สิงหาคม 12, 2023

EUR/USD: ภาวะเงินเฟ้อ GDP และแนวโน้มนโยบายทางการเงิน

  • เมื่อดูเทรนด์คงที่ตลอดสองสัปดาห์บนกราฟ EUR/USD เราจะเห็นว่านี่คือช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูพักร้อน แม้แต่สถิติเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม ก็ไม่กระทบต่อท่าทีที่ผ่อนคลายของนักเทรด แต่ก็ส่งสัญญาณให้จับตามองอย่างใกล้ชิด โดยการเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภคปีต่อปี (CPI) ที่ 3.2% และดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 4.7% ปรากฏว่าต่ำกว่าการคาดการณ์ (3.3% และ 4.8% ตามลำดับ) ดัชนี CPI รายได้ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0.2% จึงทำระดับต่ำสุดในรอบสองปี ในส่วนของ GDP สถิติที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ยืนยันว่ามีความเสี่ยงน้อยลงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจาก GDP ขึ้นมา 2.0% ปีต่อปีในไตรมาสแรกของปี 2023 ไตรมาสที่สองมีการเติบโตอยู่ที่ 2.4% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ตลาดที่ 1.8% เป็นอย่างมาก

    ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงบ่งชี้ถึงสภาพตลาดแรงงานที่ค่อย ๆ นิ่งตัวและอัตราเงินเฟ้อขยับถึงระดับเป้าหมายที่ 2% อย่างคงที่ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า นโยบายการเงินของธนาคารเฟดส่งผลในทางบวก ในขณะนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างน้อยก็สามารถหยุดพักกระบวนการเพิ่มความเข้มงวดทางการเงินได้แล้ว ซึ่งพวกเขาสามารถทำได้แม้แต่ยุติวัฎจักรการจำกัดทางการเงินในปัจจุบัน โดยมีโอกาส 89% ที่อัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์จะคงอยู่ที่ระดับปัจจุบันคือ 5.50% ในเดือนกันยายน ในขณะที่โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์จะปรับขึ้นมา 25 จุดพื้นฐาน (bp) ภายในสิ้นปีอยู่ที่ 27%

    ในสถานการณ์ดังกล่าว ดอลลาร์ควรจะเริ่มอ่อนค่าลง แต่มันไม่ได้เกิดขึ้น แน่นอนว่า ทันทีที่มีการประกาศสถิติเงินเฟ้อ EUR/USD พุ่งขึ้นมา 50 จุด แต่หลังจากนั้นไม่นานก็กลับตัว เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้? ถึงแม้ว่าเราอาจต้องพิจารณาช่วงเวลาวันหยุดฤดูร้อน แต่ยังมีเหตุผลที่สำคัญอื่น ๆ อีกสองประการ ประการแรกก็คือ ผลลัพธ์ที่น่าผิดหวังของการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชุด 30 ปีล่าสุด ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ 4.199% ต่ำกว่าผลตอบแทนในตลาดรอง เหตุผลประการที่สองคือความอ่อนแอของเงินยูโร

    มุมมองเชิงลึกที่ดีที่สุดในเศรษฐกิจยูโรโซนสรุปได้จากเอกสาร “Economic Bulletin” ที่เผยแพร่โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม โดยมีใจความสำคัญคือ

    "ภาวะเงินเฟ้อยังคงลดลงต่อเนื่อง แต่คาดการณ์ว่าจะคงตัวสูงเกินไปในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น” “ภาพรวมทางเศรษฐกิจระยะสั้นของยุโรปแย่ลง โดยหลักแล้วเป็นเพราะความต้องการภายในภูมิภาคที่ลดลง ภาวะเงินเฟ้อสูงและเงื่อนไขด้านการเงินที่เข้มงวดขึ้นกำลังเป็นแรงกดดันต่อการเติบโตในการใช้จ่ายเงิน” “การเติบโตในการผลิตที่ปานกลางในยูโรโซนคาดว่าจะมีขึ้นในไตรมาสที่สาม โดยหลักแล้วจะมาจากภาคบริการ” “ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมาจากราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการที่รัสเซียถอนตัวออกจากโครงการธัญพืชแห่งทะเลดำ” “แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อยังคงความไม่แน่นอนอย่างสูง” ตามโพลสำรวจของรอยเตอร์สชี้ว่า ข้อสรุปดังกล่าวจาก ECB ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดเดาท่าทีในอนาคตของธนาคาร

