กันยายน 24, 2022

EUR/USD: หาจุดราคาต่ำสุดใหม่

  • ในสัปดาห์ที่แล้ว ความสนใจของตลาดอยู่ที่การประชุมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการกำกับนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 จุดพื้นฐาน (bp) อยู่ที่ 74% และขึ้นดอกเบี้ย 100 จุดที่ 26% การคาดการณ์แรกปรากฏว่าถูกต้อง อัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นจาก 2.5% เป็น 3.25% แต่เท่านี้ก็เพียงพอให้ดัชนีดอลลาร์ DXY ทะยานขึ้นและขยับขึ้นสูงกว่า 113.00 ได้ จนเกิดเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (75%) หลายคนมองว่า EUR/USD ได้ทำระดับต่ำสุดใหม่ในรอบ 20 ปีอีกครั้ง โดยลงมาที่ 0.9667

    ประธานาธิบดี วลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซียเป็นสาเหตุของการอ่อนค่าของยูโรและทำให้ราคาคู่นี้ขยับลง หลังจากที่มีการประกาศเคลื่อนกำลังเสริมไปสมทบกองทัพรัสเซียที่รุกรานประเทศยูเครน ประธานาธิบดีปูตินยังกล่าวคำขู่หลายครั้งว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งยิ่งเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค นอกจากนี้ ฤดูกาลที่ต้องใช้ก๊าซทำความร้อนก็เริ่มขึ้นในยุโรป และรัสเซียยังคงกดดันต่อเนื่องโดยใช้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนเชื้อเพลิงเป็น “อาวุธ”

    ในที่ประชุมครั้งล่าสุด ธนาคารเฟดได้ให้สัญญาณสายเหยี่ยวที่ชัดเจนเกี่ยวกับท่าทีถัดไป โดยธนาคารฯ จะเดินหน้าใช้นโยบายถอนสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) ต่อ รวมถึงลดงบดุลการชำระเงิน และอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงในปี 2023 ในส่วนปี 2022 นี้ CME Group ประมาณการว่ามีความเป็นไปได้ถึง 60% ที่อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นสูงกว่า 4.00% ภายในสิ้นไตรมาสที่ 4

    ผู้บริหารธนาคารเฟดสหรัฐฯ กล่าวว่าการเอาชนะเงินเฟ้อเป็นวาระสำคัญหลักในเวลานี้ ซึ่งธนาคารกลางพร้อมที่จะยอมรับภัยภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงการลดปริมาณการผลิตและการบริโภค รวมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน

    นักลงทุนกำลังรู้สึกถึงความเสี่ยงของเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์หลบภัย ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ติดลบมาสองสัปดาห์ติดต่อกัน ดัชนี  S&P500 ขยับลงต่ำกว่าระดับต่ำสุดของเดือนกรกฎาคม และ Dow Jones ก็ขยับถึงระดับต่ำสุดของเดือนมิถุนายน

    ราคา EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 0.9693 และ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 23 กันยายน มีคะแนนเสียงของผู้เชี่ยวชาญดังนี้ 55% กล่าวว่าคู่นี้จะขยับลงทิศใต้ต่อไปในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่ 45% คาดการณ์ว่าราคาจะปรับฐานไปยังทิศเหนือ ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 มี 100% ที่ให้สัญญาณสีแดง ทางด้านออสซิลเลเตอร์ก็เช่นเดียวกัน แต่มี 25% ในส่วนนี้ที่บ่งชี้ว่ามีแรงขายมากเกินไป (oversold)

    แนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้คือราคาต่ำสุดวันที่ 23 กันยายนที่ 0.9667 โดยฝั่งหมีจะตั้งเป้าหมายไว้ที่ 0.9500 ด้านแนวรับและเป้ามหายของกระทิง ได้แก่: 0.9700-0.9735, 0.9800-0.9825, 0.9900 โดยภารกิจแรกคือการกลับมายังกรอบที่ 0.9950-1.0020 และจะมีเป้าหมายถัดไปคือบริเวณ 1.0130-1.0200

