กุมภาพันธ์ 3, 2024

EUR/USD: แนวโน้มดอลลาร์แข็งค่าเพิ่มขึ้น

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 5 - 9 กุมภาพันธ์ 20241

● ตลอดเดือนมกราคม ดัชนีหลายตัว เช่น GDP อัตราการจ้างงาน และยอดค้าปลีกต่างเน้นย้ำตรงกันถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภัยของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเบาบางลง และชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยสูงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจมากนัก ผู้เล่นในตลาดเฝ้ารอการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน (FOMC) ของธนาคารเฟดสหรัฐฯ อย่างกระตือรือร้น ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันพุธที่ 31 มกราคม ท่ามกลางสถิติทางเศรษฐกิจในทางบวกเหล่านี้

เป็นไปอย่างที่คาดไว้ ธนาคารกลางฯ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม (5.50%) แต่เปลี่ยนท่าทีโดยระบุว่า การดำเนินการขั้นถัดไปน่าจะเป็นการผ่อนคลายนโบายทางการเงิน คำถามที่คาใจทุกคนก็คือ จะดำเนินการเมื่อไร? ในช่วงการแถลงข่าว นาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดพยายามรับมือกับความคาดหวัง เขากล่าวว่า สมาชิกในคณะกรรมการ FOMC อยากจะมั่นใจ 100% ในชัยชนะเหนือภาวะเงินเฟ้อก่อน และพวกเขาจะไม่รีบใช้นโยบายสายพิราบจนกว่าจะมีหลักฐานที่มั่นใจว่าภาวะเงินเฟ้อตกลงมาต่ำกว่าระดับเป้าหมายคือ 2.0% โชคดีที่เศรษฐกิจอันแข็งแกร่งเอื้อต่อแนวทางที่ระมัดระวังนี้ อย่างไรก็ตาม นาย Powell ตระหนักดีว่า หากตลาดแรงงานนิ่งสงบชัดเจน การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอาจเกิดขึ้นได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ตลอดครึ่งหลังของเดือนมกราคม ธนาคารเฟดพยายามผ่อนคลายความคาดหวังของการลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมีนาคม และจะต้องบอกเลยว่าพวกเขาทำสำเร็จ ความน่าจะเป็นที่จะกลับนโยบายในเดือนมีนาคมลดลงจากระดับสูงสุดที่ 90% เหลือ 35.5% ในขณะที่โอกาสการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นเป็น 61%

● การตอบสนองของตลาดต่อผลลัพธ์ของการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ค่อนข้างนิ่งเฉย ดัชนีดอลลาร์ DXY แตะระดับ 104.00 ไม่สำเร็จและ EUR/USD ตกลงมายังระดับ 1.0800 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พลิกกลับทิศทางและไต่กลับขึ้นมาที่ 1.0900 เมื่อวันศุกร์โดยคาดหวังการประกาศสถิติของตลาดแรงงานอเมริกา

สถิติที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์เผยให้เห็นถึงจำนวนตำแหน่งงานใหม่ในภาคนอกการเกษตรของสหรัฐฯ  (Non-Farm Payrolls) เพิ่มขึ้นเป็น 353,000 ในเดือนมกราคม สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้คือ 180,000 ตามมาด้วยดัชนีที่เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคมที่ 333,000 อัตราการว่างงานยังคงที่ที่ 3.7% ในขณะที่เงินเฟ้อของรายได้เพิ่มขึ้น 4.5% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 4.1% เป็นอย่างมาก ดังนั้น ความกังวลของนาย Jerome Powell เกี่ยวกับตลาดแรงงานที่นิ่งสงบลงนั้นจึงไม่มีเหตุผลรองรับ ซึ่งส่งผลดีต่อค่าเงินดอลลาร์อเมริกัน

● ทั้งนี้ หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 25 มกราคม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้จัดการประชุม ซึ่งธนาคารกลางฯ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมคือ 4.50% ในช่วงการแถลงข่าวหลังการประชุม นาง Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรปหลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการลดอัตราดอกเบี้ย เธอกล่าวว่า กรรมการบริหารเชื่อว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดคุยกันเรื่องผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในตลาดหลายคนคิดว่า ความท้าทายทางเศรษฐกิจอาจกระตุ้นให้ ECB เริ่มกระบวนการนี้เป็นฝ่ายแรก การเปรียบเทียบตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่นั้นเพียงพอที่จะสนับสนุนมุมมองนี้

