สิงหาคม 20, 2022

EUR/USD: กลับสู่ระดับคู่ขนาน 1:1

  • EUR/USD ขยับอยู่ในช่วงไซด์เวยส์ในกรอบ 1.0100-1.0270 เป็นเวลานานกว่าสามสัปดาห์ ความพยายามทุกครั้งที่จะตัดทะลุกรอบด้านบนหรือกรอบด้านล่างต่างล้มเหลว ราคาขยับในแนวโน้มดังกล่าวต่อจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม หลังจากการประกาศสถิติเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ราคาคู่นี้ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วถึงระดับ 1.0270 จนเปลี่ยนแนวต้านเป็นแนวรับ อย่างไรก็ตาม ฝั่งกระทิงฉลองชัยชนะอยู่ได้ไม่นาน สองวันถัดมาราคาก็ได้กลับสู่กรอบราคาเดิม และตัดทะลุลงด้านล่างเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม และปิดตลาดที่ 1.0039

    แล้วก็เป็นไปอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ ดอลลาร์และยูโรขยับถึงระดับคู่ขนานที่ 1.0000 อีกครั้ง โดยมีเหตุผลสองประการที่อธิบายการกลับตัวของคู่นี้ลงทิศใต้ ประการแรก คือ ความต้องการความเสี่ยงในตลาดที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อและวิกฤติพลังงานรุนแรงขึ้นในยุโรป ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายปีขยับขึ้นจาก 8.6% เป็น 8.9% ในเดือนกรกฎาคม ขณะนี้ยังไม่มีทางออกเรื่องวิกฤติพลังงานที่เกิดจากการคว่ำบาตรรัสเซียเนื่องจากการบุกรุกประเทศยูเครน เศรษฐกิจจีนก็ดูไม่สดใสเช่นกัน ดัชนีปริมาณการผลิตเชิงอุตสาหกรรม (ปีต่อปี) ลดลงจาก 3.9% เหลือ 3.8% ในหนึ่งเดือน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 4.6% เป็นอย่างมาก ปริมาณค้าปลีกลดลงจาก 3.1% เหลือ 2.7% เช่นกัน (จากการคาดการณ์ที่ 5.0%) ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินหยวนลงจาก 3.7% เหลือเพียง 2.75%

    สาเหตุประการที่สองมาจากสถิติเศรษฐกิจมหภาคในเชิงบวกจากสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ เป็นที่ทราบกันดีว่า “วาฬ” หลักที่เป็นตัวกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดคือสถานการณ์ในตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อ อัตราว่างงานในสหรัฐฯ ปักหลักที่ 3.6% ตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ดีมาก และลดลงในเดือนกรกฎาคมที่ 3.5% ด้านดัชนีที่สำคัญอย่าง NFP หรือจำนวนตำแหน่งงานนอกภาคการเกษตร ซึ่งคาดการณ์อยู่ที่ 250K ตัวเลขจริงขยับถึง 528K ถึงแม้ว่าตัวเลขเดือนก่อนหน้าจะอยู่ที่ 372K ในส่วนของเงินเฟ้อ สถิติดูค่อนข้างดีเช่นกัน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งมีการคาดการณ์ที่ 0.2% ในเดือนกรกฎาคม ปรากฏว่าอยู่ที่ระดับ 0.0% (1.3% ในเดือนก่อนหน้า) ในส่วนของตัวเลขรายปีลดลงจาก 9.1% เหลือ 8.5% (ตัวเลขคาดการณ์คือ 8.7%) สำหรับดัชนี CPI พื้นฐานขยับขึ้นมาเพียง 0.3% ในเดือนกรกฎาคม (จาก 0.7% เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้า)

