กรกฎาคม 9, 2022

EUR/USD: อีกหนึ่งก้าวจะถึง 1.0000

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 11 - 15 กรกฎาคม1

  • เราเคยเขียนไว้บ่อยครั้งเกี่ยวกับความต้องการของดอลลาร์ที่จะแข็งค่าไปคู่ขนานกับยูโร 1:1 แต่เราไม่ได้คาดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วเช่นนี้ คู่ EUR/USD ทำระดับต่ำสุดที่ 1.0071 เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม โดยห่างจากระดับ 1.0000 เพียง 71 จุดเท่านั้น ครั้งสุดท้ายที่ราคาลงไปต่ำขนาดนี้คือเมื่อเดือนธันวาคม 2002

    ราคาสูงสุดของสัปดาห์นี้คือที่ 1.0462 โดยดอลลาร์สหรัฐบีบเงินยูโรไปเกือบ 400 จุดในช่วงระหว่างวันที่ 4-8 กรกฎาคม โดยมีสาเหตุสองประการคือ

    สาเหตุประการแรกเป็นดอลลาร์ที่แข็งค่าโดยรวม ดัชนี DXY ทำระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี และขยับถึง 107.77 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายถอนสภาพคล่องออกจากระบบของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ผลการประชุมเดือนมิถุนายนของคณะกรรมการตลาดเสรีสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม ยืนยันอีกครั้งถึงความตั้งใจของธนาคารฯ ที่จะต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้ออย่างจริงจัง เครื่องมือหลักที่ใช้ในการต่อสู้นี้คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารเฟด โดยมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันที 0.75% ในเดือนมิถุนายนซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1994 โดยผลการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ชี้ว่า กรรมการบางท่านเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องขึ้นอีก 50-75 จุดพื้นฐานในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 27 มิถุนายน

    ในงานการประชุมของธนาคารกลางยุโรปที่เมืองซิงตรา โปรตุเกส นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดสหรัฐฯ ผู้เข้าร่วมประชุมได้กล่าวยืนยันต่อผู้ฟังว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีจุดยืนที่ดีเพื่อรับมือกับนโยบายทางการเงินที่ถอนสภาพคล่องออกจากระบบอย่างแข็งขันที่บังคับใช้โดยธนาคารกลางฯ ของเขา

    ทั้งนี้ ได้เกิดสถานการณ์ที่ค่อนข้างพบไม่บ่อยในตลาด โดยดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ขยับขึ้นคู่กันกับดอลลาร์ ดัชนี S&P500 ปรับขึ้น 7.5% (จาก 3635.60 เป็น 3910.60) ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน และดัชนี Dow Jones 6.1% (29646.60 เป็น 31463.00) สาเหตุน่าจะมาจากนักลงทุนลงทุนด้วยเงินดอลลาร์ส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการขายเงินยูโร หรือสกุลเงินอื่น รวมถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงของประเทศอื่น ๆ โดยลงทุนในหุ้นบริษัทอเมริกัน และแม้ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ จะกล่าวไว้ชัดเจนในงานแถลงข่าวที่เมืองซิงตราว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ และธนาคารเฟดสาขาแอตแลนตาได้ประกาศว่า GDP สหรัฐฯ น่าจะลดลง 2.1% ในไตรมาสปัจจุบัน แต่ชัดเจนว่าสถานการณ์ในประเทศอื่น ๆ นั้นเลวร้ายยิ่งกว่า ดังนั้น นักลงทุนจึงมีตัวเลือกที่จำกัดมาก

    ปัจจัยประการที่สองที่ส่งแรงกดดันต่อคู่ EUR/USD คือปัญหาของเศรษฐกิจยูโรที่เกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเนื่องด้วยการบุกรุกประเทศยูเครน ซึ่งข่มขู่อียูด้วยวิกฤติพลังงานที่ยืดเยื้อ 

