สิงหาคม 21, 2021

EUR/USD: ธนาคารเฟดต้องอาศัยดอลลาร์ที่แข็งแกร่ง ธนาคารกลางยุโรปต้องการยูโรที่อ่อนค่า

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 23 - 27 สิงหาคม 20211

  • บทวิเคราะห์ฉบับก่อนหน้าได้ระบุให้การประกาศรายงานการประชุมของ FOMC ธนาคารเฟดเมื่อวันพุธที่ 18 สิงหาคม เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของสัปดาห์ที่แล้ว เอกสารฉบับนี้คาดว่าจะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสถานการณ์และกำหนดเวลาในการจำกัดมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (QE) แน่นอนว่าเราไม่เคยได้ความกระจ่าง 100% ผู้บริหารธนาคารเฟดบางคนยังคงเชื่อว่า ธนาคารฯ ควรเริ่มจำกัดมาตรการกระตุ้นเร็วที่สุดคือช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2022 อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองในทางตรงกันข้ามที่ชี้ว่า การบอกลามาตรการ QE ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนปลายปีนี้ และมุมมองนี้เองที่ทำให้ความต้องการในความเสี่ยงของนักลงทุนลดลง และดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

     ดัชนีหุ้น ได้แก่ Dow Jones, S&P500, Nasdaq Composite ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา การประกาศรายงานการประชุมข้างต้นยิ่งกดให้ดัชนีลดลง และในขณะที่มีคลื่นการเข้าซื้อปรากฏขึ้นเป็นระยะ ๆ เทรนด์โดยรวมยังคงเป็นขาลง ตลาดพยายามเทขายหุ้น และถือเงินดอลลาร์ ส่วนดัชนี DXY ซึ่งเป็นดัชนีที่ติดตามค่าเงิน USD เทียบกับเงินสกุลหลัก 6 สกุล ปรับขึ้นมาเกือบ 1.3% ตลอดสัปดาห์ โดยขึ้นจาก 92.500 มาที่ 93.700

     นอกเหนือไปจากการเฝ้ารอเรื่องมาตรการ QE ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาก็ส่งแรงกดดันต่อตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์เช่นกัน การเฝ้าติดตามมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวม และโดยเฉพาะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรอบใหม่สูงถึง 268,000 รายในวันเดียว คือ วันที่ 17 สิงหาคม ซึ่งเทียบได้กับระดับสูงสุดของช่วงต้นปีนี้

    ทั้งนี้ ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ มีภาพรวมที่ค่อนข้างดีอย่างน้อยก็ในขณะนี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นลดลงจาก 377,000 เหลือ 348,000 ในรอบสัปดาห์ ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์ที่ 363,000 ซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นและส่งผลดีต่อดอลลาร์ อีกหนึ่งแรงสนับสนุนต่อ USD คือ ค่าส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และต่างประเทศ นักลงทุนต่างประเทศสนับสนุนและจะยังคงสนับสนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อเข้าซื้อตราสารหนี้อเมริกา

     เนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ผลลัพธ์ของสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเทียบกับยูโร 130 จุด โดยเริ่มต้นวันจันทร์ที่ระดับ 1.1795 คู่ EUR/USD ทำระดับต่ำสุดที่ 1.1665 ภายในปลายสัปดาห์ และปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่บริเวณ 1.1700

    ดอลลาร์ที่แข็งแกร่งคือสิ่งที่ธนาคารเฟดต้องการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่อการจัดการเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น สัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจำกัดมาตรการ QE อาจรอติดตามได้จากธนาคารเฟด แต่ธนาคารกลางยุโรปไม่ได้คัดค้านที่จะเห็นยูโรอ่อนค่าลงแต่อย่างใด ซึ่ง นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป เคยกล่าวไว้แล้วหลายครั้ง ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงคาดว่าเทรนด์ขาลงของคู่ EUR/USD จะดำเนินต่อไปในระยะกลาง

    ขณะนี้ ราคาคู่นี้ได้ขยับลงมาต่ำกว่าระดับต่ำสุดของวันที่ 1 เมษายน 2021 ที่ 1.1704 และหากยืนยันได้ว่าราคาตัดทะลุ เป้าหมายถัดไปจะเป็นราคาต่ำสุดของฤดูใบไม้ร่วงในปีที่แล้วที่โซน 1.1600-1.1610 และหากราคาสามารถเอาชนะอุปสรรคดังกล่าวได้ จะเป็นการเปิดเส้นทางไปสู่เป้าหมายใหม่ในโซน 1.1450 และ 1.1240 ซึ่งการเคลื่อนที่ 300-400 จุดนี้อาจต้องอาศัยเวลาประมาณหนึ่งหรือสองเดือน แต่หากธนาคารเฟดมีการประกาศสิ้นสุดมาตรการ QE ราคาคู่นี้จะวิ่งอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน อันเป็นความเห็นที่ได้รับการสนับสนุนโดยผู้เชี่ยวชาญ 65%