    ในสัปดาห์หน้า Eurostat จะนำเสนอรายงานสถิติ GDP ที่ทบทวนแล้วของยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 ปี 2023 รวมถึงตัวเลขการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม ตัวเลขประมาณ GDP เบื้องต้นชี้ว่า การเติบโตที่ +0.3% (+0.6% ปีต่อปี) หลังจากมีการเติบโตที่ชะงักงันในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 และแนวโน้มลดลง -0.1% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ในขณะที่เงินเฟ้อกำลังปรับตัวลดลง (ขณะนี้อยู่ที่ 5.5% เทียบกับ 10.6% ในเดือนตุลาคม 2022) อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2.0% หากธนาคารกลางยุโรปยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป และราคาเชื้อเพลิงพลังงานสูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า นี่อาจนำไปสู่ GDP ลดลง 5.0% ของยูโรโซนได้ในปี 2024

    การเปรียบเทียบสถิติข้างต้นนั้นชี้ให้เห็นว่า ค่าเงินดอลลาร์กำลังมีโอกาสสูงที่จะมีบทบาทนำ การทะยานขึ้นของดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยก็มีบทบาทสนับสนุนเช่นกัน แน่นอนว่าหลายอย่างยังขึ้นอยู่กับการดำเนินการของธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรปในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ ในส่วนสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังสหรัฐฯ มีการประกาศสถิติเงินเฟ้อด้านการผลิต (PPI) ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อและ EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.0947

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 11 สิงหาคม นักวิเคราะห์ 35% ได้โหวตว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ 50% โหวตให้ฝั่งดอลลาร์ ส่วน 15% ที่เหลือโหวตให้เทรนด์ไซด์เวยส์ ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ส่วนใหญ่ 80% เข้าข้างฝั่งดอลลาร์ (โดยมี 15% อยู่ในโซน oversold) 10% ชี้ไปยังทิศเหนือ และ 10% อยู่ในโซนตรงกลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ 65% แนะนำให้ขาย และ 35% แนะนำให้ซื้อ สำหรับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0895-1.0925 ตามมาด้วย 1.0845-1.0865, 1.0780-1.0805, 1.0740, 1.0665-1.0680 และ 1.0620-1.0635 ด้านฝั่งกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0985, then at 1.1045, 1.1090-1.1110, 1.1150-1.1170, 1.1230, 1.1275-1.1290, 1.1355, 1.1475 และ 1.1715

    ในส่วนสัปดาห์หน้านี้ เหตุการณ์ที่สำคัญ ได้แก่ การประกาศสถิติค้าปลีกในวันอังคารที่ 15 สิงหาคม ในวันพุธที่ 16 สิงหาคม เราจะได้ทราบตัวเลข GDP ของยูโรโซน และผลการประชุมจาก FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ) ด้านสถิติอัตราการว่างงานและกิจกรรมการผลิตจะรายงานในวันพฤหัสบดี และปิดท้ายวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม เราจะได้ทราบมุมมองเชิงลึกของสถานการณ์เงินเฟ้อ (CPI) ในยูโรโซน

GBP/USD: วันสำคัญที่ 16 สิงหาคม

  • สถิติที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคมจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (ONS) ชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษในไตรมาสที่สองอยู่ที่ 0.2% เทียบกับการเติบโต 0.1% ในไตรมาสแรก (จากตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.0%) ปีต่อปี ในขณะที่การคาดการณ์อยู่ที่ 0.2% การเติบโตของ GDP จริงอยู่ที่ 0.4% (ตัวเลขครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ 0.2%) ส่วนปริมาณการผลิตเชิงอุตสาหกรรมรวมในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็น +1.8% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ +0.1% และ -0.6% ในเดือนพฤษภาคม

    โดยรวมแล้ว แนวโน้มขาขึ้นมีความชัดเจน จึงยิ่งลดความเสี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะยังคงนโยบายการเงินแบบสายเหยี่ยวอย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปี 2023 โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อในประเทศยังคงตัวค่อนข้างสูง ดัชนี CPI ปีต่อปีอยู่ที่ 7.9% การประเมินสถานการณ์ชี้ว่า BoE อาจต่อสู้กับเงินเฟ้อโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยใน 2-3 ระยะจากระดับปัจจุบันที่ 5.25% เป็น 6.00% ในปีนี้ จึงจะยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเงินปอนด์

