ธันวาคม 10, 2023

EUR/USD: สงครามดอกเบี้ยยังคงไม่จบ

  • ตลาดแรงงานและเงินเฟ้อ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ธนาคารกลางติดตามอย่างใกล้ชิดเมื่อทำการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและอัตราดอกเบี้ย มองย้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นหลังการประกาศสถิติเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมในสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ดอลลาร์อ่อนค่าลงเป็นอย่างมาก และพอร์ตหุ้นและพันธบัตรดั้งเดิมให้ผลตอบแทนสูงสุดในรอบ 30 ปี! EUR/USD เริ่มต้นสัปดาห์ที่ 1.0516 และแตะระดับสูงสุดในรอบเดือนวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ 1.1016

    ในส่วนตลาดแรงงานมีการประกาศดัชนีที่สำคัญเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม ได้แก่ อัตราการว่างงาน และดัชนีบันทึกเงินเดือนนอกภาคการเกษตรใหม่ (NFP) ในสหรัฐฯ ดัชนีแรก อัตราว่างงานนั้นลดลงในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 3.7% ซึ่งลดลงต่ำกว่าทั้งตัวเลขคาดการณ์และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 3.9% ดัชนีที่สองมีตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้น 199K ในหนึ่งเดือน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเดือนตุลาคมที่ 150K และตัวเลขคาดการณ์ตลาดที่ 180K คงบอกไม่ได้ว่าสถิติดังกล่าวนั้นสนับสนุนดอลลาร์ แต่อย่างน้อยมันก็ไม่ได้ส่งผลเสียหายต่อดอลลาร์

    ประมาณ 2-3 เดือนที่แล้ว การตอบสนองของตลาดต่อสถิติดังกล่าวคงจะมีความรุนแรงมากกว่านี้ เพราะยังมีความหวังอยู่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเพิ่มเติมในปี 2023 ในเวลานี้ ความคาดหวังดังกล่าวแทบจะเหลือศูนย์ การพูดคุยในเวลานี้ไม่ใช่ประเด็นว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ แต่เป็นคำถามว่าจะคงดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันคือ 5.50% อีกนานแค่ไหน และธนาคารกลางจะพยายามลดอัตราดอกเบี้ยอย่างไร

    ผลการสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำโดย Reuters เผยว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งหนึ่ง (52 จาก 102) เชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อยจนถึงเดือนกรกฎาคม ผู้ตอบแบบสำรวจ 50 คนที่เหลือคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มลดดอกเบี้ยก่อนหน้านั้น 72 จาก 100 คนเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยจะค่อย ๆ ถูกลดลงมากสุด 100 จุดพื้นฐาน (bps) ภายในปี 2024 หรืออาจจะต่ำกว่านั้น มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 5 คนเท่านั้นที่ยังคงหวังว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นต่อ แม้จะขึ้นแค่ 25 bps ก็ตาม ทั้งนี้ ผลการสำรวจของ Reuters นั้นไม่สอดคล้องกับความคาดหวังในตลาดปัจจุบัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลง 5 ครั้ง ๆ ละ 25 bps เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป

    นักเศรษฐศาสตร์จาก Citi ผู้ร่วมตอบแบบสำรวจของ Reuters ให้ข้อสังเกตว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดและทำให้กระบวนการนี้ล่าช้าขึ้น สถิติเงินเฟ้อชุดถัดไปของสหรัฐฯ จะประกาศในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม และวันพุธที่ 13 ธันวาคม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ตามลำดับ หลังจากนั้นในวันพุธ เราจะจับตาดูการประชุมของคณะกรรมการที่กำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในธนาคารเฟด ซึ่งจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย แน่นอนว่าตลาดจะโฟกัสกับการคาดการณ์เศรษฐกิจที่นำเสนอโดย FOMC และความเห็นจากผู้บริหารธนาคารเฟด

    อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ธนาคารเฟดเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อคู่ EUR/USD ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังมีบทบาทที่สำคัญเช่นกัน ในสัปดาห์หน้ามีกำหนดการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของยูโรอยู่ที่ 4.50% ผู้เล่นในตลาดหลายคนเชื่อว่า ดอกเบี้ยสูงเกินไปและอาจบีบให้เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วของอียูตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

    การคลายตัวของภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซนกำลังแซงหน้าสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่แล้ว Eurostat รายงานว่า ดัชนีเบื้องต้นอย่าง Harmonized Index of Consumer Prices (HICP) ลดลงทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021 อยู่ที่ 2.4% (y/y) ซึ่งต่ำกว่าทั้ง 2.9% ในเดือนตุลาคม และตัวเลขคาดการณ์ที่ 2.7% ตัวเลขนี้ใกล้กับระดับเป้าหมายที่ 2.0% เป็นอย่างมาก ดังนั้น การจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้นั้น ECB อาจต้องริเริ่มกระบวนการนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายในเร็ว ๆ นี้

    การคาดการณ์ตลาดชี้ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน โดยมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมถึง 50% อีกทั้งมีความเป็นไปได้ 70% ว่าภายในปี 2024 อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลง 125 bps อย่างไรก็ตาม ความเห็นร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญจาก Reuters ค่อนข้างระมัดระวังมากกว่า โดยคาดว่าดอกเบี้ยจะลดลงเพียง 100 bps เท่านั้น

    ดังนั้น สงครามดอกเบี้ยระหว่างธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรปจะดำเนินต่อไป โดยฝั่งที่นำเหนือกว่าคือฝั่งที่เคยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่า ตอนนี้ความได้เปรียบจะอยู่กับฝั่งที่ลดดอกเบี้ยช้ากว่า มีความเป็นไปได้ว่านักลงทุนจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแผนการของธนาคารกลางหลังการประชุมในสัปดาห์หน้านี้

    ในส่วนสัปดาห์ที่ผ่านมา EUR/USD ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 1.0760 ปัจจุบัน ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่ออนาคตอันใกล้ของคู่นี้แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ 75% โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ 25% เห็นด้วยกับฝั่งยูโร ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 ผลลัพธ์นั้นเท่ากับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 75% อยู่ฝั่งดอลลาร์ และ 25% เป็นยูโร ในส่วนออสซิลเลเตอร์ 75% ให้สีแดง (โดยหนึ่งในสี่ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought แล้ว) ในขณะที่ 10% ชี้ไปในทิศทางตรงกันข้าม และ 15% ที่เหลือมีความเห็นเป็นกลาง

    แนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0725-1.0740 ตามมาด้วย 1.0620-1.0640, 1.0500-1.0520, 1.0450, 1.0375, 1.0200-1.0255, 1.0130 และ 1.0000 ฝั่งกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0800-1.0820, 1.0865, 1.0965-1.0985, 1.1020, 1.1070-1.1110, 1.1150, 1.1230-1.1275, 1.1350 และ 1.1475

    นอกเหนือจากเหตุการณ์ที่ระบุข้างต้น ปฏิทินเศรษฐกิจไฮไลต์การประกาศสถิติสรุปของตลาดค้าปลีกสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม ในวันเดียวกันนั้นจะมีการประกาศจำนวนยอขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้น และในวันที่ 15 ธันวาคม จะมีการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้น (PMI) ในภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ในวันศุกร์จะมีการประกาศดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในเยอรมนีและยูโรโซนโดยรวม

GBP/USD: เราจะเจอกับข่าวเซอร์ไพรส์จาก BoE หรือไม่?

  • ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) ได้จัดทำแบบสำรวจรายไตรมาสเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ผลปรากฏว่าความคาดหวังต่ออัตราเงินเฟ้อในหมู่ประชากรสหราชอาณาจักรในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 3.3% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขในไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.6% ในระหว่างนี้ ประชากร 35% ในประเทศเชื่อว่า พวกเขาจะได้ประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ย หรือกล่าวได้ว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (65%) ไม่กังวลเกี่ยวกับดัชนีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้เล่นในตลาด

    การประชุมของ BoE ก็จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม ไม่นานก่อนการประชุมของธนาคารกลางยุโรป การตัดสินใจต่ออัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร? ล่าสุดคำกล่าวของผู้บริหารธนาคารกลางอังกฤษได้สนับสนุนค่าเงินปอนด์เป็นอย่างมาก เช่น นาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารอังกฤษกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าเดิม แม้ว่ามันอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะคงที่ระดับเดิมในการประชุมที่จะมีขึ้น โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดแล้วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

    ความคาดหวังต่ออัตราดอกเบี้ยในปี 2024 บ่งชี้ว่าดอกเบี้ยอาจปรับลดลง 80 bps เหลือ 4.45% ในกรณีที่ธนาคารเฟดลอัตราดอกเบี้ยเหลือ 4.25% ก็จะให้ความหวังว่าเงินปอนด์จะแข็งค่ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม นี่ยังคงเป็นเรื่องอนาคตที่ค่อนข้างไกล ในสัปดาห์ที่แล้ว ดอลลาร์ชดเชยส่วนที่อ่อนค่าลงไปในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้คู่ GBP/USD ปิดท้ายห้าวันทำการที่ระดับ 1.2548

