มกราคม 30, 2022

EUR/USD: เซอร์ไพรส์จากธนาคารเฟดสหรัฐฯ

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 31 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 20221

  • การประชุมของคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารเฟด (Federal Open Market Committee หรือคณะกรรมการตลาดเสรี) และการแถลงข่าวของผู้บริหารที่ตามมานั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญของสัปดาห์ที่แล้วอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์ JP Morgan เรียกคำแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าเป็นท่าที “เหยี่ยว” (นโยบายแบบคุมเข้ม) มากที่สุดในช่วงการดำรงตำแหน่งของเขา

    สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ไม่ใช่ข่าวน่าประหลาดใจใด ๆ โดยมีแนวโน้มว่าจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามแผนที่วางไว้คือเดือนมีนาคม จริงอยู่ที่ นายเจอโรม พาวเวลล์ ไม่ได้ตอบคำถามว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าใด 25 หรือ 50 จุดพื้นฐาน (bp) ในขณะเดียวกัน เขากล่าวอย่างชัดเจนว่าธนาคารเฟดจะค่อนข้าง “แข็งขัน” และ “ควบคุมได้ยาก” ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ดูเหมือนว่าธนาคารเฟดจะไม่ให้ความสำคัญกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอไมครอนหรือสภาพตลาดหุ้นที่ตกต่ำอีกต่อไป และจะให้ความสำคัญกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก

    จำนวนครั้งของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 ยังเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์สำหรับตลาด คำแถลงของนายพาวเวลล์ทำให้ตลาดมีโอกาสเพิ่มความน่าจะเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งภายในเดือนมิถุนายน จาก 45% เป็น 60% โดยรวมแล้วคาดว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 หรือ 6 ครั้งในปีนี้ ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญจาก Deutsche Bank คาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bp ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม และมิถุนายน และจะมีการดำเนินมาตรการจำกัดทางการเงินอีกสองครั้งก่อนสิ้นปี ด้านผู้เชี่ยวชาญจาก BNP Paribas ตั้งเป้าไว้ที่ 6 ครั้ง หรืออาจถึง 7 ครั้ง หากภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงในครึ่งหลังของปี โดยธนาคารเฟดให้สัญญาณชัดเจนว่าเครื่องมือหลักในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อคืออัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง

    นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังตัดสินใจเพิ่มการถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นสองเท่า ปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลจะลดลงที่ $2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป (ขณะนี้อยู่ที่ $1 หมื่นล้าน) และสินเชื่อจำนองอีก $1 หมื่นล้าน (ขณะนี้อยู่ที่ $5 พันล้าน)

    สัญญาณเหยี่ยวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าท่าทีของธนาคารกลางเริ่มเข้มงวดมากขึ้นและมีผลต่อตลาดตราสารอนุพันธ์เป็นอย่างมาก ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลและดัชนีดอลลาร์ DXY ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง และดัชนีดังกล่าวกระโดดขึ้นไปสูงกว่า 97.35

    ทั้งนี้ ยูโรเป็นหนึ่งในสกุลเงินพื้นฐานของ 6 สกุลเงินหลักที่ใช้คำนวณดัชนี DXY โดยมีสัดส่วนที่ 57.6% ดังนั้น เงินยูโรมีบทบาทนำในการเติบโตของดัชนีและการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ในสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่างท่าทีแบบเหยี่ยว (นโยบายคุมเข้ม) ของเฟดและแบบพิราบ (นโยบายผ่อนคลาย) ของธนาคารกลางยุโรปเป็นที่พูดถึงแล้วหลายครั้ง ฝั่งยุโรปตั้งใจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2023 เท่านั้น ในขณะที่อีกฝั่งสหรัฐฯ จะสิ้นสุดการดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นที่เรียบร้อยแล้วในเวลานั้น และความไม่สอดคล้องกันดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อสกุลเงินโลกเก่าคู่

    EUR/USD อ่อนค่าลงมากกว่า 220 จุดจากระดับสูงสุดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นสถิติในรอบเจ็ดเดือน ราคาขยับถึงกรอบด้านล่างเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม ที่ 1.1121 ตามมาด้วยการปรับฐานเล็กน้อยและปิดตลาดที่ 1.1148