    ในสัปดาห์นี้ล้วนเต็มไปด้วยสถิติที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มต้นสัปดาห์โดยสถิติ GDP (Q3) และดัชนี IFO บรรยากาศทางธุรกิจในเยอรมนี ซึ่งจะประกาศในวันจันทร์ที่ 26 กันยายน ในวันถัดมาจะมีการประกาศสถิติจากตลาดผู้บริโภคของสหรัฐฯ และ GDP สหรัฐฯ (Q2) จะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน ด้านสถิติการขายและสถิติตลาดแรงงานในเยอรมนี รวมถึงดัชนีตลาดผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนและสหรัฐฯ จะรายงานในวันสุดท้ายของสัปดาห์และของเดือน วันที่ 30 กันยายน นอกจากนี้ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปจะกล่าวถ้อยแถลงในสัปดาห์นี้เช่นกันคือวันที่ 26 กันยายน และนายเจอโรม พาวเวลล์ จะกล่าวแถลงในวันที่ 27 กันยายน

GBP/USD: กลับไปยังอดีต: กลับสู่ปี 1985

  • ธนาคารแห่งชาติอังกฤษได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินปอนด์ 50 จุดพื้นฐานเป็น 2.25% หนึ่งวันถัดจากการประชุมของธนาคารเฟดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา แต่ก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้คือ ข่าวนี้ไม่ช่วยเงินปอนด์เท่าไรนัก หรือพูดได้ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่มีอะไรที่เป็นผลดีต่อเงินปอนด์ ในช่วงเวลาแค่ 10 วันตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 23 กันยายน GBP/USD ขยับลงประมาณ 900 จุด ซึ่งราคาตกลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ลงมาที่ 1.0838 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับปี 1985

    สถิติทางเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังจากอังกฤษยังคงส่งแรงกดดันอย่างหนักต่อเงินปอนด์ ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง ดัชนี PMI รวมเบื้องต้น การคาดการณ์เดิมคือ 49.0 แต่ตัวเลขจริงร่วงลงจาก 49.6 เหลือ 48.4 ในรอบหนึ่งเดือน อีกทั้งผลสำรวจโดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร (CBI) ซึ่งเป็นตัวแทนของธุรกิจกว่า 190,000 แห่งชี้ว่า ยอดดัชนีค้าปลีกลดลง -20 ในเดือนกันยายนจาก +37 เมื่อเดือนสิงหาคม

    ในส่วนการคาดการณ์ของธนาคารแห่งชาติอังกฤษเองนั้น ประเทศกำลังเข้าใกล้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง และการคาดการณ์ของหอการค้าอังกฤษ (BCC) ชี้ให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นกำลังเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ และอัตราเงินเฟ้อจะขยับถึง 14% ภายในสิ้นปีนี้ ในส่วนของปีนี้ก็ดูไม่ค่อยสดใสเช่นกัน นักยุทธศาสตร์จาก Goldman Sachs ระบุว่า เงินเฟ้ออาจขึ้นถึง 22% ภายในสิ้นปี 2023

    เพื่อเป็นการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางอังกฤษได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกันนโยบายลดสภาพคล่องก็บังคับใช้พร้อมกันกับการเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณ อีกทั้ง รัฐบาลน่าจะมีงบไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้กับธุรกิจและครัวเรือนตามแผนการชดเชยเงินค่าไฟที่สูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจะต้องอาศัยเงินกู้จำนวนมหาศาล ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อค่าเงินประเทศเช่นกัน (เราได้เคยรายงานแล้วว่า หน่วยงาน Ofgem ด้านพลังงานของอังกฤษประกาศว่า ค่าไฟรายปีโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 80% ตั้งแต่เดือนตุลาคม และหลายครัวเรือนกำลังเผชิญกับภาวะยากจนทางพลังงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อคนกว่า 12 ล้านคนในเดือนมกราคมนี้)

    ราคาคู่นี้ปิดท้ายสัปดาห์ที่ .10867 แต่กรอบที่ 1.0800-1.0838 ไม่น่าจะกลายเป็นแนวรับที่แข็งแกร่งเพียงพอ หลังจากทะลุระดับดังกล่าว ฝั่งตลาดหมีจะเร่งขยับไปที่ราคาต่ำสุดในประวัติศาสตร์เมื่อปี 1985 ที่ 1.0520 ซึ่งอยู่ห่างไปแค่ 300 จุดเท่านั้น หากดูที่อัตราการเคลื่อนไหวของคู่นี้แล้ว ราคาอาจไปถึงระดับดังกล่าวได้ในช่วงหนึ่งหรือสองสัปดาห์ แน่นอนว่าเราไม่ตัดโอกาสที่เงินปอนด์จะเจอกับแรงขายมากเกินไป ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นทิศเหนือ ก็จะต้องเจอกับแนวต้านในโซนและระดับคือ 1.1000-1.1020, 1.1100, 1.1215, 1.1350, 1.1475, 1.1535, 1.1600, 1.1650, 1.1710-1.1740 แต่มีโอกาสน้อยที่ราคาจะกลับขึ้นไปถึง 1.1800-1.2000 ในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้านี้

    สำหรับคำคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในช่วงสัปดาห์ถัด ๆ ไปดูค่อนข้างมีความพิเศษ: โดยทุกคนอยู่ฝั่งเงินปอนด์ 100% ในส่วนของอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 มี 100% ที่ชี้ไปยังทิศทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง แต่ออสซิลเลเตอร์ 50% อยู่ในโซนที่ oversold ซึ่งยืนยันความคาดหวังของผู้เชี่ยวชาญว่าราคาน่าจะปรับฐานขึ้นไปทางทิศเหนือก่อน

    ปฏิทินกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การประกาศสถิติ GDP (Q2) ของสหราชอาณาจักรในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน

USD/JPY: ปาฏิหารย์จากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 26 - 30 กันยายน 20221

  • อย่างที่เราได้ทำนายไว้ ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงยึดแนวทางของตนเองในที่ประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา และคงอัตราดอกเบี้ยติดลบเหมือนเช่นเคยที่ -0.1% อย่างไรก็ดี เรายังต้องยอมรับข้อผิดพลาดของเราด้วย ซึ่งในครั้งที่แล้วเราเขียนไว้ว่า ทางการญี่ปุ่นไม่น่าจะให้ปาฏิหารย์ใด ๆ แต่ปาฏิหารย์กลับเกิดขึ้น เพราะ USD/JPY ขยับขึ้นไปที่ 146.00 ดูเหมือนกระทรวงการคลังจะมีความกังวลและได้สั่งให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นแทรกแซงเพื่อหนุนค่าเงินเยน

    ผลที่ตามมาก็คือ ราคาดิ่งลง 550 ปิป ซึ่งเป็นความผันผวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2020 หลังจากนั้นภาวะช็อคก็ผ่านไป และสถานการณ์นิ่งสงบลงเล็กน้อย แต่ราคาคู่นี้ได้กลับสู่ราคาที่เริ่มต้นสัปดาห์ และปิดที่ 143.30

    การที่ราคาดีดตัวกลับมายืนยันมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ว่า ความแข็งแกร่งของเงินเยนไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะยาวได้ และคู่ USD/JPY จะกลับขึ้นมาจู่โจมระดับ 146.00 อีกครั้ง “ในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปัจจัยพื้นฐานหรือมาตรการที่ตอบโต้เงินดอลลาร์ (ไม่น่าจะเกิดขึ้น) โอกาสการรีบาวด์ที่ยั้งตัวในเงินเยนญี่ปุ่นก็มีจำกัด” กล่าวโดยนักยุทธศาสตร์จาก Scotiabank “ประเด็นสำคัญแน่นอนว่าเป็นความไม่สอดคล้องกันในแนวทางนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เงินเยนดิ่งลงฮวบนับตั้งแต่ธนาคารเฟดสหรัฐฯ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิ”

    Scotiabank เชื่อว่า ตลาดมีแนวโน้มที่จะกลับมาทดสอบระดับ 146.00 อีกครั้งและธนาคารกลางญี่ปุ่นจะต้องใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องระดับดังกล่าว นอกจากนี้ อาจมีการขอร้องให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐฯ ช่วยหนุนอีกแรงในช่วงนอกเวลาทำการตลาดญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะพยายามต่อสู้กับเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างลำพัง

    ค่ากลางของการคาดการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญในอนาคตอันใกล้มีดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 45% โหวตในทิศทางตรงกันข้าม โดย 10% ที่เหลือยังคงเป็นกลาง ด้านออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 40% ที่ให้สัญญาณสีเขียว 10% สีแดง และ 50% ให้สีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มีอัตราส่วน 9 ต่อ 1 สีเขียวต่อสีแดง

    สำหรับแนวต้านที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้ยังคงเหมือนในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ 143.75 เป้าหมายของฝั่งกระทิงคือการขึ้นไปยืนให้เหนือระดับ 145.00 ให้ได้ หลังจากนั้นจะต้องขึ้นไปจู่โจมระดับ 146.00 ตามมาด้วย 146.78 ซึ่งเป็นระดับที่เคยขยับถึงก่อนที่สหรัฐฯ และเงินเยนจะมีมาตรการร่วมกันในการหนุนค่าเงินเยนในปี 1998 ส่วนแนวรับของคู่นี้อยู่ที่ระดับและโซน ได้แก่ 143.00, 142.60, 142.00-142.20, 140.60, 140.00, 138.35-139.05, 137.50, 135.60-136.00, 134.40, 132.80, 131.70.

    ในสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีการประกาศสถิติที่สำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่ก็มีสองเหตุการณ์ที่มีความน่าสนใจที่อาจมาแทรกแซงการตัดสินใจได้เช่นกัน คือ การแถลงข่าวของ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันจันทร์ที่ 26 กันยายน และรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันพุธที่ 28 กันยายน ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้จะช่วยให้ตลาดทำความเข้าใจว่า ธนาคารฯ มีความจริงจังแค่ไหนที่จะสนับสนุนค่าเงินประเทศ

คริปโตเคอเรนซี: อารมณ์ตลาดหมียังคงกดดัน

  • แล้วบิทคอยน์เป็นทองคำดิจิทัลใช่ไหม? แบบสำรวจจาก Paxos ซึ่งได้สอบถามผู้ซื้อทองคำขาประจำชี้ว่า ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนหนึ่งในสามมองว่า BTC เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดรองจากทองคำ แต่หากดูว่าสินทรัพย์สองตัวนี้มีความเคลื่อนไหวอย่างไรในช่วงล่าสุด ทางเลือกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทองคำเคยทำราคาสูงสุดไว้ที่ $2,070 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2022 หลังจากนั้นราคาก็ทะยานลง และเสียมูลค่า 20% ในส่วนของทองคำดิจิทัลหรือบิทคอยน์นั้นเคยทำราคาสูงสุดไว้ที่ $67,273 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 และขณะนี้ขาดทุนอยู่ที่ 71% หากเราเปรียบเทียบตัวเลขเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า XAU/USD ลดลง 0.10% ต่อวัน ในขณะที่ BTC/USD ลดลงมากกว่าสองเท่าที่ 0.22% ต่อวัน เราจะได้ข้อสรุปว่า เราจะโทษทองคำและบิทคอยน์สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ต้องโทษดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเติบโตตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งรอบจึงเป็นสาเหตุให้คริปโตดิ่งลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางด้านทองคำแม้ว่าราคาจะมีดีดตัวขึ้นบ้าง แต่ก็กลับมายังระดับเดิม ซึ่งทองคำแตกต่างจาก BTC ตรงที่มันเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ใช่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง และยังค่อย ๆ อ่อนค่าลงภายใต้แรงกดดันของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

    เมื่อพูดถึงโลหะมีค่า ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงมันในลักษณะที่หยาบคายเท่าไรนัก ถึงแม้ว่าราคาทองคำก็ดิ่งลงเช่นกัน แต่ถ้าเป็นคริปโตเคอเรนซี คนจะพูดกันต่างต่างนานา เช่น นาสซิม ทาเลบ นักปรัชญาและเจ้าของผลงาน “Black Swan” เรียกบิทคอยน์ว่าเป็น “เนื้อร้าย” ซึ่งปรากฏขึ้นเพราะนโยบายที่ผิดพลาดของธนาคารเฟด “ผมเชื่อว่า เรามีช่วงเวลาแบบดิสนีย์แลนด์ 15 ปี ซึ่งทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งหมด ธนาคารเฟดทำพลาดที่หั่นอัตราดอกเบี้ยลงมากเกินไป ดอกเบี้ยที่เป็นศูนย์ในระยะเวลานานบ่อนทำลายเศรษฐกิจ สร้างฟองสบู่ และสร้างเนื้อร้ายอย่างเช่น บิทคอยน์ ขึ้นมา” เขากล่าวและเรียกร้องให้มีการกลับสู่ “ชีวิตเศรษฐกิจแบบปกติ”

