มิถุนายน 17, 2023

EUR/USD: ชัยชนะของยูโรเหนือดอลลาร์

  • เหตุการณ์สำคัญของสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน และคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน ผลการประชุมปรากฏว่าเป็นชัยชนะของยูโรเหนือค่าเงินดอลลาร์

    ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ธนาคารเฟดสหรัฐฯ ได้พิมพ์ธนบัตรและอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลในตลาด สิ่งนี้นำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งในที่สุดก็ทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดสิ้นสุดลง ธนาคารอเมริกันก็กลับทิศทางนโยบายทางการเงินโดยสิ้นเชิง โดยเปลี่ยนจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นการถอนสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) ตลอดการประชุมสิบครั้งที่ผ่านมา ธนาคารเฟดได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยขยับถึงระดับสูงสุดที่ 5.25% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006

    ข้อมูลที่ประกาศเมื่อวันอังคารที่ 13 มิถุนายน ชี้ให้เห็นว่า ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน (CPI) เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 5.3% (ปีต่อปี) โดยในเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 5.5% แน่นอนว่าเป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย และระดับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.0% ยังอยู่ห่างไกล แต่ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและวิกฤติธนาคาร ส่งผลให้ผู้บริหารธนาคารเฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลง

    สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ต่อตลาด ทั้งนาย Philip Jefferson รองประธานเฟด และ Patick Harker ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียได้พูดถึงความจำเป็นที่จะต้องหยุดพักมาตรการถอนสภาพคล่องออกจากระบบ แม้แต่นาย Jerome Powell ประธานเฟดเองก็ได้พูดความเป็นไปได้ในการหยุดพัก ส่งผลให้ในช่วงก่อนการประชุม ตลาดเก็งความน่าจะเป็นที่อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับเดิมอยู่ที่ 95%

    นอกจากนี้ ข้อมูลที่ประกาศเมื่อวันอังคารที่ 15 มิถุนายน ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ลดลง 0.2% ในเดือนพฤษภาคม และจำนวนผู้รอรับสวัสดิการว่างงานยังคงที่ระดับเดิมเหมือนครั้งก่อนหน้าที่ 262K สถิติที่อ่อนแอนี้ยิ่งเพิ่มความคาดหวังในตลาดว่า ธนาคารเฟดอาจหยุดพักยาวนานขึ้น ในส่วนการคาดการณ์ระยะยาวโดย FOMC กรรมการบริหารมองอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ 5.60% หลังจากนั้นน่าจะตามมาด้วยแนวโน้มขาลง ส่วนมุมมองในหนึ่งปีอยู่ที่ 4.60% มุมมองรอบสองปี 3.40% และจากนั้นจะลดลงเหลือ 2.50%

    แม้ว่าธนาคารเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงในการประชุมของเดือนมิถุนายน ฝั่งธนาคารกลางยุโรปสั่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 จุดพื้นฐาน จาก 3.75% เป็น 4.00% นอกจากนี้ นาง Christine Lagarde เน้นว่านโยบายการเงินแบบตึงตัวจะดำเนินต่อไปในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ การคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อถูกปรับขึ้นเนื่องด้วยค่าแรงที่สูงขึ้นและราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น จากสถานการณ์นี้ ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 จุดพื้นฐาน ไม่ใช่แค่ในเดือนหน้าเท่านั้น แต่รวมถึงในเดือนกันยายนเช่นกัน ท่าทีสายเหยี่ยวของ ECB ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันสูงขึ้น ในขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรของสหรัฐฯ ลดลง ด้วยเหตุนี้ ดัชนี ดอลลาร์ (DXY) ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง และ EUR/USD ยังคงอยู่ในแนวโน้มกระทิงที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ โดยราคาเริ่มต้นวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายนที่ 1.0732 และภายในวันที่ 16 มิถุนายน ราคาขยับถึง 1.0970 และขยับถึงระดับจิตวิทยาที่สำคัญที่ 1.1000

