พฤศจิกายน 12, 2023

EUR/USD: Mr. Powell ช่วยเงินดอลลาร์อย่างไร

  • สัปดาห์ที่แล้วเราได้เห็นเหตุการณ์ที่สำคัญบางเหตุการณ์ ซึ่งสะท้อนถึงความผันผวนของคู่ EUR/USD ที่บริเวณ 1.0700 โดยดัชนีดอลลาร์ (DXY) ปรับขึ้นเล็กน้อย เริ่มต้นที่ 105.05 จากนั้นขึ้นถึงระดับสูงสุดคือ 105.97 ภายในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน การเติบโตนี้เป็นเพราะความคิดเห็น “สายเหยี่ยว” (เน้นนโยบายการเงินแบบเข้มงวด” จากปากประธานธนาคารเฟด

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน นาย Jerome Powell ได้เข้าร่วมหารือเรื่องนโยบายการเงินกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยยืนยันว่าทุกการตัดสินใจของที่ประชุมเฟดนั้น “อ้างอิงจากความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ได้รับและผลกระทบต่อภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ” Powell แสดงถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสำเร็จของธนาคารเฟดในการใช้นโยบายจำกัดที่เพียงพอเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อลงมาที่ 2% นอกจากนี้ เขายังให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเติบโตที่รวดเร็วของ GDP สหรัฐฯ โดยชี้แนะว่า การเร่งตัวทางเศรษฐกิจอาจมีผลกระทบต่อความก้าวหน้าในการสร้างเสถียรภาพในตลาดแรงงาน

    ความเห็นของนายพาวเวลล์เป็นผลมาจากข้อมูลยอดขอรับสวัสดิการเบื้องต้นในช่วงปลายสัปดาห์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ยอดรวมประกาศที่ 217K ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 220K แม้ว่าจะลดลงไม่มาก แต่ก็แสดงถึงแนวโน้มขาลงมากกว่าอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น

    ตลาดตีความคำพูดของพาวเวลล์ว่า เป็นสัญญาณแผนการของธนาคารกลางที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ดังนั้น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จึงเพิ่มขึ้นเกือบ 3% อีกครั้ง สูงเกินระดับ 4.6% และให้แรงหนุนต่อเงินดอลลาร์

    แรงกดดันขาลงต่อ EUR/USD ยังมาจากสถิติเศรษฐกิจมหภาคจากอียู ในเยอรมนี ดัชนีเงินเฟ้อเดือนต่อเดือน (CPI) แสดงให้เห็นถึงแนวโนมขาลงจาก 0.3% เหลือ 0% ปริมาณยอดขายปลีกในยูโรโซนโดยรวมลดลง 0.3% ในเดือนกันยายน หลังจากเพิ่มขึ้นมา 0.7% ในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม ดัชนีรายปีดังกล่าวลดลงจาก -1.8% เหลือ -2.9%  นักวิเคราะห์หลายคนพิจารณาว่ากิจกรรมของผู้บริโภคที่ลดลงดังกล่าวก่อนช่วงวันหยุดคริสต์มาสและปีใหม่น่าจะแสดงถึงภาวะถดถอยทางเทคนิคในยูโรโซนก่อนจะถึงช่วงสิ้นปี

    จากข้อมูลของ CME Group FedWatch ตลาดเก็งความเป็นไปได้ 90% ที่ธนาคารเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนธันวาคม 2023 โดยนักเศรษฐศาสตร์จาก Nordea Bank ของฟินแลนด์เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันที่ 5.50% แม้ในปี 2024

    อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าวัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับยูโรน่าจะใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว นักยุทธศาสตร์จาก Wells Fargo หนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ แนวโน้มการเติบโตที่ดูมืดมนสำหรับยูโรโซนชี้ว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดของ ECB ใกล้จะสิ้นสุดลง ความสำเร็จล่าสุดในการลดอัตราเงินเฟ้อช่วยส่งเสริมความเชื่อว่า จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ย (4.50%) นั้นผ่านไปเรียบร้อยแล้ว

