ธันวาคม 17, 2022

EUR/USD: ธนาคารเฟดไม่อยากเป็นนกพิราบ ธนาคารกลางยุโรปก็เช่นกัน

  • สัปดาห์ที่แล้วสามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกันคือ ก่อนและหลังการประชุมของ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) ในธนาคารเฟดสหรัฐฯ สถิติเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้สร้างผลกระทบที่ส่งแรงสะเทือนจากการประชุมครั้งนี้เมื่อวันอังคารที่ 13 ธันวาคม โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งมีการคาดการณ์ที่ 7.3% ลดลงจาก 7.7% เหลือ 7.1% (ปีต่อปี) ทำระดับต่ำสุดในเวลาเกือบหนึ่งปี ในขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจาก 6.3% เหลือ 6.0% ตลาดจึงตัดสินว่า สถานการณ์กำลังไปได้ด้วยดี และถึงเวลาที่ธนาคารเฟดจะเปลี่ยนท่าทีจากสายเหยี่ยว (นโยบายแบบคุมเข้ม) เป็นสายพิราบ (นโยบายแบบผ่อนคลาย) หรืออย่างน้อยก็จะลดความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องด้วยความคาดหวังดังกล่าว ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลชุด 10 ปีจึงลดลงจาก 3.6% เหลือ 3.43% และดัชนีดอลลาร์ DXY ทำระดับสูงสุด และตกลงมายังระดับต่ำสุดในช่วงหกเดือนที่ผ่านมาจาก 105.07 เป็น 103.60 จุด ส่งผลให้ดัชนีหุ้น (S&P500, Dow Jones, Nasdaq) ขยับขึ้น และคู่ EUR/USD กระโดดขึ้นเป็น 1.0672

    แต่กลุ่มที่ชอบความเสี่ยงและฝั่งตรงข้ามของดอลลาร์ก็ฉลองดีใจได้ไม่นาน คณะกรรมการ FOMC ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลัก 50 จุดพื้นฐาน (bp) เป็น 4.5% ในการประชุม ซึ่งเป็นไปตามความคาดหวังของตลาดโดยสมบูรณ์ แต่เรื่องเซอร์ไพรส์ปรากฏขึ้นในช่วงงานแถลงข่าว ซึ่งชี้ว่าธนาคารเฟดสหรัฐฯ ยังคงมีท่าทีสายเหยี่ยว Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดกล่าวย้ำว่า ธนาคารฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดไปจนกว่าพวกเขาจะมั่นใจว่า ภาวะเงินเฟ้อลดลงจนเป็นแนวโน้มที่ยั่งยืนจริง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานอาจขึ้นไปถึง 5.1% ในปี 2023 และจะอยู่ในระดับที่สูงจนถึงปี 2024 (ทั้งนี้ ในเดือนกันยายนมีการพูดถึงระดับที่ 4.6% เป็นระดับสูงสุด) โดย Jerome Powell ชี้ว่า ธนาคารเฟดเข้าใจว่าสิ่งนี้จะกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็ยอมแลกเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้สำเร็จ สถานการณ์กลับตาลปัตร 180 องศา หลังจากคำพูดดังกล่าว และดัชนี DXY ขยับขึ้นมา ตลาดหุ้นติดลบ และคู่เงิน EUR/USD ตกลงมากว่า 140 จุด

    ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วในวันที่ 15 ธันวาคม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนกันกับธนาคารเฟด โดย ECB ปรับดอกเบี้ยขึ้น 50 จุด เป็น 2.5% ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์โดยสมบูรณ์ Christine Lagarde ประธาน ECB แสดงท่าทีสายเหยี่ยวเช่นกันคล้ายกับฝั่งธนาคารเฟดในงานแถลงข่าว และพูดอย่างชัดเจนว่า มาตรการถอนสภาพคล่องจากระบบ (QT) ในยูโรโซนจะไม่สิ้นสุดลงแค่นี้ อัตราดอกเบี้ยของยูโรจะต้องเจอกับการขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปี 2023 อีกทั้ง ECB ยังวางแผนที่จะเริ่มลดดุลงบประมาณลงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ในขณะนี้ ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของดอลลาร์และยูโรอยู่ที่ 200 จุดพื้นฐาน (4.5% และ 2.5% ตามลำดับ) ตลาดสวอปคาดว่าธนาคารกลางยุโรปอาจขึ้นดอกเบี้ย 100 จุดพื้นฐานในปีหน้านี้ ซึ่งจะให้แรงหนุนกับ EUR/USD ได้ในระดับหนึ่ง โปรดอ่านบทวิเคราะห์ของเราต่อเพื่อดูว่าสถาบันทางการเงินชั้นนำต่าง ๆ ให้การคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

    สถิติกิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิตของเยอรมนีและยูโรโซน (PMI) รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคยุโรป (CPI) เดือนพฤศจิกายนมีการประกาศในช่วงท้ายของสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม โดยดัชนีเงินเฟ้อของผู้บริโภคไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาด ในอีกด้านหนึ่งนั้น ดัชนี CPI รายปีลดลงจาก 10.6% เหลือ 10.1% แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังคงสูงกว่าการคาดการณ์ที่ 10.0% หลังการประกาศสถิติเศรษฐกิจมหภาคเหล่านี้ ราคาคู่นี้ก็ปิดตลาดที่ 1.0590

    นักวิเคราะห์ 40% คาดว่ายูโรจะแข็งค่าขึ้นในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า และ EUR/USD จะขยับขึ้น ส่วนอีก 50% คาดว่าซานตาคลอสจะมาช่วยค่าเงินดอลลาร์ ด้านผู้เชี่ยวชาญอีก 10% ไม่คาดการณ์สถานการณ์ข้างต้นใด ๆ ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพที่แตกต่างออกไป โดยมี 75% ให้สัญญาณสีเขียว 10% เป็นสีเทากลาง และ 15% ให้สีแดงชัดเจน ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ฝั่งที่ได้เปรียบเป็นสีเขียว ซึ่งมีสัดส่วนที่ 80% ต่อ 20% ที่เป็นสีแดง ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่ EUR/USD อยู่ที่แนว 1.0560 ตามมาด้วยระดับและโซน ได้แก่ 1.0500, 1.0440, 1.0375-1.0400, 1.0280-1.0315, 1.0220-1.0255, 1.0130, 1.0070 ซึ่งตามมาด้วยโซนคู่ขนานคือ 0.9950-1.0010 ส่วนฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.0620, 1.0675-1.0700, 1.0740-1.0775, 1.0865, 1.0935

    ปฏิทินในสัปดาห์หน้านี้ประกอบด้วย การประกาศสถิติ GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ในวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม และการประกาศดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าทุนและสินค้าคงทนในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม รวมถึงดัชนีรายจ่ายของการบริโภคส่วนบุคคลในสหรัฐฯ

    โปรดทราบ! วันหยุดเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่จะตรงกับช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราแนะนำให้คุณศึกษาตารางการซื้อขายในช่วงเวลานี้ให้ดี ซึ่งประกาศให้ทราบบนเว็บไซต์ NordFX ในส่วนข่าวสารบริษัท

GBP/USD: ตลาดไม่ไว้วางใจธนาคารแห่งชาติอังกฤษอีกต่อไป

  • ความผิดหวังที่หนักยิ่งกว่าของคู่ EUR/USD รอเหล่ากระทิงของค่าเงินปอนด์อังกฤษ โดยราคาทำระดับสูงสุดในรอบหกเดือนที่ 1.2450 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม หลังจากนั้น GBP/USD ก็ขยับลงมาที่ 1.2119 และปิดท้ายตลาดที่ 1.2160

    ในสัปดาห์ที่แล้วมีการประกาศสถิติของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรหลายชุดด้วยกัน และผลลัพธ์มีความหลากหลาย บางตัวเป็นสีเขียว บ้างเป็นสีแดง ค่า GDP ของประเทศขยับขึ้นมา 0.5% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.4% ตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็น 0.7% หลังจากอยู่ที่ระดับศูนย์เมื่อเดือนกันยายน ตัวชี้วัดภาวะเงินเฟ้อที่สำคัญอย่างดัชนี CPI อยู่ที่ 10.7% ในเดือนพฤศจิกายน (อยู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1981 ที่ 11.1% เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้า) แต่ยอดค้าปลีกลดลงเหลือ 0.4% ในเดือนพฤศจิกายจาก 0.9% ในเดือนตุลาคม อัตราการว่างงานขยับขึ้นมาจาก 3.6% เป็น 3.7% ส่วนดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรลดลงเหลือ 44.7 ในเดือนธันวาคมจาก 46.5 ในเดือนพฤศจิกายน และในภาคบริการให้ผลลัพธ์กลับกันคือ ดัชนีขยับขึ้นเป็น 50.0 เทียบกับตัวเลขเดือนพฤศจิกายนที่ 48.8 และตัวเลขคาดการณ์ที่ 48.5