    EUR/USD ปิดท้ายห้าวันทำการที่ระดับ 1.0940 ในส่วนของแนวโน้มระยะใกล้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันที่ 16 มิถุนายน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (65%) คาดการณ์แนวโน้มขาขึ้น ส่วน 25% โหวตให้แนวโน้มลง และ 10% มีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 มี 100% ที่อยู่ฝั่งกระทิง และออสซิลเลเตอร์ 90% ให้สัญญาณสีเขียว แต่หนึ่งในสามของออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณแล้วว่าราคาอยู่ในสภาวะที่มีแรงซื้อมากเกิน (overbought) ส่วน 10% ให้สัญญาณสีแดง ด้านแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0895-1.0925 ตามมาด้วย 1.0865, 1.0790-1.0800, 1.0745, 1.0670 และสุดท้ายคือระดับต่ำสุดของวันที่ 31 พฤษภาคมที่ 1.0635 ด้านฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0970-1.0985 ตามมาด้วย 1.1045 และ 1.1090-1.1110

    วันสำคัญในปฏิทินสำหรับสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ได้แก่ วันที่ 21 และ 22 มิถุนายน ซึ่งจะเป็นวันที่นาย Jerome Powell กล่าวแถลงต่อสภาคองเกรส และสถิติอัตราว่างงานล่าสุดของสหรัฐฯ จะประกาศในวันพฤหัสบดี ส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์จะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้น (PMI) สำหรับทั้งเยอรมนีและยูโรโซนโดยรวม รวมถึงดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ นอกจากนี้ นักเทรดควรทราบด้วยว่าวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในสหรัฐฯ คือ วันสิ้นสุดความเป็นทางของอเมริกา (Juneteenth Day)

GBP/USD: คู่นี้อาจขึ้นต่อ

  • หลังจากฉวยโอกาสจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาดีดออกจากระดับต่ำสุดในกรอบที่ 1.2486 เมื่อวันจันทร์ GBP/USD พุ่งขึ้นมาถึง 362 จุดเมื่อวันศุกร์ และทำระดับสูงสุดที่ 1.2848 โดบปิดท้ายสัปดาห์ต่ำลงมาเล็กน้อยที่ระดับ 1.2822 ค่าเงินปอนด์อังกฤษเคยแข็งแกร่งขึ้นขนาดนี้ในช่วงปีที่แล้วคือเดือนเมษายน 2022

    ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็เป็นแรงหนุนประกอบกับความคาดหวังว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 4.50% เป็น 4.75% ในที่ประชุมวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน ตามมาด้วยการตัดสินใจมาตรการสายเหยี่ยวและสัญญาว่าจะใช้นโยบายทางการเงินแบบถอนสภาพคล่องออกจากระบบต่อไป

    ผลที่ได้ก็คือ นักเศรษฐศาสตร์ที่ Scotiabank คาดว่า GBP/USD อาจขยับถึง 1.3000 ในเร็ว ๆ นี้ กลุ่มที่เห็นด้วยคือธนาคาร ING เครือธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ “เมื่อดูกราฟแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่มีระดับที่สำคัญระหว่างระดับปัจจุบันและ 1.3000 ซึ่งชี้ว่าราคาดังกล่าวนั้นไม่ได้อยู่ห่างไกล”

    โดยรวมแล้ว การคาดการณ์ระยะกลางจากนักวิเคราะห์ดูค่อนข้างปานกลางมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญ 50% สนับสนุนแนวโน้มขาขึ้น 40% โหวตให้ขาลง และ 10% เลือกที่จะไม่ให้ความเห็น ในส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิค อินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ 100% ต่างชี้ไปยังทิศเหนือ แต่หนึ่งในสี่ของออสซิลเลเตอร์ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought ในกรณีที่ราคาขยับลงทิศใต้ จะมีระดับและโซนแนวรับที่รออยู่คือ 1.2685-1.2700, 1.2570, 1.2480-1.2510, 1.2330-1.2350, 1.2275, 1.2200-1.2210 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้น จะต้องเจอกับแนวต้านที่ 1.2940, 1.3000, 1.3050 และ 1.3185-1.3210