    ทั้ง Nordea และ Wells Fargo เห็นด้วยว่า ECB น่าจะถูกบีบให้ลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นฤดูร้อนปีหน้า “เราไม่คาดว่า ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจนกว่าจะถึงการประชุมเดือนมิถุนายน 2024 แต่หลังจากนั้นน่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องที่ 150 จุดพื้นฐานจนลดเหลือ 2.50% ตั้งแต่กลางปี 2024 ถึงต้นปี 2025 ในภาพรวม เราเชื่อว่าความเสี่ยงในการลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB จะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้หรือมีความเข้มข้นมากกว่า"

    ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่เพิ่มขึ้นของโลกและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อาจช่วยสนับสนุนเงินยูโร แต่ความแตกต่างระหว่างนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดและธนาคารกลางยูโรจะยังคงเพิ่มแรงกดดันต่อคู่ EUR/USD ต่อไป สิ่งนี้มีผลต่อค่าเงินของประเทศหลักอื่น ๆ เช่นกัน หากธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม หรือเริ่มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้

    EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 1.0684 โดยในขณะนี้ความเห็นของนักลงทุนต่ออนาคตของคู่นี้มีดังนี้ 25% โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น 60% โหวตให้กับฝั่งเงินยูโร และ 15% คงความเห็นเป็นกลาง

    ในแง่ของการวิเคราะห์เชิงเทคนิค 85% ของออสซิลเลเตอร์บนกราฟ D1 ให้สัญญาณสีเขียว และ 15% เป็นสีเทากลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ อัตราส่วนอยู่ที่ 70% ต่อ 30% โดยสีเขียวเป็นฝั่งมากกว่า

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0620-1.0640 ตามมาด้วย 1.0480-1.0520, 1.0450, 1.0375, 1.0200-1.0255, 1.0130 และ 1.0000 โดยฝั่งกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0740 จากนั้นคือ 1.0800, 1.0865, 1.0945-1.0975 และ 1.1065-1.1090, 1.1150 และ 1.1260-1.1275

    สัปดาห์ที่จะถึงนี้น่าจะมีกิจกรรมมากมาย ซึ่งต่างไปจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ค่อนข้างสงบ ในวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน จะมีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสหรัฐฯ รวมถึงสถิติเบื้องต้นของ GDP ยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ในวันถัดมาจะมีการประกาศสถิติปริมาณค้าปลีกและดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน จะมีการประกาศยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นตามธรรมเนียมในสหรัฐฯ ส่วนวันสุดท้ายในวันศุกร์จะมีการประกาศดัชนีเงินเฟ้อสำคัญ ซึ่งก็คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (CPI)

GBP/USD: เข้าใกล้ 1.2200 อย่างอันตราย

  • ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน เงินปอนด์ได้รับแรงหนุนกระทิงที่แข็งแกร่งหลังการประกาศสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น GBP/USD พุ่งขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นอีกครั้ง ทำระดับสูงสุดที่ 1.2427 อย่างไรก็ตาม มีการตัดสินใจว่าถึงเวลาที่ฝั่งกระทิงจะต้องหยุดฉลองและถึงเวลาที่ GBP/USD ต้องกลับมาที่โซน 1.2200

    การกลับตัวของเทรนด์ลงทิศใต้มีผลมาจากสถิติจากสหราชอาณาจักร ในเดือนตุลาคม ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจของภาคก่อสร้างในประเทศเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 45.0 เป็น 45.6 ในระหว่างนี้ คำสั่งซื้อในภาคธุรกิจดังกล่าวลดลงเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน และต่ำกว่าของปีที่แล้ว 20% แล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 8% และจำนวนเงินกู้บ้านที่ได้รับการอนุมัติลดลงเป็นเวลาสี่เดือนติดต่อกัน ดังนั้น การคาดการณ์ว่ากิจกรรมทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้