    แน่นอนว่าหากธนาคารเฟดสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายทางการเงินที่คุมเข้มอย่างก้าวร้าวเป็นพิเศษ นี่อาจนำไปสู่ความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างฉับพลันและปัญหาอื่น ๆ มากมายที่จะตามมา แต่สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นในตอนนี้ และยังมีความเป็นไปได้เสมอที่จะปรับท่าทีให้ผ่อนคลายทันทีที่ปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้น โอกาสที่ราคาคู่นี้จะขยับลดลงมาที่ 1.1000 จึงยังคงสูงมาก ระดับนี้เป็นตัวเลขคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทั้งจาก Internationale Nederlanden Groep ของเนเธอร์แลนด์ และ Imperial Bank of Commerce ของแคนาดา

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ อินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์ 100% บนกรอบ D1 ให้สัญญาณสีแดง แต่ 30% ของออสซิลเลเตอร์อยู่ในโซนแรงขายมากเกินไป (oversold) ในส่วนผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่นั้น (60%) เห็นด้วยว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อ 40% เชื่อว่ายูโรยังไม่พ่ายแพ้โดยปริยาย และราคาจะสามารถกลับสู่กรอบระยะกลางด้านข้างชั่วคราวที่ 1.1220-1.1385 โดยมีโซนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ  1.1185 ตามมาด้วย 1.1220, 1.1275, 1.1355-1.1385 และ 1.1485 ด้านโซนแนวรับที่ใกล้ที่สุดคือ 1.1075-1.1100 และจากนั้นคือ 1.0980-1.1025

    สำหรับปฏิทินในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ความสนใจของตลาดจะอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ โดยไม่น่าจะมีข่าวน่าประหลาดใจเป็นพิเศษใด ๆ และอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะคงที่ที่ระดับเดิมคือ 0% อย่างไรก็ตาม อาจมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงบางส่วนในนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป และนักลงทุนคาดว่าจะได้รับทราบจากการแถลงข่าวของธนาคารฯ

    โดยทั่วไป สัปดาห์นี้จะเต็มไปด้วยการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ GDP ของยูโรโซน และดัชนีตลาดผู้บริโภคของเยอรมนีในวันจันทร์ที่ 31 มกราคม ปริมาณการขายปลีกในเยอรมนี ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจของ ISM ในภาคการผลิตของสหรัฐฯ รวมถึงผลการวิจัยภาคธนาคารของยุโรปซึ่งจะประกาศในวันอังคาร โดยจะมีการประกาศสถิติตลาดผู้บริโภคของยูโรโซนและระดับการจ้างงานในภาคเอกชนในสหรัฐฯ ในวันพุธ ตามมาด้วยการประกาศดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ ISM ในภาคบริการของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี นอกเหนือจากสถิติยอดขายปลีกของยูโรโซนแล้ว เรายังรอฟังสถิติจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงจำนวนตำแหน่งงานใหม่ที่สร้างขึ้นนอกภาคการเกษตร (NFP) ในวันศุกร์แรกของเดือน วันที่ 4 กุมภาพันธ์

GBP/USD: ธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะตอบสนองอย่างไร?

  • ดัชนี Markit PMI ภาคบริการของสหราชอาณาจักรซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์โดยอยู่ที่ 53.3 จากที่คาดการณ์คือ 55.0 อีกทั้ง ข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเฟดและสถิติ GDP เบื้องต้นของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ส่งผลดีต่อดอลลาร์ โดยตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างผิดความคาดหมายที่ 6.9% จากการคาดการณ์ที่ 5.5% และตัวเลขครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ 2.3% เห็นได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้แค่ฟื้นตัวจากการโจมตีของโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังฟื้นตัวได้ดีมากถึงขนาดที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าตัวเลขของปี 2019 ด้วยซ้ำ

    ทั้งหมดนี้แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อเงินปอนด์อังกฤษ แถมยังมีเสียงเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งตลาดมองว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยตลาดหมี ทำให้คู่ GBP/USD ลงมาอยู่ที่ 1.3357 ซึ่งขยับลงมาเกือบ 400 จุดในรอบสองสัปดาห์

    เงินปอนด์จะกลับมาแข็งค่าขึ้นท่ามกลางท่าทีคุมเข้มของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ได้หรือไม่? เราน่าจะได้รับคำตอบในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารกลางยุโรปแล้ว ยังมีการประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ ข่าวนี้จะมีผลต่อชาวอเมริกันอย่างไร? แน่นอนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น มีการคาดการณ์หลายแห่งว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินปอนด์อาจปรับขึ้นอีก 0.25 bp เป็น 0.50%

