มีนาคม 4, 2023

EUR/USD: หยุดพักอยู่ในโซน 1.0600

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 06 - 10 มีนาคม 20231

  • เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม ดัชนีดอลลาร์ DXY ตัดทะลุระดับ 105.00 แต่ปักหลักไม่สำเร็จ และก็เป็นไปตามปกติที่ดอลลาร์ได้รับการสนับสนุนโดยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรชุดสิบปีเพิ่มขึ้นทำระดับสูงขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายนที่ 4.09% โดยผลตอบแทนพันธบัตรชุดสองปีเพิ่มขึ้นเป็น 4.91% และทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 การปรับตัวเลขสถิติตลาดแรงงานในไตรมาสที่ 4 2022 และดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจภาคการผลิตของ ISM (PMI) ในภาคการผลิตของสหรัฐฯ ก็สนับสนุนดอลลาร์ด้วยเช่นกัน ในอีกด้านหนึ่ง ดอลลาร์ยังเจอกับแรงกดดันจากเงินหยวน ซึ่งแข็งค่าขึ้นเพราะสถิติเศรษฐกิจจากจีน ดัชนีกิจกรรมภาคการผลิต (PMI) ของจีนอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2012 โดยกิจกรรมในภาคการบริการเพิ่มขึ้นเช่นกัน และตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนเริ่มคงที่

    อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของ USD ยังคงเป็นความคาดหวังว่าธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะมีท่าทีอย่างไรต่อไปเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับขึ้นมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมกราคม โดยทำระดับ 6.4% ตลาดจึงเริ่มพูดถึงว่า ธนาคารเฟดอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่แค่ 25 จุดพื้นฐาน (bp) ในเดือนมีนาคม แต่จะปรับขึ้นเป็น 50 bps โดยทันที (ในขณะนี้ เครื่องมือ FedWatch ของ CME ได้คาดการณ์ความเป็นไปได้ดังกล่าวที่ 23%)

    การคาดการณ์นี้ได้รับการสนับสนุนโดยความเห็นสายเหยี่ยว (สนับสนุนให้ใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงิน) โดยกรรมาธิการ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) บางราย Rafael Bostic ประธานธนาคารเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยควรปรับขึ้นเป็น 5.00-5.25% และคงที่ระดับนี้ไปจนถึงปี 2024 ด้าน Neil Kashkari ประธานธนาคารเฟดสาขามินนิอาโปลิส ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าเขาจะโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย 25 bp หรือ 50 bp ในเดือนมีนาคมนี้ แต่ให้สัญญาณว่าจากแผนภาพ Dot Plot ของธนาคารเฟดชี้ว่าอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ในขณะเดียวกัน กรรมาธิการทั้งสองท่านเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และเน้นย้ำว่าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ จะช่วยให้สามารถต้านทานแรงกดดันจากนโยบายทางการเงินที่ดุดันของธนาาคารกลางได้ อย่างไรก็ตาม Rafael Bost กลับใช้น้ำเสียงอ่อนโยนมากขึ้น และกล่าวว่า ธนาคารกลางอาจระงับวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในฤดูร้อน หลังจากนั้นดอลลาร์จะค่อย ๆ อ่อนค่าลง

    นักวิเคราะห์บางรายไม่ตัดโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของ USD จะขยับขึ้นเป็น 5.5% ในเดือนกันยายน และบางทีอาจขึ้นไปถึง 6.0% โดยแน่นอนว่าจะต้องมีการปรับลดในช่วงสิ้นปี ความคาดหวังทั้งหลายเหล่านี้ยิ่งเข้าข้างดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยืนยันได้จากตลาดฟิวเจอร์ส แต่ถ้าเราพูดถึง EUR/USD เราไม่สามารถโฟกัสแค่ท่าทีของธนาคารเฟดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น อีกฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรก็ไม่ได้นิ่งเฉยแต่อย่างใด สถิติเงินเฟ้อของหลายประเทศในยุโรปชี้ให้เห็นว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็จะถูกบีบให้ต้องคงมาตรการคุมเข้มไปนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ การเปิดประเทศของจีนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ธนาคารกลางทั้งสองแห่งรับมือกับภาวะเงินเฟ้อยากกว่าเดิม ดังนั้น ตลาดจึงคาดว่านโยบายทางการเงินจะแข็งค่าขึ้นต่อไปในฝั่งธนาคารกลางยุโรป ซึ่งปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนคู่นี้คงตัวอยู่ที่บริเวณ 1.0600

