เมษายน 2, 2022

EUR/USD: ความไม่แน่นอนมากเกินไป

  • การเคลื่อนที่ของคู่สกุลเงินหลักตลอดเดือนมีนาคมนั้นถูกกำหนดโดยรายงานข่าวสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน สงครามการคว่ำบาตรและสงครามพลังงานกับรัสเซีย และอัตราการคุมเข้มนโยบายทางการเงิน ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา เนื่องด้วยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น และสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟด คู่ EUR/USD ขยับลงมายัง 1.0805 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ยังระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมปี 2020 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของดอลลาร์หยุดลง และคู่สกุลเงินนี้ขยับออกด้านข้างตามแนวระดับ Pivot Point 1.1000 ทั้งนี้ คำแถลงสายเหยี่ยวของผู้บริหารธนาคารเฟดกดราคาคู่นี้ลง ในขณะที่ความหวังว่าความขัดแย้งทางการทหารระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นตัวดันราคาให้ขึ้นเหนือเส้นดังกล่าว

    ปัจจัยเดียวกันนี้ก็เป็นตัวกำหนดคู่ EUR/USD เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน ราคาคู่นี้ขยับขึ้น 240 จุด เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม ถึงวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม จาก 1.0944 ถึง 1.1184 ในตอนต้น การแข็งค่าขึ้นของยูโรมีสาเหตุมาจากรายงานในสื่ออเมริกาว่า ธนาคารกลางยุโรปอาจเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งขันในปีนี้ โดยอ้างว่า ผู้ร่วมตลาดรายใหญ่หลายรายต้องการให้ธนาคารกลางยุโรปขึ้นอัตราดอกเบี้ยสี่ครั้งภายในสิ้นปี 2022 ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงเริ่มเก็งความเป็นไปได้ดังกล่าวในท่าทีของธนาคารกลางยุโรป และผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในยุโรปก็เพิ่มขึ้น

    ในวันถัดมา วันที่ 29 มีนาคม ความหวังเรื่องความสำเร็จในการเจรจาเรื่องสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มปรากฏขึ้น ซึ่งการเจรจาดังกล่าวจัดขึ้นในกรุงอิสตันบูล (ตุรกี) ความสำเร็จของสงครามพลังงานของอียูกับรัสเซียก็ช่วยหนุนค่าเงินยูโรเช่นกัน ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียลงนามในคำสั่งการขายเชื้อเพลิงพลังงานไปยังยุโรปโดยรับเฉพาะเงินรูเบิลเมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่แล้ว เป้าหมายมีความชัดเจนคือเพื่อสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินรูเบิลภายใต้มาตรการคว่ำบาตร อย่างไรก็ดี ประเทศผู้บริโภคในยุโรปปฏิเสธที่จะทำตาม และประธานาธิบดีรัสเซียก็ถูกบังคับให้พิจารณาการตัดสินใจนี้

    ทุกอย่างดูเหมือนจะดูดีสำหรับเงินยูโร แต่ผลปรากฏว่าในครึ่งหลังของสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวลือว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ EUR ในปี 2022 นั้นไม่ใช่อะไรมากไปกว่าการคาดเดา และจริง ๆ แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่จริงจังใด ๆ ในการเจรจาในกรุงอิสตันบูล สถิติเศรษฐกิจมหภาคก็ช่วยเงินดอลลาร์เล็กน้อย ส่งผลให้คู่ EUR/USD หยุดลง และขยับลงทิศใต้ ก่อนที่จะปิดตลาดห้าวันทำการไม่ไกลจากระดับ Pivot Point 1.1000 ที่ระดับ 1.1045

