สิงหาคม 13, 2022

EUR/USD: เงินเฟ้อที่อ่อนแอทำให้ดอลลาร์อ่อนแอ

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 15 - 19 สิงหาคม 20221

  • EUR/USD ได้ขยับในกรอบไซด์เวยส์ 1.0100-1.0270 มาเป็นเวลามากกว่าสามสัปดาห์ โดยมีความพยายามที่จะตัดทะลุกรอบด้านบนหรือด้านล่าง ซึ่งล้มเหลวทุกครั้ง แม้แต่สถิติที่แข็งแกร่งจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งประกาศออกมาในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมก็ไม่ได้ช่วยดอลลาร์ ทั้งนี้ อัตราว่างงานในสหรัฐฯ คงที่ที่ 3.6% ตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ดีเป็นอย่างยิ่ง และดัชนีก็ต่ำลงกว่าเดิมในเดือนกรกฎาคมที่ 3.5% ด้านดัชนีที่สำคัญอย่าง NFP หรือจำนวนตำแหน่งงานนอกภาคการเกษตรให้ผลลัพธ์ที่ 528K จากตัวเลขคาดการณ์คือ 250K ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเลขในเดือนก่อนหน้าจะอยู่ที่ 372K ก็ตาม

    แนวโน้มด้านข้างดำเนินต่อไปจนถึงวันพุธที่ 10 สิงหาคม หลังจากนั้นราคาก็ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วไปที่ระดับ 1.0270 โดยเปลี่ยนแนวต้านเป็นแนวรับ ประเด็นสำคัญตรงนี้ไม่ใช่เพราะยูโรแข็งค่า แต่เป็นเพราะดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยเฉพาะหลังการประกาศรายงานอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งมีการคาดการณ์อยู่ที่ 0.2% ในเดือนกรกำาคม ผลปรากฏว่าอยู่ที่ 0.0% (เดิมอยู่ที่ 1.3% เมื่อเดือนก่อนหน้า) โดยดัชนีลดลงจาก 9.1% เหลือ 8.5% (ตัวเลขคาดการณ์ 8.7%) รายปี ส่วนดัชนี CPI ขยับขึ้นเพียง 0.3% เท่านั้นในเดือนกรกฎาคมจากการคาดการณ์ที่ 0.5% (0.7% เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้า)

    ตัวเลขทั้งหลายเหล่านี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ภาวะเงินเฟ้อเริ่มลดลง ซึ่งเป็นสงครามที่ประกาศโดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ แน่นอนว่านี่ยังไม่ใช่ชัยชนะสุดท้าย แต่ก็เป็นความสำเร็จของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีความชัดเจน ดังนั้น ธนาคารฯ อาจผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในระดับหนึ่ง และไม่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างเข้มงวดอย่างที่เคยทำไว้ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

    เมื่อพูดถึงช่วงท้ายการประชุมเดือนกรกฎาคมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด (FOMC) นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดพยายามที่จะโน้มน้าวทุกคนว่า ธนาคารฯ ยังคงเน้นนโยบายสายเหยี่ยว (ถอนสภาพคล่องออกจากระบบ) และหากมีความจำเป็น ธนาคารเฟดพร้อมที่จะเร่งอัตราการขึ้นดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ตาม ตลาดก็ยังคงไม่เชื่อนายพาวเวลล์ และตอบสนองด้วยการพลิกทิศทางตลาดหุ้น และขณะนี้ สถิติเงินเฟ้อได้กลายเป็นอีกหนึ่งข้อสนับสนุนให้ FOMC ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ที่ 0.75% แต่ขึ้นเพียง 0.5% ในเดือนกันยายน และจะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน และกลับสู่มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในปี 2023

    แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ หรือไม่ใช่ด้วยซ้ำ หากแต่เป็นความคาดหวังเฉย ๆ แต่สิ่งนี้เองก็ช่วยดันดัชนีหุ้น S&P500, Dow Jones, Nasdaq ให้ขยับขึ้น และช่วงพยุงไม่ให้คู่ EUR/USD ขยับลงมายังระดับคู่ขนาน 1.0000 อีกครั้ง

