ธันวาคม 11, 2022

EUR/USD: เตรียมพร้อมรับการประชุมธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรป

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 12 - 16 ธันวาคม 20221

  • ในสัปดาหน้ามีเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์รอเราอยู่  อันดับแรกคือการประชุมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 14 ธันวาคม ทั้งนี้ ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์อยู่ที่ 4.00% และ Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดได้ยืนยันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนว่า อัตราการเติบโตของดอกเบี้ยอาจชะลอตัวในเดือนธันวาคม คำพูดเหล่านี้ทำให้ตลาดเชื่อว่า จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมไม่ใช่ที่ 75 จุดพื้นฐาน แต่เป็น 50 จุดพื้นฐาน (bp) โดยความคืบหน้าที่จะได้ทราบกันในวันที่ 14 ธันวาคมจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของธนาคารกลางสำหรับปี 2023 โดยทั่วไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีบทบาทสำคัญ แต่ยังรวมถึงการคาดการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจของ FOMC และการแถลงข่าวของฝ่ายบริหารหลังการประชุมด้วยเช่นกัน

    ทั้งนี้ มีแนวโน้มสูงที่การประชุมของคณะกรรมการจะได้รับอิทธิพลจากสถิติเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งตัวเลขเดือนพฤศจิกายนของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะประกาศก่อนหน้าวันประชุมหนึ่งวันคือวันอังคารที่ 13 ธันวาคม

    เหตุการณ์ที่สองเป็นการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม โดยขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของยูโรอยู่ที่ 2.00% และจากการคาดการณ์ชี้ว่า ECB จะขึ้นดอกเบี้ย 50 จุดเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์เป็นฝ่ายได้เปรียบต่อเนื่องในอัตราคือ 4.50% เทียบกับ 2.50% และเช่นเดียวกันกับในกรณีธนาคารเฟด ความเห็นและการคาดการณ์ของผู้บริหาร ECB หลังการประชุมจะเป็นที่จับตามองโดยตลาด

    สำหรับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดอลลาร์ DXY ไม่สามารถฟื้นคืนส่วนที่ติดลบไปได้ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ในครั้งนี้มีสาเหตุเพราะสถิติจากจีน ในทางหนึ่งตัวเลขภาคการผลิตของจีนลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 1.3% เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ส่วนอีกด้านหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อก็ชะลอตัว ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 1.6% จาก 2.1% เมื่อเดือนที่แล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลจีนเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน (QE) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ โดยแบบสำรวจจาก Bloomberg ชี้ให้เห็นว่า ตลาดคาดการณ์ให้ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเงินหยวนตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2023 สถานการณ์นี้ส่งผลให้ดัชนีหุ้น โดยเฉพาะดัชนีฝั่งเอเชียปรับขึ้น และดอลลาร์ขยับลดลง โดยทัศนคติเชิงบวกจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ในจีนก็มีส่วนช่วยสนับสนุนอารมณ์ในทางบวกในตลาดทุนเช่นกัน

    แรงกดดันเสริมต่อค่าเงินดอลลาร์มาจากสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ จำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นได้รายงานไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม สถิติดังกล่าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 226K เป็น 230K ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์อย่างชัดเจน แต่จำนวนยอดขอรับสวัสดิการซ้ำเพิ่มขึ้นทำจำนวนสูงสุดในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมาคือ 1671K ซึ่งเป็นสัญญาณต่อธนาคารเฟด และชี้ให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน

    ในทางกลับกัน สถิติเศรษฐกิจของฝั่งยุโรปดูดี ค่า GDP ของยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ปรากฏว่าสูงกว่าการคาดการณ์ที่ 0.3% จาก 0.2% (ไตรมาสต่อไตรมาส) และ 2.3% เทียบกับ 2.1% (ปีต่อปี)