    ผลลัพธ์ของความขัดแย้งในยูเครนยังคงไม่มีความชัดเจน สถานการณ์เรื่องปริมาณการชำระเงินค่าเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนเพื่อส่งไปยังยุโรปยังคงน่าสับสนเช่นกัน ราคาน้ำมันปรับลดลงประมาณ 14% ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม นี่คือวิธีที่ตลาดตอบสนองต่อแผนการของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ให้ขายปริมาณส่วนเกินของน้ำมันดิบสำรองในประเทศ ทำเนียบขาวตั้งใจว่าจะขายน้ำมันสูงถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงหกเดือนข้างหน้า และนี่อาจเป็นการแห่ขายน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี ในประวัติศาสตร์ปริมาณน้ำมันปิโตรเลียมสำรองของสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำมันน้อยกว่า การขายน้ำมันในเวลาปัจจุบันนั้นทำกำไรให้รัสเซียมากกว่าก๊าซธรรมชาติ และการตัดสินใจดังกล่าวโดยสหรัฐฯ คาดว่าจะช่วยลดความพึ่งพาของยุโรปต่อเชื้อเพลิงพลังงานของรัสเซีย และยิ่งสร้างความเสียหายเพิ่มเติมให้กับเศรษฐกิจรัสเซีย

    ความไม่แน่นอนอีกประการหนึ่งมาจากฝั่งธนาคารเฟด เดิมก่อนหน้านี้ตัวเลขคาดการณ์ GDP ของสหรัฐฯ ถูกปรับลดลง และรายงานชี้ว่า ธนาคารเฟดคาดการณ์ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวในปี 2022 จาก 4% เหลือ 2.8% เนื่องด้วยสงครามการคว่ำบาตรกับรัสเซีย นอกจากนี้ การคาดการณ์เรื่องอัตราดอกเบี้ยก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านี้มีการพูดว่า อัตราดอกเบี้ยน่าจะขยับถึง 0.75-1.00% ภายในสิ้นปี และผลปรากฏว่าคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการนโยบายตลาดเสรีของสหรัฐฯ) จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมแต่ละครั้ง

    แต่ยังไม่หมดแค่นั้น การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปี 2023 ก็ถูกปรับขึ้นจาก 1.50-1.75% เป็น 2.75-3.00% เช่นกัน นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่า เราจะเผชิญกับการจำกัดนโยบายทางการเงินต่อไปจนถึงปี 2024 กล่าวคือ นี่ไม่ใช่แค่การปรับตัวเลขคาดการณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการคุมเข้มนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคแรงงานของสหรัฐฯ และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ได้ ตลาดอาจได้รับสัญญาณที่สำคัญเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของดอลลาร์ในอนาคตในวันพุธที่ 6 เมษายนนี้ โดยจะมีการเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ประจำเดือนมีนาคมในวันดังกล่าว

    ณ ขณะนี้ นักวิเคราะห์ 50% โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ส่วน 40% โหวตว่าคู่ EUR/USD จะขยับขึ้น และ 10% มีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพที่ผสมกัน 30% ให้สัญญาณสีแดง ส่วน 20% ให้สีเขียว และ 35% ให้สัญญาณสีเทากลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์เข้าข้างฝั่งสีแดง โดยมีจำนวน 85% เทียบกับ 15% ที่เป็นสีเขียว

    เป้าหมายที่ใกล้ที่สุดสำหรับตลาดกระทิงคือการตัดทะลุโซนแนวต้านที่บริเวณ 1.1100-1.1135 ตามมาด้วยโซน 1.1185-1.1200, 1.1280-1.1350 และราคาสูงสุดของวันที่ 13 มกราคม และ 10 กุมภาพันธ์ในบริเวณ 1.1485 ในส่วนของตลาดหมี แน่นอนว่าพวกเขาจะพยายามตัดทะลุแนวรับที่ 1.0950-1.1000 และกดราคาลงไปอีก 100 จุด โดยหากทำสำเร็จ เป้าหมายถัดไปจะเป็นระดับต่ำสุดของวันที่ 7 มีนาคม ที่ 1.0805 และราคาต่ำสุดของปี 2020 ที่ 1.0635 และของปี 2016 ที่ 1.0325

    นอกเหนือจากการประกาศรายงานการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ประจำเดือนมีนาคมแล้ว ในสัปดาห์หน้านี้ยังมีเหตุการณ์ที่ค่อนข้างสำคัญบางเหตุการณ์เช่นกัน เราอาจเน้นการประกาศดัชนี ISM PMI ในภาคบริการของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันอังคารที่ 5 เมษายน รวมถึงสถิติยอดขายปลีกในยูโรโซนในวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 