    ในสัปดาห์ที่แล้ว ราคาปิดตลาดที่ 1.0632 ซึ่ง ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันที่ 3 มีนาคม) การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ดูไม่มีความแน่นอน เพราะราคาที่นิ่งตัวของ EUR/USD นักวิเคราะห์ 50% มีท่าทีเป็นกลาง ผู้เชี่ยวชาญ 30% เชื่อว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อ และ 20% ที่เหลือโหวตฝั่งเงินยูโร ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 50% ที่ให้สัญญาณสีแดง 15% สีเขียว และ 35% เป็นสีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 30% แนะนำให้ขาย 65% แนะนำให้ซื้อ สำหรับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0575-1.0605 ตามมาด้วยระดับและโซนคือ 1.5000-1.0530, 1.0440, 1.0375-1.0400, 1.0300 และ 1.0220-1.0255 ด้านกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0680-1.0710, 1.0740-1.0760, 1.0800, 1.0865, 1.0930, 1.0985-1.1030

    ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้จะมีการประกาศสถิติหลายชุด รวมถึงมีหลายเหตุการณ์ที่น่าจับตามอง โดยสถิติยอดค้าปลีกในยูโรโซนจะประกาศในวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสในวันอังคารและวันพุธ นอกจากนี้ ในเยอรมนีจะมีการประกาศดัชนีค้าปลีก ดัชนี GDP ของยูโรโซน และสถิติอัตรการจ้างงานในสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 8 มีนาคม ในวันพฤหัสบดีจะมีการประกาศจำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นในสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ในจีน ส่วนวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม เราจะได้ทราบดัชนีราคาผู้บริโภคในเยอรมนี และตามธรรมเนียมจะมีการประกาศสถิติที่สำคัญจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้แก่ อัตราการว่างงาน และจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP)

GBP/USD: สภาวะอารมณ์เป็นสีแดง

  • GBP/USD ขยับในกรอบด้านข้างมาเป็นเวลาสองสัปดาห์ติดต่อกัน แต่มีความผันผวนที่ค่อนข้างสูง ความผันผวนของราคา (1.1942-1.2147) นั้นมากกว่า 200 จุด และราคาปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ตรงกลางของกรอบคือ 1.2040 ในช่วงต้นเราได้อธิบายไปแล้วว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมีอะไรบ้าง ทางด้านเงินปอนด์นั้นได้รับแรงหนุนจากรายงานข่าวเรื่องข้อตกลงระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูเกี่ยวกับเขตแดนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งข้อพิพาททางการค้าได้รับการคลี่คลายแล้วในเวลานี้ แต่ถึงแม้ว่านี่จะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรโดยรวม ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า ผลกระทบเชิงบวกจากข้อตกลงดังกล่าวต่อเงินปอนด์จะคงอยู่เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น

    ราคาคู่นี้ยังคงมีปัจจัยกำหนดเป็นท่าทีของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ และ Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) ได้ให้ความเห็นที่คลุมเครือเมื่อวันพุธที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเขากล่าวว่ายังไม่มีการตัดสินใจสุดท้ายเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารฯ ควรมีความยืดหยุ่นในหลายเดือนข้างหน้า เพื่อที่จะไม่ทำให้ตลาดหวาดกลัว

    การคาดการณ์กลางของผู้เชี่ยวชาญในอนาคตอันใกล้มีดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 70% โหวตว่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าลงต่อ และคู่ GBP/USD จะขยับลดลง มี 10% เท่านั้นที่เชื่อว่าคู่นี้จะขยับขึ้น และ 20% เลือกที่จะไม่ให้ความเห็นใด ๆ ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 ให้ภาพรวมที่ 65% ต่อ 35% โดยฝั่งสีเขียวเป็นเสียงข้างมาก แต่ภาพรวมของออสซิลเลเตอร์นั้นแตกต่างออกไป โดยในที่นี้สีแดงเป็นฝ่ายได้เปรียบ 70% ต่อ 10% และ 20% ที่เหลือให้ผลลัพธ์เป็นกลาง ด้านระดับและโซนแนวรับของคู่นี้อยู่ที่ 1.1985-1.2025, 1.1960, 1.1900-1.1925, 1.1840, 1.1800, 1.1720 และ 1.1600 ทั้งนี้ เมื่อราคาขยับขึ้นไปทิศเหนือจะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2055, 1.2075-1.2085, 1.2145, 1.2185-1.2210, 1.2270, 1.2335, 1.2390-1.2400, 1.2430-1.2450, 1.2510, 1.2575-1.2610, 1.2700, 1.2750 และ 1.2940