    นักยุทธศาสตร์จาก ING เครือธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์เชื่อว่า ตัวเลข GDP ที่เป็นบวกจะไม่ใช่ปัจจัยที่กำหนดท่าทีของธนาคารกลางอังกฤษ “การเติบโตของ GDP เดือนมิถุนายนของสหราชอาณาจักรสูงกว่าความคาดหมาย” พวกเขาเห็นด้วย “แต่เราเชื่อว่าผลที่เกิดขึ้นต่อธนาคารกลางอังกฤษน่าจะจำกัด เนื่องจากตัวเลขไม่ได้แตกต่างไปจากตัวเลขคาดการณ์มากเท่าไร ความสนใจหลักในสัปดาห์หน้านี้จะอยู่ที่ตัวเลขเงินเฟ้อภาคบริการและการเติบโตของค่าจ้าง ซึ่งมีความสำคัญต่อเงินปอนด์"

    GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.2695 เมื่อวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม การคาดการณ์ระยะใกล้จากผู้เชี่ยวชาญมีดังนี้ 60% มองแนวโน้มขาลง 20% มองขาขึ้น และจำนวนเปอร์เซ็นต์เดียวกันมีท่าทีเป็นกลาง บนกรอบเวลา D1 ออสซิลเลเตอร์ให้ผลลัพธ์ที่ตรงกัน 100% โดย 15% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold อินดิเคเตอร์เทรนด์ชี้ว่า 65% โหวตให้กับฝั่งหมี (สีแดง) และ 35% ให้กับฝั่งสีเขียว ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่าง จะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับที่ 1.2675, 1.2620-1.2635, 1.2575-1.2600, 1.2435-1.2450, 1.2300-1.2330, 1.2190-1.2210, 1.2085, 1.1960 และ 1.1800 หากราคาขยับขึ้นด้านบน จะต้องเจอกับแนวต้านที่ 1.2760 ตามมาด้วย 1.2800-1.2815, 1.2880, 1.2940, 1.2980-1.3000, 1.3050-1.3060, 1.3125-1.3140, 1.3185-1.3210, 1.3300-1.3335, 1.3425 และ 1.3605

    ในส่วนของสถิติเศรษฐกิจมหภาคของอังกฤษ สถิติที่น่าสนใจของตลาดแรงงานอังกฤษจะประกาศในวันอังคารที่ 15 สิงหาคม รวมถึงตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น การเติบโตของค่าจ้างและอัตราว่างงาน ในวันถัดมา วันพุธที่ 16 สิงหาคม เราจะได้ทราบดัชนีเงินเฟ้อสำคัญ (CPI) ของสหราชอาณาจักร และสุดท้ายคือวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม เราจะได้ทราบสถิติยอดค้าปลีกในประเทศ

USD/JPY: ราคาคู่นี้กลับขึ้นสู่ดวงจันทร์

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 14 - 18 สิงหาคม 20231

  • ในขณะที่ EUR/USD และ GBP/USD ใช้เวลาตลอดสัปดาห์ในแนวโน้มไซด์เวย์ส เป็นอีกครั้งที่ USD/JPY ทะยานขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาได้ขยับถึงระดับ 144.995 โดยเกือบจะแตะระดับสูงสุดของวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งครั้งล่าสุดที่ราคาเทรดในระดับดังกล่าวคือเมื่อปีที่แล้ว เดือนมิถุนายน 2022 ในสัปดาห์นี้ ราคาปิดลงต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 144.93 โดยไม่มีท่าทีใดที่ช่วยสนับสนุนเงินเยนญี่ปุ่นได้ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มาใช้แนวทางที่ยืดหยุ่นในการกำหนดเส้นโค้งของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น หรือการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางฯ

    สถิติเงินเฟ้อมีความสำคัญต่อธนาคารกลางส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการต่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ธนาคารหลายแห่งในสหรัฐฯ อียู และสหราชอาณาจักรต่างใช้นโยบายการเงินแบบถอนสภาพคล่องออกจากระบบ และขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม BoJ เพิกเฉยต่อแนวทางดังกล่าว แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อในประเทศจะสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังแนะนำให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 4% และนำไปสู่การเติบโตของค่าจ้างที่สูงสุดในรอบหลายสิบปี ในสถานการณ์เช่นนี้ มีหลักฐานมากมายว่าธุรกิจต่าง ๆ พร้อมที่จะผลักภาระเหล่านี้ให้กับผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้ CPI สูงขึ้น