    นางคริสติน ลาการ์ด กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนนั้นสูงกว่าก่อนหน้านี้มาก” ถึงขนาดที่ “เราไม่น่าจะกลับสู่สภาพแวดล้อมที่อัตราเงินเฟ้อต่ำในเร็ว ๆ นี้” และธนาคารกลาง “จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อตามระดับเป้าหมายที่ 2%” แต่ไม่เกินสองวันหลังจากนั้น โยอาคิม นาเกล ผู้ว่าการธนาคารกลางเยอรมนีได้เรียกร้องให้ธนาคารกลางยุโรประมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในเรื่องนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกดดันให้ประเทศเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุดในยูโรโซนเข้าใกล้สู่ภาวะล้มละลาย ด้วยเหตุนี้ ตลาดจึงเก็งว่าธนาคารฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้ามาก ๆ และตอบสนองต่อคำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางเยอรมนีด้วยการเทขายยูโรมากกว่าเดิม

    ในช่วงที่ผ่านมา การประกาศสถิติเศรษฐกิจมหภาคได้กลายเป็นเพียงแค่ข้ออ้างของการปรับฐานหรือการกลับสู่เทรนด์ขาลงโดยรวม ในภาพรวมแล้ว ราคาคู่นี้ได้ขยับลดลงถึง 2,200 จุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 และแนวโน้มขาลงนั้นมากกว่า 5,800 จุด นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หลังจากการปรับฐานครั้งเล็ก ๆ และราคาปิดตลาดที่ 1.0177 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันที่ 8 กรกฎาคม ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนั้นแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้: 65% คาดว่าราคาจะขยับลงทิศใต้ต่อไป 15% เห็นด้วยกับตลาดกระทิง และ 20% ไม่สามารถให้ความเห็นใด ๆ ด้านอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพที่กำกวมโดยสิ้นเชิง ออสซิลเลเตอร์และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ให้สัญญาณสีแดง สิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสนใจก็คือออสซิลเลเตอร์จำนวน 15% อยู่ในโซน oversold แล้ว

    หากไม่นับแนวรับที่ 1.0160 ราคาต่ำสุดของสัปดาห์ที่แล้วที่ 1.0771 ภารกิจอันดับหนึ่งของตลาดหมีคือการฉลองชัยชนะโดยลงไปแตะที่ 1.000 ด้วยความน่าจะเป็นเนื่องจากแรงเฉื่อยแล้ว ราคาคู่นี้อาจขยับลงไปต่ำกว่าเดิม โดยลงไปยังระดับแนวรับและแนวต้านที่แข็งแกร่งที่โซน 0.9900-0.9930 ในกรณีนี้ ระดับ 1.0000 จะถูกจู่โจมโดยไม่ใช่ตลาดหมีแต่เป็นตลาดกระทิง แต่ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นได้เช่นกัน ในอดีตตอนช่วงปี 2017 ราคาเคยขยับลงไปที่ 1.0340 ก่อนที่คู่ EUR/USD จะกลับทิศทางและทะยานขึ้นไปยัง 1.2555 เป้าหมายที่ใกล้ที่สุดของตลาดกระทิงคือการกลับไปยังโซน 1.0350-1.0450 จากนั้นคือโซน 1.0450-1.0600 และ 1.0625-1.0760 ถ้าหากทำสำเร็จ ฝั่งกระทิงจะพยายามพาราคาขึ้นไปที่โซน 1.0750-1.0770 โดยมีเป้าหมายถัดไปคือ 1.0800

    สำหรับปฏิทินเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เราอาจเน้นวันพุธที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งจะมีการประกาศสถิติตลาดผู้บริโภคในเยอรมนีและสหรัฐฯ สถิติอีกชุดหนึ่งจะประกาศในวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม ซึ่งเป็นดัชนียอดค้าปลีกและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯ

GBP/USD: ศึกต่อสู้ชิงระดับ 1.2000

  • ต่างจากยูโรตรงที่ GBP/USD สามารถปักหลักที่ระดับ 1.2000 หลังจากเริ่มต้นสัปดาห์ที่ 1.2095 ราคาได้ขยับขึ้นไปที่ 1.2164 ในตอนต้นและลงมายังระดับ 1.1875 แต่สุดท้ายก็ปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ 1.2030 แม้ว่าจะมีวิกฤติทางการเมืองเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรและการแถลงจากรัฐมนตรีหลายราย รวมถึง นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

    ปัจจัยอื่น ๆ รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจก็ส่งแรงกดดันต่อเงินปอนด์เช่นกัน ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเบร็กซิตคือหนึ่งในนั้น ก่อนหน้านี้ มีร่างกฎหมายฉบับหนึ่งในสภาอังกฤษที่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนศุลกากรโดยฝ่ายเดียวระหว่างสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งได้รับการเห็นชอบในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการแยกตัวออกจากอียู ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีและไอร์แลนด์ต่างตอบโต้อย่างรุนแรง โดยกล่าวหาสหราชอาณาจักรว่าละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ และคาดการณ์ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าส่วนใหญ่จะถูกบั่นทอนระหว่างประเทศเหล่านี้

    ระดับเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปีก็กดดันหนักเช่นกัน และแม้ว่าสหราชอาณาจักรจะพึ่งพาแหล่งพลังงานของรัสเซียน้อยกว่าอียูมาก แต่ก็ไม่ตัดโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษอาจพุ่งสูงขึ้นเกิน 11% ภายในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งยิ่งกดดันเศรษฐกิจประเทศให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งหนัก

    อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามนี้อาจเป็นแรงหนุนให้กับเงินปอนด์ เพราะมันจะบีบให้ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) ต้องเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินอย่างรวดเร็ว แถลงการณ์สายเหยี่ยวจากผู้บริหารธนาคารกลางอังกฤษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม ได้ยับยั้งแนวโน้มขาลงของคู่ GBP/USD และยังสามารถพลิกเทรนด์กลับขึ้นไปยังด้านบนได้อีกด้วย

    ในตอนต้น เคเธอรีน มานน์ สมาชิกคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (MPC) กล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้กับข้อโต้แย้งที่สนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้น ฮิวจ์ พิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารฯ ก็ประกาศว่า หากมีความจำเป็น เขาพร้อมที่จะยอมรับการคุมเข้มนโยบายทางการเงินในอัตราที่เร็วกว่าเดิม

    ณ ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 60% เชื่อว่าคู่ GBP/USD จะขยับลดลงต่อไปในอนาคตอันใกล้ ในทางกลับกัน 15% คาดการณ์ว่าราคาจะรีบาวด์ขึ้นไปด้านบน และ 25% มีท่าทีเป็นกลาง

    ผลการอ่านอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 มีดังนี้ ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 อัตราส่วนคือ 85:15% เห็นด้วยกับฝั่งสีแดง ในส่วนออสซิลเลเตอร์ ฝ่ายตลาดหมีเป็นต่อน้อยกว่าที่ 75% และ 25% ชี้ว่าราคาจะขึ้นไปด้านบน ส่วนแนวรับที่ใกล้ที่สุดคือ 1.2000 ตามมาด้วยโซน 1.1875-1.1930 สำหรับเป้าหมายระยะกลางของตลาดหมีจะเป็นราคาต่ำสุดของเดือนมีนาคม 2020 ที่ 1.1409 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้น ราคาคู่นี้จะเจอกับแนวต้านที่โซนและระดับ 1.2100, 1.2160-1.2175, 1.2200-1.2235, 1.2300-1.2325, 1.2400-1.2430, 1.2460 จากนั้นจะเป็นเป้าหมายที่บริเวณ 1.2500 และ 1.2600

    สำหรับปฏิทินเศรษฐกิจมหภาคของสหราชอาณาจักร เราขอแนะนำให้คุณให้ความสนใจกับคำแถลงของ นายแอนดริว ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม ส่วนสถิติการผลิตของภาคการผลิตและ GDP ของสหราชอาณาจักรจะประกาศในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม

USD/JPY: ภาวะนิ่งสงบก่อนพายุซัดถล่ม?