    เมื่อพูดถึงอนาคตอันใกล้ 30% โหวตว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้น อีก 30% โหวตให้กับแนวโน้มขาลง และ 40% ไม่ให้ความเห็น ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 60% ชี้ไปยังทิศเหนือ ในขณะที่ 40% ชี้ไปยังทิศใต้ ด้านออสซิลเลเตอร์มี 15% ที่ชี้แนวโน้มกระทิง 50% หมี และ 35% ที่เหลือมีความเห็นเป็นกลาง ในกรณีที่ราคาลงทิศใต้ก็จะเจอกับระดับและโซนแนวรับที่ 1.2500-1.2520, 1.2450, 1.2370, 1.2330, 1.2210, 1.2070-1.2085 และ 1.2035 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นด้านบนก็จะเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2575 จากนั้นคือ 1.2600-1.2625, 1.2695-1.2735, 1.2800-1.2820, 1.2940, 1.3000 และ 1.3140

    ในส่วนเหตุการณ์ที่สำคัญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษแล้ว ยังมีการประกาศสถิติจากตลาดแรงงานของสหราชอาณาจักรในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม นอกจากนี้จะมีการประกาศ GDP ประเทศในวันที่ 13 ธันวาคม

USD/JPY: ธนาคารกลางญี่ปุ่นสูญเสียความระมัดระวัง?

  • เงินเยนญี่ปุ่นที่แข็งค่าขึ้นเริ่มมีลักษณะที่คงตัวตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชุด 10 ปีทำระดับสูงสุด เมื่อตลาดมั่นใจว่าการอ่อนค่าลงจะเป็นแนวโน้มที่ชัดเจน ทั้งนี้ ควรทราบด้วยว่าพันธบัตรเหล่านี้และเงินเยนญี่ปุ่นโดยทั่วไปมักมีความสัมพันธ์แบบผกผันต่อกัน หากผลตอบแทนของพันธบัตรเพิ่มขึ้น เงินเยนก็จะอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์ ในทางกลับกัน หากผลตอบแทนของพันธบัตรลดลง เงินเยนก็จะแข็งค่าขึ้น

    ช่วงเวลาที่สำคัญของเงินเยนญี่ปุ่นเกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาาคม เมื่อเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างเต็มที่ ขึ้นมา 225 จุดเทียบกับดอลลาร์ และแตะระดับสูงสุดในรอบสามเดือน USD/JPY ทำระดับต่ำสุดในขณะนั้นที่ระดับ 141.62

    สาเหตุหลักที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นนั้นเป็นเพราะความหวังที่เพิ่มขึ้นว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะล้มเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และสิ่งนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ มีข่าวลือรายงานว่า ธนาคารระดับภูมิภาคของญี่ปุ่นกำลังกดดันธนาคารกลาง และเรียกร้องให้เลิกใช้นโยบายควบคุมเส้นโค้งผลตอบแทนของพันธบัตร

    BoJ ได้จัดทำแบบสำรวจพิเศษกับผู้ร่วมตลาดราวกับว่าจะยืนยันข่าวลือดังกล่าว เพื่อหารือเรื่องผลที่ตามมาของการล้มเลิกนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนสุดขั้ว และผลข้างเคียงของการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ นาย Kadsuo Ueda ยังได้เข้าเยี่ยมนายกรัฐมนตรี Fumio Kishida ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มเชื่อเพลิงให้กับกองไฟ

    เงินเยนก็ได้ประโยชน์จากความเชื่อมั่นของตลาดเช่นกันว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟด (FRS) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มาถึงระดับสูงสุดแล้ว และคาดว่าจะมีแค่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดการณ์ว่าความไม่สอดคล้องกันดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเริ่มมีช่องว่างแคบลงในอัตราเร่งระหว่างพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นและพันธบัตรที่คล้ายกันจากสหรัฐฯ และยูโรโซน จึงคาดการณ์ว่าจะยิ่งผลักดันกระแสเงินกลับเข้ามายังเงินเยน

    นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่นอาจได้รับแรงหนุนจากการชะลอตัวในการเติบโตของตลาดหุ้นในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนมักถูกใช้เป็นสกุลเงินฝากเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ดังนั้น การเก็บกำไรจากดัชนีหุ้น เช่น  S&P500, Dow Jones, Nasdaq และอื่น ๆ ยิ่งกดดันให้ USD/JPY ลดต่ำลง

    การวิเคราะห์กราฟชี้ว่า ในเดือนตุลาคม 2022 และพฤศจิกายน 2023 ราคาคู่นี้จะทำรูปแบบ Double Top แตะที่ระดับสูงสุด 151.9 ดังนั้น จากมุมมองนี้ การปรับฐานลงด้านล่างน่าจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า ราคาจะกลับตัวอย่างแน่นอนบนกรอบรายวัน (D1) ได้ก็ต่อเมื่อราคาหลุดแนวรับที่โซน 142.50 ไปแล้วเท่านั้น แต่ ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม เนื่องด้วยสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง USD/JPY ได้ฟื้นตัวจากราคาต่ำสุด ขยับขึ้นมา และปิดตลาดที่ 144.93

    ในส่วนอนาคตอันใกล้มีผู้เชี่ยวชาญ 45% ที่คาดว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นต่อ 30% เห็นด้วยกับฝั่งดอลลาร์ และ 25% มีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ฝั่งที่ได้เปรียบหลักคือสีแดง โดย 85% ของอินดิเคเตอร์เทรนด์ให้สัญญาณสีแดง 75% ของออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณสีแดง และมี 25% เท่านั้นที่ให้สีเขียว

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 143.75-144.05 ตามมาด้วย 141.60-142.20, 140.60, 138.75-139.05, 137.25-137.50, 135.90, 134.35 และ 131.25 ส่วนแนวต้านนั้นอยู่ที่ระดับและโซนดังต่อไปนี้ 145.30, 146.55-146.90, 147.65-147.85, 148.40, 149.20, 149.80-150.00, 150.80, 151.60 และ 151.90-152.15

    ถ้าไม่นับการประกาศดัชนี Tankan Large Manufacturers' Index ในวันที่ 13 ธันวาคมสำหรับไตรมาสที่ 4 เราไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นใดจากฝั่งเศรษฐกิจญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: การเติบโตที่สมเหตุสมผลหรือเป็นกระแสแห่เก็งกำไร?

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 11 - 15 ธันวาคม 20231

  • เมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 ธันวาคม บิทคอยน์แตะระดับสูงสุดที่ $44,694 ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ BTC เทรดอยู่เหนือระดับ $40,000 คือเดือนเมษายน 2022 ก่อนที่ระบบนิเวศ Terra จะล่มสลายลง และกระตุ้นให้ตลาดคริปโตล่มลงครั้งใหญ่ เหตุผลอื่น ๆ ที่ BTC ขยับขึ้น ได้แก่ แฮชเรต (hash rate) เครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความคาดหวังจะมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักในกระแสกระทิงรอบปัจจุบันแน่นอนว่าเป็นความเป็นไปได้ที่จะมีการอนุมัติเปิดกองทุน ETF บิทคอยน์สปอตในสหรัฐฯ

    มีบริษัท 12 แห่งได้ยื่นเรื่องกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) เพื่อขอจัดตั้งกองทุน ETFs โดยจะร่วมกันบริหารสินทรัพย์มูลค่ากว่า $20 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกันแล้ว มูลค่ารวมทั้งหมดของตลาดบิทคอยน์อยู่ที่ $0.85 ล้านล้านดอลลาร์ บริษัทเหล่านี้ไม่ใช่แค่จะให้บริการกับลูกค้าปัจจุบันเพื่อการกระจายความเสี่ยงผ่านการลงทุนในคริปโตเท่านั้น แต่ยังต้องการดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าของตลาด BTC ด้วย  Franklin Templeton ซีอีโอของ Jenny Johnson ผู้ดูแลสินทรัพย์กว่า $1.4 ล้านล้านดอลลาร์ได้อธิบายถึงความสนใจของนักลงทุนรายสถาบันที่เพิ่มขึ้น โดยกล่าวว่า “ความต้องการถือบิทคอยน์นั้นมีความชัดเจน และกองทุนสปอต ETF ก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะเข้าถึงมัน” นักวิเคราะห์ James Seyffart จาก Bloomberg เชื่อว่าการอนุมัติกองทุนเหล่านี้น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น 90% ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 10 มกราคม