    แล้วเงินปอนด์จะได้รับการสนับสนุนเช่นนี้อีกนานเท่าใด? นักวิเคราะห์หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าท่าทีของธนาคารกลางอังกฤษจะตอบสนองต่อความคาดหวังของตลาดได้หรือไม่ และธนาคารฯ จะดำเนินการแบบคุมเข้มเหมือนกับธนาคารเฟดในปีนี้ได้มากน้อยแค่ไหน นักเศรษฐศาสตร์จาก Rabobank ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของเนเธอร์แลนด์ยังไม่ตัดโอกาสที่คู่ GBP/USD อาจขยับลงต่ำกว่า 1.3000 ภายในกลางปีนี้

    สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ระดับที่ 1.3400 (หรือกรอบที่ชัดเจนคือ 1.3360-1.3415) คือโซนแนวรับ/แนวต้านที่แข็งแกร่งเป็นอย่างมากและอาจเป็นกระดานให้ราคาเด้งกลับขึ้นไปด้านบน ผู้เชี่ยวชาญ 30% เห็นด้วยกับสถานการณ์นี้ ซึ่งมีแนวต้านรอราคาอยู่ที่ระดับ 1.3440, 1.3500-1.3525, 1.3575, 1.3650, 1.3700 และ 1.3750

    ด้านนักวิเคราะห์ 70% โหวตให้แนวโน้มขาลงต่อไปของราคา แนวรับอยู่ที่บริเวณ 1.3360 จากนั้นคือ 1.3275, 1.3200 ตามมาด้วยโซนกลับตัวของเทรนด์ที่สำคัญในเดือนธันวาคมที่ 1.3160-1.3185

    อินดิเคเตอร์บน D1 ให้ผลดังนี้: มีสัญญาณจากออสซิลเลเตอร์เพียง 10% ที่ชี้ไปทางทิศเหนือ อีก 90% ที่เหลือชี้ไปทางทิศใต้ ซึ่ง 20% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ชี้ไปยังทิศใต้

    นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษแล้ว เราควรให้ความสนใจในสถิติกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในสัปดาห์หน้า: ในภาคการผลิตวันที่ 1 กุมภาพันธ์, ในภาคบริการวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และภาคการก่อสร้างของสหราชอาณาจักรในวันที่ 4 กุมภาพันธ์

USD/JPY: เงินเยนไม่มีอะไรตอบโต้

  • หากธนาคารแห่งชาติอังกฤษมีบางอย่างที่จะตอบโต้ต่อธนาคารเฟดสหรัฐฯ ทางฝั่งธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นไม่มีท่าทีใด ๆ ในลักษณะนี้ โดยธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยติดลบตลอดกาล (-0.1%) เงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมักได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนที่กำลังหนีจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ในสถานการณ์ขณะนี้ที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นอุปสรรคสำคัญนั้น ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นจึงไม่ต้องการให้ค่าเงินเยนแข็งแกร่งแต่อย่างใด

    ด้วยเหตุนี้ คู่ USD/JPY จึงเป็นไปตามการคาดการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (60%) โดยราคาขยับขึ้นทิศเหนืออีกครั้ง จริงอยู่ที่ราคาล้มเหลวที่จะขึ้นไปยังระดับสูงสุดของวันที่ 4 มกราคม ที่ 116.35 แต่แนวโน้มขาขึ้นดังกล่าวก็ดูน่าประทับใจมาก ราคาขยับขึ้นมาถึง 113.46 เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มกราคม และไต่ขึ้นไปถึง 115.68 เมื่อช่วงท้ายสัปดาห์ ก่อนที่จะปิดตลาดที่บริเวณ 115.22