อัตราการว่างงานในยูโรโซนอยู่ที่ 6.4% เทียบกับ 3.7% ในสหรัฐฯ อัตรา GDP ของยุโรปแทบจะไม่ขยับจากระดับติดลบที่ -0.1% ถึง 0% ในไตรมาสที่ 4 ในขณะที่สหรัฐฯ มีอัตราดังกล่าวเติบโตที่ +3.3% นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนยังใกล้กับระดับเป้าหมายที่ 2.0% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2.9% เทียบกับ 3.4% ในสหรัฐฯ ตัวชี้วัดทั้หมดเหล่านี้อาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางยุโรปเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ Francois Villeroy de Galhau รองประธานธนาคารกลางยุโรปกล่าวล่าสุดว่า อัตราดอกเบี้ยอาจถูกปรับลดได้ทุกเมื่อ ผู้เล่นในตลาดหลายรายตีความว่านี่เป็นสัญญาณว่าแนวโน้มสายพิราบอาจเริ่มขึ้นภายในสองเดือนข้างหน้า

● อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ที่ Commerzbank เชื่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงแรกในเดือนมีนาคมและเมษายนอาจไม่เกิดขึ้น พวกเขาตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัยเชิงลบหนึ่งของฝั่งยูโรที่ยังคงปรากฏอยู่ นักยุทธศาสตร์ของธนาคารดังกล่าวมองว่า มีความเห็นที่ไม่ตรงกันอย่างมากภายในคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปที่กำลังรอดูสถานการณ์ จากนั้นก็จะฉวยโอกาสแรกเพื่อสนับสนุนให้ลดอัตราดอกเบี้ย “มันอาจจะเกิดขึ้นเร็วเกินไปได้ด้วยซ้ำ” Commerzbank กล่าวเตือน

นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC ธนาคารอีกแห่งหนึ่งของอังกฤษคาดว่า ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในระยะกลาง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับยูโรและปอนด์ ซึ่งจะส่งผลสนับสนุนต่อผลงานที่โดดเด่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับหลายประเทศในกลุ่ม G10 ช่วยให้ธนาคารเฟดสามารถชะลอนโยบายทางการเงินออกไปได้ “เส้นทางการผ่อนคลายนโยบายที่ดุดันน้อยกว่าอาจนำไปสู่ความต้องการความเสี่ยงที่ลดลง ซึ่งจะช่วยหนุนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ” เขียนโดยนักยุทธศาสตร์ของ HSBC

EUR/USD ปิดตลาดที่ 1.0787 ณ เวลานี้มีผู้เชี่ยวชาญ 30% ที่โหวตให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยคาดว่าคู่นี้จะขยับลดลงต่อ เปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันเข้าข้างฝั่งยูโร โดยเชื่อว่าราคาคู่นี้จะคงอยู่ในกรอบ 1.0800-1.0900 เป็นอย่างน้อย ส่วน 40% ที่เหลือมีความเห็นเป็นกลาง ด้านผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพที่ชัดเจนกว่า ออสซิลเลเตอร์ 100% ให้สัญญาณสีแดง (แต่ 20% ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน oversold แล้ว) ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ให้สัดส่วนที่ 85% เป็นสีแดง และ 15% เป็นสีเขียว แนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ในโซน 1.0780 ตามมาด้วย 1.0725-1.0740, 1.0620-1.0640, 1.0500-1.0515 และ 1.0450 ด้านฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0820, 1.0890-1.0925, 1.0985-1.1015, 1.1110-1.1140 และ 1.1230-1.1275

● กิจกรรมที่สำคัญของสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ได้แก่ การประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในภาคบริการของสหรัฐฯ ในวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ ในวันถัดไปจะมีการประกาศปริมาณยอดค้าปลีกในยูโรโซน ส่วนวันพฤหัสบดีตามธรรมเนียมจะประกาศข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นในสหรัฐฯ และในช่วงปลายสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ จะมีการประกาศสถิติเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของยุโรป

 

GBP/USD: ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งแรงสะเทือนต่อเงินปอนด์

● ในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) ได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมคือ 5.25% เช่นเดียวกับธนาคารกลางอีกฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ธนาคารกลางอังกฤษไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายใด ๆ และไม่มีคำแถลงแนวสายพิราบแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เงินปอนด์ได้รับแรงสนับสนุน เนื่องจากสมาชิกสองท่านในคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของ BoE ยังคงโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ยที่ 25 จุดพื้นฐาน การโต้แย้งนี้ดูค่อนข้างจะอ่อนแอ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สมาชิกกรรมการอีกท่านหนึ่งลงคะแนนให้ลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนสมาชิกส่วนใหญ่จำนวน 8 ท่านเห็นด้วยกับการให้คงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม

นักวิเคราะห์ยังคงเชื่อว่า ความคาดหวังนั้นอยู่ฝั่งค่าเงินปอนด์ โดยเก็งว่า BoE อาจเป็นธนาคารแห่งสุดท้ายที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ อย่างไรก็ดี ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจาก Scotiabank ราคา GBP/USD จะขึ้นต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีการทะลุระดับสูงสุดของเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ 1.2825 ก่อน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีฐานรองรับสถานการณ์นี้ในขณะนี้ นอกจากนี้ สถิติที่แข็งแกร่งจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังยิ่งช่วยให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และกีดกันไม่ให้คู่นี้อยู่ใกล้บริเวณกรอบด้านบนในช่วง 1.2600-1.2800 ของราคา ซึ่งเป็นบริเวณที่ราคาซื้อขายมาเป็นเวลา 7 สัปดาห์

GBP/USD ปิดตลาดในสัปดาห์ที่แล้วที่ 1.2632 นักเศรษฐศาสตร์จาก Internationale Nederlanden Groep (ING) ให้ความเห็นว่า ดอลลาร์ที่แข็งแกร่งอาจรักษาคู่ GBP/USD ไว้ได้ที่บริเวณ 1.2600-1.2700 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2024 ในส่วนการคาดการณ์กลางของนักวิเคราะห์ในไม่กี่วันข้างหน้านี้ 35% โหวตว่าราคาจะขยับลดลงต่ำกว่าระดับแนวรับที่ 1.2600 อีก 50% โหวตให้กับขาขึ้น และ 15% อยากจะคงความเห็นเป็นกลาง ผลลัพธ์อินดิเคเตอร์เทรนด์แตกต่างไปจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 เอนไปทางดอลลาร์มากกว่าเล็กน้อยที่ 60% ซึ่งชี้ว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น และคู่นี้จะขยับลงต่อ ส่วน 40% ชี้ว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้น ในส่วนออสซิลเลเตอร์มี 65% ที่เอนไปทางฝั่งดอลลาร์ (โดยมี 10% ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน oversold แล้ว) 10% อยู่ฝั่งเงินปอนด์ และ 25% ที่เหลือมีความเห็นเป็นกลาง ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่าง จะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับที่ 1.2595-1.2610, 1.2500-1.2515, 1.2450, 1.2330, 1.2210 และ1.2070-1.2085 ในกรณีที่ราคาขึ้นด้านบน จะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2695-1.2725, 1.2785-1.2820, 1.2940, 1.3000 และ 1.3140-1.3150

● ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญที่เกี่ยวกับสหราชอาณาจักรในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

 

USD/JPY: การเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางยุโรป: ความฝันหรือความเป็นจริง?

● สถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งทำลายความหวังของฝั่งกระทิงไม่ใช่แค่สำหรับยูโรและเงินปอนด์เท่านั้น แต่รวมถึงเงินเยนด้วย ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น และ USD/JPY ขยับในเทรนด์ด้านล่าง โดยทำระดับต่ำสุดในกรอบที่ 145.89 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างรวดเร็วช่วยหนุนเงินเยนน โดยเฉพาะผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ชุด 10 ปีที่ลดลงมายังระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมที่ 3.9% ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างพันธบัตรสหรัฐฯ และ USD/JPY เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง หากผลตอบแทนของพันธบัตรชุดสิบปีลดลง เงินเยนจะแข็งค่าขึ้น และ USD/JPY จะอยู่ในเทรนด์ขาลง ซึ่งนี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นปรากฏความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัดของดอลลาร์ และทำให้ราคาคู่นี้ขยับขึ้นอีกครั้งและปิดตลาดที่ 148.35

● ผู้เล่นในตลาดหลายคนยังคงคาดหวังในการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินโดยธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) เช่น นักวิเคราะห์จาก Canadian Imperial Bank of Commerce (CIBC) คาดว่า BoJ จะออกห่างจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบตั้งแต่เดือนเมษายน โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมในนโยบายการควบคุมเส้นโค้งผลตอบแทน (YCC) เพื่อพยุงค่าเงินเยนในครึ่งหลังของปี “เราเชื่อว่า USD/JPY ได้ขยับถึงจุดสูงสุดแล้ว และน่าจะลดลงมาที่ 144.00 ในไตรมาสที่ 2 หลังจากนั้น เราคาดหวังว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารเฟด และมีแนวโน้มการปรับนโยบาย YCC ของธนาคารกลางญี่ปุ่นเล็กน้อย ซึ่งจะนำไปสู่ราคาคู่ USD/JPY ที่ลดลงมายัง 140.00 ในไตรมาสที่ 3 และ 135.00 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2024”

● สิ่งสำคัญที่ต้องตั้งข้อสังเกตก็คือ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) ตั้งแต่ปี 2023 แล้ว ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราเคยพูดถึงหลายครั้งในอดีต อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้น และมันก็อาจจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตเช่นกัน

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภค CPI) ในพื้นที่โตเกียวลดลงอย่างผิดความคาดหมายจาก 2.4% เหลือ 1.6% และดัชนี Core CPI ซึ่งไม่รวมราคาสินค้าอาหารสดและพลังงานลดลงจาก 3.5% เหลือ 3.1% นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมลดลงเหลือ 1.8% จากการคาดการณ์ที่ 2.4% ตัวเลขการผลิตเชิงอุตสาหกรรมปีต่อปีก็ชะลอตัวมากขึ้นเช่นกันในเดือนธันวาคม โดยอยู่ที่ -0.7% (ปีต่อปี) ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่ -1.4% แต่ก็ยังเป็นแนวโน้มขาลงอยู่

การผ่อนคลายแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อเป็นอย่างมากและการชะลอตัวในการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจส่งผลให้ BoJ ไม่ยอมเพิ่มความเข้มงวดให้กับนโยบายทางการเงินในอนาคตอันใกล้ และอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ -0.1% การคาดการณ์นี้ยังได้รับการยืนยันโดยผลการประชุมเดือนธันวาคมของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งชี้ว่าสมาชิกกรรมการบริหารหลายท่านเห็นด้วยว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องรักษานโยบายที่หละหลวมนี้ไว้อย่างใจเย็น”

● ในส่วนมุมมองอนาคตระยะใกล้ มีผู้เชี่ยวชาญ 25% เท่านั้นที่คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อ และ USD/JPY จะขยับขึ้น กลับกันนั้น 75% อยู่ฝั่งเงินเยน โดยเห็นด้วยกับนักเศรษฐศาสตร์จาก CIBC ว่าราคาคู่นี้ได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้ว อินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ก็ชี้ไปยังทิศเหนือเช่นกัน โดยมี 100% ที่บ่งชี้ถึงโมเมนตัมขาขึ้น แต่ 10% ของกลุ่มหลังชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought แล้ว โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่โซน 147.60 ตามมาด้วย 146.85-147.15, 146.00, 145.30, 143.40-143.65, 142.20, 141.50 และ 140.25-140.60 ด้านระดับและโซนแนวต้านอยู่ที่ 148.55-148.80, 149.85-150.00, 150.80 และ 151.70-151.90

● ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ไม่คาดว่าจะมีกิจกรรมหรือการรายงานสถิติที่สำคัญใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น

 

สกุลเงินคริปโต: Halving – ความโศกเศร้าหรือความสุข?

● ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา BTC/USD เคลื่อนที่โดยมีแนวรับที่ $42,000 โดยไม่แสดงผลลัพธ์ที่ชัดเจนในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง จึงทำให้ความสนใจมาอยู่ที่สถิติ นักวิเคราะห์สังเกตเห็นว่า ความผันผวนระยะ 12 เดือนของบิทคอยน์มาถึงระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี ตัวชี้วัดนี้มีความผันผวนเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่โดยทั่วไปแสดงถึงเทรนด์ขาลงที่ชัดเจนในช่วงเวลานี้ จาก 179% ในเดือนมกราคมปี 2012 ลดลงเหลือ 45% ในช่วงต้นปีนี้

ตัวเลขความผันผวนที่สูงขึ้นบ่งชี้ถึง ระดับความแปรปรวนของราคาอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นสัญญาณว่าตลาดยิ่งคาดการณ์ได้ยากมากขึ้น ตัวเลขที่น้อยกว่าแปลว่าตลาดมีสภาพแวดล้อมการเทรดที่เสถียรมากกว่า ความผันผวนที่ลดลงอาจหมายความว่ามีผู้ถือเหรียญระยะยาวจำนวนมากขึ้นตามรายงานของ CryptoQuant ส่วนแผนกวิจัยของ Galaxy Digital ทำนายว่า การเปิดให้บริการกองทุน ETFs สปอตบิทคอยน์ในสหรัฐฯ จะยิ่งส่งผลให้ความผันผวนนิ่งสงบมากขึ้น “BTC จำนวนมากจะอยู่ในบัญชีของที่ปรึกษา (ด้านการลงทุน) พวกเขาไม่สนใจที่จะเทรดแบบเดย์เทรด” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ Glassnode นักลงทุนระยะยาวส่วนใหญ่ยังคงลังเลที่จะบอกลาเหรียญของพวกเขา รายงานจาก Glassnode ชี้ว่า ผู้ถือเหรียญ BTC ส่วนใหญ่ยังคงยึดติดในกลยุทธ์ hodling เพื่อหวังว่าราคาสปอตจะสูงขึ้น K33 Market Research รายงานว่า ปริมาณการเทรดสปอตบิทคอยน์นั้นนแตะถึง “ระดับกิจกรรมที่สูงอย่างต่อเนื่องหลังจากการอนุมัติ ETFs” “โดยมีกระแสจำนวนมากของ ETF ที่น่าจะกระจายตัวในหมู่คำสั่งเทรด OTC อื่น ๆ โดยไม่ส่งผลต่อ order books ของตลาดสปอต” ข้อมูลจาก Data Dashboard ของ The Block ชี้ว่า ปริมาณธุรกรรมบนเครือข่ายรายเดือนในเครือข่ายบิทคอยน์เดือนมกราคมอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบหลายเดือน โดยมีปริมาณการเทรดในเดือนมกราคมสูงเกิน $1.11 ล้านล้านเหรียญฯ

● ในส่วนการเปิดตัวกองทุน ETF บิทคอยน์ในเดือนมกราคม สถานการณ์ก็ดูไม่สดใสเหมือนที่คาดหวังไว้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่านี่คือตัวอย่างคลาสสิกของการ “ซื้อตามข่าวลือ และขายตามข่าวจริง” ในช่วงต้นราคาทะยานขึ้นอย่างน่าประทับใจ แต่ตอนนี้เมื่อกองทุนเหล่านี้เปิดให้บริการจริง ผู้เล่นในตลาดเริ่มเก็บกำไรกันอย่างคึกคัก