  • USD/JPY ไม่ได้ทำระดับสูงสุดในรอบ 24 ปีเป็นครั้งแรกในรอบห้าสัปดาห์ อย่างที่เราได้คาดการณ์ไว้ ราคาคู่นี้หยุดพัก และเทรดในกรอบ 134.77-136.55 ก่อนปิดตลาดที่ 136.06.

    ก่อนหน้านี้ ฝั่งกระทิงล้มเหลวที่จะพาราคาขึ้นไปยัง 137.00 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน โดยหยุดลงแค่ก้าวเดียวจากระดับดังกล่าวที่ 136.99 แล้วราคาจะจู่โจมอีกครั้งไหม? ผู้ที่เห็นด้วยกับสถานการณ์นี้ปรากฏว่ามีเพียง 5% เท่านั้น ส่วน 35% คาดว่าเทรนด์ด้านข้างจะมีผลต่อไป ด้านนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (60%) ยังคงคาดว่าแนวโน้มขาลงจะไปต่อ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากความฝันของธุรกิจนำเข้าและบรรดาแม่บ้านของญี่ปุ่นเป็นจริงขึ้นมา และเงินเยนแข็งค่ากลับคืนสู่สถานะสกุลเงินหลบภัยเหมือนเดิม?

    ในส่วนอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ภาพรวมนั้นแตกต่างออกไปจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก ออสซิลเลเตอร์ 65% ให้สัญญาณสีเขียว 10% สีแดง และ 25% สีเทากลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ชี้ไปยังทิศเหนือ 133.50, 133.00, 132.30, 131.50, 129.70-130.30, 128.60 และ 128.00 นอกจากการพิชิตแนวต้านที่ใกล้ที่สุดที่ 136.35 และขยับขึ้นไปที่ 137.00 การให้เป้าหมายถัดไปของฝั่งตลาดกระทิงนั้นทำได้ยาก โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นระดับจำนวนเต็ม เช่น 137.00, 140.00 และ 150.00 และหากว่าอัตราการเติบโตยังคงในระดับเดิมเหมือนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาจะสามารถขยับถึงโซน 150.00 ได้ในปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน

    ในสัปดาห์นี้ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติสำคัญทางเศรษฐกิจหรือการเมืองใด ๆ ในญี่ปุ่น สิ่งเดียวที่ควรจับตาดูคือคำแถลงของ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม แต่ก็ไม่คาดว่าจะมีคำกล่าวที่น่าประหลาดใจใด ๆ จากเขา

คริปโตเคอเรนซี: ควรหนีไปหรือรอต่อ?

  • ศึกต่อสู้ชิงระดับ $20,000 ยังไม่แผ่วลงเป็นเวลามากกว่าสามสัปดาห์ บางครั้งดูเหมือนว่าบิทคอยน์กำลังจะเจอกับหายนะและบิทคอยน์กำลังจะดิ่งลงเหวลึก นักวิเคราะห์หลายคนยังทำนายด้วยว่า ราคาจะลงต่อจากระดับปัจจุบันอีก 50-80% และโรเบิร์ต คิโยซากิ เจ้าของหนังสือขายดีเรื่อง Rich Dad Poor Dad ได้ทำนายว่าราคาจะทรุดหนักยิ่งกว่านั้นถึง 95% ที่ $1,100 แต่ฝั่งกระทิงยังคงต้านทานอยู่ในแนวหน้าได้ในขณะนี้

    เราได้เขียนไว้แล้วว่า $20,000 เป็นระดับที่สำคัญที่สุดสำหรับบิทคอยน์ อย่างหายนะที่เคยเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2017 บิทคอยน์ได้ขยับถึงระดับนี้ที่ $19,270 และทรุดลง 84% จริงอยู่ที่การโจมตีระดับ $20,000 มาจากทิศใต้ และครั้งนี้ก็เป็นการโจมตีจากทิศเหนือ