GBP/USD: แนวโน้มด้านข้าง ตามแนวระดับ 1.3100

  • สถิติจากสหราชอาณาจักรเมื่อสัปดาห์ที่แล้วปรากฏออกมาค่อนข้างขัดแย้งกัน สถิติที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม ชี้ว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 เติบโตขึ้น 1.3% ซึ่งสูงกว่าทั้งสถิติครั้งก่อนหน้าและตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.0% เศรษฐกิจอังกฤษเติบโตขึ้น 7.5% ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1941 แต่ทั้งนี้ เราต้องพิจารณาด้วยว่า GDP อังกฤษลดลง 9.4% ในปี 2020 ดังนั้น จึงถือว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวโดยสมบูรณ์กลับไปยังระดับก่อนการแพร่ระบาด นอกจากนี้ สถิติบัญชีของประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 อยู่ที่ 7.3 พันล้านปอนด์เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ 17.6 พันล้านปอนด์ และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 28.9 พันล้านปอนด์

    กิจกรรมในภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรก็ต่ำกว่าที่คาดการณ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งได้รับการยืนยันโดยรายงาน IHS Markit เมื่อวันศุกร์ที่ 1 เมษายน ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อยู่ที่ 55.2 ในเดือนมีนาคม เทียบกับการคาดการณ์ที่ 55.5

    เช่นเดียวกับเงินยูโรและด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น นักลงทุนและนักเทรดคู่ GBP/USD ต่างพากันสับสน คู่สกุลเงินนี้ขยับออกด้านข้างที่ 1.3100 ในกรอบแคบ ๆ ตลอดทั้งสัปดาห์ ส่วนระดับต่ำสุดของสัปดาห์อยู่ที่ 1.3050 และราคาสูงสุดคือ 1.3182 และราคาปิดที่ 1.3112

    สำหรับการคาดการณ์ในสัปดาห์หน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญ 55% เห็นด้วยกับตลาดกระทิง 35% สนับสนุนฝั่งตลาดหมี และ 10% มีท่าทีเป็นกลาง ด้านการคาดการณ์ระยะกลางก็ชี้ไปยังแนว 1.3100 ด้วยเช่นกัน จริงอยู่ที่เมื่อเปลี่ยนไปเป็นการคาดการณ์ตลอดทั้งเดือนเมษายน ตัวเลขขยับขึ้นไปยังโซน 1.3235 ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ส่วนใหญ่บนกรอบ D1 ชี้ไปยังทิศเหนือ ส่วนออสซิลเลเตอร์ 55% ให้สัญญาณสีแดง 20% เป็นสีเขียว และที่เหลือ 25% ให้สีเทากลาง อินดิเคเตอร์เทรนด์ให้ผลเช่นเดียวกันกับคู่ EUR/USD โดยฝั่งสีเขียวเป็นฝ่ายข้างมากที่ 90%

    แนวรับที่ใกล้ที่สุดตั้งอยู่ในบริเวณ 1.3080-1.3100 จากนั้นคือ 1.3050 และราคาต่ำสุดของวันที่ 15 มีนาคม (และในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021-2022) - 1.3000 ตามมาด้วยแนวรับของปี 2020 ด้านระดับแนวต้าน ได้แก่ 1.3160, 1.3190-1.3215 จากนั้นคือ 1.3270-1.3325, 1.3400, 1.3485, 1.3600, 1.3640

    ในส่วนเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร เราอาจเน้นถ้อยแถลงของผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษ นายแอนดริว ไบเลย์ ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายน รวมถึงการประกาศดัชนี Composite PMI และดัชนีธุรกิจในภาคบริการของสหราชอาณาจักรในวันอังคารที่ 5 เมษายน และดัชนี PMI ภาคการก่อสร้างในวันพุธที่ 6 เมษายน

USD/JPY: 125.09: ไม่ทำลายสถิติอีกต่อไป?