    ในส่วนของปฏิทินเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ไม่คาดว่ามีการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญใด ๆ จากสหราชอาณาจักร จนถึงวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ซึ่งจะมีการประกาศ GDP และดัชนีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรประจำเดือนมกราคม

USD/JPY: ความอดทนและความอดทนเท่านั้น

  • USD/JPY ขยับขึ้นมาที่ 137.10 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม หลังการประกาศสถิติเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2022 เงินเยนถูกขัดขวางโดยนักการเมืองธนาคารเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่นเอง รวมถึงค่าส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรชุด 10 ปี ของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งทำระดับสูงสุดในเดือนมีนาคมนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022

    ความเสียหายหนักต่อเงินเยนญี่ปุ่นยังมีผลมาจาก Kazuo Ueda ผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) คนใหม่ การแต่งตั้งเขายิ่งทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังในหมู่ผู้ที่คาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่น นักลงทุนต่างผิดหวังที่ไม่ได้รับสัญญาณ “สายเหยี่ยว” จากคำแถลงของเขา ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มความต้องการในการเก็งกำไรจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องเทียบกับดัชนี DXY และแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลชุด 10 ปี

    USD/JPY เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 130.08 และขณะนี้อยู่ที่ 135.84 ณ วันที่ 3 มีนาคม อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงไม่หมดหวังว่า เงินเยนญี่ปุ่นจะแข็งค่าขึ้นต่อ “เนื่องจากดอลลาร์ทำระดับสูงสุดในช่วงท้ายเดือนกันยายน เงินเยนกลายเป็นค่าเงินที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในกลุ่มประเทศ G10 จนถึงปลายเดือนมกราคม” กล่าวโดยนักเศรษฐศาสตร์จาก MUFG Bank การถอยหลังกลับไปในบริบทนี้ย่อมเข้าใจได้ แต่เราเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อจะลดลง และผลตอบแทนของพันธบัตรรอบโลกจะเข้าใกล้ระดับสูงสุด ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวในเงินเยน และนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลง”

    นักยุทธศาสตร์จาก HSBC เครือบริษัททางการเงินขนาดใหญ่ที่สุดเห็นด้วยกับความเห็นนี้ “เราจะยังมองแนวโน้มกระทิงกับเงินเยนในระยะกลาง แต่เราสันนิษฐานว่าจะต้องอาศัยความอดทนระดับหนึ่งเพื่อให้เงินเยนมีความแข็งแกร่งที่เป็นอิสระจากธนาคารกลางญี่ปุ่น ในขณะนี้ USD/JPY มีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากพัฒนาการที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเราจะได้เห็นสมดุลของความเสี่ยงที่โน้มเอียงไปทางดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง”

    การประชุมครั้งถัดไปของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายที่นาย Haruhiko Kuroda เป็นประธานการประชุม หลังจากนั้นเขาจะมอบตำแหน่งให้กับ Kazuo Ueda ด้านนักวิเคราะห์ JPMorgan (เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่) ไม่คาดว่านโยบายของ BoJ จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือจะให้สัญญาณการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในการประชุมครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่นาย Kuroda จะปิดประตูเสียงดังในการอำลาตำแหน่ง และมีความเป็นไปได้สูงที่อัตราดอกเบี้ยจะคงตัวที่ระดับติดลบเดิม -0.1% ดังนั้น สิ่งที่ผู้สนับสนุนเงินเยนทำได้คือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของ HSBC และอดทนต่อไป

    อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยคาดว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต นอกจากนักยุทธศาสตร์จาก MUFG Bank และ HSBC ที่เรากล่าวถึงข้างต้น BNP Paribas Research มีความเห็นที่คล้ายกัน ด้านนักเศรษฐศาสตร์จาก Danske Bank ทำนายว่าอัตราดอกเบี้ย USD/JPY จะลดลงมาที่ระดับ 125.000 ในเวลาสามเดือน พวกเขามีความเห็นว่า ในกรณีที่นโยบายทางการเงินเข้มงวดมากขึ้น ผลตอบแทนที่เป็นบวกในญี่ปุ่นอาจกระตุ้นให้กระแสเงินไหลกลับเข้ามาจากนักลงทุนในประเทศ และจะส่งผลให้ USD/JPY อยู่ที่บริเวณ 121.00 ภายในสิ้นปี 2023 แต่ยังคงเป็นเพียงสมมติฐานที่ไม่แน่นอนเท่านั้น ทั้งนี้มีนักวิเคราะห์ 60% ที่เห็นด้วยกับแนวโน้มดังกล่าว ในส่วนอนาคตอันใกล้มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 10% ที่มองว่าราคาจะขยับลงทิศใต้ในขณะนี้ ส่วน 45% ชี้ทิศทางตรงกันข้าม และ 45% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง

    ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 85% ชี้ไปยังทิศเหนือ 15% ที่เหลือให้ทิศทางที่ตรงกันข้าม ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ 65% ชี้ไปยังทิศเหนือ และ 35% ทิศใต้ สำหรับระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 134.90-135.20 ตามมาด้วยระดับและโซนคือ 134.40, 134.00, 133.60, 132.80-133.20, 131.85-132.00, 131.25 130.50, 129.70-130.00 ส่วนระดับและโซนแนวต้าน ได้แก่ 136.00-136.30, 136.70-137.10, 137.50, 139.00-139.35, 140.60, 143.75.

    สำหรับเหตุการณ์ที่สำคัญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น จะมีการประกาศสถิติ GDP ญี่ปุ่นในวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม

คริปโตเคอเรนซี: บิทคอยน์รอแรงกระตุ้นรอบใหม่

  • ประโยคแรกของบทวิเคราะห์ของเราในสัปดาห์ที่แล้วคือ “บิทคอยน์อยู่ภายใต้แรงกดดัน แต่ยังไม่ยอมแพ้” ในส่วนของบทวิเคราะห์สัปดาห์นี้ เราคงต้องยืนยันคำเดิมคือ บิทคอยน์อยู่ภายใต้แรงกดดัน แต่ยังไม่ยอมแพ้ เรามาเริ่มพูดถึงข่าวรอบโลกกันก่อน ข่าวดีก็คือหน่วยงานทางการชั้นนำรอบโลกจะไม่สั่งแบนคริปโตโดยสิ้นเชิง ข่าวร้ายก็คือแรงกดดันจากภาครัฐต่ออุตสาหกรรมนั้นมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

    การกำกับดูแลตลาดคริปโตเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักที่รัฐมนตรีการคลังและผู้แทนจากธนาคารกลางหารือกันในการประชุม G20 ในที่ประชุม Janet Yellen รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่าการกำกับดูแลอุตสาหกรรมคริปโตเป็นเรื่องสำคัญ แต่วอชิงตันไม่ได้พิจารณาการสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง “สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือต้องสร้างกรอบการกำกับดูแลที่ไว้ใจได้ และเรากำลังดำเนินงานเรื่องนี้กับรัฐบาลประเทศอื่น ๆ” เธอกล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ส Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการบริหารไอเอมเอฟเห็นด้วยกับเธอ และกล่าวว่าองค์กรไอเอมเอฟก็สนับสนุนให้มีการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเพียงพอ และคัดค้านการสั่งแบนโดยสมบูรณ์เช่นกัน

    ทั้งนี้ การที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทควบคุมมากขึ้น แม้ว่าจะบีบผู้เล่นหลายรายให้ออกจากโซนที่ปลอดภัย แต่ก็อาจจะส่งผลในทางบวกให้กับอุตสาหกรรมคริปโตได้ในที่สุด และช่วยผ่อนคลายแรงสะเทือนจากการล้มละลายของแพลตฟอร์ม เช่น FTX นอกจากนี้ กติกาที่ชัดเจนจะช่วยดึงดูดนักลงทุนรายสถาบันหลายราย และยิ่งเพิ่มมูลค่ารวมในตลาดคริปโตให้ทำระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนได้

    แต่นี่เป็นเรื่องของอนาคต ปัจจุบัน “ฝูง” วาฬ (ที่ถือครองมากกว่า 1,000 BTC) ยังคงลดลงต่อเนื่อง ทำระดับต่ำสุดในรอบสามปีที่ 1,663 ราย โดยเคยทำระดับสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่ 2,500 ราย แต่ก็เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดคริปโตมีพัฒนาการดีขึ้นในช่วงต้นปี 2023 และนี่เป็นผลการวิจัยของนักวิเคราะห์จาก Bank of America

    ณ ขณะนี้ ราคาบิทคอยน์ยังได้รับการสนับสนุนโดยนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนระดับกลาง Glassnode บริษัทด้านการวิเคราะห์ชี้ว่า เงินที่ไหลเข้าในตลาดในรอบ 30 วันนั้นมากกว่าเงินที่ไหลออกเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน และกลับเข้าสู่โซน “สีเขียว” อีกครั้ง มูลค่าการซื้อขายสะสมสุทธิเป็นบวกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ดังกล่าวติดลบมาตลอด