    แฟนตัวยงของคริปโตพยายามที่ยืนหยัดเรื่องความเป็นอิสระของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล พวกเขาเชื่อว่าสาเหตุที่มีการเทขายเหรียญครั้งใหญ่และตลาดทรุดตัวลงสามครั้งเป็นเพราะโครงการหลายโครงการที่ล่มไป แต่ในความเห็นของเราแล้ว ในแง่นี้ไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก ความเสี่ยงรอบโลกยังคงเป็นปัญหาหลัก ความกลัวต่อการเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการถอนสภาพคล่องออกจากระบบอย่างรวดเร็วโดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ โดยการกำจัดสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ตลาดหุ้นรอบโลกตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากฝั่งผู้ขาย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนบนกราฟดัชนีหุ้น เช่น S&P500, Dow Jones และ Nasdaq Composite ซึ่ง BTC มีความสัมพันธ์ด้วยโดยตรง ดัชนีขยับไปทางไหน บิทคอยน์ก็ไปด้วยทางนั้น และเราก็ไม่ได้พูดถึงความเป็นอิสระของบิทคอยน์มานานแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจรอบโลกนี้เองที่ทำให้โครงการคริปโตที่สำคัญหลายโครงการล่มลง ซึ่งทำให้เกิดภาวะหวาดวิตกที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ถือสินทรัพย์ดิจิทัล

    เมื่อทำการวิเคราะห์สถานการณ์ จิม คราเมอร์ อดีตผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Cramer & Co และพิธีกรรายการ Mad Money ช่อง CNBC เชื่อว่าธนาคารเฟดเป็นผู้มี “ชัยชนะอันยอดเยี่ยม” ในศึกการต่อสู้กับคริปโต “ยังมีแนวหน้าในสงครามต่อสู้กับเงินเฟ้อกับชัยชนะที่ยอดเยี่ยมของธนาคารเฟด มันเป็นการต่อสู้กับการเก็งกำไรทางการเงิน[...] การทำงานเพื่อบ่อนทำลายคริปโตเคอเรนซีเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว พวกเขาดูเหมือนจะยังไม่รู้เกี่ยวกับมัน” เขากล่าว

    ตามรายงานของ Glassnode สถิติแนวโน้มขาลงในราคาบิทคอยน์ในเดือนมิถุนายนได้พา “นักท่องเที่ยวในตลาด” ทั้งหลายหลุดออกจากเกมนี้ไป จึงเหลือเพียง hodlers (ผู้ถือเหรียญระยะยาว) “ที่ยังอยู่แนวหน้า”ในบริบทการเคลื่อนไหวรายเดือน สถานการณ์นั้นเลวร้ายกว่าในปี 2011 จำนวนที่อยู่ที่มีการใช้งานประจำรายวันลดลงจากกว่า 1 ล้านที่อยู่ในเดือนพฤศจิกายนเหลือ 870,000 อัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานลดลงทำระดับสถิติต่ำสุดของปี 2018-2019 และมีผู้ใช้งานรายใหม่ไม่เกิน 7,000  คนต่อวัน

    กระแสการไหลออกที่มากที่สุดเกิดขึ้นในหมู่นักลงทุนรายสถาบัน (บริษัทที่มีการลงทุนตั้งแต่ $1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปฉ นักขุดเหรียญสาธารณะ (ขยายการผลิตด้วยเงินสินเชื่อ) รวมถึงนักเก็งกำไรและผู้เล่นไม่แน่นอน โดยสถาบันถอนเงินจำนวน $188 ล้านดอลลาร์ออกจากกองทุนคริปโตในเดือนมิถุนายน และปริมาณ “อุปทานที่ไม่เป็นสภาพคล่อง” ซึ่งในเดือนมิถุนายน อุปทานดังกล่าวขยับถึงระดับสถิติที่ 223,000 BTC นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2017