    ถึงแม้ว่า GDP สหราชอาณาจักรจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยในเดือนกันยายนจาก 0.1% เป็น 0.2% มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจะลดลงในไตรมาสที่สามตั้งแต่ 0.2% ถึง 0.0% และคงอยู่ที่ 0.6% สำหรับตัวเลขรายปี ในสถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) ไม่น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ แต่ก็จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน นาย Hugh Pill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ BoE ได้กล่าวไม่นานมานี้ว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องคงนโยบายการเงินแบบจำกัดสภาพคล่องอย่างเข้มงวด หรือกล่าวได้ว่า อัตราดอกเบี้ยน่าจะคงเดิมที่ 5.25% อย่างที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ในสถานการณ์ดังกล่าว ความได้เปรียบน่าจะอยู่ที่ฝั่งดอลลาร์ โดยสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากการตอบสนองของตลาดต่อคำกล่าวแถลงของนาย Jerome Powell ประธานเฟดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ทันทีที่เขาเริ่มมีถ้อยคำที่กำกวมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย GBP/USD ดิ่งฮวบลงทันที

    สัปดาห์ที่แล้ว ราคาปิดลงที่ระดับ 1.2225 นักเศรษฐศาสตร์จาก Scotiabank ชี้ว่าโซน 1.2200 อาจเป็นโซนที่ทำหน้าที่เป็นแนวรับระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอด้านล่างระดับนี้แสดถึงความเสี่ยงที่ราคาจะหลุดลงต่อ และกลับไปทดสอบที่บริเวณ 1.2000-1.2100 เมื่อพูดถึงการคาดการณ์กลางในอนาคตอันใกล้ นักวิเคราะห์ 60% โหวตให้ราคาขยับขึ้นด้านบน 20% โหวตให้แนวโน้มลงด้านล่าง และ 20% ให้ความเห็นเป็นกลาง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 50% ที่ชี้ถึงแนวโน้มขาลง 15% ชี้ไปยังขาขึ้น และ 35% ที่เหลือชี้แนวโน้มด้านข้าง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 15% เท่านั้นที่ชี้ไปยังด้านบน ในขณะที่อินดิเคเตอร์ส่วนใหญ่ (85%) ให้สัญญาณเทรนด์ขาลง ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่าง ราคาจะเจอกับแนวรับที่ระดับและโซนคือ 1.2040-1.2085, 1.1960, และ 1.1800-1.1840, 1.1720, 1.1595-1.1625, 1.1450-1.14754 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นด้านบน แนวต้านจะอยู่ที่ 1.2290-1.2335, 1.2430-1.2450, 1.2545-1.2575, 1.2690-1.2710, 1.2785-1.2820, 1.2940 และ 1.3140.

    สิ่งที่น่าสนใจในปฏิทินเศรษฐกิจของสัปดาห์ที่จะถึงนี้ในสหราชอาณาจักรคือ ในวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน ในวันนี้จะมีการรายงานชุดข้อมูลชุดใหญ่จากตลาดแรงงานในประเทศ ในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน เราจะได้ทราบดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษ (CPI) ประจำเดือนตุลาคม สุดท้ายจะปิดท้ายสัปดาห์ในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน เราจะรอฟังการประกาศปริมาณยอดขายปลีกในสหราชอาณาจักร

USD/JPY: เวลาที่ยากลำบากสำหรับเงินเยนตอนนี้ เวลาที่ดีรออยู่ข้างหน้า

  • ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ตัดสินใจคงนโยบายทางการเงินเหมือนเดิม ซึ่งเป็นท่าทีที่คงไว้มาเป็นเวลานานมาแล้ว ธนาคารกลางฯ ไม่ใช่แค่คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ -0.1% เท่านั้น แต่ยังคงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลชุด 10 ปี (JGB) ไว้ที่ระดับเดิมอีกด้วย ผู้เล่นในตลาดบางมีความหวังว่า หลังจากข้อมูลการเติบโตของเงินเฟ้อ BoJ จะขึ้นเพดานผลตอบแทนจาก 1% เป็นอย่างน้อย 1.25% (ทั้งนี้ ผลตอบแทนของหลักทรัพย์สหรัฐฯ ที่คล้ายกันสูงกว่า 4.6% เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน) อย่างไรก็ตาม แทนที่จะปรับสัญญาณให้เข้ากับแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงเพิกเฉยต่อสัญญาณเหล่านี้ จึงเป็นแรงผลักดันให้ USD/JPY ขึ้นทะยานไปที่ 151.71 และน่าจะคงอยู่ในระดับดังกล่าว หากไม่เป็นเพราะสถิติตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งพาราคาลงมาที่ 149.34

    นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ผู้บริหารกระทรวงการคลังและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะช่วยพยุงราคา USD/JPY ไว้ที่ระดับเหล่านี้ด้วยการแทรกแซงผ่านคำพูด หากรัฐบาลเข้าซื้อเงินเยนจริง ก็มีโอกาสที่ราคาคู่นี้จะลดลงต่อ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น และเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ราคาได้ขยับขึ้นไปยังระดับที่ 151.59 อีกครั้ง และปิดท้ายสัปดาห์ห้าวันทำการไม่ไกลจาก 151.51

    "สิ่งที่แทบจะไม่น่าประหลาดใจเลยคือแนวโน้มขาขึ้นของ USD/JPY" กล่าวแสดงความเห็นโดยนักยุทธศาสตร์จาก Commerzbank “ในที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เงินลงทุนในเยนญี่ปุ่นไม่ใช่แค่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ (และภายในประเทศ) เท่านั้น ตราบใดที่นโยบายการเงินของญี่ปุ่นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาด USD/JPY น่าจะมีโอกาสทดสอบระดับสูงสุดใหม่อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังน่าจะต้องตอบสนองอีกครั้งด้วยคำขู่ว่าจะเข้าแทรกแซง อย่างไรก็ตาม หากธนาคารกลางไม่สามารถต้านทานการแสดงความเห็นแบบ “สายพิราบ” ได้ และกระทรวงการคลังเข้าแทรกแซงจริง ๆ ก็จะมีแนวโน้มที่จะยับยั้งไม่ให้ราคาขึ้นต่อไปได้ชั่วคราวเท่านั้น”

    ตามความเห็นของ Rabobank ธนาคารจากเนเธอร์แลนด์ อัตราการปรับนโยบายทางการเงินที่ล่าช้าของญี่ปุ่นอาจชี้ว่า USD/JPY จะขยับเหนือระดับ 150.00 ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ความกลัวว่าจะมีการแทรกแซงเกิดขึ้นโดยรัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่นอาจเป็นตัวขัดขวางแนวโน้มขาขึ้น และตลาดน่าจะลังเลมากที่จะดันราคาให้ขึ้นไปเหนือ 152.00

    ในระหว่างนี้ นักวิเคราะห์ที่ United Overseas Bank (UOB) ของสิงคโปร์เชื่อว่า ความเสี่ยงที่ราคาคู่นี้จะขยับขึ้นเหนือระดับสูงสุดของสัปดาห์ที่แล้วที่บริเวณ 151.80 เพิ่มสูงขึ้น ระดับนี้ไม่ไกลไปจากระดับสูงสุดของคู่นี้ที่บริเวณ 151.95 และหากดอลลาร์สามารถฝ่าโซนแนวต้านนี้ไปได้ จะมีแนวโน้มที่ราคาจะทะยานขึ้นไปยัง 152.50 ในช่วง 1-3 สัปดาห์ข้างหน้า

    ถึงแม้ว่าการคาดการณ์ชี้แนวโน้มขาขึ้น ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลัง และธนาคารกลางญี่ปุ่นได้กล่าวว่า ความอ่อนแอของค่าเงินเยนในขณะนี้มันไม่เหมาะสม “การเก็งว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นใด ๆ จะช่วยให้ USD/JPY ขยับลงด้านล่างในปีหน้า” ทำนายโดย Rabobank “เราเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ราคาอาจกลับมายังระดับต่ำกว่า 145.00” “มูลค่าที่ยุติธรรมตามค่าสเปรด ผลตอบแทน และเงื่อนไขการเทรดชี้ว่าดอลลาร์มีมูลค่าเกินจริงไปมาก และควรจะมีราคาซื้อขายอยู่บริเวณ 144.50” ตามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จาก Scotiabank