    ในสัปดาห์หน้า ก่อนการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษในวันพุธที่ 21 มิถุนายน จะมีการประกาศสถิติหลายชุดจากสหราชอาณาจักร โดยคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะลดลงจาก 8.7% เหลือ 8.5% อย่างไรก็ตาม แนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อยดังกล่าวไม่น่าจะขัดขวาง BoE จากท่าทีสายเหยี่ยวได้ นอกจากนี้ เราควรให้ความสนใจกับวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายนเป็นพิเศษ เพราะจะมีการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้น (PMI) ของเยอรมนีและยูโรโซน รวมถึงของสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน โดยดัชนีเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงการเปรียบเทียบเศรษฐกิจของสองฝั่งประเทศนี้ได้อย่างชัดเจน

USD/JPY: คู่นี้อยากจะกลับสู่โลก แต่ทำไม่ได้

  • สิ่งที่สมเหตุสมผลในการตั้งข้อสันนิษฐานคือ ถ้าหากดัชนีดอลลาร์ (DXY) ลดลง และพันธบัตรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง ค่าเงินเยนญี่ปุ่นควรจะแข็งค่าขึ้น และ USD/JPY ควรจะกลับทิศทาง แต่ในความเป็นจริง แทนที่จะไปถึงดวงจันทร์มันกลับเริ่มถอยลงมายังโลก การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา และกินเวลาเพียงหนึ่งวัน ก่อนหน้านี้การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้คงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับติดลบ -0.1% (ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ได้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2016) นอกจากนี้ การตัดสินใจใหม่ของธนาคารฯ ยังรวมถึงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลจำนวน “ที่จำเป็น” และยังคงเดินหน้าวางเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรชุด 10 ปี ไว้ที่ใกล้ระดับศูนย์

    นักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคาร MUFG เชื่อว่า การเบี่ยงเบนที่เพิ่มขึ้นในนโยบายทางการเงินระหว่างธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางแห่งอื่น ๆ เป็นสูตรสำเร็จให้เงินเยนอ่อนค่าลงต่อ “การขยายกว้างขึ้นของค่าส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตรญี่ปุ่นและประเทศอื่น ประกอบกับความผันผวนที่ลดลงในอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลให้เงินเยนมีมูลค่าเกินที่ควรจะเป็นมากขึ้น” เขียนโดยนักวิเคราะห์ MUFG

    เพื่อนร่วมงานของพวกเขาที่ Commerzbank เชื่อว่า หากธนาคารเฟดให้สัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหม่อีกสองครั้ง แนวโน้มลงของเงินเยนจะดำเนินต่อไป ผู้เชี่ยวชาญจาก Societe Generale ของฝรั่งเศสชี้ว่า หากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมนี้  USD/JPY อาจขยับขึ้นเป็น 145.00

    มีแต่ความหวังว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มดำเนินการก้าวแรกต่อนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่งเท่านั้นที่จะสามารถบรรเทาแรงกดดันต่อเงินเยนญี่ปุ่นได้ เช่น นักเศรษฐศาสตร์จาก BNP Paribas เขียนว่า “แม้ว่าเราจะได้ปรับการคาดการณ์ USD/JPY ของเราให้สูงขึ้น เนื่องจากเราพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ และการขยายตัวของมาตรการ YCC ของธนาคารกลางญี่ปุ่นในภายหลัง เราจึงยังคงคาดการณ์แนวโน้มขาลงในคู่ USD/JPY"  โดยพวกเขาตั้งเป้าไว้ที่ 130.00 ภายในสิ้นปีนี้ และ 123.00 ภายในสิ้นปี 2024

    หลังจากทำระดับสูงสุดในกรอบไว้ที่ 141.89 ราคาคู่นี้ก็ได้ปิดตลาดในรอบห้าวันทำการที่ 141.82 โดยนักวิเคราะห์ 70% คาดว่าดัชนี DXY ที่ปรับตัวลงจะทำให้ราคาปรับฐานและกลับลงยังทิศใต้ในเร็ว ๆ นี้ ในขณะที่ 30% ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 143.00 ด้านอินดิเคเตอร์ 100% บนกรอบ D1 ก็ชี้ไปยังด้านบนเช่นกัน ในส่วนของออสซิลเลเตอร์มี 90% ชี้ขึ้นทิศเหนือ (หนึ่งในสามให้สัญญาณสภาวะ overbought) และส่วนที่เหลือ 10% ให้สีเทากลาง สำหรับระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 1.4140 ตามมาด้วย 140.90-141.00, 1.4060, 139.45,1.3875-1.3905, 137.50 และแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 142.20 หลังจากนั้นราคาจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่ระดับ คือ 1.4300, 143.50 และ 144.90-145.10 และหลังจากนั้นก็ไม่ไกลจากระดับสูงสุดของเดือนตุลาคม 2022 ที่ระดับ 151.95