  • เงินเยนทำสถิติซ้ำแล้วซ้ำเล่า USD/JPY ทำระดับ 122.43 เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม และอยู่ 263 จุดสูงกว่า 125.09 เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม เหตุผลที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องยังคงเหมือนเดิมคือ ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นนั้นไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายสุดโต่ง นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ว่า ยังคงเร็วเกินไปที่จะพูดถึงความเป็นไปได้ในการจำกัดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอยู่ที่ระดับติดลบมาเป็นเวลานานที่ -0.1% นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคอยซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นความพยายามอย่างสิ้นหวังเพื่อป้องกันไม่ให้ผลตอบแทนของพันธบัตรตัดผ่านระดับ 0.25%

    ราคาสูงสุดของสัปดาห์ที่แล้วที่ 125.09 เข้าใกล้กับระดับสูงสุดของปี 2015 แล้วที่ 125.86 และหากราคาคู่นี้พยายามจะฝ่าขึ้นต่อไป นักยุทธศาสตร์จาก Credit Suisse มองว่า นี่จะเป็นการเปิดทางไปสู่ 135.20 ในระยะยาว และอาจจะขยับสูงขึ้นต่อไปที่โซน 147.00-153.00 อย่างไรก็ดี ในความเห็นของพวกเขา การปรับฐานซึ่งเริ่มต้นขึ้นตอนนี้อาจดำเนินต่อไปในช่วงไตรมาสที่ 2 ในตอนแรกไปที่ 119.79 จากนั้นคือ 119.09 หลังจากนั้น ราคาคู่นี้จะขยับไปยังกรอบการเทรดที่ 119.00-125.00 ธนาคาร Credit Suisse ยังเชื่อด้วยว่า หากราคาตัดทะลุแนวรับที่ 119.09 จากนั้นอาจมีการย่อตัวลึกลงมาที่โซน 116.35-116.50

    ผู้เชี่ยวชาญจาก Rabobank ก็ตั้งเป้าระดับสูงสุดเดียวกันในไตรมาส 2 โดยทำนายว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้นเหนือ 125.00 เฉพาะในครึ่งหลังของปีนี้ พวกเขาเชื่อว่าการคุมเข้มนโยบายของธนาคารเฟดนั้นถูกประเมินไว้แล้วในอัตราแลกเปลี่ยนของดอลลาร์ ณ ขณะนี้ และสิ่งนี้จะเป็นตัวยับยั้งแนวโน้มการเติบโตของคู่นี้ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างในอัตราดอกเบี้ยและจุดยืนของญี่ปุ่นในฐานะผู้นำเข้าวัตถุดิบจะมีบทบาทในไตรมาสที่ 3 และ 4 และเงินเยนจะยังคงอ่อนค่าลงอย่างช้า ๆ  การพุ่งขึ้นของคู่ USD/JPY เหนือระดับ 125.00 จะยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นจะทบทวนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

    สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากราคาคู่นี้ขยับขึ้นไปที่ 125.09 การปรับฐานก็เริ่มขึ้น ราคาทำสถิติระดับต่ำสุดไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ที่ 121.27 หลังจากนั้นก็ขยับขึ้นอีกครั้ง และปิดที่ 122.54

    ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 50% ให้มุมมองตลาดกระทิงสำหรับสัปดาห์หน้านี้ ซึ่งยังดูว่าเป็นแนวโน้มปานกลางและเล็งเห็นราคาขยับขึ้นไปยังโซนเป้าหมายที่ 124.00-124.50 ส่วนนักวิเคราะห์ 25% ในทางกลับกันโหวตว่าราคาคู่นี้จะขยับลดลงต่อไป และ 25% มีท่าทีเป็นกลาง ทั้งนี้ เมื่อปรับมาเป็นการคาดการณ์รายเดือน ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (85%) ทำนายว่าเงินเยนญี่ปุ่นจะแข็งค่าขึ้น และคาดว่าจะได้เห็นราคาคู่นี้ในโซน 115.00-117.00

    ในส่วนอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ผลลัพธ์แทบจะเป็นเอกฉันท์โดยสมบูรณ์หลังจากราคาตัดทะลุขึ้นด้านบนอย่างทรงพลัง โดยอินดิเคเตอร์เทรนด์ 90% และออสซิลเลเตอร์ 100% ชี้ไปยังด้านบน แต่มีออสซิลเลเตอร์ 25% แล้วที่อยู่ในโซน overbought ด้านระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ 123.20, 124.20 และระดับราคาสูงสุดของวันที่ 28 มีนาคมที่ 125.09 หลังจากนั้น อย่างที่กล่าวไปแล้ว ฝั่งตลาดกระทิงอาจพยายามขยับถึงราคาสูงสุดของปี 2015 ที่ 125.86 ด้านระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดคือ 122.00 จากนั้นคือ 121.30 ตามมาด้วยโซน 120.60-121.40, 119.00-119.40, 118.00-118.35