    อย่างไรก็ตาม คำถามว่า “ความยุติธรรม” จะกลับคืนเมื่อใดนั้นยังไม่มีคำตอบ ด้าน Societe Generale ให้ความเห็นไม่นานมานี้ว่า เงินเยนจะต้องน่าผิดหวังไปอีกระยะหนึ่งอย่างแน่นอน แต่การกลับตัวสู่ขาลงของ USD/JPY กำลังใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ

    เมื่อพูดถึงแนวโน้มระยะใกล้ของคู่นี้ นักวิเคราะห์ 55% คาดหวังว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ 10% มีท่าทีเป็นกลาง มี 35% ที่โหวตว่าราคาคู่นี้จะทะลุขึ้นเหนือ 152.00 ในขณะที่เขียนรีวิวฉบับนี้ ส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิคช่วยสนับสนุนกลุ่มหลัง โดยมีอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ที่ให้ภาพสีเขียว

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณโซน 150.00-150.15 ตามมาด้วย 148.45-148.80, 146.85-147.30, 145.90-146.10, 145.30, 144.45, 143.75-144.05 และ 142.20 ด้านแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 151.70-151.90 (ราคาสูงสุดของเดือนตุลาคม 2022) ตามมาด้วย 152.80-153.15 และ 156.25

    นอกเหนือจากการประกาศสถิติ GDP เบื้องต้นสำหรับญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3 เมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายนแล้ว ยังไม่คาดว่าจะมีสถิติที่สำคัญอื่นใดเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่จะประกาศในสัปดาห์นี้

สกุลเงินคริปโต: ข่าวลือในตลาดและสถิติต่าง ๆ

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 13 - 17 พฤศจิกายน 20231

  • สัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยสองเหตุการณ์หลักคือ ข่าวฉาว Ethereum และการทะยานขึ้นของ Bitcoin และตลาดคริปโตโดยรวม มาเริ่มกันที่ข่าวฉาวกันเลย

    Steven Nerayoff อดีตที่ปรึกษาแพลตฟอร์ม Ethereum ได้กล่าวหา Vitalik Butern และ Joseph Lubin ว่าทำกิจกรรมฉ้อโกง เขาเชื่อว่าผู้ก่อตั้ง ETH ได้ใช้โซเชียลมีเดียในการชักจูงชุมชนคริปโตในทางที่ผิด นอกจากนี้ ทนายความกล่าวหา Buterin และ Lubin มีส่วนเกี่ยวข้องในการฉ้อโกงในระดับที่มีขนาดใหญ่กว่าคดีความของ Sam Bankman-Fried ผู้ก่อตั้ง FTX หลายเท่า (ซึ่งถ้าเขาถูกตัดสินอาจต้องถูกจำคุกกว่า 110 ปี)

    “คำกล่าวของ Buterin ว่าเขาพยายามที่จะสร้างสกุลเงินแบบกระจายศูนย์นั้นหลอกลวง มันมีศูนย์กลางมาตั้งแต่เริ่มต้น และทุกวันนี้มันก็มีศูนย์กลางมากยิ่งกว่าเดิม” Nerayoff กล่าว ทนายความท่านนี้ชี้ว่า โอกาสที่ค่อนข้างสูงที่จะเกิดข้อตกลงลับระหว่างทีมบริหารเครือข่าย Ethereum และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เช่น Gary Gensler ประธาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ (SEC และ Jay Clayton ในช่วงการขั้นตอนของการออกเหรียญอัลท์คอยน์

    “นักลงทุน ETH กลุ่มเล็ก ๆ ควบคุม 75% ของเหรียญทั้งโปรโตคอล ดังนั้น ตอนนี้จึงง่ายต่อการปั่นป่วนราคาหรือแม้แต่ตั้งค่าในราคาที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่า การเทรดส่วนใหญ่ที่คุณเห็นบนตลาดนั้นปลอมหรือกุขึ้นมาเพื่อสร้างภาพลวงตาว่ามีสภาพคล่อง” Nerayoff อธิบายคำกล่าวหาของเขา