    ไม่คาดว่าจะมีการรายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้านี้ ยกเว้นการประกาศรายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 21 มิถุนายน แต่ตลาดก็ไม่คาดว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ซึ่งทุกอย่างนั้นได้พูดไปแล้วในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน

คริปโตเคอเรนซี: ธนาคารเฟด และ ECB ป้องกันหายนะบิทคอยน์

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 19 - 23 มิถุนายน 20231

  • BTC/USD ไต่ขึ้นระดับ $30,989 เมื่อวันที่ 14 เมษายน ขึ้นไปยังระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022 หลังจากนั้น ตลาดก็ถูกปกคลุมด้วยแรงขายมาเป็นเวลาเก้าสัปดาห์ติดต่อกัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เช่นกัน และไม่ทำให้นักลงทุนยินดีแต่อย่างใด  Michael Van De Poppe ผู้ก่อตั้งบริษัท Eight กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่คุณอยากจะเห็น” และยังพูดถึงว่าราคาได้หลุดแนวรับในรูปของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 สัปดาห์ (200WMA) แล้ว ซึ่งอาจแสดงถึงความต่อเนื่องของเทรนด์ขาลง

    ก่อนหน้านี้ กลต. ได้ยื่นฟ้อง Binance และ CoinBase โดยกล่าวหาว่าแพลตฟอร์มได้ขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน ในเอกสารของทางศาล กลต. กำหนดให้เหรียญโทเคนหลายเหรียญเป็นหลักทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ชัยชนะของหน่วยงานกำกับดูแลอาจนำไปสู่การยกเลิกการจดทะเบียนเหรียญเหล่านี้ และจำกัดการพัฒนาบล็อกเชน โดยรวมแล้วมีเหรียญกว่า 60 เหรียญที่ขึ้นบัญชีดำของกลต.

    ในสัปดาห์ที่แล้ว ศาลได้ปฏิเสธคำขอของกลต. สหรัฐฯ ในการสั่งระงับทรัพย์สินของแผนกอเมริกัน Binance อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางกลุ่มเชื่อว่า การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ Gary Gensler ประธานกลต. ได้กล่าวไม่นานมานี้ว่า คริปโตเคอเรนซีไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด “เราไม่ต้องการสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มเติม เรามีสกุลเงินดิจิทัลอยู่แล้ว ซึ่งเรียกว่า ดอลลาร์สหรัฐ มันเรียกว่ายูโรหรือเยน และตอนนี้เงินเหล่านี้เป็นเงินดิจิทัล"

    นักยุทธศาสตร์ JPMorgan ชี้ว่า ตลาดซื้อขายบิทคอยน์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะถูกบังคับให้ต้องลงทะเบียนกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ในฐานะโบรกเกอร์ และคริปโตเคอเรนซีทั้งหมดจะถูกจัดกลุ่มให้เป็นหลักทรัพย์ แม้ว่าหลายคนมองว่านี่อาจเป็นการเริ่มขึ้นของการล่มสลายของอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่ยังมีผู้ที่มองโลกในแง่ดีอยู่ เช่น JPMorgan เชื่อว่ากฎใหม่ “จะทำให้อุตสาหกรรมปราศจากการปฏิบัติที่ไม่ดีและผู้เล่นที่ไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้อุตสาหกรรมเติบโต และมีการมีส่วนร่วมจากสถาบันมากขึ้น”