    ดูเหมือนว่าสถิติที่มีความหลากหลายดังกล่าวนั้นทำให้ตลาดมีความสับสนเป็นอย่างมาก พวกเขาโฟกัสไม่ใช่แค่เงินปอนด์ แต่รวมถึงดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) จะออกคำแถลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว BoE ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกันกับธนาคารเฟดและ ECB โดยขึ้นที่ 50 จุดพื้นฐานเป็น 3.5% ต่อปี (สูงสุดในรอบ 14 ปี) อย่างไรก็ดี คำแถลงของ BoE ปรากฏว่ามีน้ำเสียงผ่อนคลายกว่าธนาคารอีกสองแห่ง โดยธนาคารกลางอังกฤษชี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อน่าจะขยับถึงจุดสูงสุดไปแล้ว และกรรมการจำนวน 2 จาก 9 คนในคณะกรรมการนโยบายทางการเงินพิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นสูงเพียงพอแล้ว และถึงเวลาที่จะผ่อนคลายแรงกดดันของราคา

    ก่อนจะถึงการประชุมครั้งนี้ ราคาในตลาดเก็งไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นสูงสุดที่ 4.6% หลังการประชุมปรากฏว่า ตลาดสวอปปรับลดการคาดการณ์เป็น 4.5% ภายในเดือนสิงหาคม (แปลว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 100 จุดพื้นฐาน) ในส่วนของผลการสำรวจในตลาดที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารแห่งชาติอังกฤษชี้ว่า ตัวเลขกลางยังต่ำยิ่งกว่าคือ 4.25% เท่านั้นโดยมีระดับสูงสุดในเดือนมีนาคม 2023

    การคาดการณ์เหล่านี้สร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อค่าเงินปอนด์ ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank จึงมีความเห็นว่า เงินปอนด์ไม่มีศักยภาพมากที่จะฟื้นตัว “หลังจากธนาคารแห่งชาติอังกฤษลังเลมาเป็นเวลาหลายเดือน ตอนนี้ตลาดเชื่อแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือน้อยที่สุดที่จะกลายเป็นพญาเหยี่ยวโดยฉับพลัน” พวกเขาเขียนต่อว่า “ดังนั้น เงินปอนด์จึงไม่มีโอกาสที่จะเทียบกับยูโรหรือดอลลาร์ได้เลย””

    ในส่วนระยะกลาง การคาดการณ์กลางของ GBP/USD ดูค่อนข้างเป็นกลางในที่นี่ มีผู้เชี่ยวชาญ 45% ที่เห็นด้วยกับฝั่งตลาดกระทิง จำนวนเดียวกันเห็นด้วยกับฝั่งตลาดหมี และอีก 10% ที่เหลือไม่ขอออกความเห็นใด ๆ

    ผลการอ่านอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพที่ผสม ๆ กันเช่นกัน ในที่นี้มีออสซิลเลเตอร์ 30% ให้สีเขียว 25% ให้สีแดง และ 45% โหวตสีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มีอัตราส่วนที่ 65% ต่อ 35% โดยสีเขียวเป็นฝ่ายที่มีจำนวนมากกว่า ระดับและโซนแนวรับของคู่นี้อยู่ที่ 1.2085-1.2115, 1.2030, 1.1940, 1.1900, 1.1800-1.1840, 1.1700-1.1720 ทั้งนี้ เมื่อราคาขยับขึ้นไปยังทิศเหนือ ราคาคู่นี้จะเจอกับแนวต้านที่ระดับคือ 1.2200-1.2225, 1.2270, 1.2330-1.2345, 1.2425-1.2450 และ 1.2575-1.2610, 1.2700 และ  1.2750

    ในบรรดากิจกรรมที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในสัปดาห์นี้ เราสามารถเน้นกิจกรรมในวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม ซึ่งเราจะได้ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับค่า GDP ของประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2022 อีกทั้ง เราจะให้ความสนใจกับการปิดตลาดซื้อขายก่อนเวลาปกติในสหราชอาณาจักรในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคมนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเพราะเทศกาลคริสต์มาสที่จะมาถึงนั่นเอง

