มิถุนายน 3, 2023

EUR/USD: ดอลลาร์จะกลับสู่การเติบโตที่ยั่งยืนหรือไม่?

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 5 - 9 มิถุนายน 20231

  • ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม ดัชนี DXY ขยับถึงระดับ 104.609 ในวันสุดท้ายของฤดูใบไม้ผลิ วันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งดอลลาร์ไม่เคยแข็งค่าขึ้นมาถึงระดับนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 อย่างที่เราเคยกล่าวไปแล้วมีปัจจัยหลักสองประการที่ผลักดันให้ค่าเงินอเมริกันแข็งค่าขึ้น

    ปัจจัยแรกคือความต้องการถือดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจากภัยเรื่องรัฐบาลสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ดี วุฒิสภาได้โหวตเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายเรื่องเพดานหนี้สาธารณะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภัยดังกล่าวจึงค่อย ๆ จางหายไป ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในตลาดและลดความต้องการต่อค่าเงินดอลลาร์

    ปัจจัยประการที่สองคือ การคาดการณ์ว่าธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จากคำพูดและท่าทีสายเหยี่ยวจากผู้บริหาร มีความเป็นไปได้ 60% ณ ปลายเดือนพฤษภาคม ที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 5.5% ในวันที่ 14 มิถุนายน

    อย่างไรก็ดี บทเพลงเก่าเพลงหนึ่งประพันธ์ไว้ว่า “หัวใจที่สวยงามมักจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน” ในที่นี้ ผู้ที่สวมบทบาทเป็น “ความสวยงาม” ที่ว่านั้นคือ นาย Philip Jefferson รองประธานธนาคารเฟด ผู้ให้สัญญาณเล็กน้อยว่าจำเป็นต้องหยุดพักกระบวนการเพิ่มความเข้มงวดทางการเงิน นอกจากนี้ นาย Patrick Harker ประธานธนาคารเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียยังกล่าวอย่างชัดเจนด้วยว่า “เราควรจะข้ามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอย่างน้อยในการประชุมเดือนมิถุนายน” จากนั้น Harker ก็กล่าวต่อว่า จริง ๆ แล้วเราควรจะเว้นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยข้ามไปเดือนเว้นเดือนของการประชุม FOMC รวมถึงของเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ตลาดจึงนึกถึงคำพูดของนาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดสหรัฐฯ ทันทีที่ก่อนหน้านี้เคยพูดถึงการหยุดพักมาก่อนแล้ว

    สถิติเศรษฐกิจมหภาคสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งน่าจะเป็นตัวช่วยหนุนเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี รายงานการจ้างงานจาก ADP ซึ่งประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน ชี้ให้เห็นถึงจำนวนตำแหน่งในภาคเอกชนที่ลดลงจาก 291K ในเดือนเมษายน เหลือ 279% ในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่จำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นจะเพิ่มขึ้นจาก 230K เป็น 232K เศรษฐกิจที่นิ่งสงบลงยังเห็นได้จากแนวโน้มที่ลดลงของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสถาบัน ISM (PMI) ในภาคการผลิตจาก 47.1 เหลือ 46.9 (ทั้งนี้ หากดัชนี PMI ต่ำกว่า 50 จะแสดงถึงสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว โดยเฉพาะหากแนวโน้มนั้นยังคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน) นอกจากนี้ การทบทวนตัวเลขต้นทุนแรงงานต่อหน่วยในไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ซึ่งถูกปรับลดลง 6.3% เหลือ 4.2% ยิ่งกระตุ้นแนวโน้มสายพิราบ สถิติที่อ่อนแอเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความสงสัยในตลาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายนนี้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ FedWatch Tool จาก CME Group จึงให้ข้อสรุปว่า โอกาสที่สถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นร่วงลงจาก 60% เหลือ 25% โดยดัชนี DXY ก็พลิกกลับลงทิศใต้เช่นกัน