    Adam Back ผู้สร้างอัลกอริธึม Hashcash และซีอีโอของ Blockstream ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทหลักในวงการเข้ารหัสลับสมัยใหม่และอุตสาหกรรมคริปโต ในบทสนทนาล่าสุดกับ Decrypt นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังกล่าวว่า ตลาดคริปโต “ต่อต้านความอ่อนไหว” มันไหลตามน้ำ และเมื่อเจอกับอุปสรรค มันจะเจอกับหนทางทางเลือกอื่น ดังนั้น หากแพลตฟอร์มคริปโตเจ้าใหญ่ในสหรัฐฯ ยุติการให้บริการแก่ลูกค้าเนื่องด้วยแรงกดดันจากรัฐ อุตสาหกรรมจะหาทางออกได้ในที่สุด ในกรณีที่มีข้อจำกัดการโอนเงินผ่านธนาคารในสหรัฐฯ นักเทรดบิทคอยน์จะเปลี่ยนไปเปิดบัญชีธนาคารในพื้นที่ที่มีเขตอำนาจกฎหมายที่ใช้สกุลเงินอื่น ๆ และดูเหมือนว่า Adam Back จะพูดถึง เพราะการย้ายออกจากสหรัฐฯ เริ่มขึ้นแล้ว สถิติจาก Glassnode ชี้ว่า สัดส่วนของผู้เล่นชาวอเมริกันลดลง 11% นับตั้งแต่กลางปี 2022 ในขณะเดียวกัน ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 9.9% ในภูมิภาคเอเชีย

    อินฟลูเอนเซอร์หลายคน แม้จะทำนายจุดจบอันเป็นหายนะของคริปโตเคอเรนซี แต่ก็มักจะยกเว้นบิทคอยน์ เช่น Benjamin Cowen ผู้ก่อตั้ง Into The Cryptoverse ให้ข้อสังเกตว่า สภาพคล่องในตลาดคริปโตแห้งแล้งลงเป็นเวลาระยะหนึ่งแล้ว และหลายคนได้กล่าวโทษกลต. ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คนส่วนใหญ่เชื่อว่ามันคือจุดจบของอุตสาหกรรมทั้งหมด Cowen มองว่า อัลท์คอยน์จะต้องเจอกับความยากลำบาก ในขณะที่สัดส่วนการครองตลาดของบิทคอยน์จะยังคงเติบโตต่อไป ความเห็นที่คล้ายกันนี้ยังมาจากนักเทรดชื่อดัง Gareth Soloway ผู้ที่เปรียบเทียบตลาดคริปโตกับภาวะฟองสบู่ดอทคอม เขากล่าวว่าสถานการณ์ตลาดล่มลงที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2000s จะเกิดขึ้นอีกครั้งในอุตสาหกรรม Soloway กล่าวเสริมว่า “ระบบจำเป็นต้องกำจัดขยะเพื่อเติบโต” และเหรียญ 95% จากทั้งหมด “จะดำดิ่งเป็นศูนย์”

    Peter Brandt หรือที่รู้จักกันในนาม “พ่อมดตลาดผู้ลึกลับ” ประสบความสำเร็จในการทำนายฤดูหนาวคริปโตเมื่อปี 2018 และความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ของตลาดในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัล ในครั้งนี้ นักเทรดและนักวิเคราะห์ในตำนานได้ “กลบฝัง” เหรียญอื่น ๆ ทั้งหมดยกเว้นบิทคอยน์ “บิทคอยน์เป็นสกุลเงินคริปโตเดียวที่จะสามารถไปถึงจุดหมายในมาราธอนครั้งนี้ เหรียญอื่น ๆ รวมถึง Ethereum เป็นแค่ตัวปลอมหรือกลโกงเท่านั้น" เขียนโดย Brandt

    สมาชิกในชุมชนคริปโตหลายคนต่างพากันงงงวยว่าทำไมนักวิเคราะห์ท่านนี้จึงจัดให้ Ethereum สกุลเงินคริปโตอันดับสองให้อยู่กลุ่มเดียวกับโครงการต้มตุ๋น Brandt ตอบกลับว่า “เงินกับทองคำก็เหมือนกับ ETH ต่อ BTC, ETH น่าจะอยู่รอด แต่มรดกตกทอดที่แท้จริงคือ BTC”

    Cathy Wood ซีอีโอของ ARK Invest ได้ทุ่มเงินสองเท่ากับการคาดการณ์บิทคอยน์ของเธอ โดยกล่าวว่าบิทคอบย์จะขยับถึงมูลค่าเจ็ดหลัก ในบทสัมภาษณ์กับ Bloomberg เธอยืนยันความมั่นใจว่าเป้าหมาย $1 ล้านเหรียญของ BTC จะไปถึงอย่างสำเร็จ Wood ให้สัมภาษณ์ว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจรอบโลกยิ่งเพิ่มความเชื่อใจของเธอต่อสินทรัพย์คริปโต “ยิ่งความไม่แน่นอนและความผันผวนเพิ่มมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก ความมั่นใจของเราในบิทคอยน์จะยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งมันเป็นเครื่องรับประกันความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ”