    นักวิเคราะห์ชี้่ว่า ตัวชี้วัดเชิงบวกอีกประการหนึ่งคือ จำนวนที่ลดลงของกระเป๋าเงินวาฬมายังระดับต่ำสุดในรอบสามปี หมายความว่าสินทรัพย์มีการกระจายตัวมากขึ้น และกระจุกตัวในหมู่ผู้ถือเหรียญรายใหญ่น้อยลง สิ่งนี้เป็นเรื่องดีต่อระบบนิเวศทั้งระบบ เพราะมันช่วยลดการปั่นป่วนตลาดโดยผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย

    ปัจจัยบวกอีกประการหนึ่งในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญบางรายคือ ความสัมพันธ์ที่ลดลงระหว่างบิทคอยน์กับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ และดัชนีเศรษฐกิจมหภาค บิทคอยน์ยังคงเคลื่อนที่ในกรอบแคบ ๆ ที่ $23,000-24,000 เกือบทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา และปรับลดลงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม บางทีอาจเป็นเพราะข่าวที่ว่า Silvergate Bank from California (USA) อีกหนึ่งผู้เล่นในตลาดคริปโต ใกล้จะประสบกับภาวะล้มละลาย

    นักวิเคราะห์จากบริษัทด้านการลงทุน Bernstein ชี้ว่า ความสัมพันธ์ของบิทคอยน์กับดัชนี Nasdaq Composite ลดลงจาก 0.94 เหลือ 0.58 ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดกำลังปรับสมดุลระหว่างกระทิงและหมี “ที่กำลังรอแรงกระตุ้นรอบใหม่” และความเปราะบางต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกการเงินดั้งเดิม “นั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

    เรายังสามารถสังเกตเห็นการอ่อนค่าลงและการแข็งค่าขึ้นของความสัมพันธ์ระหว่างบิทคอยน์กับตลาดหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคม - เดือนกันยายนที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ที่ “การถอยห่างความสัมพันธ์” ของ BTC จากตลาดหุ้นนั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว โดยมีความชัดเจนว่าความกังวลหลักของสินทรัพย์ความเสี่ยงทั้งหมดนั้นเกี่ยวข้องกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องโดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ ซึ่งอาจกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดแนวโน้มขาลงรอบใหม่ของ BTC/USD ได้

    Michael van de Poppe ซีอีโอ Eight เชื่อว่าบิทคอยน์กำลังเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรเป็นมากที่สุดในขณะนี้ เขาได้โพสต์รีวิวในวิดีโอ ซึ่งเขาทำนายว่าบิทคอยน์จะเติบโตไปที่ $40,000 ในปีนี้ การคาดการณ์นี้เกิดขึ้นแม้ว่าจะมีข่าวไม่ค่อยดีนักในช่วงที่ผ่านมา และสภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังคงบั่นทอนสถานการณ์ ดัชนีการจับจ่ายใช้สอยส่วนตัวของผู้บริโภค (PCE) อยู่ที่ 4.7% จากการคาดการณ์ที่ 4.3% ซึ่งมีการกล่าวไว้แล้วว่า สถานการณ์นี้จะทำให้ธนาคารเฟดอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 50 จุดพื้นฐาน (bps) ในเดือนมีนาคม และไม่ใช่ 25 bps อย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

    Cryptovizor เครื่องมือกรองบิทคอยน์ชี้ว่า เหรียญได้ทำระดับสูงสุดในกรอบเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจากนั้นก็เริ่มขยับลง แต่ทั้งสถิติเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงและการย่อตัวของบิทคอยน์ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของ Van de Poppe เขามองว่า สัญญาณ Bullish Divergence บนกราฟรายสัปดาห์บ่งชี้ว่า เราได้ถึงจุดต่ำสุดไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือราคาจะดีดตัวออกจากเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 สัปดาห์และจะแข็งตัว (consolidating) นักเทรดมองว่า การเคลื่อนที่แนวไซด์เวยส์มีความเป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้ ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด BTC/USD อาจขยับลงไปที่ระดับ $18,000 และนี่จะกลายเป็นโอกาสการลงทุนที่ยอดเยี่ยม