    วิลลี วู นักลงทุนและนักวิเคราะห์บิทคอยน์ชื่อดังเห็นด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังควบคุม “หัวเรือ” ในขณะนี้ ซึ่งเขาอยากให้ “ก้อนร้าย” ที่ว่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่มันโตขึ้นไม่ได้เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง เขามองว่า ในทางทฤษฎีแล้วนั้น เราสามารถขาย BTC อย่างไม่จำกัดได้ เนื่องด้วยสัญญาฟิวเจอร์ส แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีจำนวนเหรียญจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ “ตลาดฟิวเจอร์สสามารถควบคุมราคา BTC ได้ โดยตลาดหลักทรัพย์ CME ได้สร้างคาสิโนบิทคอยน์ขึ้นมารูปแบบหนึ่งที่คุณลงพนันด้วยเงินดอลลาร์ได้ และบรรดาเฮดจ์ฟันด์ของวอลล์สตรีทก็ชอบมันมาก ข้อจำกัดในการขายบิทคอยน์ในตอนนี้มีอะไรบ้าง? ไม่มีเลย เพราะเงินธรรมดามันไม่มีข้อจำกัด”

    วิลลี วู เชื่อว่า เนื่องด้วยโครงสร้างของตลาดฟิวเจอร์ส ผู้เล่นรายใหญ่สามารถกดราคา BTC ได้โดยเพิ่มแรงกดดันจากการขายสินทรัพย์ “บิทคอยน์จะต้องไม่ถูกฆ่าให้ตาย แค่ความสามารถในการชอร์ท BTC ก็เพียงพอที่จะกดอัตราแลกเปลี่ยนมันได้ บิทคอยน์จะไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมระดับโลก หากราคาไม่สูง ในขณะนี้ นโยบายของกลต. มุ่งเพิ่มสภาพคล่องและเพิ่มสัญญาฟิวเจอร์ส โดยการอนุมัติฟิวเจอร์สกองทุน ETFs ในขณะที่ปฏิเสธการเทรด ETFs ในตลาดสปอต และทุกอย่างนั้นกลายเป็นเกมทางการเมืองไปแล้วตอนนี้” เขากล่าวอย่างผิดหวัง

    นิโคลัส แมร์เทน นักวิเคราะห์และผู้ก่อตั้ง DataDash เชื่อว่า หลังจากราคาพยายามขึ้นเหนือ $19,000 อย่างไม่สำเร็จ ราคาจะตกลงมาที่ $14,000 เขามีความเห็นว่า สถานการณ์นี้จะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางเทคนิคและเศรษฐกิจมหภาค

    ด้วยเหตุนี้ ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะ 200 สัปดาห์ของ BTC (WMA) จึงได้กลายเป็นระดับแนวต้าน ไม่ใช่แนวรับ บิทคอยน์คงตัวอยู่เหนือเส้นอินดิเคเตอร์นี้เกือบตลอดเวลาที่มันมีเกิดขึ้น โดยมีการตัดทะลุลงด้านล่างไม่กี่ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงต่ำสุดในวัฎจักร ในเวลานี้ เส้น WMA ระยะ 200 สัปดาห์อยู่ที่บริเวณ $23,250 และบิทคอยน์ก็กำลังดิ้นรนที่จะขึ้นไปเหนือระดับนี้ให้ได้

    นิโคลัส แมร์เทน ให้ข้อสรุปว่า พฤติกรรมราคาล่าสุดของบิทคอยน์อาจเป็นสัญญาณจุดสิ้นสุดของตลาดกระทิงในรอบ 10 ปี และมันจะไม่เป็นสินทรัพย์ชั้นนำอีกต่อไปเมื่อเทียบกับสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นอื่น ๆ นักวิเคราะห์มองว่า จุดต่ำสุดถัดไปของ BTC อาจอยู่ที่บริเวณ $14,000 ซึ่งจะหมายถึงการปรับฐานถึง 80% จากราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับในกรณีของตลาดหมีที่เกิดขึ้นครั้งก่อนหน้า “$14,000 อาจเป็นราคาต่ำสุดได้ในขณะนี้ แต่นักลงทุนควรพิจารณาว่าราคาอาจดิ่งลงไปที่ $10,000 ได้เช่นกัน”