    ด้านผู้เชี่ยวชาญ 35% ที่เหลือเชื่อว่า ดอลลาร์อาจพักแนวโน้มการเติบโต และราคาคู่ EUR/USD จะกลับมาสู่ช่วง 1.1700-1.1900 อยู่สักระยะ เป้าหมายที่ใกล้ที่สุดในที่นี้ คือ 1.1750 และ 1.1830

    ในส่วนการวิเคราะห์ทางเทคนิค ในกรอบ D1 มีอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์ 75% ให้สัญญาณสีแดง ส่วนออสซิลเลเตอร์ 25% ที่เหลือให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในช่วง oversold

     สำหรับสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เราจะเน้นเหตุการณ์การประกาศดัชนี PMI เยอรมนีและยูโรโซนของ Markit ในวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม รวมถึงคำสั่งซื้อสินค้าทุนและสินค้าคงทนในสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 25 สิงหาคม และในวันพฤหัสบดี เราจะได้ทราบถึงตัวเลข GDP สหรัฐฯ เบื้องต้น นอกจากนี้จะมีการจัดการประชุมสุดยอดประจำปีที่ Jackson Hole ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม โดย นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดจะกล่าวถ้อยแถลงในวันศูกร์

GBP/USD: หนีจากเงินปอนด์

  • หากเงินปอนด์ยังคงต่อสู้กับดอลลาร์เมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้า ในสัปดาห์ที่แล้วถือว่าเงินปอนด์เป็นฝ่ายยอมแพ้โดยปริยาย นักลงทุนรีบเก็บสินทรัพย์ปลอดภัยเนื่องด้วยการระบาดที่รวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์เดลตา และผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ โอกาสที่มาตรการ QE จะถูกจำกัดในสหรัฐฯ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรโดย Gfk ปรับลดลงมาจาก -7 ในเดือนกรกฎาคม เป็น -8 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เริ่มต้นขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ GBP/USD ขยับลงมาเกือบ 270 จุด มายังแนวรับระยะกลางในโซน 1.3600 และปิดตลาดที่ 1.3622

     เราอยากจะย้ำให้ทราบว่า ในบทวิเคราะห์ฉบับที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญจาก German Commerzbank ตั้งเป้าหมายของคู่นี้ไว้ที่ระดับต่ำสุดของวันที่ 20 กรกฎาคมคือ 1.3571 ปรากฏว่าคำทำนายดังกล่าวออกมาถูกต้อง และพวกเขามองว่าในแนวโน้มขาลงครั้งนี้ ราคาอาจทดสอบค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 สัปดาห์ที่ 1.3146 โดยแนวรับที่สำคัญที่สุดระหว่างทางนี้อยู่ในโซน 1.3480 และ 1.3200

     อินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์ 65% บนกรอบ D1 ก็ชี้ไปทางทิศใต้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 30% ที่เห็นด้วย ส่วน 70% ที่เหลือเชื่อว่า ศักยภาพขาขึ้นสู่แนวต้านของเงินปอนด์ยังไม่หมดแรงลงเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารแห่งชาติอังกฤษมีท่าทีในเชิงรุก ออสซิลเลเตอร์ 35% ในโซน oversold ชี้ว่าราคาอาจกลับตัวขึ้นทิศเหนือเช่นกัน โดยมีแนวต้านใกล้ที่สุดอยู่ที่ 1.3725 เป้าหมายใกล้ที่สุดคือ GBP/USD กลับมาที่โซน 1.3800-1.3875 โดยแนวต้านใกล้ที่สุด ได้แก่ 1.3910 และ 1.3960

     หนึ่งในสถิติมหภาคที่สำคัญที่สุดซึ่งจะประกาศในสัปดาห์หน้านี้ คือ การประกาศดัชนีธุรกิจภาคบริการของ Markit ในสหราชอาณาจักร ในวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม

USD/JPY: เงินเยนไม่หวาดกลัวต่อดอลลาร์

  • ท่ามกลางความพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน เงินเยนญี่ปุ่นมีความแตกต่างไปจากสกุลเงินอื่น ๆ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่นิ่งสงบ และสามารถรับมือกับแนวโน้มที่แข็งแกร่งของดอลลาร์ได้อย่างสำเร็จ นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา USD/JPY ขยับอยู่ตามแนว 110.00 โดยมีความพยายามไม่บ่อยครั้งนักที่จะออกจากกรอบ 108.30-111.00 ในครั้งนี้ ราคาเปิดตลาดที่ 109.55 และปิดตลาดเกือบจะที่เดิมคือ 109.80 และช่วงความผันผวนแทบไม่เกิน 110 จุด จาก 109.10 ที่ระดับต่ำสุด และ 110.22 ที่ระดับสูงสุด