    หากสถิติสหรัฐฯ ในวันที่ 1 มิถุนายน สวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ สถิติจากยุโรปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมกลับช่วยหนุน EUR/USD ให้ขยับถึงระดับต่ำสุดในรอบ 9 สัปดาห์ที่ 1.0634 โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ในแนวโน้มขาลง โดยมีตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 7.0% และตัวเลขคาดการณ์ที่ 6.3% ส่วนดัชนี CPI จริงลดลงเหลือ 6.1% หากเราพูดถึงแต่ละประเทศสมาชิกของอียู อัตราการเติบโตของราคาสินค้าเพื่อผู้บริโภคในอิตาลีลดลงจาก 8.7% เหลือ 8.1% ในฝรั่งเศสจาก 6.9% เหลือ 6.0% และในเยอรมนีจาก 7.6% เหลือ 6.3% ส่วนในสเปน ดัชนี CPI ลดลงต่ำสุดในรอบสองปี

    ในขณะเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงยิ่งทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดก็ลดลงเช่นกัน แต่ในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ECB มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 จุดพื้นฐาน (bp) เป็น 4.0% แต่ถึงอย่างนั้น ดอกเบี้ยจะยังถือว่าต่ำกว่าระดับปัจจุบันของธนาคารเฟดที่ 5.25% และหาก ECB หยุดขึ้นดอกเบี้ยและรอดูสถานการณ์ จะเป็นการตัดโอกาสไพ่ไม้ตายของฝั่งกระทิงของคู่ EUR/USD

    สถิติแรงงานที่แข็งแกร่ง ตามธรรมเนียมแล้วในวันศุกร์แรกของเดือน วันที่ 2 มิถุนายน ควรจะช่วยพยุงดอลลาร์ในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยดัชนี NFP (Non-Farm Payrolls) เป็นไปตามการคาดการณื จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตรจริงเพิ่มขึ้นเป็น 339K ในขณะที่ตัวเลขก่อนหน้าอยู่ที่ 294K และตัวเลขคาดการณ์ที่ 180K อย่างไรก็ดี ดัชนีที่สำคัญอีกหนึ่งดัชนีคืออัตราว่างงานนั้นกลับทำให้นักลงทุนผิดหวัง อัตราว่างงานในสหรัฐฯ ขยับถึง 3.7% ในเดือนพฤษภาคม (3.4% ในเดือนเมษายน และการคาดการณ์ที่ 3.5%)

    หลังจากรายงานการจ้างงานที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้ราคาปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ระดับ 1.0707 ในส่วนของแนวโน้มระยะใกล้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ วันที่ 2 มิถุนายน การคาดการณ์ยังคงอยู่ตรงกลาง โดยนักวิเคราะห์ 50% คาดว่าราคาจะขยับขึ้นทิศเหนือ และจำนวนเท่ากันก็คาดการณ์ทิศใต้ ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ความได้เปรียบที่ชัดเจนนั้นอยู่ฝั่งดอลลาร์ 85% ให้สัญญาณสีแดง 15% ให้สัญญาณสีเขียว ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 85% ที่ให้สัญญาณสีแดง (15% เป็นสีเขียว) ส่วนแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0680 ตามมาด้วยโซนและระดับที่ 1.0620-1.0635 และ 1.0490-1.0525 ส่วนฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0745-1.0707 ตามมาด้วย 1.0800-1.0835, 1.0865, 1.0895-1.0925, 1.0985, 1.1045, และ 1.1090-1.1110

    สำหรับปฏิทินของสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน จะได้ทราบดัชนี PMI ภาคบริการของ ISM (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) ของสหรัฐฯ ด้านทบวงข้อมูลพลังงาน (EIA) จะรายงานภาพรวมตลาดพลังงานและประกาศปริมาณน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผันผวนในวันอังคารและวันพุธ นอกจากนี้ วันอังคารที่ 6 มิถุนายน จะได้ทราบดัชนีปริมาณค้าปลีกของยูโรโซน และ 8 มิถุนายนจะมีความผันผวนค่อนข้างสูง เพราะจะมีการประกาศดัชนี GDP ของยูโรโซน และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ

GBP/USD: เงินเฟ้อสหราชอาณาจักรดันเงินปอนด์ให้สูงขึ้น

  • ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินปอนด์ฟื้นตัวขึ้นมาจากที่เคยติดลบไปตั้งแต่วันที่ 12-25 พฤษภาคม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรของสัปดาห์ที่แล้วช็อคตลาด โดยภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น รายงานเดือนเมษายนชี้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 1.2% เทียบกับ 0.8% เมื่อเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานทำระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ 6.8% ปีต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 6.2% แต่อัตราเงินเฟ้อรายปีชะลอตัวจาก 10.1% เหลือ 8.7% ซึ่งยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 8.2% นี่คือตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือน แต่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายอยู่มาก โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อค่าอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 19.1% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ปี 1977 ตัวเลขนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อครัวเรือนรายได้น้อย เพราะสถานการณ์นี้บีบให้พวกเขาต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้นไปกับค่าอาหาร และมีเงินน้อยลงสำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ

    นาย Jeremy Hunt รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอังกฤษได้พูดถึงความจำเป็นที่ต้องเดินหน้ากับนโยบายทางการเงินแบบสายเหยี่ยวต่อไป แม้ว่าจะมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น เขาให้ข้อสังเกตว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นไปได้เฉพาะเมื่อเราเอาชนะภาวะเงินเฟ้อโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น นักลงทุนจึงมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 จุดในการประชุมครั้งถัดไป และไม่น่าจะหยุดอยู่แค่นั้น

    ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งประการที่ช่วยให้ GBP/USD ขยับถึงระดับ 1.2544 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ในขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างแข็งขันในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ในสัปดาห์ที่แล้วดอลลาร์เจอแรงกดดันจากแรงขาย (ตามเหตุผลที่เรากล่าวไปแล้วข้างต้น) ซึ่งทำให้ GBP/USD ทะยานขึ้นมา หลังจากการประกาศสถิติจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ราคาก็ปิดท้ายที่ 1.2450

    ในสถานการณ์เช่นนี้ นักวิเคราะห์ให้การคาดการณ์ดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 45% ยังคงเชื่อในแนวโน้มขาขึ้น 30% โหวตให้ขาลง และ 25% เลือกที่จะไม่ให้ความเห็นใด ๆ ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 15% เท่านั้นที่แนะนำให้ขาย และ 50% ที่แนะนำให้เข้าซื้อ และ 35% ให้สีเทากลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ สมดุลของอำนาจระหว่างฝั่งสีเขียวและสีแดงคือ 85% ต่อ 15% โดยสีเขียวเป็นฝ่ายได้เปรียบ

    ถ้าหากราคาคู่นี้ขยับลงทิศใต้ ระดับและโซนแนวรับจะอยู่ที่ 1.2390-1.2420, 1.2300-1.2330, 1.2275, 1.2200-1.2210 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้น จะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2480, 1.2510, 1.2540, 1.2570, 1.2610-1.2635, 1.2675-1.2700, 1.2820 และ 1.2940

    ในส่วนของดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจแบบคอมโพสิต (PMI) รวมถึงดัชนี PMI ในภาคบริการของสหราชอาณาจักรจะประกาศให้ทราบในสัปดาห์หน้า ในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน ซึ่งภาพรวมกิจกรรมทางธุรกิจนั้นจะต้องดูดัชนี PMI ภาคการก่อสร้างประกอบ ซึ่งประกาศในวันถัดมา วันอังคารที่ 6 มิถุนายนนี้

USD/JPY: ราคาคู่นี้เตรียมกลับสู่โล

  • ในบทรีวิวสัปดาห์ที่แล้วเราเขียนหัวข้อไว้ว่า "USD/JPY ได้รับ “ตั๋วไปยังดวงจันทร์” ส่วนในสัปดาห์นี้อาจจะเรียกได้ว่า “ราคาคู่นี้เตรียมกลับสู่โลก” หรืออย่างน้อยมันก็พยายามเช่นนั้นตามการคาดการณ์ที่เคยให้ไว้โดยนักวิเคราะห์ 75% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยราคาได้ขยับถึงระดับสูงสุดในรอบห้าวันทำการ (และในรอบหกเดือน) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ระดับ 140.92 ส่วนระดับต่ำสุดของวันที่ 1 มิถุนายน อยู่ต่ำลงมา 250 จุดที่ 138.42 อย่างไรก็ดี ราคากลับมีความทะเยอทะยานที่จะไปให้ถึงดวงดาวอีกครั้งและปิดท้ายสัปดาห์ที่ 139.95