    ตัวเลขทั้งหลายเหล่านี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารเฟดพยายามจะทำสงครามด้วยนั้น กำลังขยับลดลง แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ชัยชนะสุดท้าย แต่ความสำเร็จของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็มีความชัดเจน ดังนั้น ธนาคารฯ อาจผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลงบ้าง และเหตุผลนี้เองจึงส่งผลกระทบต่อดอลลาร์ และบีบคู่  EUR/USD ให้ขยับขึ้นไปที่ 1.0368 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม อย่างไรก็ดี ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดได้ทำให้ทุกคนมั่นใจว่า ธนาคารฯ ยังคงนโยบายสายเหยี่ยว และตลาดก็ได้ข้อสรุปในทำนองเดียวกันจากผลการประชุมเดือนกรกฎาคมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) ซึ่งประกาศเมื่อวันพุธที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา

    มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% เป็น 4.0% ภายในสิ้นปี 2022 - ต้นปี 2023 และอาจขึ้นถึง 5.0% หลังจากนั้นจะคงดอกเบี้ยไว้เพื่อกดอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงมายังระดับเป้าหมายที่ 2% ซึ่งหมายความว่า ดอลลาร์จะต้องแข็งค่าเป็นเวลานาน การคาดการณ์นี้ช่วยดันดัชนี USD DXY ให้ขยับขึ้นอีกครั้ง ตามมาด้วยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ของประเทศพัฒนาแล้วที่เริ่มปรับสูงขึ้น และดัชนีหุ้น (S&P500, Dow Jones และ Nasdaq) คริปโตเคอเรนซี และสินทรัพย์ความเสี่ยงอื่น ๆ ก็ขยับลงทิศใต้ โดยนักลงทุนเริ่มขจัดสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ เพราะเชื่อในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและแนวโน้มดังกล่าวของดอลลาร์ ส่งผลให้ XAU/USD ขยับลดลงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

    สำหรับอนาคตของคู่ EUR/USD ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันที่ 19 สิงหาคม มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 15% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับแนวโน้มขาขึ้น ส่วน 25% ชี้ว่าราคาจะขยับลดลง ในขณะที่ 60% ที่เหลือไม่ให้ความเห็นใด ๆ ในส่วนของอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้สัญญาณที่ชัดเจนกว่ามาก ในที่นี้ 100% เห็นด้วยกับตลาดหมีทั้งอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งในสามที่ให้สัญญาณว่าราคามีแรงขายมากเกินไปแล้ว (oversold)

    นอกจากแนวรับที่ 1.0030 เป้าหมายถัดไปของคู่ EUR/USD แน่นอนว่าเป็นระดับ 1.000 หลังจากราคาตัดทะลุระดับดังกล่าว ตลาดหมีจะพุ่งเป้าไปที่ราคาต่ำสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 0.9950 และที่ต่ำกว่านั้นจะเป็นโซนแนวรับ/แนวต้านที่สำคัญของปี 2002 ที่ 0.9900-0.9930 ในส่วนเป้าหมายถัดไปของฝั่งกระทิง คือ การกลับไปยังโซน 1.0070-1.0100 จากนั้นเป็นแนวต้านและแนวรับที่ 1.0120, 1.0150-1.0180, 1.0200 และตามมาด้วย 1.0250-1.0270 สำหรับเป้าหมายระยะไกลอยู่ในโซน 1.0400-1.0450, 1.0520-1.0600 และ 1.0650-1.0750

    สำหรับกิจกรรมที่จะมาถึง ได้แก่ การประกาศดัชนี PMI ภาคการผลิตของเยอรมนีและยูโรโซนในวันอังคารที่ 23 สิงหาคม ในวันถัดมาจะมีการประกาศดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าทุนและสินค้าคงทนในสหรัฐฯ ส่วนในวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม จะมีการประกาศสถิติหลายชุดด้วยกัน ชุดแรกจะเป็นการประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ของเยอรมนี จากนั้นจะเป็นการประกาศผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรปว่าด้วยนโยบายทางการเงิน และสุดท้ายจะเป็นกิจกรรมสำคัญจากสหรัฐฯ ที่อาจส่งอิทธิพลสำคัญต่อดอลลาร์ ได้แก่ การประกาศสถิติ GDP ไตรมาสที่ 2 และอัตราว่างงานในวันที่ 25 สิงหาคม และดัชนีรายจ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็น “ตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อโปรดของธนาคารเฟดสหรัฐฯ) ซึ่งจะประกาศในวันที่ 26 สิงหาคม การประกาศสถิติเหล่านี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันกับงานประชุมด้านเศรษฐกิจประจำปีที่เมืองแจ็คสัน โฮล ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม ซึ่งทางการสหรัฐฯ จะพูดคุยในประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ และแน่นอนว่าดัชนีเหล่านี้จะส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขา

GBP/USD: การคาดการณ์ที่มืดมนของเงินปอนด์ยังคงเป็นจริง

  • GBP/USD ดิ่งลงหลังจากผู้บริหารธนาคารเฟดชี้ว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างฉับพลันต่อไป ซึ่งยังเป็นที่พูดถึงโดยผู้บริหารธนาคารเฟดหลายรายด้วยกัน ได้แก่ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ และนางแมรี ดาเลย์ ประธานฯ สาขาซานฟรานซิสโก นักลงทุนสามารถตั้งข้อสรุปจากทัศนคติสายเหยี่ยวได้ว่า อัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์มีแนวโน้มจะถูกปรับขึ้น 75 จุดพื้นฐาน (bp) ในเดือนกันยายนเป็นครั้งที่สามติดต่อกัน ในขณะเดียวกัน นางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานธนาคารเฟดสาขาแคนซัสซิตี กล่าวว่า ธนาคารฯ จะตรึงนโยบายทางการเงินต่อไปจนกว่าจะมั่นใจโดยสมบูรณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงจริง

    คำแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารเฟดเหล่านี้ส่งผลให้ GBP/USD ดิ่งลง 344 จุด ในเวลาห้าวันจากระดับ 1.2135 ลงมาที่ 1.11791 และปิดท้ายสัปดาห์สูงขึ้นเล็กน้อยที่ 1.1830 เงินปอนด์ไม่ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขค้าปลีกที่เติบโตอย่างเหนือความคาดหมายในสหราชอาณาจักรในเดือนกรกฎาคมถึง 0.3% ผู้บริโภคในอังกฤษใช้จ่ายเงินมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องด้วยโปรโมชันลดราคาออนไลน์ ในส่วนสถิติเศรษฐกิจที่เหลือออกมากำกวม อัตราค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 5.1% จากที่คาดการณ์คือ 4.5% และจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงจาก 28.8K เหลือ 10.5K ในเวลาหนึ่งเดือน อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดีอยู่บ้างในตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 9.8% และขยับถึง 10.1% (จาก 9.4% เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้า) การคาดการณ์จากธนาคารแห่งชาติอังกฤษชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศอาจเริ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 และอาจกินเวลามากกว่าหนึ่งปี

    GBP/USD ขยับลงสู่ระดับต่ำสุดในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา และนักวิเคราะห์ 30% มองว่า ราคาอาจขยับลดลงต่อ การปรับฐานสู่ทิศเหนือก็เป็นมุมมองของนักวิเคราะห์ 30% ส่วนผู้เชี่ยวชาญจำนวนที่เหลือ 40% มีความเห็นเป็นกลาง ด้านการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพเดียวกันกับคู่ EUR/USD: ซึ่ง 100% ให้สัญญาณสีแดง ในขณะที่ออสซิลเลเตอร์ 30% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold โดยมีแนวรับถัดไปที่ 1.1800 ตามมาด้วยราคาต่ำสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 1.1759 ตามด้วย 1.1650, 1.1535 และราคาต่ำสุดเดือนมีนาคม 2020 ในโซน 1.1400-1.1450 ในส่วนของฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านในโซนและระดับที่ 1.1875-1.1925, 1.2000, 1.2050-1.2075, 1.2160-1.2200, 1.2275-1.2325 และ 1.2400-1.2430

    สำหรับสถิติเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร จะมีการประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจในหลายภาคเศรษฐกิจของประเทศในวันอังคารที่ 23 สิงหาคมนี้ โดยเราจะได้ทราบดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิต ภาคบริการ รวมถึงดัชนีประกอบ (PMI) ซึ่งสะท้อนถึงระดับกิจกรรมของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในทั้งสองภาคเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

USD/JPY: GDP ของญี่ปุ่นเติบโต เงินเยนอ่อนค่า

  • การเติบโตของดัชนี DXY ซึ่งแสดงถึงอัตราส่วนของดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศหลักอีก 6 สกุลเงิน รวมถึงการเติบโตของผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นส่งผลต่อคู่ USD/JPY อย่างเห็นได้ชัด ราคาคู่นี้เริ่มต้นที่ 133.45 ได้ขยับขึ้นไปที่ 137.22 ในช่วงตลอดสัปดาห์ และปิดตลาดที่ 136.81

    สถิติซึ่งประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม ทำให้แนวโน้มที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะถอนสภาพคล่องออกจากระบบยิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกหดตัวลง 0.1% ในไตรมาสที่ 1 และเติบโตอย่างมั่นคงที่ 0.5% ในไตรมาสที่ 2 (น้อยกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อยที่ 0.6%) ในส่วนตัวเลขรายปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตจริง 2.2% จากที่คาดการณ์คือ +2.5% (โดยมีการหดตัว -0.5% ในไตรมาสก่อนหน้า)

    GDP นั้นเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของกิจกรรมในตลาด ซึ่งประเมินอัตราการเติบโตและหดตัวของเศรษฐกิจประเทศ โดยทั่วไป การเติบโตจะเป็นปัจจัยแนวโน้มเชิงบวกต่อค่าเงินประเทศ แต่ไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบัน เพราะความน่าดึงดูดของค่าเงินนั้นมีตัวกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ย และในสถานการณ์นี้ ดอกเบี้ยของเงินเยนยังตามหลังดอลลาร์อยู่มาก

    นักเศรษฐศาสตร์จาก Nordea เครือการเงินระหว่างประเทศชี้ว่า “ความต่อเนื่องของนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด รวมถึงธนาคารกลางกลุ่มประเทศ G10 ส่วนใหญ่ จะยังคงเป็นแรงกดดันต่อเงินเยนญี่ปุ่น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่น ซึ่งเราไม่คาดว่าจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นประตูเปิดทางไปสู่เงินเยนต่อดอลลาร์ที่ 140 อีกครั้ง” ในขณะเดียวกัน นักยุทธศาสตร์จากธนาคาร Westpac ของออสเตรเลียระบุว่า ราคาคู่นี้อาจขยับลงมาที่ 123.00 ในระยะยาวกว่าคือ ภายในปี 2023

    หากเราขยับมาเป็นการคาดการณ์ในระยะสั้น เราจะได้ภาพรวมดังนี้: นักวิเคราะห์ 20% คาดการณ์ว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้น 35% หวังว่าเงินเยนจะแข็งค่าและกลับสู่แนวโน้มขาลง ด้าน 45% ที่เหลือพูดถึงแนวโน้มด้านข้าง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 ชี้ไปทางทิศเหนือ 100% ด้านออสซิลเลเตอร์ 90% ยังคงหันไปทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ 25% อยู่ในโซน overbought ในส่วนของ 10% ที่เหลือชี้ไปทางแนวโน้มด้านข้าง ระดับแนวรับของคู่นี้อยู่ที่ระดับและในโซนคือ 135.55-136.00, 134.00-134.25, 132.85-133.00, 131.75-132.00, 131.00 ส่วนแนวต้าน ได้แก่ 137.45, 137.90-138.40, 138.50-139.00 และสุดท้ายคือราคาสูงสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 139.38 ส่วนเป้าหมายถัดไปของฝั่งกระทิงคือ 140.00 และ 142.00

    ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติที่สำคัญใด ๆ จากฝั่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้

คริปโตเคอเรนซี: รถสปอร์ต Bugatti ที่ราคา 1 BTC: ความฝันหรือความจริง?