กองทุน Grayscale ETF แปลงสภาพมาจากกองทุนทรัสต์ และก็เผชิญกับกระแสเงินที่ไหลออกจากกองทุนมูลค่ากว่า $2.2 พันล้านเหรียญฯ ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สาเหตุนั้นไม่ใช่แค่เพราะผู้ถือกองทุนทรัสต์ที่เก็บกำไรเท่านั้นในปี 2023 แต่ยังเป็นเพราะความไม่พึงพอใจในค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนที่สูงมาก Grayscale หักค่าธรรมเนียม 1.5% ในขณะที่กองทุนอื่น ๆ คงค่าธรรมเนียมไว้ที่ระหว่าง 0.2-0.3% ในส่วนคู่แข่ง ETF อื่น ๆ มร BlackRock ที่ยังคงเป็นผู้นำด้วยกองทุนมูลค่า $2.2 พันล้านเหรียญฯ และ Fidelity ที่เกือบ $2 พันล้านเหรียญฯ ด้าน WisdomTree อยู่อันดับสุดท้ายที่ $6.3 ล้านเหรียญฯ ในส่วนกระแสเงินสุทธิที่ไหลเข้าในกองทุนตั้งแต่การเปิดให้บริการ BTC-ETFs อยู่ที่ปานกลางคือ $760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

● นอกเหนือจากการเก็บกำไรแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งแรงกดดันต่อตลาดคือนักขุดเหรียญ ซึ่ง Halving มีกำหนดในวันที่ 19 เมษายนนี้ ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2.5 เดือน หากราคาบิทคอยน์ไม่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลานี้ นักขุดเหรียญส่วนใหญ่จะต้องเจอกับภาวะขาดแคลนสภาพคล่องอย่างหนัก ดังนั้น พวกเขาจึงงเริ่มขาย BTC สำรองไว้เพื่อเติมสภาพคล่อง นับตั้งแต่การอนุมัติ ETFs สปอตเมื่อวันที่ 10 มกราคม พวกเขาได้ส่งบิทคอยน์ 624,000 BTC ไปยังกระดานซื้อขายในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า $26 พันล้านเหรียญฯ จากการประมาณการคาดว่านักขุดเหรียญยังมีอีกประมาณ 1.8 ล้าน BTC เหลืออยู่ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า $76 พันล้านเหรียญฯ การขายเหรียญสำรองเหล่านี้อาจช่วยกดราคาบิทคอยน์ให้ต่ำลงเป็นอย่างมากได้

● นักวิเคราะห์ที่ Matrixport ได้ทำนายแนวโน้มขาลงของราคาบิทคอยน์มาที่ $36,000 พวกเขาเชื่อว่า หลังจากนั้นบิทคอยน์จะเริ่มแข็งค่า แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมหภาคเอื้อโดยมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ชุดเดียวกันได้ทำนายว่าบิทคอยน์จะแตะ $125,000 ในปี 2024

Chris Burniske หุ้นส่วนบริษัทระดมทุน Placeholder ได้ให้การคาดการณ์ว่า ราคาบิทคอยน์จะตกลงมายังกรอบ $30,000-$36,000 ในตอนต้น ก่อนที่จะแตะราคาต่ำสุดในกรอบที่บริเวณ $20,000 “เรากำลังเดินหน้าไปยังการแกว่งตัวของราคาที่ต่ำกว่าคนส่วนใหญ่จะคดคิด เนื่องด้วยหลากหลายตัวแปร (เช่น ลักษณะเฉพาะของตลาดคริปโต เศรษฐกิจมหภาค การยอมรับและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ)” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือน อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า การที่ราคาทดสอบที่ระดับประมาณ $20,000 จะเป็น “ก้าวที่แท้จริง” สู่การกลับไปยังระดับสูงสุดก่อนหน้า “เส้นทางนั้นจะมีความผันผวน ตั้งรับกับอุปสรรค และมันจะใช้เวลาหลายเดือน เพื่อนที่ดีที่สุดของคุณก็คือความอดทนเหมือนเช่นคย” Burniske กล่าวเน้นย้ำและเสริมด้วยว่า แนวโน้มขาลงของสินทรัพย์อื่นนั้นจะลึกกว่าของบิทคอยน์