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์นี้ อินดิเคเตอร์ส่วนใหญ่บน D1 ชี้ไปยังทิศเหนือ ในส่วนออสซิลเลเตอร์มี 90% (10% ให้สัญญาณว่ามีแรงซื้อมากเกินไป หรือ overbought) ในส่วน 10% ที่เหลือให้สัญญาณสีแดง ในหมู่อินดิเคเตอร์เทรนด์มี 100% แนะนำให้ซื้อ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับอินดิเคเตอร์เช่นกัน โดย 70% ของผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับแนวโน้มกระทิง 20% โหวตให้แนวโน้มตลาดหมี และ 10% เป็นกลาง ระดับแนวรับ ได้แก่ 115.00, 114.45, 114.00, 113.75, 113.45, 113.20, 112.55 และ 112.70 ส่วนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่โซน 115.50-115.70 โดยเป้าหมายสำคัญที่ใกล้ที่สุดของฝั่งกระทิงคือระดับสูงสุดในรอบห้าปีที่ 116.35

    ทั้งนี้ ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญใด ๆ จากญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้

คริปโตเคอเรนซี: ความสงบหลังช่วงพายุ

  • สำหรับคริปโตเคอเรนซี ไม่มีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นกับคริปโตจากข่าวการประชุมของธนาคารเฟดเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าธนาคารเฟดจะคุมเข้มนโยบายทางการเงินและถอนการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จริงอยู่ที่มาตรการเหล่านี้จะส่งผลต่อสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยง แต่จะเป็นการถอนเงินออกจากตลาดหุ้นเป็นอันดับแรก โดยมีความเป็นไปได้ที่หลายอย่างจะไม่ส่งผลมาถึงคริปโตเคอเรนซีในฐานะสินทรัพย์เก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูงมาก  และปริมาณนั้นน้อยเกินไป

    ตลาดคริปโตเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากธนาคารเฟดเร่งอัดฉีดเงินดอลลาร์หลายพันล้านเพื่อรับมือกับภาวะโรคระบาด ต่อไปนี้จะไม่มีกระแสเงินดังกล่าวอีกต่อไป และคงไม่คุ้มค่าที่จะรอให้เงินคริปโตกลับมาเป็นกระแสรอบใหม่ นักลงทุนรายสถาบันจะมีพฤติกรรมที่นิ่งสงบมากขึ้น แต่พวกเขายังไม่รีบทิ้งบิทคอยน์และอีธีเรียมเช่นกัน ทุกคนที่อยากจะขายนั้นได้ขายไปหมดแล้ว ส่วนคนที่อยากเก็บเหรียญไว้ ก็ยังคงเก็บเหรียญไว้เป็นการลงทุนในระยะยาว

    แน่นอนว่าเซอร์ไพรส์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในแวดวงนี้ ทั้งเซอร์ไพรส์ที่น่ายินดีและน่าผิดหวัง ในระหว่างนี้ ตลาดคริปโตกำลังฟื้นตัวจากภาวะหวาดวิตกที่เกิดขึ้นจากการประชุมของเฟด โดยราคาเหรียญดิ่งลงเมื่อวันจันทร์ที่ 24 มกราคม ลงมาที่ $32.945 โดย BTC/USD ขยับขึ้นเล็กน้อย และซื้อขายอยู่ในโซน $37,000 เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 28 มกราคม ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ มูลค่ารวมในตลาดขยับขึ้นมา $1.51 เป็น $1.70 ล้านล้านดอลลาร์ และดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นมาเพียง 24 จุดเท่านั้น (จาก 11 จุดที่ระดับต่ำสุดของวันที่ 23 มกราคม) โดยติดอยู่ในช่วงหวาดกลัวอย่างยิ่ง (Extreme Fear) จึงเป็นที่ชัดเจนว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการฟื้นตัวและการกลับทิศทางของเทรนด์ นอกจากนี้ กราฟ BTC/USD ยังแสดงให้เห็นถึงแนวรับสำคัญทั้งในปี 2020 และ 2021 ในโซน $29,000-30,000 จึงยังมีพื้นที่ให้ราคาร่วงลงต่อได้อีก

    ปีเตอร์ ชิฟฟ์ (Peter Schiff) ผู้สนับสนุนทองคำและผู้กังขาในบิทคอยน์มองว่าบิทคอยน์อาจดิ่งลงต่ำกว่า $10,000 ไมค์ โนโวกราตซ์ (Mike Novogratz) ผู้ก่อตั้ง Galaxy Digital ท้าเดิมพัน $1 ล้านดอลลาร์กับนายปีเตอร์ เขาให้สัญญาว่าจะโอนเงินจำนวนนี้ไปบริจาคเพื่อการกุศลหรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ ตามการตัดสินใจของอีกฝ่ายหาก BTC ซื้อขายต่ำกว่า $35,000 ในอีกหนึ่งปี