    Van de Poppe เชื่อว่าเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในช่วงภาวะถดถอยในเวลานี้ แต่มันอาจเริ่มต้นขึ้น เนื่องด้วยความล้มเหลวของตลาดสินเชื่อและตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น บิทคอยน์อาจขยับขึ้นไปที่ $40,000 เพราะวิกฤติมักใช้เวลาในการปะทุ 6-12 เดือน หลังจากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ สัญญาณที่การทะยานขึ้นรอบถัดไปจะเริ่มขึ้นอาจเป็นการยกเลิกคำสั่งห้ามขุดเหรียญคริปโตในจีน หรือการให้การรับรองคริปโตในฮ่องกง

    คนที่ทำนายว่าจะเกิดหายนะทางการเงินรอบโลกคือ Robert Kiyosaki เจ้าของหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนหลายเล่ม รวมถึงเล่มขายดีอย่าง Rich Dad Poor Dad เป็นนักวิจารณ์นโยบายการเงินของธนาคารเฟดมาโดยตลอด และมักแสดงความกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ และขณะนี้ “นักเขียน” ท่านนี้กล่าวอย่างมั่นใจว่า ดอลลาร์ปลอมกำลังทำให้จักรวรรดิอเมริกันถอยหลัง คำกล่าวของ Kiyosaki ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในชุมชนคริปโต เพราะมันแสดงถึงประโยชน์ของบิทคอยน์ ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ตั้งข้อสังเกตว่า สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น BTC ต่างจากสกุลเงินเฟียต เพราะมันไม่เผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อ เพราะมีปริมาณที่จำกัด และถูกกำหนดโดยอัลกอริทึมที่มีความเหมาะสม

    ก่อนหน้านี้ Kiyosaki ได้ออกมาทำนายว่าราคาบิทคอยน์จะขึ้นไปที่ $500,000 ภายในปี 2025 “การล่มสลายครั้งใหญ่กำลังมาถึง เศรษฐกิจตกต่ำเกิดขึ้นได้ ธนาคารเฟดจะถูกบีบให้ต้องพิมพ์ธนบัตรอีกหลายพันล้านเหรียญ ทองคำจะมีมูลค่า $5,000 เงินที่ $500 และบิทคอยน์ $500,000 ภายในปี 2025” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าทองคำและเงินเป็นเงินของพระเจ้า และบิทคอยน์เป็นเหมือนกับดอลลาร์สำหรับคนธรรมดาทั่วไป

    Matt Hougan ผู้อำนวยการด้านการลงทุนจาก Bitwise กล่าวในบทสัมภาษณ์ล่าสุดว่าเขา “มีทัศนคติที่เป็นบวกอย่างมากต่อช่วงสามปีข้างหน้า” เขามองว่า คริปโตเคอเรนซีจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างในช่วงปี 2023-2025 และราคาจะเติบโตต่อไป “วัฎจักรตลาดกระทิงนี้จะเป็นวัฎจักรรอบใหญ่ที่สุดในแง่ของจำนวนผู้ใช้งาน ในแง่มูลค่ารวมในตลาด และในแง่อื่น ๆ ใดที่เราให้ความสนใจ” เขากล่าว “แต่มันจะไม่เกิดขึ้นโดยตรงและทันที “จริง ๆ ผมก็มองเรื่องการกำกับดูแลในแง่ดีเช่นกัน” กล่าวโดย Matt Hougan

    Steve Wozniak ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ก็มองแนวโน้มกระทิงในสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน เขาทำนายว่า BTC จะพุ่งขึ้นไปที่ $100,000 และบิทคอยน์มีศักยภาพที่ดี และราคาจะเพิ่มขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า

    ในระหว่างนี้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม) BTC/USD เทรดอยู่ในโซน $22,250 โดยมีมูลค่ารวมในตลาดอยู่ที่ $1.024 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.059 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ปรับลดลงจาก 53 เหลือ 50 จุดในหนึ่งสัปดาห์ และอยู่ระดับตรงกลางของโซน Neutral

    สุดท้ายนี้เป็นข่าวไลฟ์แฮ็คคริปโต ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ที่ไม่ชอบการกำกับดูแล ซึ่งเราได้พูดถึงไปในช่วงต้นบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ปรากฏว่ารัฐบาลรัฐ Ras Al Khaimah (RAK) หนึ่งในรัฐของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์วางแผนที่จะสร้างเขตเสรีให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล National News รายงานว่า RAK Digital Assets Oasis จะกลายเป็นศูนย์รวมกิจกรรมที่ไร้การกำกับดูแลของคนในแวดวงนี้ โดยจะเริ่มการสมัครตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2023

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)