    ในสัปดาห์นี้ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติที่สำคัญใด ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: วาฬกับนักเก็งกำไรระยะสั้นทำอะไร

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 04 - 08 เมษาย 20221

  • ความต้องการความเสี่ยงของนักลงทุนซึ่งส่งผลให้ดัชนีหุ้นขยับขึ้น ยังคงช่วยดันตลาดคริปโต โดยเริ่มตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่แล้ว ราคาบิทคอยน์ขยับขึ้น 28% และอีธีเรียมขึ้นมาเกือบ 40% ในครึ่งหลังของเดือนมีนาคมเท่านั้น

    บิทคอยน์ขยับขึ้นไปยังระดับแนวต้านสำคัญที่ $45,000 เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม เป็นครั้งที่ห้าตั้งแต่ต้นปีนี้ บิทคอยน์ล้มเหลวในการยืนเหนือระดับดังกล่าวในสี่ครั้งแรกก่อนที่คู่ BTC/USD จะกลับตัวลงมา ในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าฝั่งกระทิงคว้าชัยชนะที่รอคอยมาอย่างยาวนานได้สำเร็จ โดยราคาขึ้นทำสถิติสูงสุดในกรอบที่ $48,156 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นราคาได้แตะเส้น SMA 200 วัน และหยุดแค่นั้น คำอธิบายที่สมเหตุสมผลมากที่สุดที่ราคาหยุดตัวคือการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในวันที่ 1 เมษายน บิทคอยน์กลับมายังโซน $45,000 เป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยเปลี่ยนจากแนวต้านเป็นแนวรับ และจากนั้นราคาก็รีบาวด์ไปยัง $46,500 มูลค่ารวมในตลาดคริปโตเพิ่มขึ้นเป็น $2.140 ล้านล้านเหรียญ ($1.995 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ส่วนดัชนี Crypto Fear & Greed Index เติบโตขึ้นเล็กน้อย: จาก 47 เป็น 50 จุด

    ซีอีโอของ DataDash นิโคลัส แมร์เทน (Nicholas Merten) เชื่อว่า นักลงทุนและนักเทรดระยะสั้นที่มีอิทธิพลสำคัญต่อความผันผวนของบิทคอยน์ และ “เหล่าวาฬ” ส่งอิทธิพลต่อการเติบโตของราคา “ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีภาวะวิตกกังวลมากมายเกิดขึ้นตามสถานการณ์แวดล้อม ธนาคารเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย…สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย และคลื่นการระบาด COVID-19 ครั้งใหม่ ประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ส่งผลให้นักลงทุนมองโลกในแง่ลบ และทำให้พวกเขาคิดว่า นักลงทุนและบริษัทต่าง ๆ จะขายบิทคอยน์ ในขณะเดียวกันและในทางกลับกันนั้น “วาฬ” ไม่ขายเงินคริปโตในปริมาณมาก… อันที่จริงเราเห็นได้ว่านักลงทุนระยะยาวจะค่อย ๆ ซื้อหรือถือบิทคอยน์มากขึ้นด้วยซ้ำ”

    หนึ่งในนักลงทุนประเภทวาฬนี้คือ MicroStrategy บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเสียง บริษัทได้รับเงินสินเชื่อ $205 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรับประกันด้วยสินทรัพย์คริปโตของตนเอง สินเชื่อนี้ออกให้โดนธนาคาร Silvergate ของอเมริกา วัตถุประสงค์ของสินเชื่อก้อนนี้คือเพื่อซื้อบิทคอยน์

    เว็บไซต์ Bitcoin Treasuries ระบุว่า MicroStrategy เป็นเจ้าของบิทคอยน์แล้ว 125,051 BTC ซึ่งมีมูลค่าเกือบ $6 พันล้านดอลลาร์ “สินเชื่อนี้เปิดโอกาสให้เราเพิ่มตำแหน่งของเราในฐานะผู้นำในหมู่บริษัทมหาชนที่ลงทุนในบิทคอยน์” กล่าวโดย ไมเคิล เซย์เลอร์ (Michael Saylor) ซีอีโอของ MicroStrategy