    ธนาคาร MUFG ของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางฯ อาจตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงครึ่งแรกของปีถัดไป เมื่อถึงตอนนั้นจะมีการเปลี่ยนมาดำเนินการให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น ในส่วนการเปลี่ยนแปลงล่าสุดในนโยบายควบคุมเส้นโค้งในพันธบัตรรัฐบาล MUFG เชื่อว่า มาตรการนี้ไม่เพียงพอที่จะทำให้เงินเยนญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น

    นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ของเยอรมนีรู้สึกถึงการขาดความชัดเจนในนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งจะยิ่งกดดันต่อเงินเยนและขัดขวางการเติบโตของค่าเงิน ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อธนาคารกลางทุกแห่งยกเว้นของญี่ปุ่นได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย สิ่งหนึ่งที่มีความชัดเจนก็คือ นโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่เป็นผลดีต่อเงินเยนในอนาคตอันใกล้ พวกเขากล่าวเสริมว่า เงินเยนเป็นค่าเงินที่ซับซ้อนในการทำความเข้าใจ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น

    นักยุทธศาสตร์จาก Societe Generale มีความเห็นว่า หากคู่ USD/JPY แข็งตัวอยู่เหนือระดับ 144.50-145.00 ราคาอาจเติบโตต่อไปที่ 146.10 (เป็นการปรับฐาน 76.4% จากการเคลื่อนที่ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว) และอาจขยับสูงขึ้นไปที่ 147.90

    นักวิเคราะห์จาก Credit Suisse ยังคงมีมุมมองตลาดกระทิงต่อคู่นี้และให้ตัวเลขคาดการณ์ที่สูงยิ่งกว่า “เรายังคงคาดการณ์ว่าราคาจะกลับมาทดสอบเป้าหมายชั่วคราวของเราที่ 145.00-145.12" “แต่ระดับดังกล่าวก็น่าจะยืนหยัดอยู่อีกครั้ง ดังนั้น การคาดการณ์หลักของเรายังคงเป็นแนวโน้มกระทิง และเราคาดว่ามันจะถูกทำลายในที่สุด สิ่งนี้จะนำไปสู่แรงต้านทานของตลาดที่บริเวณ 146.54-146.66 และสุดท้ายคือที่เป้าหมาย 148.57"

    เมื่อพูดถึงมุมมองในระยะใกล้ การคาดการณ์ระยะกลางของผู้เชี่ยวชาญมีความแตกต่างไปจากความเห็นข้างต้นเป็นอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (80%) คาดว่าจะมีการปรับฐานของ USD/JPY ลงทิศใต้ (หนึ่งเหตุผลที่เป็นไปได้สำหรับแนวโน้มขาลงคือ การแทรกแซงค่าเงินอีกครั้ง) ส่วน 20% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง จำนวนผู้เชี่ยวชาญที่คาดการณ์ว่าราคาคู่นี้จะขึ้นต่อเท่ากับศูนย์ ทั้งอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ต่างให้สัญญาณสีเขียว 100% แต่หนึ่งในสี่ของกลุ่มหลังให้สัญญาณ overbought ด้านระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 144.50 ตามมาด้วย 143.75-144.04, 142.90-143.05, 142.20, 141.40-141.75, 140.60-140.75, 139.85, 138.95-139.05, 138.05-138.30, 137.25-137.50 ส่วนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 145.30 ตามมาด้วย 146.85-147.15, 148.85 และสุดท้ายคือระดับสูงสุดของเดือนตุลาคมที่ 2022 ที่ 151.95

    สำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เราอาจเน้นวันอังคารที่ 15 สิงหาคม ที่จะมีการประกาศดัชนีการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปริมาณการผลิตทางอุตสาหกรรม และค่า GDP ของญี่ปุ่น ในวันถัดมาจะมีการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของ Reuters Tankan และในวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม เราจะได้ทราบดัชนีราคาผู้บริโภคแห่งชาติ (CPI) ของญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: การค้นหาปัจจัยกระตุ้นยังคงดำเนินต่อไป

  • เมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เราได้ตั้งชื่อเรื่องบทรีวิวของเราว่า “ค้นหาปัจจัยกระตุ้นที่หายไป” หลังจากเวลาผ่านไปหลายวัน ก็ยังไม่พบปัจจัยกระตุ้นที่ว่านี้ หลังจากราคาร่วงลงเมื่อช่วง 23-24 กรกฎาคม BTC/USD ขยับเข้าสู่การเคลื่อนไหวแบบไซด์เวยส์อีกระยะหนึ่งตาม Pivot Point ที่บริเวณ $29,500 นักวิเคราะห์บางกลุ่มเชื่อว่า ผู้เล่นในตลาดหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่รุนแรงเพราะรอฟังสถิติเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม ตลาดคริปโตจึงถูกเพิกเฉยโดยสิ้นเชิง

    ดัชนีเครือข่ายบิทคอยน์ชี้ให้เห็นถึง การสะสมเหรียญเพื่อหวังว่าราคาจะมีการทะลุออก Blockware Intelligence ชี้ว่า ปริมาณอุปทานที่มีสภาพคล่องและมีสภาพคล่องสูงอย่างยิ่งอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งนักเก็งกำไรได้แลกเหรียญไปมาลดลง ในขณะที่ผู้ถือเหรียญระยะยาวยังคงพากันเก็บเหรียญอย่างสม่ำเสมอ

    ความคิดเห็นว่าราคาจะทะลุออกไปในทิศทางใดแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มเหมือนเช่นเคย เช่น Michael Van De Poppe นักเทรด นักวิเคราะห์ และผู้ก่อตั้งบริษัทระดมทุน Eight ได้หักล้างการคาดการณ์ของนักลงทุนว่า บิทคอยน์จะร่วงลงมายังระดับ $12,000 และยืนยันความมั่นใจให้กับผู้ที่พูดถึงโอกาสล่มสลายลงของอัลท์คอยน์"

    “ตลาดหมีเคลื่อนไหวมามากกว่า 2 ปี” เขากล่าว ทำให้มันเป็นตลาดที่ยาวนานที่สุดในตลาดคริปโต อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจท่ามกลางเหตุการณ์การแฮ็ค การล้มละลาย และข้อพิพาททางกฎหมายในแวดวงคริปโต จากการสังเกตของนักวิเคราะห์ชี้ว่า ตลาดหมีมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นครั้งแรกในปี 2021 “สำหรับพวกเขาแล้ว การสูญเสียเงินช้า ๆ มันน่าเจ็บปวดเป็นอย่างมาก และพวกเขาได้แต่คาดว่ามูลค่าพอร์ตจะยิ่งลดลง” กล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญ

    ในมุมมองของเขา เรากำลังอยู่ในช่วงการยอมจำนนระยะที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อที่สุดของวัฎจักร ซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีอะไรกำลังเกิดขึ้นในตลาด “จงอดทน และสบายใจที่คุณยังอยู่ในเกมนี้ สะสมเหรียญต่อไป มีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่กำลังเข้ามาในตลาด และสิ่งที่ฉลาดที่สุดที่คุณทำได้คือการเดินตามรอยพวกเขา” กล่าวโดย Van De Poppe

    มุมมองที่ไม่ค่อยบวกนักเป็นของนักเทรดอีกท่านหนึ่งที่ชื่อว่า Tone Vays เขาตั้งข้อสังเกตว่า แรงขายยังคงเพิ่มขึ้นและราคาของบิทคอยน์อาจลดลงอย่างรุนแรงได้ “บิทคอยน์ยังคงเจอปัญหา แต่ผมขอบอกว่ามันมีความเป็นไปได้สูงที่ราคา BTC จะร่วงลงไปยังค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ถัดไป และหากแท่งเทียนรายวันยังคงปิดลงต่ำกว่าระดับก่อนหน้า ผมขอแนะนำให้ลดขนาดคำสั่งลง 50% เพราะผมไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าบิทคอยน์อาจร่วงลงมาลึกแค่ไหน มันอาจจะลงไปที่ $25,000 ซึ่งมีจำนวนคนที่เพียงพอในตลาดที่จะขายเหรียญของตนเอง” นักวิเคราะห์เขียน