    EUR/USD ปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 1.0260 โดยราคากลับไปอยู่กรอบไซด์เวยส์ระยะกลางที่ 1.0100-1.0270 ด้านผู้เชี่ยวชาญ 45% โหวตว่าราคาจะขยับลดลงต่อไป และอาจตัดทะลุกรอบด้านล่างได้สำเร็จ ส่วน 35% ชี้ไปยังทิศทางขาขึ้น และ 20% ชี้ทิศทางด้านข้าง ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 40% ให้สัญญาณสีแดง และ 20% เป็นสีเทากลาง นอกจากนี้ยังมีความไม่สมดุลในหมู่อินดิเคเตอร์เทรนด์ ซึ่ง 50% ชี้ไปยังทิศใต้ และ 50% ทิศเหนือ

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่ 1.0220 จากนั้นคือโซน 1.01500-1.0200 และ 1.0095-1.0120 สำหรับเป้าหมายหลักของตลาดหมีแน่นอนว่าคือระดับ 1.0000 ซึ่งหากราคาตัดผ่านระดับนี้ ฝั่งหมีจะตั้งเป้าไว้ที่ระดับต่ำสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 0.9950 และที่ต่ำกว่านั้นจะเป็นโซนแนวรับ/แนวต้านที่สำคัญของปี 2002 ที่ 0.9900-0.9930 ในส่วนของภารกิจที่สำคัญของฝั่งกระทิงจะเป็นการตัดทะลุกรอบด้านบนที่ช่วง 1.0270 จากนั้นคือราคาสูงสุดของสัปดาห์ที่แล้วที่บริเวณ 1.0364-1.0368 ส่วนเป้าหมายถัดไปคือการกลับมายังโซน 1.0400-1.0450 หลังจากนั้นคือโซน 1.0520-1.0600 and 1.0650-1.0750.

    สัปดาห์ที่จะถึงนี้จะเต็มไปด้วยสถิติเศรษฐกิจที่หลากหลาย ในวันอังคารที่ 16 สิงหาคม เยอรมนีจะประกาศสถิติความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยสถาบัน ZEW และสถิติเบื้องต้นของค่า GDP ยูโรโซน (ไตรมาสที่ 2) ในวันพุธที่ 17 สิงหาคม รวมถึงสถิติค้าปลีกในสหรัฐฯ ในวันเดียวกันนั้นจะมีการประกาศผลการประชุมของคณะกรรมการ FOMC และเราจะรอฟังการประกาศสถิติเงินเฟ้อในยุโรป (CPI) ในวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม รวมถึงสถิติตลาดแรงงาน ยอดขายบ้าน และกิจกรรมภาคการผลิตในสหรัฐฯ

GBP/USD: GDP อ่อนค่า การคาดการณ์ดูมืดมน

  • GBP/USD ตอบสนองต่อสถิติเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งประกาศไปเมื่อวันพุธที่ 10 สิงหาคม โดยราคาคู่นี้ดีดขึ้นมาเกือบ 200 จุดที่ 1.2276 จริงอยู่ที่ราคายืนไม่สำเร็จ และปิดตลาดที่บริเวณ 1.2135 แม้แต่ปัจจัยความเสี่ยงรอบโลกก็ไม่ช่วยเงินปอนด์ สาเหตุหลักนั้นเป็นเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูมืดมนของสหราชอาณาจักร และการคาดการณ์ที่ดูคลุมเครือไม่แพ้กันของธนาคารกลางอังกฤษ