    นักวิเคราะห์ที่มีชื่อเล่น DonAlt เห็นด้วยกับแมร์เทน เขาเชื่อว่า BTC จะทำราคาต่ำสุดใหม่ในปี 2022 ท่ามกลางตลาดหุ้นที่อ่อนแอ เขาทำนายว่าราคาจะตกลงมาที่ $18,000-20,000 และจะเป็นราคาต่ำสุดในวัฎจักรนี้ “มันเกิดขึ้นบ่อยที่ราคาทะลุกรอบดังกล่าว และหลังจากนั้น ราคาก็เพิ่มขึ้น และตอนนี้มีโอกาสที่ดีที่ราคาจะทะลุกรอบ $18,000-20,000 และสร้างโมเมนตัมตลาดกระทิงขึ้นมา คำถามเดียวก็คือ บิทคอยน์จะดิ่งลงไปลึกแค่ไหน เพราะมันอาจลงไปจนถึง $15,000 ได้” “คำคาดการณ์ของผมอ้างอิงจากดัชนี S&P500 และมันก็ดูย่ำแย่มาก มันดูเหมือนว่าดัชนีนี้กำลังดิ่งตัวอย่างหนัก”

    เราได้ให้ความสนใจกับ Ethereum ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของบิทคอยน์เป็นอย่างมากในบทวิเคราะห์ครั้งที่แล้ว เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่สำคัญมากคือ การอัปเดตระดับโลก The Merge ซึ่งได้เกิดขึ้นในเครือข่าย ETH เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา รวมถึงการเปลี่ยนโปรโตคอลจาก Proof-of-Work เป็น Proof-of-Stake ซึ่งส่งผลให้ Ethereum มีราคาลดลง 20% และเราก็ได้เตือนถึงโอกาสนี้มาแล้วหลายครั้ง โดยอ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชายหลายราย

    ราคา Ethereum มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากราคาต่ำสุดในรอบปีเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งถือว่าแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นนั้นสูงกว่าบิทคอยน์ในช่วงที่รอการอัปเดตเครือข่าย  และ วิเจย์ ไอยาร์ รองประธานตลาดแลกเปลี่ยนคริปโต Luno เชื่อว่า The Merge ถูก “เก็งไว้ในราคา ETH อยู่แล้ว” และ “การอัปเดตจริง” ได้กลายเป็นสถานการณ์ “การขายจากข่าว”

    ในขณะนี้ นักเทรดกำลังย้ายเงินลงทุนจากอีธีเรียมและอัลท์คอยน์สกุลอื่น ๆ กลับมายังบิทคอยน์ เขากล่าว “เนื่องจากเราคาดว่าบิทคอยน์จะทำผลงานได้ดีกว่าในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า” ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เชื่อด้วยว่า “การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในแง่ของเงินเฟ้อหรืออัตราดอกเบี้ยที่ผิดความคาดหมายอาจส่งผลให้ BTC ร่วงลงมายัง $18,000 และไปทดสอบระดับที่ $14,000 ได้”

    อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่อาจส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ตอนนี้ นักลงทุนต่างสงสัยว่า สถานะการกำกับดูแล Ethereum จะมีการเปลี่ยนแปลงหลังการอัปเดต The Merge หรือไม่ สาเหตุที่เกิดความสงสัยและกังวลเป็นเพราะคำพูดของ แกรี เกนสเลอร์ ประธานคณะกลต. ของสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า คริปโตเคอเรนซีที่ดำเนินงานภายใต้โมเดล Proof-of-Stake ที่ใช้กับ ETH สามารถจัดประเภทว่าเป็นสินทรัพย์ได้ ดังนั้น สินทรัพย์เหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานทางการ แต่เขาไม่ได้เอ่ยถึงชื่อ Ethereum อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ก็มีความชัดเจนอยู่ในกรณีนี้ว่าเหรียญ ETH กำลังเป็นที่จับตา

    ดูอย่างใกล้ชิดโดยคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ และไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามันจะสิ้นสุดลงอย่างไร เช่น นิโคลัส แมร์เทน จาก DataDash คาดว่า ราคาเหรียญอาจกลับมาทดสอบกรอบที่ $800-$1,000 แต่ก็ไม่ตัดโอกาสที่ราคาอาจขยับลงต่ำกว่านั้น

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์นี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 23 กันยายน) บิทคอยน์และอีธีเรียมทำราคาขยับขึ้นมาเล็กน้อยจากที่ดิ่งลงไปเพราะการตัดสินใจของธนาคารเฟดสหัรฐฯ BTC/USD ขณะนี้ซื้อขายอยู่ที่ $18,900 ( ETH/USD อยู่ที่ $1,320) และมีมูลค่าตามราคาตลาดคริปโตที่ $0.929 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.959 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) ทางด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index อยู่ที่ 20 จุดเหมือนในสัปดาห์ที่แล้ว และยังคงอยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)