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่  22 - 26 สิงหาคม 20221

  • ในบรรดาคำถามต่าง ๆ ในแวดวงคริปโต สองคำถามหลักอาจเป็นคำถามว่า 1) ซาโตชิ นากะโมโตะ คือใครกัน? และ 2) บิทคอยน์ควรมีราคาเท่าไร? คำถามแรกจะตอบโดย White Paper Films ซึ่งได้ประกาศเริ่มทำภาพยนตร์สารคดีที่อุทิศเรื่องการหายตัวไปอย่างลึกลับของผู้สร้างบิทคอยน์ (คุณสามารถหาอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ได้ที่เว็บไซต์โบรกเกอร์ NordFX) ในส่วนของคำถามข้อที่สอง เราจะมาดูคำตอบกันในบทวิเคราะห์ประจำสัปดาห์นี้

    ประการแรก เรามีข่าวดีสำหรับผู้ที่รอให้บิทคอยน์พุ่งทะยานขึ้น งานวิจัยใหม่จาก Glassnode ชี้ว่า แม้ว่าตลาดคริปโตจะอยู่ในช่วงขาลง การใช้เครือข่ายบิทคอยน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนที่อยู่ที่ไม่ซ้ำกันนั้นเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดกว่า 1 พันล้านที่อยู่ (เทียบกันกับ Ethereum ซึ่งมีจำนวน 158 ล้านที่อยู่ และยังคงห่างไกลจากตัวเลขนี้)

    ข่าวดีข้อที่ 2 จาก Arcane Research นักขุดเหรียญได้ขาย 6,500 BTC ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งน้อยกว่าในเดือนมิถุนายนที่ขายเหรียญไป 14,600 ถึง 60% แนวโน้มขาลงของตลาดคริปโตได้สร้างปัญหาที่รุนแรงมากมายต่อบริษัทขุดเหรียญมหาชน ซึ่งเพิ่มสมรรถภาพในการผลิตด้วยเงินสินเชื่อ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติ พวกเขาจึงถูกบังคับให้ต้องขายเหรียญที่ขุดได้ในราคาถูก เพื่อชำระหนี้ที่มีพันธะ บริษัทบางแห่งก็มีกำไรเพียงพอและอยู่รอดได้ ในขณะที่บางแห่งต้องตกอยู่ในภาวะล้มละลายในที่สุด

    สถิติเดือนกรกฎาคมให้ความหวังว่า อุตสาหกรรมคริปโตกำลังฟื้นตัว แรงกดดันของนักขุดเหรียญเริ่มผ่อนคลายลง พวกเขายังคงถือเหรียญด้วยความหวังที่ว่าราคาจะขยับขึ้น อย่างไรก็ตาม Arcane Research ยังชี้ว่าเหรียญบิทคอยน์ 6,500 เหรียญยังคงมีค่ามากกว่าในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นักขุดเหรียญช็อคตลาดด้วยการขายเหรียญมากกว่าจำนวนที่พวกเขาขุดได้

    ข่าวดีข้อที่ 3 จำนวนอินดิเคเตอร์เชิงเทคนิคให้สัญญาณว่า มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นที่บิทคอยน์จะกลับตัวสู่แนวโน้มการเติบโตที่ยั่งยืน ตัวชี้วัด Spent Output Profit Ratio (SOPR) ทำระดับต่ำสุดในวันที่ 18 มิถุนายน 2022 ซึ่งดัชนีนี้เคยมีค่าต่ำกว่านี้ในเดือนธันวาคมปี 2018 และเดือนมีนาคม 2020 เท่านั้น ด้านอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่เรียกว่า RHODL บ่งชี้ถึงการปกคลุมของนักลงทุนระยะยาวที่มากกว่านักลงทุนระยะสั้นเป็นอย่างมาก ซึ่งหมายความว่า ผู้ถือเหรียญไม่ได้วางแผนที่จะขายเหรียญ และเชื่อว่าเหรียญจะมีการเติบโตในอนาคต