    เนื่องด้วยตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการปรับฐาน บิทคอยน์จะขยับขึ้นเหนือ $20,000 ได้สำเร็จในสัปดาห์ที่แล้ว ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม) ราคาบิทคอยน์ซื้อขายอยู่ในโซน $21,800 โดยมูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $0.966 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.876 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นเล็กน้อยในรอบสัปดาห์ โดยขึ้นจาก 11 เป็น 20 แต่ยังคงอยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear)

    อนาคตของบิทคอยน์จะเป็นอย่างไร? ตามความเห็นของ ทิโมธี ปีเตอร์สัน ผู้จัดการการลงทุนจาก Cane Island Alternative Advisors ราคาบิทคอยน์จะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของปัจจัยจากฝั่งอเมริกาในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้น เงินทุนอาจไหลออกจากสินทรัพย์ความเสี่ยง เขาคำนวณว่า โอกาสความเป็นไปได้ที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นเป็น 70% และราคา BTC อาจทรุดลง 20% หรือแม้แต่ 40% ภายในปลายฤดูร้อน ทั้งนี้ นักวิจัย Arcane Reseach ชี้ว่ามีโอกาสที่ราคาบิทคอยน์จะลดลงไปถึงระดับ $10,350

    ไมเคิล เบอร์รี นักการเงินผู้ที่เคยทำนายวิกฤติสินเชื่อจำนองปี 2007 ได้ยอมรับว่า สถานการณ์ตลาดในปัจจุบันเป็นช่วงวิกฤติตลาดหมีสำหรับบิทคอยน์ นักลงทุนผู้กลายเป็นต้นแบบของตัวเอกในภาพยนตร์เรื่อง “The Big Short” เชื่อว่า บิทคอยน์อาจลดลงต่อ “เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ครึ่งแรกของปี 2022 ดัชนี S&P 500 ติดลบ 25-26%, และ Nasdaq ติดลบ 34-35% ส่วนบิทคอยน์ติดลบ 64-65% นี่คือการบีบอัดหลายครั้ง ถัดไปจะเป็นการถูกบีบอัดโดยรายงานรายได้ ดังนั้นเราน่าจะอยู่กลางทาง “เขียนโดยไมเคิล เบอร์รี

    นักยุทธศาสตร์จาก Deutsche Bank เชื่อว่า ราคาบิทคอยน์สามารถฟื้นตัวขึ้นมายังระดับ $28,000 ภายในปี 2022 แนวโน้มขาขึ้นนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับการทะยานขึ้นของตลาดหุ้น เพราะเงินคริปโตมีความสัมพันธ์กับดัชนี Nasdaq 100 และ S&P 500 ตลาดเหล่านี้จะฟื้นตัวขึ้นมายังระดับเดือนมกราคมภายในสิ้นปี และฉุดบิทคอยน์ขึ้นไปด้วย

    สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในตลาดหมีอาจอยู่ข้างหลังเรา เนื่องจากผู้เล่นที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมคริปโตได้ “ช่วยเหลือ” ผู้ที่อ่อนแอเพื่อรับมือกับ “การติดเชื้อ” นี่คือคำพูดของ นิโคเลาส์ ปานิเกิร์ตโซกลู นักยุทธศาสตร์จาก JPMorgan ผู้เชี่ยวชาญอาจตระหนักถึงความสนใจของตลาดแลกเปลี่ยนคริปโต FTX ที่จะเข้าซื้อแพลตฟอร์ม BlockFi รายงานจากสื่อยังระบุด้วยว่า โบรกเกอร์ออนไลน์ Robinhood นั้นเป็นเป้าหมายที่จะเข้าควบกิจการ ก่อนหน้านี้ ตลาดแลกเปลี่ยน FX เคยสนับสนุนโบรกเกอร์คริปโต Voyager Digital และผู้เชี่ยวชาญได้พูดอัตราการระดมทุนในระดับสูงในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นปัจจัยเพิ่มเติมในแง่บวก