    มีความชัดเจนว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม หากเราพูดถึงแนวโน้มในอนาคต ทุกอย่างยังคงไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน เราจะมาอ้างถึงคำกล่าวบางคำในที่นี้กัน

    นาย Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) กล่าวต่อรัฐสภาว่า จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะไปถึงเป้าหมายการเติบโตของราคาที่ 2.0% เขายังเสริมด้วยว่า เขาไม่สามารถบอกได้ว่าจะไปถึงเป้าหมายนี้เมื่อใด นอกจากนี้ ผู้ว่าการ BoJ เชื่อว่า การกำหนดกรอบเวลาที่ตายตัวในการบรรลุเป้าหมายนี้อาจทำให้เกิดผลที่ตามมาที่ไม่คาดคิดในตลาด และจึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

    ในวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน นาย Shunichi Suzuki รัฐมนตรีการเงินของญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์ เขามองว่า อัตราแลกเปลี่ยนนั้นถูกกำหนดโดยตลาดและปัจจัยหลายประการ เขายังกล่าวด้วยว่า “เงินเยนที่อ่อนค่ามีผลกระทบต่อที่หลากหลายต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น” อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีท่านนี้ไม่ได้ระบุว่า “ปัจจัยหลากหลายประการ” ที่ว่านี้มีอะไรบ้าง และ “ผลกระทบที่หลากหลาย” ที่ว่านั้นคืออะไร

    ในสถานการณ์ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์จาก ING เครือธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์เชื่อว่า  "USD/JPY มีมูลค่าที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับสภาวะการซื้อขาย ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ดูเอื้อต่อเงินเยนมากกว่าหนึ่งปีก่อนหน้านี้” พวกเขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “ยังคงมีความเสี่ยงที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะประกาศเซอร์ไพรส์ในวันที่ 16 มิถุนายน โดยจะยิ่งปรับเส้นโค้งผลตอบแทนในนโยบายควบคุมต่อไป” ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อเงินเยนได้

    นักยุทธศาสตร์จาก Wells Fargo ชี้ว่า หนึ่งในธนาคาร “ยักษ์ใหญ่สี่แห่ง” ของสหรัฐฯ มีมุมมองที่สดใสต่ออนาคตของเงินญี่ปุ่นเช่นกัน โดยคาดว่าเงินเยนจะเป็นสกุลเงินที่ได้รับผลประโยชน์จากดอลลาร์ที่อ่อนค่า พวกเขาเชื่อว่า “เงินเยนญี่ปุ่นจะปรับนโยบายในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 เพื่อปรับสมดุลตลาดพันธบัตรรัฐบาลต่อไป” ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปีนี้ “เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจจะได้รับแรงหนุนจากการสิ้นสุดลงของวัฎจักรนโยบายแบบเข้มงวดของธนาคารรอบโลกด้วยเช่นกัน และการเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย รวมถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และครึ่งปีหลังของปี 2023” กล่าวโดยนักยุทธศาสตร์จาก Wells Fargo “เรากำลังตั้งเป้าหมายราคาไว้ที่ USD/JPY ภายในสิ้นปี 2023 และ 129.000 ภายในสิ้นปี 2024”