    ข่าวดีในสัปดาห์นี้ของเราก็จบเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ ราคาบิทคอยน์ได้ขยับลงมาที่ $17,597 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ซึ่งตรงกันกับระดับราคาในเดือนธันวาคม 2020 และลงต่ำกว่าระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ $68,918 ถึง 75% หากเราวัดตั้งแต่ต้นปี 2022 ราคาบิทคอยน์เริ่มต้นปีที่ $47,572 เมื่อวันที่ 1 มกราคม และลดลงมา 63% ในวันที่ 18 มิถุนายน อย่างไรก็ตาม กราฟแสดงให้เห็นว่า แรงต้านของฝั่งตลาดหมีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเหนือระดับ $24,000 และแรงขาขึ้นก็เริ่มอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ราคาสูงสุดในรอบสัปดาห์จึงอยู่ที่ $24,264 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม, $24,435 วันที่ 29 กรกฎาคม, $24,891 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม, และสุดท้ายคือ  $25,195 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม กล่าวคือ แนวโน้มขาขึ้นดูจะดำเนินต่อไป แต่ราคาสูงสุดที่ขยับขึ้นนั้นต่ำกว่า 4% ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา และสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ทำให้นักลงทุนต่างต้องผิดหวังโดยทั่วกัน 

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม มูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.028 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.155 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับลดลง 9 จุดในช่วงเจ็ดวันตั้งแต่ 42 เหลือ 33 จุด และเข้าใกล้กับโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) โดย BTC/USD ได้ขยับลดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งและซื้อขายอยู่ที่ $21.095 ทั้งนี้

    มีสาเหตุหลายประการที่ราคาขยับลดลง ประการแรกคือ ความตั้งใจของธนาคารเฟดที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากผลการประชุมครั้งล่าสุุด ประการที่สองคือแรงกดดันจากกระแสตลาด stablecoin อันดับแรก กระแส aUSD ถูกบั่นทอน และ HUSD ซึ่งเป็นเหรียญจากตลาดคริปโต Huobi หลุดจากการผูกกับดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถ้าเรายังพูดถึงการล้มละลายของหลายกองทุนคริปโตเคอเรนซีด้วยแล้ว ทัศนคติในเชิงลบถือว่ามีความชัดเจนมากในตลาดในขณะนี้

    นิโคลาส แมร์เทน นักวิเคราะห์ชื่อดังและผู้ก่อตั้ง DataDash เน้นย้ำว่า บิทคอยน์และอีธีเรียมกำลังแสดงสัญญาณความอ่อนแอ แม้ว่าราคาจะขยับขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ล่าสุด แมร์เทนมองว่า การที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวก่อนตลาดคริปโตชี้ให้เห็นว่า ตลาดคริปโตมีกำลังเหลือไม่มากพอที่จะขึ้นต่อ หากคริปโตเคอเรนซีมีแรงขายมากกว่าหุ้นในช่วงเทรนด์ขาลง ตลาดคริปโตก็ควรจะฟื้นตัวเร็วกว่า แต่การฟื้นตัวดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในขณะนี้

    Capa อีกหนึ่งนักยุทธศาสตร์คริปโตเชื่อว่า “มีโอกาสที่เราจะได้เห็นความพยายามของบิทคอยน์อีกครั้งหนึ่งที่จะจู่โจมช่วงราคา $25,400-$25,500” อย่างไรก็ตาม เพื่อนร่วมงานของเขาที่ Norhstar & Badcharts มองว่า มีความเป็นไปได้ที่บิทคอยน์จะเริ่มขยับลดลงอย่างรวดเร็วมาที่ $10,000-$12,000 โดยพวกเขาอธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์กับ Kitco News ดังนี้ “จากที่เห็นในกราฟ ราคาบิทคอยน์ทำรูปแบบ Cup แบบกลับหัว… ทั้งนี้ มีวิธีการวิเคราะห์เชิงเทคนิคหลายวิธีที่เพิ่มความน่าจะเป็นได้ 70-80% ว่าราคาบิทคอยน์จะทำราคาต่ำสุดใหม่ที่ช่วง $10,000 -$12,000 และมีโอกาส 20-30% ที่ราคาจะขยับขึ้น” ในกรณีที่ราคาบิทคอยน์ขยับขึ้น พวกเขามองว่า นี่คือระดับสูงสุดที่มูลค่า BTC อาจขยับขึ้นถึงก่อนที่มันจะเริ่มลดลง “เราน่าจะอยู่ที่ระดับสูงสุดในกรอบหรือใกล้มาก ๆ แล้ว” Norhstar & Badcharts กล่าว