    ในขณะเดียวกัน นายโนโวกราตซ์เชื่อว่า ตลาดหมีจะเป็นช่วงที่ยาวนานเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ซื้อในช่วงขาลงตอนนี้ “มันจะเป็นเรื่องยากสำหรับคริปโตเคอเรนซีที่จะเริ่มทะยานขึ้นจนกว่าตลาดหุ้นจะร่วงลงสุด อย่างไรก็ดี สินทรัพย์ดิจิทัลเคยเผชิญกับการเทขายครั้งใหญ่มาแล้ว และเริ่มที่จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ซื้อ” เขาอธิบาย

    โรเบิร์ต คิโยซากิ (Robert Kiyosaki) เจ้าของหนังสือขายดีเรื่อง Rich Dad Poor Dad และผู้ประกอบการชื่อดังแนะนำให้รอเข้าซื้อเช่นกัน โดยกล่าวว่าเขาจะซื้อเหรียญทองคำดิจิทัลนี้เพิ่มเติมหากราคาตกลงมาถึง $20,000 "คุณจะได้กำไรตอนซื้อ ไม่ใช่ตอนขาย บิทคอยน์กำลังทรุดตัว ข่าวดีเยี่ยม ผมซื้อ BTC ที่ราคา $6,000 และ $9,000 ผมจะซื้อเพิ่มหากราคาลงมาทดสอบที่ $20,000 เวลาแห่งความร่ำรวยใกล้จะมาถึง"

    ก่อนหน้านี้ นายคิโยซากิเคยทำนาย “แนวโน้มตลาดหุ้นตกต่ำครั้งใหญ่” เมื่อเดือนตุลาคมและเตือนว่าจะเกิดเหตุการณ์เดียวกันกับทองคำ เงิน และบิทคอยน์ นี่คือสิ่งที่เรากำลังได้เห็นในขณะนี้

    โทน ไวส์ (Ton Weiss) นักเทรดและนักวิเคราะห์ชื่อดัง และอดีตรองประธาน JP Morgan Chase ยังไม่ตัดโอกาสที่บิทคอยน์จะปรับฐานอย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้ เขามองว่าราคาเหรียญได้ขยับถึงเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (MA) ที่ 20 เดือน ซึ่งอยู่ที่ระดับ $34,000 ซึ่งเขาอ้างว่านี่เป็น “โอกาสที่เพอร์เฟ็ค” สำหรับการกลับตัวของเทรนด์ และสินทรัพย์กลับมาสู่การเติบโต ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มองว่า ในกรณีที่เกิดการรีบาวด์ของราคา ราคาจะกลับขึ้นมาถึงระดับ $40,000 อย่างรวดเร็วและจะแข็งตัวเหนือระดับดังกล่าว

    นายนิโคลาส แมร์เทน (Nicholas Merten) อีกหนึ่งนักวิเคราะห์คริปโตทำนายว่า แม้ในช่วงสภาวะตลาดในปัจจุบัน บิทคอยน์ยังสามารถขยับขึ้นมาเกือบ 7 เท่า ถึง $200,000 ได้ภายในสิ้นปีนี้ เขาเปิดเผยผ่านช่อง YouTube DataDash ของเขา (มีผู้ติดตาม 502,000 คน) ว่า หากมูลค่ารวมของบิทคอยน์อยู่สูงกว่า $6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นการปูทางไปสู่แนวโน้มตลาดกระทิงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

    ผู้เชี่ยวชาญรายนี้นึกถึงแนวโน้มขาขึ้นที่เกิดขึ้นหลังจากมีการปรับฐานและมักได้รับแรงกระตุ้นจากการแห่ซื้อ BTC ที่ราคาส่วนลดอย่างหนัก การทำความเข้าใจว่าผู้เล่นรายใหญ่เข้าซื้ออย่างไรนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการเทรดในตลาดคริปโตที่มีความผันผวนสูง แมร์เทนกล่าว