    สำหรับอนาคตอันใกล้ของคู่นี้ คะแนนเสียงของนักวิเคราะห์แบ่งออกเป็นดังนี้ ในขณะนี้ นักวิเคราะห์ 65% หวังว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นต่อไปและราคาคู่นี้จะขยับลงทิศใต้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเพียง 25% เท่านั้นที่โหวตให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และ 10% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ฝั่งที่ได้เปรียบอย่างชัดเจนคือดอลลาร์ โดยอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์ 85% ชี้ไปยังทิศเหนือ (10% ชี้สภาวะ overbought) โดยมีระดับและโซนแนวรับที่ใกล้ที่สุดที่บริเวณ 139.45 ตามมาด้วย 138.75-139.05, 137.50, 135.90-136.10, 134.85-135.15, 134.40, 133.60, 132.80-133.00, 132.00, 131.25, 130.50-130.60 และ 129.65 ส่วนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 140.90-141.00 หลังจากนั้น ฝั่งกระทิงจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่ระดับ 142.20, 143.50 และ 144.90-145.10 และหลังจากนั้นมันก็จะอยู่ไม่ไกลจากระดับสูงสุดที่ 151.95 ของเดือนตุลาคมปี 2022

    ไม่คาดว่าจะมีการประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากฝั่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ยกเว้นในวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน ซึ่จะมีการประกาศดัชนี GDP ญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ปี 2023

คริปโตเคอเรนซี: การคาดการณ์ที่ค่อนข้างเป็นบวกสำหรับบิทคอยน์

  • หลังจากราคาดีดออกจากแนวรับที่ $25,850 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ฝั่งกระทิงก็เริ่มโจมตีและกระตุ้นความหวังให้กับหัวใจของนักลงทุน อย่างไรก็ดี กำลังของพวกเขาดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะพาราคาขึ้นไปที่แนวต้าน $29,000 โดยราคาทำระดับสูงสุดในกรอบเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ $28,433 หลังจากนั้น BTC/USD ถอยลงมาที่แนวรับที่ $26,500 และทำให้นักลงทุนต่างต้องผิดหวัง

    พฤติกรรมนี้น่าจะเป็นผลมาจากการเก็งกำไรเรื่องหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่เมื่อพิจารณาจากกราฟจะไม่เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างบิทคอยน์กับดัชนีหุ้น (S&P500, Dow Jones และ Nasdaq) หรือไม่มีความสัมพันธ์แบบผกผันกับดัชนีดอลลาร์ (DXY) ที่สังเกตเห็นได้ในราคาบิทคอยน์

     หลังจากเหตุการณ์ที่สำคัญและโกลาหลในวงการคริปโตในปี 2022 และต้นปี 2023 เช่น การล่มลงของ FTX ในเดือนพฤศจิกายน และเหตุการณ์ล้มละลายของ Celsius, Voyager Digital และ Three Arrows Capital บิทคอยน์สามารถลดการขาดทุนและเติบโตขึ้นถึง 60% นับตั้งแต่ต้นปี Business Insider ได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อบิทคอยน์ภายในสิ้นปี 2023 Tone Vays นักวิเคราะห์คริปโตชื่อดังเชื่อว่า บิทคอยน์กำลังออกจากช่วงสะสมกำลัง (consolidation) โดยมีนักลงทุนหลายคนที่ “เข้าช้อนซื้อบิทคอยน์” ซึ่งบ่งชี้ว่าบิทคอยน์กำลังเตรียมเข้าเกียร์ที่จะเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาจะทะยานขึ้นได้นั้น จะต้องเอาชนะแนวต้านที่ $30,000 ให้สำเร็จ หากฝั่งกระทิงสามารถทำได้สำเร็จ BTC จะเตรียมทะยานขึ้นระดับสูงสุดใหม่

    “มันคือเวลาที่บิทคอยน์ควรขยับขึ้นจริง ๆ” กล่าวโดย Vays “แต่ถ้าเราดูกราฟรายสัปดาห์ ฝั่งกระทิงยังขาดกำลัง ดังนั้นยังพอมีเวลาที่จะเอาชนะแนวต้านได้ เราจำเป็นต้องผ่าน $30,000 และพลิกกลับอินดิเคเตอร์ Lucid SAR หลังจากนั้นเราจะทะยานขึ้นไปที่ $34,000 ซึ่งเป็นที่ที่แนวต้านอีกระดับรอเราอยู่”