    Tone Vays เชื่อว่า หากบิทคอยน์ร่วงลงมาที่ $25,000 จะมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาจะปรับตัวลงในระยะยาว ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญรายนี้ บิทคอยน์ “อยู่ที่ปากเหว และหลายอย่างกำลังดูมืดมน” ราคาจำเป็นต้องดีดตัวขึ้นโดยเร็ว ผมหมายความว่าภายในหนึ่งเดือนนี้ เราจะปล่อยให้ราคาลดลงต่ออีกเดือนหนึ่งไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะหวาดวิตกขึ้นในตลาด และผมจะไม่ประหลาดใจหาก BTC จะซื้อขายต่ำกว่า $20,000 นอกจากนี้ นักขุดเหรียญอาจเริ่มปล่อยเหรียญสำรองออกมา ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงมาก” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือน

    ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม Vays ได้ทำนายว่าบิทคอยน์จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเหนือ $30,000 ซึ่งการคาดการณ์นั้นปรากฏว่าถูกต้องแม่นยำ แต่ BTC ไม่สามารถยืนเหนือระดับดังกล่าวได้

    ปัจจัยที่อาจกระตุ้นแนวโน้มการทะยานขึ้นอาจเป็นข่าวการชำระเงินของ PayPal ที่ออกเหรียญ stablecoin (PYUSD) เป็นของตนเอง ซึ่งมีการประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม Charles Shrem ผู้ก่อตั้งมูลนิธิการกุศล The Bitcoin Foundation เชื่อว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่ราคาบิทคอยน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็น $250,000 รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในมุมมองของเขา ETH จะพุ่งขึ้นในความเร็วแบบเร่งตัวไปที่ $18,000 เนื่องจาก PYUSD ออกบนบล็อกเชน Ethereum ผลที่ตามมาก็คือ มูลค่าของอัลท์คอยน์นี้อาจเพิ่มขึ้นเนื่องด้วยผู้ใช้งานในเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้า PayPal

    แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความเห็นที่ไม่เหมือนกับนาย Charlie Shrem และมีปฏิกิริยาที่ตั้งข้อกังขาต่อข่าวนี้ เพราะเครื่องมือดังกล่าวไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ ๆ หรือเป็นประโยชน์ให้กับผู้ใช้งาน อีกทั้งยังเป็นเรื่องปริศนาอยู่ว่าทำไม Shrem เชื่อว่า PYUSD จะส่งผลต่อราคาบิทคอยน์ในทางบวก ตรงกันข้ามกันนั้น นักเทรดคริปโตที่ชื่อว่า Smitty คิดว่า การออกเหรียญ Stablecoins จะทำให้ราคาบิทคอยน์ลดลง เนื่องจากมันจะยิ่งเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับคู่แข่งของบิทคอยน์ซึ่งก็คือ ETH อย่างไรก็ดี PYUSD ไม่ได้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้กับทั้ง Bitcoin หรือ Ethereum ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากกราฟ BTC/USD และ ETH/USD

    ดังนั้น นักลงทุนจึงมีสามเหตุการณ์ “สำรอง” ไว้ที่อาจจะช่วยกระตุ้นตลาดคริปโตให้ทะยานขึ้นคือ 1) การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างสุดโต่งโดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ 2) การอนุมัติให้เปิดกองทุน ETF บิทคอยน์สปอตโดยกลต. สหรัฐฯ (SEC) และ 3) การลดผลตอบแทนจากการขุดเหรียญของบิทคอยน์ (Halving)

    ทั้งนี้ อย่าลืมว่า Halving ครั้งถัดไปน่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 12 เมษายน 2024 โดยจะเกิดขึ้นทุก 210,000 บล็อกหรือหนึ่งครั้งในทุก ๆ 4 ปี โดยมีการลดผลตอบแทนลงครึ่งหนึ่งที่ได้จากการขุดเหรียญหนึ่งบล็อก กลไกนี้เป็นไปเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเงินฝืดและสนับสนุนมูลค่าของเหรียญ BTC โดยลดอัตราการออกเหรียญใหม่ (กำหนดให้ออกเหรียญได้รวมทั้งสิ้น 21 ล้านเหรียญ) เดิมตั้งแต่ปี 2009 นักขุดเหรียญจะได้รับ 50 BTC จากแต่ละบล็อกที่ขุดได้ ในปี 2021 ผลตอบแทนดังกล่าวลดลงเหลือ 25 BTC ในปี 2016 เหลือ 12.5 BTC และหลังจากปี 2020 เหลือ 6.25 BTC ในนปี 2024 เมื่อมี Halving เกิดขึ้น ผลตอบแทนจากการขุดเหรียญจะลดลงเหลือ 3.125 เหรียญ