    ทั้งนี้ MicroStrategy ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ใช้สินทรัพย์คริปโตเป็นหลักประกัน สำหรับเงินกู้ยืมประเภทนี้ ธนาคาร Silvergate มีโครงการ SEN Leverage พิเศษ ซึ่งมูลค่าของเงินชำระหนี้นั้นสูงเกินกว่า $570 ล้านล้านดอลลาร์

    แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศมากมาย บิทคอยน์ก็มีแนวโน้มสูงที่จะขยับเข้าสู่ครึ่งที่สองของตลาดหมี ความเห็นนี้เป็นของนักวิเคราะห์จาก Glassnode

    ราคาบิทคอยน์ตัดทะลุกรอบด้านบนของช่วงราคาสามเดือนที่ $47,000 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ราคามีการสะสมพลังอย่างแข็งขันในกรอบ $35,000-$42,000 และการขาดการซื้อบิทคอยน์จำนวนมากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 ยิ่งเพิ่มแรงกดดันในการขาย

    ส่วนแบ่งของ BTC “สุกงอม” ขึ้นหลังเวลาหนึ่งปี และได้เพิ่มขึ้นมา 9.4% ในช่วงแปดเดือนที่ผ่านมาโดยเข้าใกล้ระดับสถิติที่ 62.9% ผู้ถือเหรียญเหล่านี้ไม่ได้กำจัดสินทรัพย์เมื่อเจอช่วงการปรับฐานสองครั้งกว่า 50% ในช่วงปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของดัชนีนี้เทียบกันได้กับการฟื้นตัวในตลาดเมื่อช่วงปี 2018-2019 และนี่อาจสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มในหมู่นักลงทุนต่อบิทคอยน์

    ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์จาก Glassnode ก็เตือนว่า กระบวนการที่ราคาทำระดับต่ำสุดและนักลงทุนฉวยโอกาสทำกำไรจากตลาดหมีมักเป็นช่วงเวลาที่ยืดเยื้อและเจ็บปวด พวกเขาเรียกร้องว่าอย่ารีบด่วนสรุปว่าตลาดหมีนั้นจบลงแล้ว

    ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการปรับฐานครั้งใหญ่ไปยังทิศใต้นั้นจะเกิดขึ้นแน่นอน อยู่ที่แค่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรเท่านั้น ทั้งนี้ ยังไม่มีปัจจัยส่งเสริมการเติบโตอย่างรวดเร็วของราคา และทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ระดับที่ $30,000 อาจกลายเป็นเป้าหมายตลาดหมีสำหรับคู่ BTC/USD

    ปีเตอร์ แบรนดท์ (Peter Brandt) นักเทรดในตำนานและซีอีโอ Factor Trading ทวีตข้อความไปยังผู้ติดตามกว่า 629,400 คนของเขาว่า การเคลื่อนที่ล่าสุดของ BTC ทำให้เขานึกถึงช่วงเดือนเมษายนปี 2019 เมื่อบิทคอยน์ดิ่งลงมาที่ $3,500 และเริ่มวัฎจักรกระทิงรอบแรก อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เน้นว่า การบุกเบิกทางเทคนิคไม่ได้รับประกันว่าเหรียญนี้จะทะยานขึ้นเหมือนเมื่อปี 2019

    “กราฟไม่ทำนายอนาคต กราฟไม่แม้แต่จะให้ความน่าจะเป็นด้วยซ้ำ กราฟให้โอกาสและมีประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยงในโปรแกรมการเทรด รูปแบบกราฟถ้าไม่ได้ผล ก็ล้มเหลว ไม่ก็เปลี่ยนผ่าน หากสายตาเลเซอร์ปรากฏขึ้นอีกครั้ง และ BTC หยุดลง จงระมัดระวัง” แบรนดท์กล่าวเตือน

    Dave the Wave นักวิเคราะห์คริปโตก็ได้โพสต์แสดงความเห็น โดยกล่าวว่าบิทคอยน์กำลังก่อตัวเป็นรูปสามเหลี่ยมขาขึ้นที่ใหญ่ขึ้นในกรอบเวลารายสัปดาห์ และราคาอาจขึ้นไปยังระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ $69,000  