    (ทั้งนี้ อินดิเคเตอร์ Lucid SAR คืออินดิเคเตอร์ Parabolic SAR อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นอินดิเคเตอร์ที่ตามแนวโน้ม ประกอบด้วยราคาและเวลาในการคำนวณแนวโน้มราคาและหาจุดเข้าและออกการเทรด)

    นักวิเคราะห์จาก JPMorgan ชี้ว่าราคาบิทคอยน์คาดว่าจะขยับขึ้นมาที่ $45,000 เห็นได้จากราคาปัจจุบันของทองคำที่ใกล้ $2,000 ต่อออนซ์ นักวิเคราะห์กล่าวว่า สินทรัพย์ทั้งสองชนิดนี้มักจะเคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกัน นักยุทธศาสตร์จาก JPMorgan ประเมินว่า มูลค่าของทองคำที่ไม่ได้อยู่ในธนาคารกลางในปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ $3 ล้านล้านดอลลาร์ สิ่งนี้เทียบได้กับราคาทองคำดิจิทัลที่ประมาณ $45,000 ต่อเหรียญ โดยสันนิษฐานว่าสัดส่วนปริมาณบิทคอยน์ในพอร์ตของนักลงทุนเอกชนจะสอดคล้องกับทองคำ

    อย่างไรก็ดี ราคาที่ $45,000 ถือว่ากรอบด้านบนของบิทคอยน์ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ JPMorgan การเกิด halving และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับนักขุดเหรียญ halving ที่จะมาถึงในปี 2024 จะเพิ่มต้นทุนการขุดเหรียญบิทคอยน์เป็นสองเท่าโดยอัตโนมัติไปที่บริเวณ $40,000 และโดยสถิติแล้ว ตัวเลขดังกล่าวนั้นเคยทำหน้าที่เป็นกรอบด้านล่างของราคาสินทรัพย์

    ในส่วนของนักขุดเหรียญ สถานการณ์นั้นมีสองด้านด้วยกัน การแสวงหากำไรทำให้พวกเขาส่งผลต่อความยากลำบากมากขึ้นในการประมวลผลคอมพิวเตอร์เพื่อออกเหรียญ โดยในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมาของปี 2023 ความยากนี้เพิ่มขึ้น 45% เท่ากับการเติบโตที่เราเคยเห็นมาตลอดปี 2022 โดยราคาบิทคอยน์ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ยิ่งเพิ่มทัศนคติในเชิงบวกในหมู่นักขุดเหรียญ ทำให้พวกเขาขยับขยายสมรรถภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของตนเอง แต่สิ่งนี้กลับนำมาซึ่งผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม เพราะความยากที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรจากการขุดเหรียญ และทำให้อัตรากำไรดังกล่าวลดลงทำระดับต่ำอย่างที่เคยเห็นเมื่อวันที่ 13 มกราคม ซึ่ง BTC มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $19,000

    Arthur Hayes อดีตซีอีโอ BitMEX เชื่อว่าปี 2023 จะเป็นปีที่มีความผันผวนสูงสำหรับบิทคอยน์ เนื่องด้วยท่าทีของธนาคารเฟดสหรัฐฯ แต่เขาไม่คาดว่าบิทคอยน์จะทำระดับสูงสุดใหม่ได้ “ผมไม่คิดว่าบิทคอยน์จะขยับถึง $70,000 ในปีนี้ มีความเป็นไปได้ว่า เราจะผ่านระดับนี้ไปในปีหน้า หลังจาก halving โดยบิทคอยน์จะเติบโตต่อไปในปี 2025 และ 2026 และหลังจากนั้น ผมคิดว่ามันจะเกิดหายนะ สถานการณ์จะเกิดขึ้นในช่วงที่คนไม่คาดคิด.. เรากำลังเตรียมรอดูสถานการณ์ สหรัฐฯ พิมพ์เงินออกมามหาศาล ไม่มีความไว้ใจอีกแล้ว และผู้คนกำลังพยายามที่จะหาเงิน” เขากล่าวสรุป