    ส่งผลให้ EUR/USD ออกจากการปรับฐานที่ลึกและทำระดับต่ำสุดในกรอบที่ 1.0442 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม จากนั้นก็มีการกลับตัวและขยับขึ้นไปยังระดับ 1.0587 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก University of Michigan มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยต่อราคาเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้ราคาคู่นี้ปิดที่ 1.0531

    นักวิเคราะห์ 50% คาดว่าจะมีการเติบโตต่อไป โดย 25% คาดว่าราคาจะลงมายังทิศใต้ ส่วน 25% ที่เหลือชี้ว่ากราฟจะออกด้านข้าง ทั้งนี้ เมื่อเปลี่ยนเป็นการวิเคราะห์ระยะกลาง จำนวนผู้เชี่ยวชาญที่โหวตแนวโน้มขาลงต่ำกว่าระดับคู่ขนานที่ 1.0000 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสูงสุด 75%

    สำหรับออสซิลเลเตอร์ให้ภาพรวมที่แตกต่างออกไปในกรอบ D1 โดยออสซิลเลเตอร์ 100% ให้สัญญาณสีเขียว ในขณะที่ 10% อยู่ในโซน overbought ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ให้สัญญาณสีเขียว

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุด EUR/USD อยู่ที่แนว 1.0500 จากนั้นเป็นระดับและโซนที่ 1.0440, 1.0375-1.0400, 1.0280-1.0315, 1.0220-1.0255, 1.0130, 1.0070 ตามมาด้วยโซนคู่ขนานที่ 0.9950-1.0010 ทางด้านฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่ระดับคือ 1.0545-1.0560, 1.0595-1.0620, 1.0745-1.0775, 1.0865, 1.0935

    ในสัปดาห์หน้า เราจะได้เห็นสถิติเศรษฐกิจมหภาคอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นคือ ดัชนีเงินเฟ้อของผู้บริโภค (CPI) และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW) ในเยอรมนี ซึ่งจะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม และดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิตของเยอรมนีและยูโรโซน (PMI) ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคยุโรป (CPI) ของเดือนพฤศจิกายนซึ่งจะประกาศให้ทราบในวันศุกรที่ 16 ธันวาคม

GBP/USD: เตรียมพร้อมรับการประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษ

  • ไม่ใช่แค่ธนาคาร ECB เท่านั้น แต่ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) จะตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่นกันในวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ธนาคารกลางอังกฤษเป็นหนึ่งในธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G10 ที่เดินรอยตามธนาคารเฟดในการจำกัดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) โดย BoE ได้ขึ้นดอกเบี้ยเงินปอนด์ที่ 75 จุดพื้นฐานในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าอังกฤษจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 50 จุดเท่านั้นในเดือนธันวาคมเช่นเดียวกันกับ ECB และธนาคารเฟด ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.50% ผลสำรวจของสำนักข่าว Reuters ชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ 96% ได้โหวตให้กับสถานการณ์นี้ และมีเพียง 4% เท่านั้นที่ยืนยันว่าดอกเบี้ยจะขึ้น 75 จุดพื้นฐาน

    ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะมีความยาวนานและตื้นเขิน การคาดการณ์ชี้ว่า เศรษฐกิจหดตัวลง 0.2% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2022 (ซึ่งเราจะได้ทราบสถิติจริงในวันที่ 12 ธันวาคม) และจะหดตัวอีก 0.4% ในไตรมาสที่ 4 แนวโน้มลดลงในสามไตรมาสแรกของปี 2023 อาจอยู่ที่ 0.4%, 0.4% และ 0.2% ตามลำดับ

    ในส่วนของเงินเฟ้อ แบบสำรวจที่จัดทำโดย BoE ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนชาวอังกฤษยังคงกลัวที่อัตราเงินเฟ้อลดลงแค่เพียงนิดเดียว หากพูดถึงคำคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ ในกลุ่มนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยับถึงระดับสูงสุดที่ 10.9% ในไตรมาสที่ 4 และจากนั้นก็จะลดลง ตัวเลขปัจจุบันนั้นสูงว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ถึงสิบเท่า และธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะถูกบีบให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าจะมีภัยเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงก็ตาม โดยทำนายว่า BoE จะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ในปี 2023 ที่ 50 และ 20 จุดตามลำดับ รวมเป็น 4.25% ในที่สุด