    สถิติ GDP สหราชอาณาจักรของทั้งเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ซึ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม ผลปรากฏว่าดัชนีเดือนมิถุนายนหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้คือ -0.6% จาก -1.2% GDP ที่ลดลงในเดือนเมษายน-มิถุนายน คิดเป็น -0.1% เทียบกับการคาดการณ์ที่ -0.2% และ +0.8% ในไตรมาสที่ 1 ตัวเลขรายปีอยู่ที่ 2.9% เทียบกับการคาดการณ์ที่ 2.8% และ 8.7% ในไตรมาสที่ 1 สถิติทั้งหมดเหล่านี้ปรากฏว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และคำถามเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ จะรุนแรงและมีระยะเวลายาวนานแค่ไหน

    นักวิเคราะห์ 55% มองว่าสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้เป็นผลดีต่อเงินปอนด์ ดังนั้น คู่นี้จึงคาดว่าจะขยับลดลงต่อไป มุมมองในทางตรงกันข้ามนั้นเป็นของผู้เชี่ยวชาญ 15% เท่านั้น ส่วน 30% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 มีดังนี้ 85% เห็นด้วยกับฝั่งสีแดงเทียบกับ 15% และมีเพียง 25% ของออสซิลเลเลตอร์เท่านั้นที่เห็นด้วยกับฝั่งตลาดหมี ด้าน 35% ชี้ถึงแนวโน้มขาขึ้น และ 40% ให้สัญญาณเป็นกลาง

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 1.2100 ตามมาด้วยโซนและระดับ 1.2045-1.2065, 1.2000 1.1875-1.1925 และ 1.1800 ซึ่งต่ำกว่านั้นจะเป็นราคาต่ำสุดของวันที่ 14 กรกฎาคม คือ 1.1759, จากนั้นคือ 1.1650, 1.1535 และราคาต่ำสุดของเดือนมีนาคม 2020 ในโซน 1.1400-1.1450 ในส่วนของฝั่งกระทิง พวกเขาจะเจอกับแนวต้านในโซนและระดับที่ 1.2160-1.2200, 1.2275-1.2325 และ 1.2400-1.2430

    สำหรับกิจกรรมสำคัญในสัปดาห์นี้น่าจะเป็นการประกาศสถิติเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร (CPI) ในวันพุธที่ 17 สิงหาคม นอกจากนี้ที่น่าสนใจยังมีสถิติแรงงานของอังกฤษในวันอังคารที่ 16 สิงหาคม และสถิติค้าปลีกเดือนกรกฎาคมในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคมนี้

USD/JPY: เยน: หวังว่าจะดีขึ้น แต่เป็นอนาคตอันไกลอย่างยิ่ง

  • ราคาคู่ USD/JPY ในสัปดาห์ที่แล้วนั้นมีลักษณะคล้ายกับคู่ EUR/USD แบบกลับทิศทาง (สมเหตุสมผลเพราะดอลลาร์ขยับเป็นสกุลเงินฐานของสกุลเงินอ้างอิง) โดยราคาได้เริ่มต้นวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม ที่ 135.00 จากนั้นก็ขยับลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อวันพุธที่ 10 สิงหาคม จากการประกาศรายงานเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และขยับถึงระดับต่ำสุดในกรอบที่ 131.72 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ก่อนที่จะกลับตัวและปิดตลาดที่ 133.45

    สำหรับผู้ที่พร้อมจะเปิดคำสั่งเทรดระยะยาว อาจให้ความสนใจกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จาก Westpac หนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย หนึ่งใน Big Four และเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของนิวซีแลนด์ พวกเขาเชื่อว่าราคา USD/JPY ที่ระดับปัจจุบันถือว่ามีความเหมาะสม ญี่ปุ่นนั้นได้รับปัจจัยหนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียและแนวโน้มขาลงที่ยืดเยื้อในราคาพลังงาน และเมื่อธนาคารเฟดสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายตามความเห็นของนักยุทธศาสตร์ Westpac แล้ว ราคาคู่นี้อาจขยับลงไปที่ 123.00 ภายในปลายปี 2023