    ก่อนหน้านี้ Nerayoff คาดการณ์ว่า การโจมตี Ripple อย่างเต็มรูปแบบโดยหน่วยงานทางการของสหรัฐฯ อาจได้รับการสนับสนุนโดยผู้ถือเหรียญ ETH ที่มีอิทธิพล เขามองว่า ผู้ที่บ่อนทำลาย Ripple อาจรวมถึงคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ SEC, กระทรวงยุติธรรม, FBI และแม้แต่พนักงานบางส่วนของ Ripple เอง

    ที่น่าสนใจก็คือ Truth Labs นักสืบสวนคริปโตเปิดเผยสิ่งที่คล้ายกัน แต่พวกเขาเชื่อว่าไม่ใช่สหรัฐฯ แต่เป็น Wangxian Group ของจีนที่มีอิทธิพลเด็ดขาดเหนือเครือข่าย Ethereum และองค์กรที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน (CPC ซึ่งควบคุมเหรียญ ETH ที่ขุดแล้วถึง 80% Truth Labs ยังอ้างด้วยว่า Wangxian คือหนึ่งในสปอนเซอร์ดั้งเดิมของเครือข่าย Ethereum ในปี 2015 กลุ่มนี้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างกระเป๋าเงินดั้งเดิมให้กับ Buterin ด้วย

    ไม่ว่าการคาดเดาของ Nerayoff และ Truth Labs จะมีน้ำหนักพอหรือไม่นั้นยังเป็นคำถามสำคัญ ในเวลานี้ ราคา ETH กำลังขยับขึ้นและถึงระดับสูงสุดที่ $2,130 ในส่วนบิทคอยน์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน BTC/USD ได้ตัดทะลุแนวต้านที่ $37,000 และทำระดับสูงสุดในพื้นที่ที่ $37,948 โดยครั้งสุดท้ายที่ราคาเทรดบริเวณดังกล่าวคือเดือนพฤษภาคม 2022

    พัฒนาการของเทรนด์กระทิงใน BTC ทำให้อินดิเคเตอร์ทำระดับสูงสุดในรอบปีและในประวัติศาสตร์ โดยกระแสเงินที่ไหลเข้าตลาดคริปโตสุทธิในช่วง 30 วันล่าสุดสูงถึง $11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถิติปี 2023 สถาบันต่าง ๆ อัดฉีดเงินกว่า $767 ล้านดอลลาร์ลงในกองทุนคริปโตในช่วงหกสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำลายสถิติปีที่แล้วที่ $736 ล้านดอลลาร์และทำระดับในช่วงปลายปี 2021 สัญญาฟิวเจอร์สแบบ Open interest ของบิทคอยน์ในตลาด Chicago CME Exchange ก็อยู่ที่ระดับเดียวกับเดือนธันวาคม 2021 เช่นกัน ($3.7 พันล้านดอลลาร์ฯ) ผู้ถือเหรียญระยะยาวยังคงสะสมบิทคอยน์ และตุนเหรียญไว้แล้วกว่า 14.9 ล้าน BTC (มากกว่า 70% ของเหรียญที่ออกแล้วทั้งหมด) ปริมาณการซื้อขายสูงกว่า 25,000 เหรียญต่อเดือน ส่วนนักลงทุนระยะสั้นและนักเก็งกำไรก็มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นเช่นกัน โดยเป็นเพราะผลกระทบจากภาวะการกลัวพลาดโอกาส (Fear of Missing Out)

    สถิติที่ว่านี้ยังมีอีกมาก แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนกังวลมากกว่าคือ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หากสถานการณ์ปัจจุบันยังคงไปต่อ ความต้องการในทองคำดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปริมาณจะยังคงลดลง ในกรณีนี้ การทำราคาสูงสุดใหม่ในกรอบหรือแม้แต่สูงสุดใหม่ในประวัติศาสตร์อาจอยู่ไม่ไกล

    เราเคยกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มการทะยานขึ้นรอบปัจจุบันไว้แล้วหลายครั้ง ปัจจัยสำคัญหนึ่ง ได้แก่ การอนุมัติกองทุน ETF สปอตบิทคอยน์ เหตุการณ์ Halving ในเดือนเมษายน 2024 และโอกาสที่นโยบายการเงินของธนาคารเฟดจะกลับตัว Markus Thielen หัวหน้าแผนกวิจัยที่ Matrixport ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาคล่าสุด โดยเฉพาะในนโยบายของธนาคารเฟดชี้ว่า มีโอกาสที่ตลาดคริปโตจะทะยานขึ้น เขาเตือนให้เราทราบว่า หลังจากธนาคารเฟดยุติวัฎจักรการถอนสภาพคล่องออกจากระบบในเดือนมกราคม 2019 ทองคำดิจิทัล (บิทคอยน์) ก็แข็งค่าขึ้นห้าเท่า Thielen เตือนเรื่องสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ ในขณะเดียวกันก็อธิบายว่าบิทคอยน์อาจ “เติบโตก้าวหน้าเป็นอย่างมาก” ในปี 2023 และ 2024 ตามการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญ บิทคอยน์คาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ย 23% ในช่วงก่อนคริสต์มาสในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปีนี้.

    นอกเหนือจากปัจจัยขับเคลื่อนข้างต้น นาย Michael Saylor ผู้ก่อตั้ง MicroStrategy ยังได้ให้ปัจจัยที่เขาเชื่อว่าจะทำให้ราคาบิทคอยน์เพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าในระยะกลาง อันดับแรก เขาพูดถึง Halving ที่ใกล้จะมาถึง ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณอุปสงค์ของคริปโตเคอเรนซีและทำให้เกิดความขาดแคลนในตลาด อีกหนึ่งแรงกดดันจากผู้ซื้อจะมาจาก ETF สปอตบิทคอยน์

    ปัจจัยที่สามจะเป็นมูลค่ายุติธรรมใหม่ตามกฎบัญชีที่จะบังคับใช้กับปริมาณสำรองบิทคอยน์ของบริษัทในสหรัฐฯ Saylor เชื่อว่า สิ่งนี้จะช่วยเปิดประตูสู่ความร่วมมือในการรองรับบิทคอยน์เป็นสินทรัพย์สำรองและสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือเหรียญ ผู้ประกอบการรายนี้ยังชี้ถึงผลในทางบวกของมาตรการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงคดีความต่ออดีตซีอีโอของแพลตฟอร์ม FTX ที่ล่มลง เขากล่าวว่า “เหล่าคาวบอยคริปโตช่วงต้นทั้งหลายเหล่านี้ เหรียญต่าง ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ มีการคุ้มครองที่ไม่น่าเชื่อถือ” เป็นหลักประกันให้กับบิทคอยน์ การจะยกระดับอุตสาหกรรมคริปโตได้นั้น มันจำเป็นต้องมี “การกำกับดูแลโดยผู้ปกครอง” ผู้ก่อตั้ง MicroStrategy รายนี้เชื่อด้วยว่า อุตสาหกรรมต้องการที่จะ “ขยับไกลออกจากเหรียญ 100,000 เหรียญ” ที่ใช้ในการเก็งกำไรและโฟกัสกับบิทคอยน์ “เมื่ออุตสาหกรรมเปลี่ยนโฟกัสโดยหันหลังให้เหรียญที่ส่องสว่างเพียงไม่กี่เหรียญที่เบี่ยงเบนความสนใจและทำลายมูลค่าให้กับผู้ถือเหรียญ ผมคิดว่ามันจึงจะยกระดับได้ และเราจะได้เห็นราคาที่เพิ่มขึ้นสิบเท่าจากที่เราอยู่ตรงนี้” Saylor กล่าวสรุป

    ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่การคาดการณ์ที่น่าประทับใจที่สุด Catherine Wood ซีอีโอของ ARK Investment เชื่อว่า ในช่วงสิบปีข้างหน้า ราคา BTC จะสูงกว่า $1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ทั้งนี้ Charlie Munger เศรษฐีพันล้านคนสนิทของ Warren Buffet ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์บิทคอยน์อีกครั้ง เรียกมันว่าเป็น “การลงทุนที่โง่ที่สุด” “เป็นยาเบื่อหนู” และ “กามโรค”)