     พฤติกรรมของคู่นี้บังคับให้ทั้งผู้เชี่ยวชาญและอินดิเคเตอร์ต้องมีบทวิเคราะห์ที่ขัดแย้้งกัน สำหรับกลุ่มแรกนั้น 45% เห็นด้วยกับฝั่งตลาดกระทิง 35% เห็นด้วยกับแนวโน้มตลาดหมี และ 20% มีท่าทีเป็นกลาง ในบรรดาออสซิลเลเตอร์ในกรอบ D1 มี 35% ให้สัญญาณสีแดง 15% สีเขียว 50% เป็นสีเทากลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ อัตราส่วน 60% ต่อ 40% เห็นด้วยกับฝั่งสีเขียว

     ระดับแนวรับในที่นี้ ได้แก่ 109.10, 108.70 และ 108.30 โดยมีความฝันของฝั่งตลาดหมีที่จะกลับมาทดสอบระดับต่ำสุดของเดือนเมษายนที่ 107.45 ระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุด คือ  110.00, 110.55, 110.80, 111.00 และโซน 111.65 เป้าหมายสุดท้ายของฝั่งกระทิงยังคงเหมือนเดิม คือ การไปที่ระดับสูงสุด 112.00

คริปโตเคอเรนซี: ช่วงนิ่งสงบก่อนพายุจะมา?

  • บิทคอยน์ค่อย ๆ คลานขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่แน่นอนตลอดทั้งสัปดาห์ โดยพยายามที่จะยืนเหนือระดับแนวต้านสำคัญที่บริเวณ $48,000 ความพยายามทั้งสองครั้งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 และ 16 สิงหาคม กลับล้มเหลว หลังจากนั้นคู่ BTC/USD ถอยกลับมายังแนวรับที่ $44,000 ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ คือ ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม ราคาพยายามจะโจมตีอีกครั้ง ตัดผ่านแนวต้าน และขยับถึงระดับ $49,000 ชั่วคราว

     มูลค่ารวมในตลาดคริปโตเพิ่มขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์จาก $1.957 เป็น $2.043 ล้านล้านดอลลาร์ กล่าวคือขึ้นมาทั้งหมด 4.4% และแม้ว่ามูลค่ารวมจะทำระดับ $2.0 ล้านล้านเหรียญได้สำเร็จ แต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะสามารถยืนเหนือระดับดังกล่าวได้ ปริมาณการเทรดบนเครือข่าย BTC ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ก็คงที่ที่ 70 จุด เช่นกัน

    ความลังเลและไม่แน่นอนนี้อาจเป็นผลมาจาก นักลงทุนรายสถาบันขนาดใหญ่ที่กำลังให้ความสนใจกับตลาดดั้งเดิม แต่เราจะต้องไม่ลืมว่าช่วงกลางเดือนสิงหาคมเป็นช่วงวันหยุดฤดูร้อน และนักเทรดหลายคนอาจยังไม่ลงมือทำอะไรจนกว่าจะถึงปลายเดือน

     ตลาดจำเป็นต้องอาศัยแรงกระตุ้นที่สำคัญอย่างมากเพื่อผลักดันให้ตลาดวิ่งขึ้นหรือลง รายงานข่าวรอบโลกให้ความสนใจกับถ้อยแถลงออนไลน์ของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ต่อนักศึกษาที่งานประชุม Town Hall ประธานธนาคารเฟดเน้นถึงความสำคัญที่มีบทบาทมากขึ้นของคริปโตเคอเรนซี โดยวางแผนว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเรื่องการถือสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองประเทศ การตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้ตลาดคริปโตบูมขึ้นมาโดยทันที และเดินตามรอยสถานการณ์ในปี 2017 เมื่อราคาบิทคอยน์พุ่งขึ้นจาก $750 เป็น $19,270 ซึ่งขึ้นมาทั้งหมด 25 เท่า ตรงกับวลีที่ว่า “To the Moon” แต่ ณ ขณะนี้ การให้เหตุผลของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ในการสนับสนุนเงินคริปโตนั้นยังเป็นเพียงในทางทฤษฎีเท่านั้น

     นายไมเคิล แม็กโกลน นักวิเคราะห์จาก Bloomberg กล่าวเข้าข้างบิทคอยน์ โดยเน้นย้ำว่า “การสร้างเงินดิจิทัลและอุตสาหกรรมการเงินจะช่วยกระตุ้นให้บิทคอยน์เติบโต กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ปัจจัยที่คล้ายกันนี้ทำให้ดอลลาร์สหรัฐครอบครองโลกการเงิน ในขณะเดียวกัน ทองคำนั้นไม่มีแรงกระตุ้นสำคัญที่จะเติบโต ดังนั้น BTC จึงค่อนข้างมีศักยภาพที่จะแทนที่ทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่จะมาประกันความเสี่ยงและเป็นเครื่องสะสมมูลค่า”