    ช่วงปลายปี 2023 ยังถือว่าอีกยาวไกล โดยมีเวลาอีกมากกว่า 16 เดือน สำหรับการคาดการณ์อนาคตอันใกล้นั้น ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 45% คาดการณ์ว่าราคาจะขยับขึ้น อีก 25% เชื่อว่าเงินเยนจะแข็งค่า และราคาจะขยับไปในเทรนด์ขาลงต่อ ส่วน 30% ที่เหลือเห็นด้วยกับทิศทางด้านข้าง ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพที่ค่อนข้างแตกต่างออกไป อินดิเคเตอร์เทรนด์ให้อัตราส่วนที่ 65% ต่อ 35% โดยฝั่งที่เป็นต่อคือสีแดง สำหรับออสซิลเลเตอร์ 15% ชี้ไปยังทิศเหนือ อีก 40% ชี้ทิศใต้ และ 45% ชี้ไปยังทิศตะวันออก

    ระดับแนวรับของคู่นี้อยู่ที่ระดับและในโซนคือ 133.00, 132.50-132.85, 131.75-132.00, 131.00, 130.40, 128.60 และ 126.35-127.00 ส่วนระดับแนวต้าน ได้แก่ 134.00, 134.40-134.60, 135.30-135.60, 136.35-137.00, 137.45, 137.90-138.40, 138.50-139.00 และสุดท้ายคือราคาสูงสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 139.38

    สำหรับกิจกรรมที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ เราควรให้ความสนใจในวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม ซึ่งจะมีการประกาศปริมาณ GDP เบื้องต้นของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ปี 2022 การคาดการณ์ชี้ว่า GDP อาจเพิ่มขึ้นจาก -0.1% เป็น +0.6% ซึ่งนี่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ ใช้ในการประเมินอัตราการเติบโตและการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ การเติบโตของดัชนีมักเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อค่าเงินประเทศ

สกุลเงินคริปโต: 26 สิงหาคม: วันที่ย่ำแย่บนปฏิทิน

  • ชุมชนคริปโตยังคงสงสัยต่อเนื่องว่า ตลาดคริปโตถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง หรือจะมีการทรุดตัวรอบใหม่รอเราอยู่ข้างหน้า ก่อนที่เราจะไปยังการคาดการณ์ชุดถัดไป เราจะมาเริ่มกันที่สถิติใหม่กันก่อน

    ราคาบิทคอยน์ได้ขยับลงมาที่ $17,597 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับระดับเดือนธันวาคมที่ 2020 และอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ $68,918 ถึง 75% ซึ่งหากเราวัดจุดเริ่มต้นของปี 2022 บิทคอยน์เริ่มต้นที่ $47,572 เมื่อวันที่ 1 มกราคม และขยับร่วงลง 63% ในวันที่ 18 มิถุนายน หลังจากนั้น BTC/USD ก็ไต่ขึ้นมาอย่างช้า ๆ โดยราคาต่ำสุดและสูงสุดมีการยกตัวตลอด 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กราฟแสดงให้เห็นว่า แรงต้านทานตลาดหมีเพิ่มขึ้นเหนือระดับ $24,000 และโมเมนตัมขาขึ้นเริ่มจางหายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ราคาสูงสุดในรอบสัปดาห์อยู่ที่ $24,264 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม, $24.435 วันที่ 29 กรกฎาคม และสุดท้ายคือระดับที่ $24.891 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม กล่าวคือ ราคาเติบโตเพียง 2.5% เท่านั้นในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม มูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.155 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.089 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) และดัชนี Crypto Fear & Greed Index ยังคงอยู่ในโซน Fear ที่ 42 จุด (31 จุด เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า)  BTC/USD ยังคงซื้อขายอยู่ที่ $24,100 และอยู่ต่ำกว่าราคาเริ่มต้นปีประมาณ 50%