    เป็นเรื่องปกติที่อินฟลูเอนเซอร์ผู้ลงทุนอย่างหนักในบิทคอยน์นั้นพยายามที่จะโต้กลับกระแสเชิงลบ พวกเขายังคงโน้มน้าวทุกคนและทุกหนแห่งว่า บิทคอยน์มีแนวโน้มที่ดีเยี่ยม เช่น แอนโธนี สการามัชชี อดีตผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของทำเนียบขาว และปัจจุบันเป็นประธานบริษัทด้านการลงทุน SkyBridge Capital ได้เอ่ยในบทสัมภาษณ์กับ CNBC ถึงจำนวนที่จำกัดของบิทคอยน์ที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งจะนำไปสู่ “อุปสงค์ที่ช็อคและอุปทานที่ต่ำ” เขาเชื่อว่าบิทคอยน์อาจเติบโตอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนภายใน 6 ปี “หากเราทำนายถูกต้อง บิทคอยน์จะไปถึง $300,000 มันจะไม่สำคัญเลยหากคุณซื้อมันที่ราคา $20,000 หรือ $60,000 อนาคตเป็นของเรา และมันจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคิด” เขากล่าว

    ความเห็นที่พ้องกันนี้ยังแสดงโดย ไมเคิล เซย์เลอร์ อดีตประธาน MicroStrategy ซึ่งบริษัทได้ซื้อบิทคอยน์ 129,698 BTC ภายใต้การบริหารของเขา แม้ว่าในขณะนี้ธุรกรรมเหล่านี้จะติดลบอย่างหนัก ไมเคิล เซย์เลอร์ เชื่อมั่นว่า การซื้อบิทคอยน์เป็นสินทรัพย์สำรองนั้นถูกต้องแล้ว และสินทรัพย์นี้จะพิสูจน์ว่ามีความน่าเชื่อถือในอนาคต “เราอยู่ในเรือช่วยชีวิตของบิทคอยน์ โดยมีความเข้าใจว่าเราจะถูกพัดหายไปในมหาสมุทร แต่เราจะไม่จมน้ำ และเราจะรู้สึกซาบซึ้งต่อก้าวนี้ในอนาคต” เขามองว่าความผันผวนของคริปโตเคอเรนซีจะส่งผลต่อนักลงทุนระยะสั้นและบริษัทมหาชนเท่านั้น ดังนั้น บิทคอยน์ไม่ใช่สำหรับทุกคน “การลงทุนควรจะมีเวลาอย่างน้อยสี่ปี ทางที่ดีที่สุดนี่คือการโอนความมั่งคั่งจากคนยุคหนึ่งไปยังอีกยุคหนึ่ง หลักเกณฑ์ที่ยืนยันสิ่งนี้คือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะสี่ปี” เขาอธิบาย.

    และในช่วงท้ายบทวิเคราะห์ฉบับนี้ เราจะมาพูดถึงกูรูสุดโต่งบิทคอยน์อีกรายหนึ่ง “ผมยังคงหวังว่าจะซื้อ Bugatti เป็นเงิน 1 BTC กล่าวโดย เจสซี พาวเวลล์ ซีอีโอตลาดคริปโต Kraken เนื่องจากราคารถสปอร์ต Bugatti อาจมีราคาสูงกว่า $5 ล้านดอลลาร์ ความฝันนี้จะเป็นจริงได้ไม่ยาก “แค่” ต้องรอให้ราคาบิทคอยน์เพิ่มขึ้น 250 เท่าเท่านั้น

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)