● ตรงกันข้ามกับความเห็นของ Chris Burniske การคาดการณ์โดยนักวิเคราะห์ที่ชื่อว่า DonAlt ดูเป็นไปในทางบวกมากกว่า เขาได้บอกกับผู้ติดตามทาง YouTube 56,700 ของเขาว่า ถึงแม้ว่าจะมีความผันผวนเนื่องด้วยการเปิดให้บริการกองทุน ETF ของบิทคอยน์ แต่บิทคอยน์ก็หลีกเลี่ยงการทรุดตัวของราคาได้สำเร็จ ทองคำดิจิทัลยังคงแข็งแกร่งแม้ว่าหลังจากราคาร่วงลงมาต่ำกว่า $40,000 ในสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เชื่อว่า การที่ไม่เกิดกระแสแห่ขายเป็นสัญญาณในทางบวก “ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่อยู่ในค่ายตลาดหมีอีกต่อไป ต่อไปนี้ผมอยู่ค่ายกระทิง” เขากล่าว DonAlt ยังเน้นย้ำด้วยว่า บิทคอยน์กำลังแข็งตัวอภายในเทรนด์ขาขึ้นที่แข็งแกร่ง และ “มีแนวโน้มที่จะมีโมเมนตัมกระทิงอีกครั้ง ทันทีที่ราคสามารถยืนเหนือแนวต้านที่ $44,000 ได้สำเร็จ”

นักวิเคราะห์ที่มีชื่อเรียกว่า Rekt Capital เชื่อว่า นักเทรดมีโอกาสสุดท้ายครั้งเดียวเท่านั้้นที่จะซื้อบิทคอยน์ที่ราคาต่ำ การวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตของเขาทำให้เขาได้ข้อสรุปดังนี้ 1. หากราคาบิทคอยน์ไม่ลดลงภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า มีโอกาสต่ำที่ราคาจะร่วงลงหนักก่อนการ Halving ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 19 เมษายนนี้ 2. ประมาณ 60 วันก่อน Halving ราคา BTC คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องด้วยกระแสความตื่นเต้นกับเหตุการณ์นี้ 3. หลังจากการ Halving นักเก็งกำไรอาจรีบขายเหรียญที่ถืออยู่ และอาจส่งผลให้ราคาบิทคอยน์ร่วงลงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ประมาณ 20-38% 4. หลังจากช่วงเวลานี้ผ่านไป คาดาว่าจะตามมาด้วยระยะการสะสมกำลัง ซึ่งอาจกินเวลา 150 วัน และมีลักษณะราคาผันผวนค่อนข้างต่ำสำหรับ BTC 5. ระยะสะสมกำลังนี้คาดว่าจะตามมาด้วยระยะการเติบโตแบบพาราโบลิกในราคาบิทคอยน์ ซึ่งจะพาราคาไปยังระดับสูงสุดใหม่ในที่สุด

● Markus Thielen ประธานศูนย์วิจัย 10x Research ได้ใช้ประโยชน์ของทฤษฎีคลื่น Elliott Wave ในการคาดการณ์ของเขา ซึ่งชี้ว่า ราคาสินทรัพย์นั้นจะเคลื่อนที่ในรูปแบบคลื่น 5 คลื่น ตามหลักทฤษฎีนี้ คลื่นที่หนึ่ง สาม และห้าเป็นคลื่น “impulse waves” ในขณะที่คลื่นที่เหลือเป็นคลื่น “corrective waves” การร่วงลงครั้งล่าสุดของราคาบิทคอยน์แสดงถึงคลื่นที่สี่ ซึ่งเป็นคลื่นปรับฐานตามมุมมองของนักวิเคราะห์ ในเวลานี้กำลังเป็นการเริ่มต้นของคลื่นที่ห้า ซึ่งอาจผลักดันราคาให้สูงขึ้น “การวิเคราะห์คลื่นชี้ว่าราคามีโอกาสฟื้นตัวไปที่ $52,671 น่าจะภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2024”