    ผู้เชี่ยวชาญจาก Bitfinex ชี้ว่า ปริมาณบิทคอยน์ที่มีความเคลื่อนไหวในปัจจุบันลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบห้าปี โดยมี 30% ของเหรียญเท่านั้นที่มีความเคลื่อนไหวในปีที่แล้ว ดังนั้น 70% ของบิทคอยน์ หรือเหรียญ 16.3 ล้าน BTC ไม่มีความเคลื่อนไหวในช่วงปีที่แล้วมา ในขณะเดียวกัน 60% ของเหรียญเหล่านี้ถูกจัดเก็บในกระเป๋าเงินเยนมาเป็นเวลาสองปีแล้ว ในขณะเดียวกัน Glassnode ชี้ว่าจำนวนเงินฝากเฉลี่ยของตลาดคริปโตแตะทำระดับสูงสุดที่ $29,000 การที่จำนวนธุรกรรมลดลงอย่างต่อเนื่องนั้นบ่งชี้ถึงการควบคุมโดยนักลงทุนรายใหญ่

    ควบคู่ไปกับกระแสขาขึ้นของบิทคอยน์ ราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องก็พุ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทอย่าง Coinbase, MicroStrategy โดยนักขุดเหรียญอย่าง Riot Platforms, Marathon Digital และอื่น ๆ ก็เห็นหุ้นปรับขึ้น

    Mike McGlone นักยุทธศาสตร์อาวุโสของ Bloomberg Intelligence กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบิทคอยน์แสดงความแข็งแกร่งกว่าทองคำอยู่มาก ผู้เชี่ยวชาญรายนี้สังเกตเห็นว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ราคาทองคำทำระดับสูงสุดใหม่จากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ ราคาทองคำจึงลดลง 5.1% ในขณะที่ราคาบิทคอยน์ขยับขึ้นมาผ่านระดับ $44,000

    อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า ความผันผวนของบิทคอนย์อาจขัดขวางความสามารถในการเทรดอย่างเชื่อถือได้ คล้ายกันกับทองคำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ “คนไม่ชอบความเสี่ยง” McGlone มองว่า บิทคอยน์จะแข่งกับทองคำในฐานะสินทรัพย์ทางเลือกได้ก็ต่อเมื่อมันมีตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือที่สำคัญ ได้แก่ การมีความสัมพันธ์ในทางลบระหว่าง BTC และตลาดหุ้น และการมีสภาวะขาดดุลสูงในช่วงเวลาที่ปริมาณเงินขยายตัว

    คำเตือนของ McGlone ถือว่าเบามากเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของ Peter Schiff ประธานบริษัทโบรกเกอร์ Euro Pacific Capital โดยเขามั่นใจว่ากระแสการเก็งกำไรจาก BTC-ETF จะสิ้นสุดลงในเร็ว ๆ นี้ “นี่อาจเป็นเพลงของหงส์…การร่วงลงของบิทคอยน์จะน่าประทับใจยิ่งกว่าการทะยานขึ้น” เขากล่าวเตือนนักลงทุน

    John Reed Stark อดีตผู้บริหารก.ล.ต. สหรัฐฯ ก็เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว “ราคาคริปโตขยับขึ้นมาเพราะสองสาเหตุด้วยกัน อันดับแรกคือเนื่องด้วยช่องว่างของการกำกับดูแล และการปั่นป่วนตลาด ข้อสองคือความเป็นไปได้ในการขายคริปโตที่มีมูลค่าเฟ้อและเกินจริงให้กับคนที่โง่เขลายิ่งกว่า ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับ 90% ของโอกาสที่จะมีการอนุมัติ ETFs สปอตบิทคอยน์ด้วย”

    เพื่อความยุติธรรม ควรคำนึงด้วยว่า การทะยานขึ้นรอบนี้ไม่ใช่เป็นเพราะกองทุน BTC-ETFs เพียงอย่างเดียว ความตื่นเต้นในเรื่องนี้ค่อย ๆ ก่อตัวมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนเมื่อมีการยื่นเรื่องครั้งแรกต่อก.ล.ต. ในทางกลับกัน บิทคอยน์เริ่มขยับขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยขึ้นมามากกว่า 2.6 เท่าในช่วงเวลานี้

