนนักวิเคราะห์ 40% เห็นด้วยกับสถานการณ์ตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม เมื่อขยับจากคำทำนายรอบสัปดาห์มาเป็นรอบเดือน จำนวนผู้สนับสนุนตลาดกระทิงเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในด้าน อินดิเคเตอร์เทรนด์ 85% ในกรอบ H4 และ D1 ก็ให้สัญญาณสีเขียวเช่นกัน แต่ผลการวิเคราะห์ออสซิลเลเตอร์จากทั้งสองกรอบเวลาไม่สามารถสรุปได้ เพราะมีทั้งสัญญาณสีแดง เขียว และเทา โดยมีแนวต้านใกล้ที่สุดอยู่ที่ 1.2150 เป้าหมายฝั่งกระทิงคือราคาน่าจะกลับมายังที่โซน 1.2200-1.2300 ในตอนต้น จากนั้นจะขึ้นไปทำระดับสูงสุดเดือนมกราคมที่ 1.2350
    สำหรับปฏิทินเศรษฐกิจของสัปดาห์นี้ นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรป เรายังจะรอติดตามสถิติ GDP ของยูโรโซนในวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ และสถิติยอดขายปลีกในสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ (คาดการณ์ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก -0.7% เป็น +0.7%) และในช่วงท้ายสัปดาห์ทำงาน ในวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ จะมีการประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจ Markit ของเยอรมนีและอียู (คาดการณ์การเติบโตเช่นกันแม้จะไม่มากนัก)