    จากการวิเคราะห์ของนายแม็คโกลนนี้ บิทคอยน์อาจขยับไปถึง $100,000 ในระยะกลาง ด้านนักวิเคราะห์คริปโตชื่อดัง PlanB ตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น เขามองว่าบิทคอยน์เดินตามรูปแบบโมเดล Stock-to-Flow (S2F) ที่เขาพัฒนาขึ้นอย่างใกล้ชิด ดังนั้นราคา BTC/USD น่าจะขยับถึง $135,000 ภายในสิ้นเดือนธันวาคม

     แน่นอนว่าตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น นายเบนจามิน โคเวน อีกหนึ่งนักวิเคราะห์คริปโตเชื่อว่า บิทคอยน์กำลังเผชิญกับบททดสอบที่สำคัญในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินทิศทางในอนาคตของตลาดโดยรวม บิทคอยน์ได้ทดสอบค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รอบ 20 สัปดาห์ ในทุกเดือนกันยายนมาตั้งแต่ปี 2017 และราคาอาจจะถอยกลับหรือตัดทะลุ และหากมีอีกหนึ่งบททดสอบเกิดขึ้นในเดือนกันยายนปีนี้ มีโอกาสเป็นไปได้ที่เราจะสามารถทำนายราคาจากแนวโน้มดังกล่าวไปจนถึงเดือนเมษายนปี 2022 “เราจะได้ทราบกันว่าตลาดจะเป็นกระทิงหรือการเติบโตนี้จะหยุดชะงักไปอีกหลายเดือน” เขากล่าว

    ขณะที่ เส้น MA รอบ 20 สัปดาห์อยู่ที่บริเวณ $43,500 และหาก BTC สามารถยืนเหนือระดับดังกลาวเป็นแนวรับได้สำเร็จ นายเบนจามิน โคเวน เชื่อว่าเราจะได้เห็นแนวโน้มขาขึ้น

    Santiment บริษัทการวิเคราะห์ข้อมูลบนเว็บรายงานสถิติที่ดูสดใสสำหรับนักลงทุน ปริมาณบิทคอยน์บนตลาดแลกเปลี่ยนลดระดับลงมาต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ปริมาณ BTC จำนวนมากจะไหลเข้าสู่กระเป๋าเย็น ด้านบริษัทวิเคราะห์ Glassnode ก็ให้ข้อสังเกตที่คล้ายกัน “บิทคอยน์ค่อย ๆ ไหลออกจากตลาดแลกเปลี่ยนในเดือนสิงหาคมที่อัตราระหว่าง 75,000 ถึง 100,000 เหรียญต่อเดือน การไหลออกนี้คล้ายกันกับช่วงปี 2020 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 เมื่อมีการสะสมเหรียญครั้งใหญ่”

    นักขุดเหรียญบิทคอยน์ก็ยังไม่รีบที่จะบอกลาเหรียญของพวกเขา ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปริมาณเหรียญของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง หมายความว่า พวกเขาคาดการณ์ว่าราคาจะเติบโตขึ้นต่อไปเช่นกัน พวกเขาจึงยังไม่อยากเก็บกำไรในตอนนี้

     แม้ว่าการครองตลาดของบิทคอยน์ลดลงจาก 69.7% เหลือ 43.8% นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บิทคอยน์ยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักของตลาดดิจิทัล ชัดเจนว่าคู่แข่งของ BTC ในขณะนี้ คือ Ethereum ทั้งนี้ บนตลาดแลกเปลี่ยนบางแห่ง อีธีเรียมแซงหน้าบิทคอยน์ในส่วนปริมาณการเทรดไปแล้ว และผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น ประธานกลุ่ม deVere Group Nigel Green เชื่อว่า, ETH อาจเบียดบิทคอยน์ขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

    สำหรับแนวโน้มระยะใกล้กว่า นักวิเคราะห์คริปโตเคอเรนซีชื่อดังและนักเทรดที่มีชื่อเล่นว่า DonAlt กล่าวถึงเหรียญอัลท์คอยน์บางตัวที่เตรียมทะยานขึ้นและอาจแซงหน้า BTC ในส่วนอัตราการทำกำไรในอนาคตอันใกล้นี้ เหรียญแรกคือ Ripple นักเทรดรายนี้มองว่าคู่ XRP/BTC “ขึ้นมาแล้ว 50% แต่ยังคงอยู่ห่างจากระดับแนวต้าน”  DonAlt เชื่อว่าราคาคู่นี้ยังสามารถเติบโตขึ้นไปได้อีก 185% จากระดับราคา ณ ปัจจุบัน

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)