    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงวัฎจักร BTC/USD ในอดีตได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน ราคาติดลบจากระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ (ATH) ที่ 37% ในวัฎจักรรอบก่อนหน้านี้อยู่ที่ 39% และในช่วงปี 2013-17 อยู่ที่ 42% หากเราวัดจากจุดล่างสุดแทนจากจุดสูงสุดก็จะเห็นรูปแบบที่คล้ายกัน (ยกเว้นการทะยานขึ้นรอบแรก ๆ เนื่องจากบิทคอยน์ในสมัยตอนต้นนั้นเติบโตเร็วกว่าตลาดช่วงที่ตั้งตัวแล้ว)

    ตามความเห็นของนาย Adam Back ซีอีโอของ Blockstream ราคาบิทคอยน์จะขึ้นไปเกินระดับ $100,000 ตั้งแต่ก่อน Halving ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2024 ผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโตท่านนี้ตั้งข้อสังเกตว่า การคาดการณ์ของเขาไม่ได้พิจารณาแนวโน้มกระทิงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ SEC (ก.ล.ต. สหรัฐฯ) อนุมัติกองทุน ETF บิทคอยน์ ในส่วนความเคลื่อนไหวของราคาบิทคอยน์ในระยะยาว ผู้ประกอบการรายนี้เห็นด้วยกับความเห็นของนาย Arthur Hayes ผู้ร่วมก่อตั้ง BitMEX ผู้ทำนายกรอบราคาที่ $750,000 ถึง $1 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2026

    หมายเหตุ: Adam Back คือนักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านการถอดรหัสลับ และหนึ่งในสมาชิก Cypherpunk โดยเป็นที่ทราบกันว่า Back เคยสื่อสารกับ Satoshi Nakamoto และการอ้างอิงผลงานของเขามีปรากฏอยู่ในคำอธิบายของระบบบิทคอยน์ Adam Back ผู้ที่ไม่เคยให้การคาดการณ์ตัวเลข BTC กับสาธารณะ เขาจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสมาชิกชุมชนคริปโตเนื่องด้วยคำกล่าวดังกล่าว

    Pascal Gauthier ซีอีโอ Ledger, Marcus David ผู้บริหาร Lightspark และ Vijay Ayyar ผู้บริหารสูงสุดของ CoinDCX คาดการณ์เช่นกันว่าราคาบิทคอยน์จะแตะ $100,000 ในปี 2024 พวกเขาให้การคาดการณ์นี้ในบทสัมภาษณ์กับ CNBC “ดูเหมือนว่า 2023 เป็นปีที่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตที่จะมาถึง ทัศนคติที่ดีต่อปี 2024 และ 2025 นั้นดูมีความหวังมาก” กล่าวโดย Pascal Gauthier

    “จำนวนผู้เล่นในตลาดคาดการณ์การเติบโตของตลาดกระทิงไม่นานหลังจาก Halving แต่เมื่อพิจารณาข่าวเกี่ยวกับกองทุน ETF เราอาจได้เห็นการเติบโตก่อนหน้านั้น” Vijay Ayyar เชื่ออย่างนั้น อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของเขา “การปฏิเสธ ETF โดยสิ้นเชิงอาจกระทบต่อขั้นตอนนี้”

     ตามความเห็นของ Max Keiser ผู้เชียร์บิทคอยน์สุดโต่ง พิธีกรทีวี และอดีตนักเทรดแชร์ข่าวลือที่ไม่ได้รับการยืนยันระบุว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์กำลังเตรียมจะเข้าสู่ตลาดคริปโตและทุ่มเงินลงทุนจำนวนมหาศาล โดยคาดว่าจะจัดสรรบิทคอยน์เป็นจำนวนกว่า $500 พันล้านดอลลาร์ “นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแวดวงคริปโต และจะเอื้อให้บิทคอยน์ขึ้นไปทะลุระดับ $150,000 ในอนาคตอันใกล้และจะไปไกลกว่านั้น” กล่าวโดยนาย Keiser

    ครั้งนี้ เราจะไม่ได้มาแชร์ข่าวลือเหมือนกับพิธีการรายการทีวีข้างต้น แต่จะมาแชร์ข้อเท็จจริงที่แม่นยำโดยสมบูรณ์ ข้อเท็จจริงแรกก็คือ ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวนี้ในช่วงเย็นวันที่ 8 ธันวาคม BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $44,545 ข้อเท็จจริงที่สองก็คือ มูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.64 ล้านล้านฯ ($1.45 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) และสุดท้ายข้อที่สามก็คือ ดัชนี Crypto Fear and Greed Index ขยับขึ้นมาจาก 71 เป็น 72 จุดและยังคงอยู่ในโซนความโลภ (Greed) ต่อไป

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)