    GBP/USD รวมถึง EUR/USD ได้ขยับในแนวโน้มขาขึ้นนับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน โดยฉวยโอกาสจากความอ่อนแอของดอลลาร์ ราคาคู่นี้ถูกดันขึ้นโดยวิกฤติการคลังภายในประเทศและมาตรการของธนาคารแห่งชาติอังกฤษในการคุมเข้มนโยบายทางการเงิน และสนับสนุนตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ ทำให้ GBP/USD ขยับถึงระดับสูงสุดในวันที่ 5 ธันวาคมที่ 1.2344 อย่างไรก็ดี ราคาไม่ได้ขยับสูงขึ้นต่อและปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ระดับ 1.2260 เพื่อรอฟังคำตัดสินใจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

    นักยุทธศาสตร์ที่ธนาคาร Commerzbank ของเยอรมนีมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น และคาดว่าจะมีแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อเงินปอนด์อังกฤษ “ในขณะนี้ วิกฤติการคลังอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว และไม่มีสัญญาณว่าวิกฤติพลังงานจะเลวร้ายยิ่งขึ้น เรามีความเห็นว่า นี่เป็นเพียงแค่การผ่อนคลายชั่วคราวสำหรับเงินปอนด์ ภาพรวมเศรษฐกิจที่แย่ลง นโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง และภาวะเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นแรงกดดันที่หนักหน่วงต่อเงินปอนด์”

    ค่ากลางการคาดการณ์ในระยะใกล้ไม่ต่างกับการคาดการณ์ของคู่ EUR/USD โดยสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญ 50% เห็นด้วยกับแนวโน้มกระทิง 25% โหวตให้ตลาดหมี และผู้เชี่ยวชาญที่เหลือ 25% มีความเห็นเป็นกลาง ในขณะเดียวกันยังมีความต่างเล็กน้อยในการวิเคราะห์ระยะกลาง ซึ่งจำนวนผู้สนับสนุนแนวโน้มตลาดหมีสูงกว่า 10% โดยอยู่ที่ 85%

    ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอรบนกรอบ D1 เหมือนกับผลการวิเคราะห์ของคู่  EUR/USD เช่นกัน ซึ่ง 100% ให้สัญญาณสีเขียว และออสซิลเลเตอร์ 10% ให้สัญญาณว่าราคามีแรงซื้อมากเกินไป (overbought)

    สำหรับระดับและโซนแนวรับของคู่นี้ ได้แก่ 1.2210-1.2235, 1.2150, 1.2085-1.2105, 1.2030, 1.1960, 1.1900, 1.1800-1.1840, 1.1700-1.1720, 1.1475-1.1500, 1.1350, 1.1230, 1.1150, 1.1100 และเมื่อราคาขยับขึ้นทิศเหนือ จะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2290-1.2310, 1.2345, 1.2425-1.2450 และ 1.2575-1.2610, 1.2750

    อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วว่าในวันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม จะมีการประกาศสถิติ GDP ของอังกฤษ ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นที่น่าจับตามองในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ สถิติอัตราการว่างงานและรายได้จะรายงานให้ทราบในวันถัดไป ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะประกาศในวันพุธที่ 14 ธันวาคม และดัชนียอดค้าปลีกและกิจกรรมทางธุรกิจในสหราชอาณาจักรจะรายงานในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม และแน่นอนว่าไฮไลต์สำคัญจะเป็นวันที่ 15 ธันวาคม ที่ธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะกำหนดอัตราดอกเบี้ย

USD/JPY: สิ่งที่สามารถช่วยเงินเยน

  • USD/JPY ได้ขยับขึ้นมาจากราคาต่ำสุดของวันที่ 2 ธันวาคมที่ 133.61 ขึ้นมายัง 137.85 ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยอยู่สูงกว่าโซนแนวรับ/แนวต้านที่สำคัญที่ 137.50 เล็กน้อย ก่อนที่จะปิดตลาดที่ 136.60