    เราเน้นย้ำในบทวิเคราะห์สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมว่า Ethereum อยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าบิทคอยน์เล็กน้อยในขณะนี้ ตัวเลขการเติบโตข้างต้นก็เป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดี นักลงทุนหลายคนกำลังซื้อ ETH ด้วย BTC ในตอนนี้ นอกจากนี้ ชุมชนกำลังรอการอัปเดตใน Ethereum-mainnet ที่จะมาถึง การอัปเดต The Merge ใกล้เข้ามาหลังจากที่ผ่านการทดสอบอย่างประสบความสำเร็จบนเครือข่ายทดลอง ก่อนที่จะเปิดตัว ตอนนี้เหรียญ ETH กว่า $5.0 พันล้านเหรียญได้ออกจากการหมุนเวียนแล้วเนื่องด้วยการเบิร์นเหรียญ เนื่องจากการเบิร์นเหรียญลดปริมาณโดยรวมของ Ethereum สิ่งนี้จึงส่งผลเชิงบวกต่อราคา และยิ่งส่งผลให้ราคาอัลท์คอยน์ขยับขึ้น นักวิเคราะห์จาก Glassnode ค้นพบว่า  ปริมาณของ Ethereum บนตลาดแลกเปลี่ยนลดลงในช่วงที่ผ่านมา การไหลเข้ามาของเหรียญนี้ในตลาดแลกเปลี่ยนต่ำกว่าการไหลออกถึง 20% ซึ่งสร้างเงื่อนไขให้เกิดการขาดดุลใน ETH

    การเติบโตของมูลค่าเหรียญนี้เห็นได้จากกิจกรรมในที่อยู่ ETH ขนาดใหญ่ที่สุดสิบที่อยู่ เหตุการณ์นี้ได้รับการยืนยันโดยรายงานใหม่จาก Santiment บริษัทด้านการวิเคราะห์ ซึ่งระบุว่า เหล่าวาฬได้สะสม Ethereum สูงสุด 23.7% ของปริมาณทั้งหมด พวกเขาจะไม่ทิ้งเงินสำรองนี้ และเลือกจะส่ง ETH ไปเก็บแบบออฟไลน์มากกว่า แนวโน้มที่คล้ายกันนั้นเห็นได้ในครึ่งแรกของปี 2017 เราจึงได้เห็นเหรียญ ETH ชื่อดังทะยานขึ้นเมื่อช่วงห้าปีที่แล้ว

    และในช่วงท้ายบทรีวิวฉบับนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคำแนะนำในส่วนไลฟ์แฮคในแวดวงคริปโต ในส่วนนี้เรามักพูดถึงวิธีการทำเงินในตลาดที่น่าสนใจและเหนือความคาดหมายมากที่สุด

    คุณเคยสงสัยว่าโถส้วมมีไว้ทำไม? เราจะบอกให้ มันมีไว้เพื่อขุดคริปโตเคอเรนซี! นี่คือสิ่งที่ กาเบรียล โคซัค (Gabriel Kozak) และ ดูซัน มาทุสกา (Dušan Matuska) จากสโลวาเกียได้ตัดสินใจทำ พวกเขาได้สร้างฟาร์มขุดเหรียญ AmityAge ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับการขุดเหรียญโดยใช้ขยะปฏิกูลจากมนุษย์และสัตว์ ดูซัน มาทุสกา กล่าวว่า “อุปกรณ์ของพวกเขาขับเคลื่อนด้วยก๊าซมีเทน ซึ่งผลิตขึ้นในช่วงกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ” เนื่องจากในอนาคตไม่น่าจะมีการขาดแคลนสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์และสัตว์ เรากล่าวได้ว่าการขุดเหรียญ BTC ที่นี่จะไม่ขึ้นอยู่กับราคาเชื้อพลังงานโลกที่สูงขึ้น อีกทั้งยังดำเนินการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แหล่งพลังงานทดแทน ซึ่งช่วยลบทุกข้อโต้แย้งที่ต่อต้านอุตสาหกรรมนี้

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)