USD/JPY: สิ่งที่ควรคาดหวังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น

  • เช่นเดียวกันกับคู่ก่อนหน้านี้ USD/JPY ตอบสนองต่อทั้งสถิติเงินเฟ้อหรัฐฯ และคำแถลงโดยประธานธนาคารเฟด แต่สิ่งที่แตกต่างไปจาก EUR/USD และ GBP/USD ก็คือ คู่นี้ยังไม่ได้ขยับออกกรอบด้านข้างในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา กรอบราคาอยู่ที่บริเวณ 134.25-137.85 และสามารถเพิกเฉยความพยายามที่จะตัดผ่านกรอบไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ความสมดุลเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะทั้งดอลลาร์และเงินเยนต่างเป็นสกุลเงินหลบภัย แน่นอนว่าความได้เปรียบโดยรวมอยู่ฝั่งดอลลาร์ เนื่องด้วยความแตกต่างในอัตราดอกเบี้ย แต่หลังจากทำการแทรกแซงค่าเงินมาแล้วหลายครั้ง ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) ก็สามารถทำได้ทั้งยับยั้งค่าเงินดอลลาร์ และยังดันค่าเงินกลับขึ้นมาได้อีกด้วย

    อย่างที่เราเคยกล่าวไปแล้ว อนาคตของคู่เงินนี้จะยังคงขึ้นอยู่กับความแตกต่างในอัตราดอกเบี้ยระหว่างของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หากธนาคารเฟดยังคงนโยบายสายเหยี่ยวในระดับปานกลาง และ BoJ ยังคงนโยบายสายพิราบสุดโต่ง ดอลลาร์จะยังคงอยู่เหนือเงินเยน โดยโอกาสที่จะมีการแทรกแซงเงินตราต่างประเทศโดยกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นอย่างเมืื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกครั้งที่ราคาปัจจุบัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจช่วยได้ แต่มีแนวโน้มต่ำอย่างยิ่งที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมวันที่ 20 ธันวาคม ที่ระดับติดลบ -0.1% การเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างสุดโต่งอาจเกิดขึ้นได้เฉพาะหลังวันที่ 8 เมษายนเท่านั้น เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่ Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง และเขาอาจถูกแทนที่ด้วยผู้บริหารคนใหม่ที่มีท่าทีแข็งกร้าวมากกว่า แต่ก็ไม่เสมอไป

    อีกความหวังหนึ่งคือความกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังจะทำการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินหยวนในวันอังคารที่ 20 ธันวาคม

    USD/JPY ปิดตลาดที่ 136.70 เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม โดยผลการวิเคราะห์คาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในอนาคตอันใกล้นั้นเหมือนกันกับการคาดการณ์ของ GBP/USD คือ: 45%/45%/10% ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพรวมได้แก่ 25% ชี้ไปยังทิศใต้ 40% ชี้ไปยังทิศเหนือ และ 35% ชี้ไปยังทิศทางด้านข้าง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ อัตราส่วนอยู่ที่ 60% ต่อ 40%  โดยมีระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 136.00 ตามมาด้วยโซนและระดับที่ 134.40, 133.60, 131.25-131.70, 129.60-130.00, 128.10-128.25, 126.35 และ 125.00 ด้านโซนและระดับแนวต้าน ได้แก่ 137.50-137.70, 138.00-138.30, 139.00, 139.50-139.75, 140.60, 142.25, 143.75 ซึ่งเป้าหมายของตลาดกระทิงคือการขึ้นไปทำระดับสูงสุดของวันที่ 21 ตุลาคม 2022 และยืนเหนือ 152.00 ทั้งนี้มันน่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

    นอกเหนือจากการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่กล่าวไปแล้ว กิจกรรมสำคัญในปฏิทินยังจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม เป็นการประกาศรายงานจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาาคารกลางญี่ปุ่น โดยตลาดจะพยายามดูสัญญาณการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยในนโยบายทางการเงิน อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นนั้นแทบจะเป็นศูนย์