    Mike Novogratz ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Galaxy Digital คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกเช่นกัน โดยเศรษฐีพันล้านท่านนี้ทำนายว่า ธนาคารเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องไหลเข้าตลาดคริปโตเพิ่มขึ้น Dan Tapiero ผู้ร่วมก่อตั้ง 10T Holdings และ Gold Bullion International ให้ภาพรวมที่ชัดเจนมากกว่า โดยทำนายการทะยานขึ้น “อย่างระเบิด” เขากล่าวว่า “เราน่าจะได้เห็นระดับสูงสุดใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 และในปี 2025 และผมคิดว่าในช่วงระยะกระทิง มูลค่ารวมในตลาดคริปโตจะขึ้นไปถึง $6-8 ล้านล้านดอลลาร์"

    แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ระยะยาวในเชิงบวก ภาพรวมอนาคตอันใกล้ไม่ได้ทำให้นักลงทุนประทับใจ Mike McGlone นักยุทธศาสตร์ Bloomberg ยังไม่ตัดโอกาสที่ดัชนี Bloomberg Galaxy Crypto Composite Index จะลดลง ซึ่งสะท้อนถึงการดำเนินงานของสกุลเงินดิจิทัลยอดนิยม ในรายงานบทวิเคราะห์ที่จัดทำให้กับนักลงทุน เขาได้เตือนแนวโน้มหมีครั้งใหญ่เป็นอย่างน้อยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ด้าน Fiona Cincotta นักยุทธศาสตร์จาก City Bank ก็ออกมาเตือนเช่นกันว่า ราคาบิทคอยน์อาจร่วงลงหลุดแนวรับสำคัญที่ $25,000 ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดแรงขายและแนวโน้มราคาลดลงมากขึ้น

    PlanB นักวิเคราะห์และเจ้าของโมเดลทำนายราคาชื่อดัง Stock-to-Flow (S2F) ได้สอบถามผู้ติดตาม 1.8 ล้านคนของเขาว่าราคาบิทคอยน์จะอยู่ที่เท่าไหร่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หลายคนตอบว่าบิทคอยน์จะปิดท้ายเดือนแรกของฤดูร้อนใกล้บริเวณ $24,000-25,000 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจส่วนน้อยที่ชี้ว่า มีศักยภาพที่ราคาจะเติบโตขึ้นไปเหนือ $30,000 ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเล่น PROFIT BLUE เชื่อว่า BTC จะไม่สามารถพยุงตัวในกรอบ $25,000 และเป้าหมายถัดไปของคริปโตเคอเรนซีจะอยู่ที่ระดับ $23,700 ส่วนการคาดการณ์ที่เลวร้ายที่สุดมาจากนักวิเคราะห์ที่มีชื่อว่า WhaleWire ผู้ยังไม่ตัดโอกาสที่เหรียญจะกลับมาสู่จุดต่ำสุดของวัฎจักร ด้าน WhaleWire ชี้ว่า BTC เตรียมตัวที่จะขึ้นไปยังระดับ $12,000 ซึ่งการตัดผ่านระดับ $15,000 นั้นเขามั่นใจว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีนี้

    ราคาต่ำสุดในรอบเจ็ดวันและในรอบสามเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ $24,791 ซึ่งราคาบิทคอยน์ถูกพยุงไม่ให้ลงต่อโดยดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ตามมาด้วยการตัดสินใจของธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรปเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ ยซึ่งในขณะที่กำลังเขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน BTC/USD ฟื้นตัวจากที่เคยติดลบไปในช่วงสัปดาห์และซื้อขายอยู่ที่ $26,400 ในขณะนี้ โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.064 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.102 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ยังคงอยู่ในโซนตรงกลาง แต่ก็ได้ลดลงจาก 50 เหลือ 47 จุดแล้วในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมา

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)