    นิโคเลาส์ยังกล่าวเสริมด้วยว่า “เสียงสะท้อนจากการปลดตัวออกจากอัตราทด (deleveraging) จะมีผลเป็นเวลาระยะหนึ่ง” โดยอ้างถึงการผิดนัดชำระหนี้ของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Three Arrows Capital

    นักเทรดคริปโตชื่อเล่นว่า Rekt Capital เชื่อว่า ตลาดจะเผชิญกับแรงที่อ่อนล้าของฝั่งผู้ขาย และนักลงทุนระยะยาวจะมีโอกาสที่จะเข้าซื้อ BTC ในกรอบราคาที่ให้ผลตอบแทนสุงสุด “ในอดีต ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รายสัปดาห์ 200 สัปดาห์ถือว่าเป็นกรอบด้านล่างของ BTC หลายอย่างอาจดูแตกต่างออกไปเล็กน้อยในวัฎจักรนี้ แทนที่ราคาจะลงต่ำสุดที่เส้น SMA200 บิทคอยน์อาจทำกรอบเล็ก ๆ ด้านล่าง จริง ๆ แล้ว ราคาใดๆ ที่อยู่ต่ำกว่านั้นจะเป็นจุดเข้าซื้อที่ดีที่สุด” เขียนโดย Rekt Capital

    นักเทรดเน้นย้ำว่า แม้ว่าบิทคอยน์จะคงอยู่ในแนวโน้มขาลงที่แข็งแกร่ง เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับวัฎจักรกระทิงรอบใหม่จะเปิดตัวขึ้นในที่สุด “บิทคอยน์อาจยังอยู่ในระยะแนวโน้มขาลงแบบเร่งตัว และจะเผชิญกับช่วงราคาสะสมกำลัง (consolidation) เป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งจะตามมาด้วยระยะแนวโน้มขาขึ้นรอบใหม่ครั้งใหญ่”

    การคาดการณ์ทั้งหมดข้างต้นชี้ให้เห็นว่า จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกหลายเดือนจนกว่าการทะยานของตลาดกระทิงครั้งใหม่จะเริ่มขึ้น แต่ จอร์แดน เบลฟอร์ต แนะนำให้นักลงทุนอดทนไม่ใช่แค่หลายเดือน หากแต่เป็นหลายปี “หากคุณมองไปไกลกว่าระยะ 24 เดือน คุณจะทำเงินได้อย่างแน่นอนถ้าหากว่าคุณโชคดี หากคุณลองสักสามหรือห้าปี ผมจะช็อคมากหากคุณทำเงินไม่ได้เลย เพราะหลักการพื้นฐานของบิทคอยน์มันไม่มีวันสั่นคลอน” เขากล่าว โดยอธิบายว่าปริมาณจำกัดของบิทคอยน์อยู่ที่ 21 ล้านเหรียญดิจิทัลและอัตราเงินเฟ้อในโลกนั้นสูงขึ้นต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ จอร์แดน เบลฟอร์ต ถูกตัดสินคดีฉ้อโกงซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ เรื่องราวของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับ มาร์ติน สกอร์เซส ในการสร้างภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง The Wolf of Wall Street แต่หากก่อนหน้านี้ นักโบรกเกอร์รายนี้เคยฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะนี้เขากลับส่งเสริมอย่างแข็งขันให้มีการกำกับดูแลสินทรัพย์คริปโตอย่างเคร่งครัด

    ชาร์ลส์ เอริธ ซีอีโอของบริษัทการลงทุน ByteTree เชื่อว่า บิทคอยน์และทองคำจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในพอร์ตการลงทุนในหลายปีข้างหน้า ไม่ใช่เพราะเรารับประกันว่าราคาของมันจะเพิ่มขึ้น แต่เพราะมันทำงานเป็นหลักประกันต่อความผิดพลาดในยุคแห่งภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี นักการเงินรายนี้ชี้ว่า หลายอย่างยังขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารเฟดสหรัฐฯ และธนาคารกลางอื่น ๆ

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)