คริปโตเคอเรนซี: ซานตาคลอสเป็นความหวังเดียว

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 19 - 23 ธันวคม 20221

  • ผลการประชุมของธนาคารเฟดดูเหมือนจะช่วยบรรเทาความต้องการในความเสี่ยงของนักลงทุน เดิมดัชนีหุ้น (S&P500, Dow Jones, Nasdaq) ขยับขึ้นมาตลอดช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์ และหลังจากการประกาศสถิติเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ดัชนีก็ดีดขึ้นและดันราคาสินทรัพย์คริปโต แต่ก็กลับมาติดลบหลังการประชุมของธนาคารเฟดเมื่อวันพุธที่ 14 ธันวาคม ผลของความกลัวสภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบโลก แนวโน้มลดลงยังมีผลต่อไปในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ทำให้ราคาสูงสุดในกรอบของ BTC/USD หยุดอยู่ที่ $18.381 แต่ปิดท้ายตลาดต่ำลงมาในโซน $16.830

    สถานการณ์ทั่วไปในอุตสาหกรรมคริปโตไม่ช่วยการเติบโตของราคาเช่นกัน ทั้งนี้ นอกเหนือจากการล้มละลายของ FTX ในเดือนพฤศจิกายนแล้ว อุตสาหกรรมคริปโตยังประสบกับข่าวช็อคครั้งใหญ่อีกหลายเหตุการณ์ในปีนี้ อันดับแรกเป็นการล่มสลายของระบบ Terra เมื่อเดือนพฤษภาคม อีกทั้ง Compute North, Voyager Digital, Celsius Network, Three Arrows Capital และ Blockfi ยังยื่นล้มละลาย และบางรายงานประเมินว่ามีลูกค้าหลายล้านคนสูญเสียเงินกว่าหลายพันล้านดอลลาร์จากเหตุการณ์เหล่านี้

    เหตุการณ์ในช่วงไม่กี่วันล่าสุดก็ดูไม่สดใสเช่นกัน Sam Bankman-Fried (SBF) ผู้ก่อตั้ง FTX ตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตที่ล่มลง วัย 30 ปี ถูกจับกุมตัวที่บาฮามาส หลังจากทางการสหรัฐฯ ตั้งข้อหา 8 กระทงกับเขา โดยผู้แทนของสำนักงานอัยการระบุว่า Bankman-Fried อาจต้องโทษจำคุกถึง 115 ปีเมื่อรวมความผิดคดีทางอาญาทั้งหมดเข้าด้วยกัน ตลาดยังได้รับภัยสัญญาณเตือนจากรายงานทางการเงินที่ดูมีความแปลกประหลาดจากคู่แข่งหลักของ FTX ซึ่งก็คือ Binance โดยมีตัวชี้วัดอยู่แค่สามเกณฑ์ จึงนำมาซึ่งความสับสนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้แทนในชุมชนนี้

    เหลือเวลาอีกไม่นานก็จะถึงปีใหม่แล้ว และนี่เป็นช่วงที่ “Santa Claus Rally”  หรือปรากฎการณ์ที่ดัชนีหุ้นมักจะขยับขึ้นไปอย่างฉับพลันในช่วงปลายเดือนธันวาคม ซึ่งอาจช่วยผลักดันให้บิทคอยน์และตลาดคริปโตทั้งตลาดขยับขึ้นไปด้วยกันได้ การทะยานขึ้นดังกล่าวมักจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์สุดท้ายของเดือนและกินเวลาทั้งหมดเจ็ดวัน อย่างไรก็ตาม ในบางปีซานตาคลอสก็ไม่ช่วยสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงแต่อย่างใด แต่ช่วยให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และจากนั้นแทนที่ซานตาคลอสจะกลับไปยังขั้วโลกเหนือ ก็ดันมุ่งหน้าตรงไปยังขั้วโลกใต้แทน

    (คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Santa Claus Rally นี้ได้ในส่วนบทความที่มีประโยชน์ของ NordFX)

    ผู้เชี่ยวชาญบางท่านหวังว่าบิทคอยน์จะสามารถยืนเหนือ $18,000 ได้สำเร็จในอนาคตอันใกล้ โดยประเมินว่ามีแนวโน้มมากที่สุดที่ราคาจะขึ้นไปถึงระดับสูงสุดที่ $20,000 ภายในสิ้นเดือนธันวาคม

    ในสถานการณ์ดังกล่าว ราคาบิทคอยน์จะขึ้นเส้นโค้งการเติบโตแบบพาราโบลา นักวิเคราะห์อย่าง Plan B ให้การคาดการณ์ล่าสุดว่า BTC อาจขยับถึง $100,000 ในปี 2023 Jim Wyckoff นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Kitco News เชื่อเช่นกันว่า BTC ใกล้จะเริ่มการทะยานขึ้นในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เพราะผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อมากเริ่มเข้ามามีบทบาท