    แม้ว่าราคาจะลดราคาเป็นอย่างมาก จำนวนที่อยู่ที่มียอดคงเหลือมากกว่า 1 BTC เพิ่มขึ้นมา 9.4% นับตั้งแต่ต้นปี 2022 ดัชนีนี้เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 891.009 ภายในปลายเดือนกรกฏาคม สถานการณ์ยิ่งชัดเจนมากขึ้นกับที่อยู่ที่มียอดคงเหลือมากกว่า 1 ETH ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 15.7% ในช่วงเวลาเจ็ดเดือน แนวโน้มดังกล่าวนี้บ่งชี้ถึงความต้องการของนักลงทุนในการสะสมเหรียญ เช่น The Balance แหล่งวิเคราะห์ข้อมูลชี้ว่า 39% ของนักลงทุนจากสหรัฐฯ เริ่มลงทุนในคริปโตเคอเรนซีเพิ่มขึ้น และอยากจะเก็บเงินในรูปแบบเงินออม

    แล้วคุ้มค่าหรือไม่ที่จะเข้าซื้อบิทคอยน์ในขณะนี้? ไมค์ แม็คโกลน นักยุทธศาสตร์อาวุโสจาก Bloomberg Intelligence เชื่อว่า บิทคอยน์กำลังซื้อขายอยู่ที่ราคาส่วนลดในช่วงตลาดกระทิงที่ยั่งยืน “บิทคอยน์ทำระดับต่ำสุดในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รอบ 100 สัปดาห์” กล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญ

    มาร์ก ยุสโก หุ้นส่วนบริหารของ Morgan Creek Digital กล่าวด้วยเช่นกันว่า ราคาปัจจุบันของบิทคอยน์นั้นไม่เหมาะสม และควรอยู่ที่ประมาณ $30,000 ตามความเห็นของ แอนโธนี สการามัชชี ซีอีโอของ SkyBridge Capital ชี้ว่า “มูลค่าที่เหมาะสม” ของ BTC ในตอนนี้ควรอยู่ที่บริเวณ $40,000 ด้าน PlanB เจ้าของโมเดล Stock-to-Flow ที่โด่งดังชี้ว่า ราคาควรสูงกว่านั้นที่ $55,000

    อินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีโมเดลและเหตุผลเป็นของตนเอง แต่อย่าลืมว่า “ราคาที่เหมาะสม” นั้นเป็นเรื่องของอคติที่แตกต่างกันไป และบางทีราคาที่เหมาะสมที่สุดอาจเป็นราคาในตลาด ณ ปัจจุบันก็เป็นได้ ก็คือเป็นราคาที่ฝั่งผู้ขายพร้อมจะขายตอนนี้ และผู้ซื้อก็พร้อมที่จะซื้อในราคานี้

    อินดิเคเตอร์แบบ on-chain บางตัวได้ให้สัญญาณว่าเราได้ผ่านจุดยอมจำนวนเรียบร้อยแล้ว และสถานการณ์ในหมู่นักลงทุนดูดีขึ้นในเดือนกรกฎาคม ซึ่งระบุในรายงานการวิเคราะห์ของ ForkLog ในสถานการณ์ที่ราคาสะสมกำลัง (consolidation) และมีการฟื้นตัวอย่างราบรื่นของราคาบิทคอยน์ อินดิเคเตอร์ Puell Multiple เริ่มออกจากโซน oversold ที่ลึก ด้านตัวชี้วัดกำไร/ขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (NUPL) ได้ขยับเข้าสู่โซนความหวัง/ความกลัว และกำลังขยับในทางที่ดีขึ้น ด้านอินดิเคเตอร์ MVRV Z-Score ตัดผ่านกรอบด้านบนของโซน oversolld ที่ 0.1 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่า “จุดต่ำสุด” ของวัฏจักรตลาดนั้นได้ผ่านไปแล้ว

    แซม แบงก์แมน-ฟรีด ซีอีโอตลาดแลกเปลี่ยนคริปโต FTX ชี้ว่า ฤดูหนาวคริปโตอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และฤดูใบไม้ผลิก็ใกล้เข้ามา “ผมคิดว่าเราได้เห็นจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว ยังมีเหลืออีกเล็กน้อย แต่ก็จะไม่แย่เท่าไรนัก” กล่าวโดยเศรษฐีพันล้าน “นักขุดเหรียญบิทคอยน์บางท่านอาจมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าเรากำลังพูดถึงเงินที่ต้องเจ็บปวดจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ ไม่ใช่หลายพันล้านดอลลาร์”

    อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ของเขาก็ยังมี “ข้อแม้” อยู่บ้าง “ในกรณีที่ Nasdaq ขยับลงอีก 25% และหากอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 7% และหากเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลาสองปีครึ่ง บิทคอยน์อาจดิ่งลงมาที่ $15,000 หรือ $10,000” กล่าวโดยซีอีโอ FTX

    ไมค์ แม็คโกลน จาก Bloomberg Intelligence ก็มองธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างระมัดระวังเช่นกัน นักวิเคราะห์รายนี้เน้นถึงบทบาทสำคัญของธนาคารเฟดที่จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างดุดันในปี 2022 สถานการณ์นี้อาจสร้างอุปสรรคให้กับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง รวมถึงคริปโตเคอเรนซีและตลาดหุ้น ในขณะเดียวกัน เขาก็เรียกร้องให้ไม่ต้องพยายามต่อสู้กับธนาคารเฟด

    สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจะต้องผ่านบททดสอบจริงจังในช่วงปลายเดือนสิงหาคม นักวิเคราะห์ที่มีชื่อเล่นว่า Guy เน้นย้ำว่า การประกาศสถิติเศรษฐกิจในเดือนนี้อาจส่งอิทธิพลสำคัญต่อตลาดคริปโต เขามองว่า ปัจจัยสำคัญ 3 ประการอาจกระทบต่อแนวโน้มขาขึ้นในปัจจุบัน ปัจจัยแรกเป็นดัชนีรายจ่ายของผู้บริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ “ดัชนี PCE ในเดือนกรกฎาคมจะประกาศในวันที่ 26 สิงหาคม เนื่องจาก PCE เป็นตัวชี้วัดภาวะเงินเฟ้อที่โปรดปรานของธนาคารเฟด ค่าที่สูงอาจทำให้ตลาดทรุดตัวท่ามกลางการคาดหวังว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร่งด่วน”

    ปัจจัยประการที่สองคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในไตรมาสที่สองของสหรัฐฯ “GDP ที่ทบทวนใหม่ในไตรมาสที่สองจะประกาศในวันที่ 26 สิงหาคมเช่นกัน โปรดให้ความสนใจกับสถิตินี้ หากตัวเลขเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้น แปลว่าสหรัฐฯ จะไม่อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกต่อไป ซึ่งอาจผลักดันให้ธนาคารเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากยิ่งขึ้น”

    และสุดท้ายข้อที่สาม คือ งานประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่เมืองแจ็คสันโฮล ซึ่งทางการสหรัฐฯ รวมถึงบุคคลสำคัญจากธนาคารกลางแห่งต่าง ๆ และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ จะมาหารือกันเรื่องปัญหาเศรษฐกิจโลก งานประชุมนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันที่มีการประกาศสถิติที่สำคัญสองตัวข้างต้น

    ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดสหรัฐฯ ซึ่งยิ่งกระทบต่อตลาดคริปโตด้วยเช่นกัน “หากสถิติเหล่านี้ปรากฏว่าไม่มีความสำคัญอะไร และนายพาวเวลล์มีอารมณ์ดีสุด ๆ ตลาดคริปโตก็จะเจอกับช่วงเวลาที่เลวร้าย แต่ก็มีโอกาสที่เขาเองอาจจะเก็บความคิดไว้กับตนเองนานพอให้ตลาดคริปโตฟื้นตัวได้ต่อไป”