    อนาคตของคู่นี้ยังคงขึ้นอยู่กับค่าความต่างในอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หากธนาคารเฟดยังคงนโยบายแบบสายเหยี่ยวปานกลางเป็นอย่างน้อย และธนาคารกลางญี่ปุ่นคงนโยบายสายพิราบสุดโต่งต่อไป ดอลลาร์จะยังคงอยู่เหนือเงินเยนญี่ปุ่น ภัยเรื่องการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนโดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดูไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกที่ระดับราคาปัจจุบัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยเงินเยนได้ แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมวันที่ 20 ธันวาคม คือ -0.1% การเปลี่ยนแปลงในนโยบายทางการเงินแบบสุดโต่งอาจเกิดขึ้นเฉพาะหลังวันที่ 8 เมษายนในปีหน้าเท่านั้น ซึ่งเป็นวันที่ Haruhiko Kuroda ประธานธนาคารกลางญี่ปุ่นจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง และอาจถูกแทนที่โดยผู้บริหารคนใหม่ที่มีท่าทีที่เข้มงวดกว่า แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

    อีกหนึ่งความหวังคือแนวโน้มเศรษฐจีน “อัตราการเติบโตที่อ่อนแอและผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงอย่างชัดเจนน่าจะส่งผลให้ค่าเงินปลอดภัย เช่น เงินเยน เริ่มแสดงความเหนือชั้นกว่า” ความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์จากเครือธนาคาร ING โดยมองว่าสิ่งนี้จะช่วยพยุงค่าเงินเยนให้แข็งค่าขึ้นได้

    การคาดการณของนักวิเคราะห์ในอนาคตอันใกล้เป็นแนวโน้มตลาดหมี โดย 50% โหวตให้ราคาลดลง และ 50% ที่เหลือยังคงท่าทีเป็นกลาง อย่างไรก็ดี ในระยะกลางมีผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (60%) ที่เปลี่ยนความเห็นจากทิศใต้เป็นทิศเหนือ โดยคาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอย่างมากและจะพาราคากลับมาสู่โซน 145.00-150.00 ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพรวมเช่นนี้ 90% ชี้ไปยังทิศใต้ 10% ทิศเหนือ และในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มีอัตราส่วนคือ 85% ต่อ 15% โดยฝ่ายสีแดงมีจำนวนมากกว่า

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่โซน 136.00 ตามมาด้วยระดับและโซน ได้แก่ 134.10-134.35, 133.60, 131.25-131.70, 129.60-130.00, 128.10-128.25, 126.35 และ 125.00 ส่วนระดับและโซนแนวต้าน ได้แก่ 137.50-137.70, 138.00-138.30, 139.00, 139.50-139.75, 140.60, 142.25, 143.75, 145.30, 146.85-147.00, 148.45, 149.45, 150.00 และ 151.55 ซึ่งเป้าหมายของฝั่งกระทิงคือจะต้องขึ้นไปและยืนเหนือระดับ 152.00 ให้สำเร็จ

    ในส่วนของปฏิทินจะต้องเน้นวันพุธที่ 14 ธันวาคม ซึ่งจะมีการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทนอกภาคการผลิตกลุ่ม “ตังกัง”  ในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 โดยไม่คาดว่าจะมีการประกาศตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ในญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้านี้