    Credible Crypto นักวิเคราะห์ชื่อดังชี้ว่า บิทคอยน์อาจทำคลื่นระลอกขาขึ้น (impulse waves) อย่างที่เคยเกิดขึ้นในวัฎจักรกระทิงก่อนหน้านี้ และทำสถิติราคาใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2023 “ผมได้ยินมาตลอดว่า มันเป็นจริงไม่ได้ที่บิทคอยน์จะทำสถิติราคาสูงสุดใหม่ในปีนี้ แต่ผมคิดว่าเราจะต้องเปรียบเทียบมันกับคลื่นระลอกขาขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2020 จำได้ไหมว่าบิทคอยน์ใช้เวลาสามเดือนที่จะผ่านระดับ $10,000 แต่ภายในสองเดือน ราคามันเติบโตขึ้นอีก 90% และอีกสี่เดือนต่อมา ราคาทำระดับสูงสุดใหม่ที่มากกว่า $10,000 ถึงห้าเท่า ดังนั้น อย่าบอกผมว่าอะไรนั้นเป็นไปไม่ได้สำหรับบิทคอยน์ เราอาจจะได้เห็นราคาสูงสุดใหม่ตั้งแต่ปีนี้ก็เป็นไปได้” เขียนโดย Credible Crypto

    Business Insider ได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อบิทคอยน์ภายในสิ้นปี 2023

    Charmyn Ho ประธานด้านการวิเคราะห์ของแพลตฟอร์มคริปโต Bybit เชื่อว่า บิทคอยน์จะไม่สามารถขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่ได้จนกว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจมหภาคจะมีความชัดเจนมากขึ้น สิ่งนี้จะขึ้นอยู่กับการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยุโรป และประเทศใหญ่ ๆ อื่น ๆ เนื่องด้วยเส้นโค้งผลตอบแทนที่กลับตัว ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่เป็นมิตร เช่น สถานการณ์เงินเฟ้อ ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือการลดผลตอบแทนครึ่งหนึ่ง (halving) แม้ว่าจะคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2024 ก็ตาม

    Jagdeep Sidh ประธานมูลนิธิ Syscoin กล่าวว่า แม้จะเกิดพายุคริปโตหลายครั้ง ความแข็งแกร่งของระบบนิเวศยังคงเห็นได้ชัดเจน ตลาดฟื้นตัวจากเหตุการณ์ FTX แสดงถึงความสามารถในการซึมซับภาวะช็อคและวิวัฒนาการตนเองขึ้น หากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ลดลง และมีความชัดเจนเรื่องกฎการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น บิทคอยน์อาจขยับถึง $38,000 ภายในสิ้นปีนี้ โดยสูงกว่าระดับปัจจุบันที่ประมาณ 40%

    สถานการณ์ในมุมมองของ Tim Shan ประธานด้านการปฏิบัติการของแพลตฟอร์มคริปโต Dexalot ชี้ว่าบิทคอยน์จะเทรดในกรอบ $25,000 ถึง 32,000 ภายในปี 2023 อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อยังคงระดับสูง ราคาอาจกลับไปยังระดับต่ำสุดในช่วงต้นปีนี้

    David Uhryniak ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบนิเวศที่ TRON มั่นใจว่าบิทคอยน์จะปิดท้ายปีสูงก่วา $35,000 เขาเชื่อว่า นักเทรดไม่ควรรีบเข้าไปลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก และอยากจะประเมินทิศทางของบิทคอยน์และตลาดโดยรวมก่อน ซึ่งคาดว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 ความไม่แน่นอนต่าง ๆ จะเริ่มหายไป

    ตลาดคริปโตไม่ได้ขึ้นอยู่กับบิทคอยน์แต่เพียงอย่างเดียว เราได้พูดถึง Ethereum สกุลเงินคริปโตอันดับสองมาเป็นเวลาสักพักหนึ่งแล้ว อัลท์คอยน์เหรียญนี้แสดงความผันผวนที่สูงและผลตอบแทนในการลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับจุดเข้าตลาดเป็นหลัก เช่น ราคาเหรียญนี้เคยขยับขึ้นจาก $90 เป็น $4,855 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 202 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2021 ซึ่งขึ้นมากว่า 50 เท่า อย่างไรก็ดี ราคาลดลงเหลือ $880 ในเดือนมิถุนายน 2022 โดยเสียมูลค่าถึง 80% เมื่อดูที่ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 2018 ถึงปัจจุบัน ผลตอบแทนอยู่ที่ปานกลางคือ 30%