    หากเราพูดถึงการคาดการณ์ในอนาคตอันใกล้ Rachel Lin ซีอีโอ SynFutures คาดว่าภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน บิทคอยน์น่าจะไปถึง $47,000 “ในสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงชื่อเสียงของ “Uptober” ซึ่งบิทคอยน์เติบโตขึ้นเกือบ 29% สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ปกติแล้วผลงานเดือนพฤศจิกายนจะดีกว่าเดือนตุลาคม ซึ่งบิทคอยน์จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยกว่า 35% หากเดือนพฤศจิกายนนี้ให้กำไรในลักษณะคล้ายกัน ราคาเหรียญจะขึ้นไปถึง $47,000 ได้” เธอกล่าว

    สำหรับปัจจัยบวกเพิ่มเติม Lin ได้ให้ข้อสังเกตถึงการเติบโตในจำนวนผู้ใช้งานและธุรกรรม เธอมองว่า ปริมาณการเทรดสปอตที่เพิ่มขึ้นและจำนวนการโอนเงินเพิ่มเกิน $100,000 นั้นน่าสนใจ นี่คือตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าความสนใจในหมู่นักลงทุนรายสถาบันเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า “ผู้เล่นรายใหญ่กำลังเก็บสะสมคำสั่งสินทรัพย์ดิจิทัล” เธอเชื่ออย่างนั้น

    แม้ว่าจะมีทัศนคติที่ดีปกคลุมอยู่ นักวิเคราะห์ที่ใช้ชื่อว่า “Doctor Profit” ได้แชร์การคาดการณ์ที่ค่อนข้างระมัดระวัง เขาเชื่อว่า นักลงทุนควรเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับฐานที่อาจเกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ตัดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ “หงส์ดำ” ที่คล้ายกันกับเหตุการณ์ที่เคยกดราคา BTC ลงมายังระดับต่ำสุดก่อนการ Halving ในเดือนพฤษภาคม 2020 จากการแพร่ระบาด COVID-19 โดยไม่ตัดโอกาสความเป็นไปได้ที่บิทคอยน์อาจตกลงมายัง $26,000 ก่อน Halving เดือนเมษายน 2024

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้เมื่อวันศุกร์ที่  10 พฤศจิกายน BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $37,320 โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.42 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับ $1.29 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า ดัชนี The Crypto Fear & Greed Index ปรับขึ้นมาจาก 65 เป็น 70 จุด และยังคงอยู่ในโซนความโลภ (Greed)

    ในส่วนส่งท้ายรีวิว เราจะมาเจาะลึกไลฟ์แฮ็คพิเศษในแวดวงคริปโตกัน คุณจะทำอย่างไรถ้าเกิดว่าคุณทำรหัสผ่านวอลเล็ตคริปโตของคุณหายไป? คำถามนี้มาจากนาย Rain Lõhmus ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคาร LHV Bank ของเอสโตเนีย ในช่วงการเปิดขายเหรียญ ICO ในเดือนกรกฎาคม 2015 เขาได้รับ 250,000 ETH โดยจ่ายเงินจำนวน $75,000 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 ตอนที่ราคา ETH ทำระดับสูงสุดที่บริเวณ $4,800 มูลค่าเหรียญที่เขาถือนั้นสูงถึง $1.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแม้ในขณะนี้เองก็มีมูลค่ามากกว่า $500 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวเหรียญของเขาไม่มีการเคลื่อนไหว แต่จู่ ๆ เขาก็ค้นพบว่าเขาทำรหัสผ่านหายไปและตั้งใจจะกู้คืนรหัสด้วยเอไอ “แผนของผมคือการสร้าง Rain Lõhmus เวอร์ชันเอไอขึ้นมาเพื่อดูว่าจะสามารถช่วยฟื้นฟูความจำได้หรือไม่” เขาแบ่งปันแผนการของเขา (นอกจากนี้ เอไอ ChatGPT ทำนายว่า มูลค่าของ Ethereum ในช่วงต้นปี 2024 น่าจะมีมูลค่าตั้งแต่ $3,000 ถึง $10,000 ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง Lõhmus อาจเป็นเศรษฐีพันล้านอีกครั้ง สมมติว่าเขาสามารถหารหัสผ่านวอลเล็ตได้สำเร็จ )

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)