    ผู้เข้าร่วมในตลาดหลายคนชี้ว่า บิทคอยน์อาจขยับไปยังบริเวณ $30,000 และจากนั้นราคาน่าจะกลับทิศทาง ชาร์ลส์ เอดวาร์ดส์ (Charles Edwards) ผู้ก่อตั้งบริษัทการลงทุนคริปโต Capriole ได้เขียนว่า สัญญาณจากดัชนี NVT (Network Value to Transaction ratio หรืออัตราส่วนมูลค่าเครือข่ายต่อธุรกรรม) ชี้ให้เห็นว่า BTC อยู่ในช่วง oversold ซึ่งสถานการณ์นี้พบไม่บ่อยในตลาด “เราได้เข้าสู่โซนซื้อที่เปิดกว้าง” เขาแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ ดัชนีตัวนี้นำเสนอและเป็นที่ใช้งานโดย วิลลี วู (Willy Woo) นักวิเคราะห์ชื่อดัง ซึ่ง NVT นั้นคำนวณโดยการหารมูลค่ารวมในตลาดบิทคอยน์ด้วยปริมาณธุรกรม (เป็น USD) และเป็นดัชนีที่เป็นที่นิยมในการประเมินว่าเหรียญนั้นอยู่ในภาวะ overbought หรือ oversold

    นายไมเคิล เซย์เลอร์ ผู้ก่อตั้ง MicroStrategy ระบุสองสาเหตุที่มีการปรับฐานรอบปัจจุบันในตลาดคริปโต สาเหตุประการแรกคือกฎระเบียบที่ไม่โปร่งใสและความไม่แน่นอนด้านการกำกับดูแลในอุตสาหกรรมคริปโต ปัญหาที่สองคือความไม่สมบูรณ์แบบและความไม่สุกงอมของอุตสาหกรรมคริปโต ในขณะเดียวกัน นักธุรกิจรายนี้ชื่อว่า สภาพตลาด ณ ปัจจุบันให้ “จุดเข้าซื้อที่ดีเยี่ยมสำหรับนักลงทุนรายสถาบันที่มีความสนใจในคริปโตเคอเรนซี ผู้ที่ยังรอดูอยู่ข้าง ๆ มาตลอด”

    เขามองว่า นักลงทุนรายสถาบันจำนวนมากกำลังจับตาดูบิทคอยน์และเห็นว่าราคาอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดตลอดกาล 40% และราคากำลังสะสมพลัง ในขณะเดียวกันนั้น พวกเขาเข้าใจว่าบิทคอยน์ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนที่จริงจังอย่าง บิล มิลเลอร์ (Bill Miller) หน่วยงานกำกับดูแล สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภา รวมถึงบริษัทมหาชนขนาดใหญ่

    สำหรับ MicroStrategy เองนั้น บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์แห่งนี้ถือบิทคอยน์อยู่ 124,391 BTC ซึ่งบริษัทได้ใช้เงินไปประมาณ $3.7 พันล้านดอลลาร์ในการซื้อเหรียญ ดังนั้น ราคาเฉลี่ยที่ซื้อคือ $30,100 ต่อ 1 เหรียญ และหากราคาร่วงลงต่ำกว่าระดับนี้ จะส่งผลให้เกิดการขาดทุนหลายร้อยหรือหลายพันดอลลาร์สำหรับเจ้าของบริษัท MicroStrategy รายนี้

    และตอนนี้มาถึงคำกล่าวปลอบใจเพื่อสรุปส่งท้ายบทรีวิว คำกล่าวแรกเป็นของ นายสก็อต เมลเคอร์ (Scott Melker) นักเทรด นักวิเคราะห์ เจ้าของพอดแคสต์ ได้เตือนผู้ติดตามของเขาว่า ไม่มีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาด ณ ขณะนี้ “คนเรามีความทรงจำอันสั้น บิทคอยน์ขยับลงมาจาก $60,000 ลงมาที่ $30,000 ในเวลา 10 วัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 10 วัน!!! ทั้งหมดนี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว และมันก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 8 เดือนที่แล้วเท่านั้น แล้วจะกลัวอะไรขนาดนั้น?" เขากล่าว

    อันดับที่สองเป็นของเชนอาหารฟาสต์ฟู้ด McDonald's ซึ่งเสนอให้คนถือเหรียญดิจิทัลมาทำงานในอุตสาหกรรมอาหารในช่วงตลาดหมี แน่นอนว่านี่เป็นเพียงแค่มุกตลก แต่อย่างที่รู้กันว่ามันก็คงมีความจริงอยู่บ้างในมุกตลก ทวีตข้อความโดย McDonald’s นี้เป็นที่ชอบใจโดยชุมชนและได้รับยอดไลค์เกือบ 100,000 ไลค์

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)