    นักวิจัยจาก VanEck ได้นำเสนอสถานการณ์ราคาสามรูปแบบสำหรับ Ethereum ในปี 2030 ในสถานการณ์พื้นฐานคาดว่าราคาเหรียญนี้จะอยู่ที่ $11,849 ในสถานการณ์กระทิง ราคา ETH จะอยู่ที่ $51,006 ในขณะที่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เหรียญจะดิ่งลงไปที่ $343 “การคาดการณ์ของเรามาจากสมมติฐานที่ Ethereum จะกลายเป็นเครือข่ายการจัดการแบบโอเพนซอร์สชั้นนำของโลก สัดส่วนจำนวนมากของกิจกรรมในเชิงพาณิชย์ของธุรกิจที่ให้กำไรสูงจะดำเนินการบนแพลตฟอร์มนี้ แพลตฟอร์มชั้นนำที่มีแนวโน้มจะครองส่วนแบ่งที่สำคัญในตลาดได้” เขียนโดยนักวิเคราะห์จาก VanEck

    รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อสังเกตว่า Ethereum น่าจะกลายเป็นเครื่องสะสมมูลค่าคล้ายกันกับบิทคอยน์ แต่มีความแตกต่างอยู่บ้าง “เราแย้งว่า ETH เป็นมากกว่าสกุลเงินธุรกรรมหรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่คล้ายกับน้ำมันหรือก๊าซได้ เราเชื่อว่าเหรียญนี้ไม่ใช่เครื่องสะสมมูลค่าอย่างเต็มรูปแบบเหมือนกับบิทคอยน์ เนื่องด้วยโอกาสการเปลี่ยนแปลงรหัสของ Ethereum และธรรมชาติที่เน้นการใช้ให้เกิดประโยชน์กับโครงการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม มันอาจกลายเป็นสินทรัพย์ออมทรัพย์สำหรับองค์กรภาครัฐที่พยายามที่จะเพิ่มทุนมนุษย์ให้มากที่สุดได้”

    อย่างไรก็ดี นักยุทธศาสตร์จาก JPMorgan ชี้ว่า ภัยคุกคามหลักของอัลท์คอยน์อันดับหนึ่งนั้นมาจากองค์ภาครัฐ แรงกดดันของพวกเขาและกิจกรรมการขายส่งผลเป็นเรื่องท้าทายสำหรับ Ethereum และในอนาคตอันใกล้ มันอาจจะตามหลังบิทคอยน์ในแง่ของการเติบโตได้ เรื่องนี้สังเกตเห็นได้ชัดเจนหลังจากนาย Gary Gensler ประธานกลต. สหรัฐฯ กล่าวว่า “ทุกสิ่งยกเว้นบิทคอยน์” ตกอยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ “เหรียญคริปโตและหลักทรัพย์คริปโตจะต้องถูกกำกับดูแลและอาจจะไม่คงอยู่อีกต่อไป บิทคอยน์เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เดียวที่กลต. ไม่ตั้งใจจะกำกับดูแล บิทคอยน์คือเครือข่ายที่ปลอดภัยที่สุดและสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุด” นี่คือความเห็นของ Michael Saylor ประธานบริหารสูงสุดของบริษัท MicroStrategy ต่อคำพูดของนาย Gensler

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $27,155 และ ETH/USD ซื้อขายอยู่ที่ $1,900 ทั้งนี้ มูลค่ารวมตามตลาดคริปโตทั้งหมดอยู่ที่ $1.149 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.123 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ดัชนีการครองตลาดของบิทคอยน์มีสัดส่วนที่ 47.51% ในขณะที่ Ethereum คิดเป็น 20.65% ดัชนี Crypto Fear & Greed Index  ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมาและขณะนี้อยู่ที่โซนตรงกลางที่ 50 จุด (เทียบกับ 49 จุดเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)