    Arthur Hayes อดีตซีอีโอตลาดคริปโต BitMEX กล่าวว่า บิทคอยน์ได้ขยับถึงระดับต่ำสุดในวัฎจักรปัจจุบัน เนื่องจาก “องค์กรที่ไร้ความรับผิดชอบ” เกือบทั้งหมดไม่มีเหรียญจะขายอีกต่อไป Hayes อธิบายว่า ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาทางการเงิน บริษัทสินเชื่อที่มีศูนย์กลางทั้งหลายมักยืมเงินมาก่อน และขายเหรียญ BTC ที่ถือไว้ในภายหลัง ตามมาด้วยการทรุดลง “ถ้าคุณดูที่ยอดคงเหลือของฮีโร่ทั้งหลายเหล่านี้ คุณจะไม่พบบิทคอยน์เลย พวกเขาขายมันก่อนที่จะล้มละลาย"

    นี่คือคำอธิบายของ Hayes ต่อสาเหตุที่ราคาบิทคอยน์ดิ่งลงก่อนข่าวการล้มละลายของบริษัทเครดิตดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้เชื่อว่า ระยะเวลาการกำจัดสภาพคล่องขนานใหญนั้นสิ้นสุดลงแล้ว

    Catherine Wood ซีอีโอ ARK Invest วิจารณ์ในเชิงลบต่อบริษัทที่มีศูนย์กลางและพูดในเชิงบวกเกี่ยวกับ DeFi เธอมีความเห็นว่า DeFi จะได้รับการพัฒนาต่อไป เนื่องจากนักลงทุนได้เรียนรู้ว่าเครือข่ายไร้ศูนย์กลางที่โปร่งใสโดยสมบูรณ์นั้นมีความสำคัญอย่างไรเนื่องด้วยวิกฤตินี้ “เมื่อบริษัทคริปโตที่มีศูนย์กลางล้มละลายลง นักลงทุนที่ลงทุนในเครือข่ายที่โปร่งใสจะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาสามารถถอนสินทรัพย์ออกได้ทุกเมื่อ แม้แต่ผู้ที่ใช้อัตราทดที่สูงก็สามารถรอดได้” Catherine Wood กล่าว และเธอกล่าวเสริมว่า Sam Bankman-Fried ไม่ชอบบิทคอยน์มาตลอด เพราะว่ามันเป็นเหรียญที่โปร่งใสและกระจายศูนย์กลาง และเขาไม่สามารถควบคุมมันได้ รวมถึงในช่วงวิกฤติที่เกิดจากผู้เล่นที่มีศูนย์กลาง

    Arthur Hayes มีความเห็นว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีการฟื้นตัวในระดับหนึ่งในปี 2023 ท่ามกลางการตีพิมพ์ธนบัตรอีกรอบหนึ่งโดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ Mike McGlone นักยุทธศาสตรชั้นนำจาก Bloomberg Intelligence ก็คาดว่าจะมีกระแสเงินสดรอบใหม่อัดฉีดโดยธนาคารกลาง เขามองว่าปีหน้าจะเป็นปีแห่งตลาดบิทคอยน์ และเป็นเวลาของการส่องแสงสว่างหลังจากแนวโน้มขาลงมาตลอดช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เขากล่าวเสริมด้วยว่า หากนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายไม่เกิดขึ้น โลกเราจะดิ่งลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรง พร้อมผลกระทบเชิงลบต่อสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงทุกชนิด

    Max Keiser อดีตนักเทรด พิธีกรรายการทีวี และผู้กำกับภาพยนตร์เชื่อเช่นกันว่า BTC จะไล่ตามทันในปี 2023 อย่างแน่นอน และอาจจะวิ่งขึ้นอย่างดุดันก่อนการฮาล์ฟ (Halving) ในปี 2024 โดยเขามีความเห็นว่า การเติบโตของบิทคอยน์จะไปต่อในช่วงสิบปีข้างหน้านี้

    ในระหว่างนี้ ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม) ETH/USD ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $1,200 ในขณะที่ BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่ $16,830 โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงเกือบ 4.0% และคิดเป็น $0.818 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.852 ล้านล้านเมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่แล้ว) ด้านดัชนี  Crypto Fear & Greed Index ปรับขึ้นมาเพียง 3 จุดในรอบเจ็ดวัน จาก 26 เป็น 29 และยังคงอยู่ในโซนความกลัว

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)