    ผลที่ตามมานั้น นักขุดเหรียญจะต้องปรับตัวต่อความเป็นจริงใหม่ พวกเขาจะต้องอาศัยอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังมากขึ้นหรืออัปเกรดอุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การคาดการณ์ชี้ว่า บริษัทขนาดเล็กหลายแห่งจะต้องออกจากตลาดแห่งนี้หรือถูกผู้เล่นรายใหญ่เข้าซื้อ ดังนั้น ตลาดขุดเหรียญจึงอาจมีความรวมศูนย์มากขึ้น ซึ่งจะถูกเงินทุนรายใหญ่ไม่กี่รายมีบทบาทสำคัญ สถานการณ์นี้อาจทำให้เครือข่ายมีความอ่อนไหวต่อการปลุกปั่นหรือการโจมตีโดยแฮ็คเกอร์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาบิทคอยน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจช่วยชดเชยปัจจัยในทางลบนี้ได้ระดับหนึ่ง

    ผู้เล่นในตลาดหลายรายคาดว่า หลังจากเหตุการณ์นี้ ราคาบิทคอยน์อาจพุ่งขึ้นอีกครั้งตามที่เห็นได้จากสถิติในอดีต หลังการ Halving ปี 2012 ราคา BTC เพิ่มขึ้นจาก $11 ในเดือนพฤศจิกายน 2012 เป็น $1,100 ในเดือนพฤศจิกายน 2013 การ Halving 2016 พาราคาขึ้นไปจาก $640 ในเดือนกรกฎาคมเป็น $20,000 ในเดือนธันวาคม 2017 ส่วนปี 2020 ได้พาราคาเหรียญทะยานขึ้นไปจาก $9,000 ในเดือนพฤษภาคม 2020 เป็นระดับสูงสุดที่ $69,000 ในเดือนพฤศจิกายน 2021 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะปรากฏสถิติเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าผลลัพธ์ในอดีตไม่ได้เป็นตัวการันตีเหตุการณ์ในอนาคต

    Adam Back หนึ่งในบุคคลโด่งดังในแวดวงคริปโตและซีอีโอ Blockstream ได้เดิมพันเงินหนึ่งล้านซาโตชิ (0.01 BTC) ว่าราคาบิทคอยน์จะขยับถึง $100,000 ก่อนการ Halving (การลดผลตอบแทนของการขุดบล็อก) ครั้งถัดไป การเดิมพันนี้มาจากการพนันระหว่างผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม X (เดิมคือ Twitter) ภายใต้ชื่อเล่นว่า Vikingo โดย Vikingo เชื่อว่า “ทองคำดิจิทัล” จะไม่สามารถไปถึงระดับราคานี้ได้จนกว่าจะอย่างน้อยปี 2025

    ทางด้านประธาน Blockstream มั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2024 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อน Halving ด้าน Samson Mow อดีตผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์ของ Blockstream และปัจจุบันเป็น CEO ของ Jan3 เห็นด้วยกับอดีตเพื่อนร่วมงานของเขา ด้านผู้เชี่ยวชาญจาก Seeking Alpha ให้ตัวเลขใกล้เคียงกันมาก พวกเขาเชื่อว่าบิทคอยน์น่าจะมีมูลค่าประมาณ $98,000 สำหรับนักขุดเหรียญหลังการ Halving อย่างไรก็ตาม PlanB นักวิเคราะห์ชื่อดังใช้โมเดล S2F ของเขาและชี้ว่า เมื่อมีการ Halving แล้ว BTC จะมีมูลค่าต่ำลงกว่าเดิมมากที่ประมาณ $55,000 เท่านั้น

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $29,400, ETH/USD อยู่ที่บริเวณ $1,840 โดยมูลค่ารวมของตลาดคริปโตเพิ่มขึ้นและขณะนี้อยู่ที่ $1.171 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.157 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ยังคงอยู่ที่โซนตรงกลางที่ 51 จุด (54 จุดเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)