    แบบสำรวจล่าสุดของ Cumberland ซึ่งสำรวจนักลงทุนรายสถาบัน ชี้ให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าบิทคอยน์จะขยับขึ้นไปที่ $32,000 ภายในสิ้นปีนี้ ด้าน ไมค์ โนโวกราตซ์ ซีอีโอบริษัทการลงทุน Galaxy Digital กล่าวว่า บิทคอยน์ไม่มีแนวโน้มที่จะทะยานขึ้นเหนือ $30,000 ในเร็ว ๆ นี้ เขาเน้นย้ำในบทสัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า เขาไม่เห็นกระแสการไหลเข้ามาของนักลงทุนรายสถาบันเข้าสู่บิทคอยน์ในขณะนี้ เศรษฐีพันล้านรายนี้ “จะดีใจเป็นอย่างยิ่ง” หาก BTC หยุดพักในช่วง $20,000 - $30,000

    การคาดการณ์ที่ดูสดใสมากที่สุดในครั้งนี้เป็นของนักวิเคราะห์ภายใต้ชื่อเล่นว่า InvestAnswers โดย Coinbase ตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตของอเมริกันและ BlackRock บริษัทการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดได้เข้าสู่ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันในสัปดาห์ที่แล้ว BlackRock บริหารสินทรัพย์กว่า $10 ล้านล้านดอลลาร์ในขณะนี้ จากข้อมูลดังกล่าว InvestAnswers นักวิเคราะห์คริปโตเชื่อว่า กระแสเงินที่ไหลเข้าสู่คริปโตเคอเรนซีจากลูกค้าของ BlackRock อาจผลักดันให้ราคา BTC ขยับไปที่ $773,000

    “หาก BlackRock วางเงิน 0.5% ของสินทรัพย์ลงใน BTC และเมื่อพิจารณาอัตราทด มูลค่าของบิทคอยน์จะเพิ่มขึ้นเป็น $1.05 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่า ราคาจะขยับขึ้นไปถึง $75,000 และผมคิดว่ามันมีความเป็นไปได้สูง ถ้าหากลูกค้าของ BlackRock จัดสรรเงินลงทุน 1% ของพวกเขา มูลค่ารวมในตลาดก็จะเพิ่มเป็นถึง $2.1 ล้านล้าน และบิทคอยน์จะขยับขึ้นถึง $173,000 และถ้าหาก BlackRock ลงทุนเป็น 5% ราคาบิทคอยน์ก็จะพุ่งไปถึง $773,000 แต่ผมคิดว่านี่มันมากเกินไป แต่ก็อาจเป็นไปได้ในเวลา 3-5 ปี” นักวิเคราะห์เขียน “ทั้งนี้ การคำนวณของ InvestAnswers จะถูกต้องเฉพาะหากการลงทุนนั้นใช้อัตราทดที่ 1:21 หรือมากกว่าเท่านั้น)

    และในส่วนบทสรุปของบทวิเคราะห์ฉบับนี้ เราจะพูดถึงอัลท์คอยน์สกุลหลัก Ethereum กันเล็กน้อย ซึ่งมีการฟื้นตัวรวดเร็วกว่าบิทคอยน์ คู่ BTC/USD ได้ขยับขึ้นมาประมาณ 40% ในช่วงแปดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ ETH/USD ขยับขึ้นมาเกือบ 120% ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ให้เหตุผลการทะยานขึ้นว่าเป็นเพราะ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อัลกอริทึมจาก Proof-of-Work (PoW) เป็น Proof-of-Stake (PoS) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ นายไมค์ โนโวกราตซ์ ประธาน Galaxy Digital เชื่อว่า ราคาอีธีเรียมอาจขยับถึง $2,200 ก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ นายวิตาลิก บูเทอริน ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ยังมองว่าสถานการณ์ที่ดีที่สุดยังมาไม่ถึง “ทันทีที่เกิดการบูรณาการกัน ผมคาดว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะดีขึ้น” เขากล่าว “ผมมองว่า ผลกระทบหลักต่อราคา ETH จะเกิดขึ้นหลังกระบวนการบูรณาการเสร็จสมบูรณ์”

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)