คริปโตเคอเรนซี: การทะยานขึ้นของคริสต์มาสหลังจากการกวาดล้างคริปโต

  • ในสัปดาห์ที่แล้วเราตั้งหัวข้อเรื่องว่า Cryptogeddon มาแทนฤดูหนาวคริปโต” (มีที่มาจากคำว่า Armageddon ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายดีและฝ่ายร้าย) ตอนนี้มีคำใหม่คือ “อาบเลือด” และ “การกวาดล้างคริปโต” ซึ่งอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การล่มสลายของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตที่มีเงินหมุนเวียนมากที่สุดเป็นอันดับสองคือ FTX นักลงทุนสูญเสียเงินกว่า $10.16 พันล้านดอลลาร์ในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ในเดือนพฤศจิกายน วิกฤตินี้เหมือนกับโดมิโน่ที่นำไปสู่การล่มสลายลงของบริษัทอื่น ๆ อีกหลายแห่ง มีผู้ตอบแบบสำรวจ 94% ที่เชื่อว่าการล้มละลายของ FTX จะตามมาด้วยความโกลาหลอย่างหนักหน่วงขึ้น เพราะช่วงเวลาหลายปีที่มีการให้สินเชื่อที่ง่ายเกินไปย่อมทำให้สภาพธุรกิจและตลาดมีความยากลำบากมากขึ้น ตามรายงานของ Bloomberg เพื่อให้เรื่องนี้ซับซ้อนมากขึ้นมีนักลงทุนจำนวน 73% ถึง 81% ที่สูญเสียเงินไปแล้วจากการลงทุนในคริปโตเคอเรนซีในช่วงระหว่างปี 2015 และ 2022 อ้างอิงจากสถิติจากงานวิจัยโดยธนาคาร Bank for International Settlements (BIS)

    ขณะนี้ราคาบิทคอยน์แข็งตัวอยู่ที่ $17,000 และการอ่านวิเคราะห์อินดิเคเตอร์ SMA100 และ SMA200 บนกราฟ 4H แทบจะมาบรรจบกันในจุด ๆ หนึ่ง BTC/USD ถูกพยุงขึ้นโดยดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนตลาดก็แช่แข็งรอดูสถานการณ์ในวันที่ 14 ธันวาคม ซึ่งธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะทำการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ย และในทางกลับกันยังขึ้นอยู่กับสถิติเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งจะประกาศหนึ่งวันก่อนหน้านั้น ด้านบทวิเคราะห์ภาพรวมทางเศรษฐกิจโดยคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เช่นกัน

    ผู้สนับสนุนตัวยง รวมถึงคนในชุมชนคริปโต เช่น Credible Crypto, Moustache และ Dave the Wave คาดการณ์ว่า ข้อมูลนี้จะส่งอิทธิพลเชิงบวกต่อความต้องการความเสี่ยงของตลาด และการทะยานขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสจะช่วยดันราคาบิทคอยน์ขึ้นไปที่ $20,000 ส่วนสมาชิกในชุมชนคริปโตชี้ว่า BTC จะซื้อขายอยู่ที่ราคาเฉลี่ยคือ $19,788 ภายในสิ้นปีนี้ตามรายงานของ CoinMarketCap

    อัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่อง PricePredictions ซึ่งประกอบด้วยอินดิเคเตอร์เชิงเทคนิคจำนวนหนึ่ง (MA, RSI, MACD, BB ฯลฯ) ชี้ว่าราคาบิทคอยน์อาจขยับขึ้นในอนาคตอันใกล้ การคาดการณ์นี้ระบุว่า ราคาบิทคอยน์จะขยับถึง  $18,797 ในวันที่ 31 ธันวาคม 2022

    อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบและชัดเจนเสมอไป ตัวอย่างเช่น Mike McGlone นักยุทธศาสตร์อาวุโสจาก Bloomberg Intelligence เชื่อว่า ขณะนี้คริปโตเคอเรนซีกำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายก่อนที่จะขยับถึงจุดต่ำสุด อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่ามันอาจเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะรอดจากช่วงเวลานี้ “โดยปกติแล้ว ตลาดไม่ใช่แค่ทำจุดต่ำสุดรูปตัว V เท่านั้น มันยังทำให้เป็นเรื่องยากอย่างมากด้วยความผันผวนที่สูง และริบเงินทั้งหมดจากนักลงทุนทุกคน”