Anthony Scaramucci ผู้ก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ SkyBridge Capital เชื่อว่า ราคาบิทคอยน์จะพุ่งขึ้นอย่างน้อยถึง $170,000 หลัง Halving ในเดือนเมษายน “ในวันที่ Halving ให้คูณราคา BTC ด้วย 4 และราคาจะไปถึงระดับนั้นภายใน 18 เดือนข้างหน้า” เขากล่าว “เช่น หากราคาอยู่ที่ $50,000 จากนั้นบิทคอยน์จะมีมูลค่าในอนาคตคือ $200,000” นักลงทุนรายนี้อธิบาย ก่อนหน้านี้ ประธาน SkyBridge เคยอ้างว่า ราคา BTC หลัง Halving อาจไปถึง $100,000 เขายังอ้างถึงการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดในสหรัฐฯ ว่าเป็นเหตุผลเพิ่มเติมที่จะช่วยเอื้อต่อการทะยานขึ้นของราคา

ในส่วนราคาระยะยาว Scaramucci คาดการณ์ว่า มูลค่ารวมของตลาดคริปโตอาจไปถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่ารวมของตลาดทองคำคือ $14.5 ล้านล้านเหรียญฯ ดังนั้น ตามการคำนวณของเขา ราคาบิทคอยน์อาจไปถึงประมาณ $345,000

● Peter Schiff ประธาน Euro Pacific Capital และผู้ที่โด่งดังในเรื่องคัดค้านบิทคอยน์ จู่ ๆ ก็ยอมรับว่าภายในปี 2031 ราคาบิทคอยน์อาจแตะที่ $10 ล้านเหรียญฯ แต่ภายใต้สถานการณ์ที่สมมติเท่านั้น เขามองว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้ หากดอลลร์สหรัฐฯ เดินตามรอย “พันธบัตรมาร์คเยอรมัน” คำศัพท์นี้หมายถึงสกุลเงินที่เริ่มใช้ในเยอรมนีในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 1914 แทนที่เงินมาร์คก่อนหน้านี้ ซึ่งรองรับด้วยทองคำ

ในช่วงต้นยุค 1920 พันธบัตรมาร์คนั้นอ่อนค่าลงเนื่องด้วยเงินเฟ้อที่สูงลิ่วเป็นอย่างมาก ในช่วงหลายปีนั้น หลายบริษัทจ่ายเงินต้องจ่ายเงินเดือนหลายครั้งต่อวัน เพื่อให้พนักงานสามารถใช้จ่ายได้ก่อนที่ราคาจะขึ้นในรอบถัดไป ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก จนรัฐไม่สามารถพิมพ์ธนบัตรได้เร็วพอ และต้องจ้างบริษัทรับพิมพ์ของเอกชน พันธบัตรที่มีมูลค่ามากที่สุดที่ออกคือ พันธบัตร 100 ล้านล้านมาร์ค

ในความเป็นจริง นาย Peter Schiff ไม่ได้เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และดอลลาร์สหรัฐฯ จะล่มสลาย การคาดการณ์ของเขาจึงอาจถือได้ว่าเป็นการล้อเลียนแบบประชดประชันต่อบิทคอยน์ อย่างไรก็ตาม Robert Kiyosaki นักลงทุนและเจ้าของหนังสือเล่มขายดีเรื่อง "Rich Dad Poor Dad" กลับไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น เขายืนหยัดว่า ทองคำ เงิน และบิทคอยน์ควรเป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตของนักลงทุนทุกคน Kiyosaki ยอมรับว่าเขามีความรู้ที่จำกัดเกี่ยวกับบิทคอยน์ แต่เชื่อในความสำเร็จของบิทคอยน์เนื่องจากมีคนที่ “ฉลาดมาก ๆ” ที่เกี่ยวข้องกับมัน เขามั่นใจว่าราคา BTC อาจไปถึง $1 ล้านเหรียญฯ ได้ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกล่มลง

● ณ ช่วงเย็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เมื่อมีการเขียนรีวิวฉบับนี้ เศรษฐกิจโลกยังไม่ล่มลง BTC/USD ยังไม่แตะถึง $1 ล้าน หรือ $10 ล้านเหรียญฯ และปัจจุบันมีราคาซื้อขายอยู่ที่ $43,000 โดยมูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.65 ล้านล้านเหรียญฯ (สูงขึ้นจาก $1.61 ล้านล้านฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index เพิ่มขึ้นมา 63 จุด (จาก 49 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) โดยขยับจากโซนตรงกลาง (Neutral) เข้าสู่โซนความโลภ (Greed)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)