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 15 - 19 กุมภาพันธ์ 20211

  • GBP/USD การเติบโตของ GDP รายไตรมาสที่ 1% หมายความว่า อังกฤษมีทุกโอกาสที่จะออกจากภาวะถดถอย อัตราการฉีดวัคซีนที่สูงยังมีส่วนสนับสนุนด้วยเช่นกัน (แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่) นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน วางแผนที่จะยุติมาตรการกักตัวในช่วงปลายเดือนนี้ หรือในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
    ในระหว่างนี้ คะแนนเสียงของนักวิเคราะห์แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้: เงินปอนด์ขยับถึงระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน และผู้เชี่ยวชาญ 45% เชื่อว่าจะถึงเวลาที่ราคาจะหยุดตัวและย้อนกลับลงมาเล็กน้อย คะแนน 20% โหวตว่าเทรนด์ขาขึ้นจะมีผลต่อไป ในขณะที่ 35% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์ในกรอบ H4 และ D1 75% รวมกับการวิเคราะห์กราฟ H4 ชี้ไปทางทิศเหนือ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 1.3900 และ 1.3950 ส่วนออสซิลเลเตอร์ที่เหลือ 25% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought
    สำหรับการวิเคราะห์กราฟในกรอบ D1 ชี้ถึงการรีบาวด์จากแนวต้านที่ 1.3850 และราคาลดลงจากแนวรับในตอนต้นที่โซน 1.3700 ลงมาที่ 1.3630 และ 1.3575
    สำหรับสถิติเศรษฐกิจ นักเทรดควรให้ความสนใจกับสถิติจากตลาดผู้บริโภคของสหราชอาณาจักร ซึ่งจะประกาศในวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ และกิจกรรมทางธุรกิจในภาคบริการในวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์นี้
  • USD/JPY การวิเคราะห์กราฟ D1 ทำนายการเคลื่อนที่ของราคาคู่นี้ว่าจะคงอยู่ในกรอบตามระดับ Pivot Point ที่ 104.85 ในช่วงเดือนนี้ นอกจากนี้ ในตอนต้นราคาจะขยับไปยังด้านบนของกรอบที่ 105.75 และจากนั้นจะลงมายังด้านล่างของกรอบที่ 104.40 ในกรอบเวลา H4 สัญญาณออสซิลเลเตอร์ให้กรอบแคบกว่าที่ 104.85 ถึง 105.30
    นอกเหนือไปจากสัญญาณสีเขียว 75% จากอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 บทวิเคราะห์อินดิเคเตอร์และออสซิลเลเตอร์อื่น ๆ ยังคงดูน่าสับสน และยังยากที่จะให้ข้อสรุปความเห็นในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เกือบเท่า ๆ กัน: 40% โหวตแนวโน้มขาขึ้น 30% โหวตขาลง และจำนวนที่เท่ากันเห็นด้วยว่าราคาจะขยับออกด้านข้าง
    ดัชนี GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ซึ่งคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะประกาศในวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ อาจส่งผลต่อการก่อตัวของเทรนด์ในระยะสั้นของคู่ USD/JPY อยู่บ้าง โดยเฉพาะหากดัชนีดังกล่าวมีตัวเลขที่แตกต่างไปจาก +2.3% ตัวเลขที่คาดการณ์ไว้มาก
  • คริปโตเคอเรนซี เราเคยเขียนเกี่ยวกับความพร้อมของบิทคอยน์ที่จะพุ่งขึ้นไปทำระดับ $50,000 เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว และราคาบิทคอยน์ก็ได้ขึ้นไปที่ $48,930 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่าบทวิเคราะห์ดังกล่าวทำนายได้ถูกต้อง ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ 80% ในการวิเคราะห์รายเดือน
    การเติบโตของบิทคอยน์และเหรียญสกุลอื่น ๆ ยิ่งฉุดตลาดเงินคริปโตทั้งตลาดขึ้นไป สมาชิกในตลาดกำลังจับตาติดตามตัวอย่างของ Tesla และ MasterCard และบริษัทบน S&P500 อื่น ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กให้ประกาศถึงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bank of New York Mellon ซึ่งเคยชี้แจงว่าจะอนุญาตให้สกุลเงินดิจิทัลผ่านเครือข่ายทางการเงินเดียวกันกับที่ใช้กับสินทรัพย์การเงินทั่วไป
    นายไมค์ โนโวกราตซ์ ผู้ก่อตั้งธนาคารคริปโต Galaxy Digital กล่าวว่า ทุกบริษัทในอเมริกาจะเดินตามรอยตัวอย่างของ Tesla ในเร็ว ๆ นี้ ในบทสัมภาษณ์กับ Bloomberg เขามองว่าเหตุการณ์นี้จะช่วยให้บิทคอยน์ทะยานขึ้นไป ยัง $100,000 ภายในสิ้นปีนี้
    ส่วนในระยะยาว คู่ BTC/USD อาจขยับขึ้นไปได้ถึง $600,000 อย่างน้อยนี่ก็เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญของบริษัทการเงินและการลงทุน Guggenheim Partners นายสก็อต มิเนิร์ด ผู้อำนวยการด้านการลงทุนของบริษัทชี้ว่า ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับจำนวนเหรียญในโดเมนสาธารณะ “คริปโตเคอเรนซีสามารถมีมูลค่าที่สูงขึ้นได้อีกมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่เรากำลังพูดถึงมูลค่าที่ 400,000 หรือแม้แต่ $600,000 ต่อเหรียญ… บิทคอยน์เคยไม่ได้รับการยอมรับในหมู่นักลงทุนรายสถาบัน แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว” นายมิเนิร์ดกล่าว
    ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มองว่า ความกังวลเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินทรัพย์นี้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงมีความเป็นไปได้ที่เรากำลังพูดถึงการเก็งกำไรที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากนักลงทุนรายสถาบัน ซึ่งสามารถปั่นมูลค่าของเหรียญด้วยเงินทุนมหาศาล ณ ตอนนี้ บิทคอยน์อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากเมื่อผู้ฝากเงินรายใหญ่ออกตลาดไปจะนำไปสู่การกลับมาของเทรนด์ขาลง เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น กล่าวโดยประธาน Guggenheim Partners แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาไว้

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)