    Michael Van De Poppe นักเทรดและนักวิเคราะห์ชื่อดังชี้ว่า สถานการณ์ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้นเล็กน้อย และฝั่งกระทิงของ BTC จำเป็นต้องตัดทะลุระดับแนวต้านที่สำคัญที่บริเวณ $17,400-17,600 ให้สำเร็จ ในกรณีนี้ ราคาจะขยับขึ้นไปยัง $19,000 ได้อย่างรวดเร็ว เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หนึ่งในเป้าหมายอันดับแรก ๆ คือขยับถึงระดับที่ $18,285

    สำหรับราคาของ Ethereum Van de Poppe เชื่อว่าระดับแนวรับที่สำคัญสำหรับคริปโตเคอเรนซีคือราคาที่ $1,200 ซึ่ง Mike McGlone มีความเห็นตรงกัน เขาคำนวณแล้วว่า ETH มีระดับแนวรับที่แข็งแกร่งอยู่ใกล้บริเวณระดับราคา ณ ปัจจุบัน

    เหลือเวลาอีกไม่มากแล้วจนกว่าจะถึงสิ้นปี และเราจะได้ทราบว่าใครจะเป็นผู้ที่ทำนายได้แม่นยำมากกว่ากัน ในระหว่างนี้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม) ETH/USD ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $1,260 และ BTC/USD อยู่ที่ $17,100 โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากในรอบสัปดาห์ และอยู่ที่ $0.852 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.859 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่แล้ว) ส่วนดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับลงมาเพียง 1 จุดในรอบเจ็ดวันจาก 27 เหลือ 26 และยังคงอยู่ในโซนความกลัว (Fear)

    และเพื่อเป็นการสรุปส่งท้ายบทวิเคราะห์ฉบับนี้ เราจะมาพูดถึงการทำนายราคาในระยะยาวกันเล็กน้อย นักวิเคราะห์ชื่อดังจาก Twitter อย่าง Bluntz และ Korinek_Trades ยังไม่ตัดโอกาสที่ BTC/USD จะตกลงไปยัง $15,000 หรือแม้แต่ $12,000 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2023.

    มุมมองโดยนักเศรษฐศาสตร์ของ Standard Chartered ดูมืดมนยิ่งกว่า พวกเขาคาดว่าการล่มสลายลงของ FTX จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดคริปโตต่อเนื่อง เหตุการณ์การล้มละลายที่ต่อเนื่องในบรรดาผู้เล่นในตลาดคริปโต จะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ดิจิทัลหมดลงมากขึ้น ดังนั้น ราคาบิทคอยน์อาจตกลงไปที่ $5,000 ในช่วงปี 2023 หัวหน้านักยุทธศาสตร์ Eric Robertsen จากธนาคารนี้ชี้ว่า ความสนใจจะเปลี่ยนจากทองคำดิจิทัลมาสู่ทองคำจริง บทสรุปเกี่ยวกับแนวโน้มลดลงของบิทคอยน์นั้นมาพร้อมกับการคาดการณ์ราคาทองคำว่าจะเพิ่มขึ้น 30% เป็น $2,250 ต่อทรอยออนซ์ ในขณะเดียวกันนั้น Robertsen เน้นย้ำว่า คำอธิบายของสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่การคาดการณ์ แต่เป็นเพียงการชี้แนะถึงสถานการณ์ที่เบี่ยงเบนไปจากฉันทามติตลาดในปัจจุบัน

    Mike Novogratz ผู้ร่วมก่อตั้ง Galaxy Digital มองไปไกลในอนาคตและเห็นแสงปลายอุโมงค์ เขาให้ความเห็นเมื่อสัมภาษณ์กับ Bloomberg Television ไว้ว่า เขายังคงตัวเลขคาดการณ์ราคาบิทคอยน์ไว้ที่ $500,000 อย่างไรก็ดี บิทคอยน์จะต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปีที่จะบรรลุเป้าหมายนี้เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการดำเนินงานในเชิงรุกอย่างหนักของธนาคารเฟด

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)