กุมภาพันธ์ 25, 2024

EUR/USD: น้ำเสียงท่าทีของ ECB สวนทางกับดอลลาร์

● สถิติดัชนีเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ในสหรัฐฯ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ออกมาเกินความคาดหมาย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) บ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อเชิงอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินอเมริกันล้มเหลวที่จะได้รับแรงหนุนเพิ่มเติม ดัชนีดอลลาร์ (DXY) เริ่มลดตัวลงตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ในขณะที่ EUR/USD ไต่ตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

● ผลการประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการที่กำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด) เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ เป็นเครื่องเตือนใจว่า ธนาคารเฟดอาจยังไม่รีบที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของตลาดยังคงปกคลุมว่า ธนาคารเฟดจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเร็วกว่าธนาคารกลางยุโรปเป็นอย่างมาก ปัจจัยนี้ยิ่งเสริมแรงกดดันต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะการที่ความคาดหวังดังกล่าวยิ่งได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจากคำกล่าวจากผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางยุโรป นาง Isabel Schnabel กรรมการบริหาร ECB ได้กล่าวไว้ว่า นโยบายทางการเงินจะต้องมีความเข้มงวดต่อไปจนกว่าธนาคารฯ จะมั่นใจได้ว่า อัตราเงินเฟ้อกลับมายังระดับเป้าหมายระยะกลางที่ 2.0% อย่างยั่งยืน

ท่าทีที่คล้ายกันนั้นยังมาจาก Joachim Nagel ประธานธนาคารกลางเยอรมนีด้วยเช่นกัน เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ เขากล่าวว่า “มันยังเร็วเกินไปที่จะลดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่ามันจะดูน่าดึงดูดสำหรับบางคน” Nagel มองว่าการคาดการณ์ของราคายังไม่ชัดเจนมากพอ และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเงินเฟ้อนั้นจะเปิดเผยในไตรมาสที่ 2 เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลดอัตราดอกเบี้ย

ประธานธนาคารกลางเยอรมนีเชื่อว่า ระยะเวลาที่เงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็วนั้นสิ้นสุดลงแล้ว อาจมีอุปสรรคบางอย่างในอนาคต และในอีกช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า เงินเฟ้อจะยังคงอยู่เหนือระดับเป้าหมายที่ 2.0% อยู่มาก (การคาดการณ์ล่าสุดจาก MUFG Bank รายงานว่า CPI ในยูโรโซนคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 2.7% ในปี 2024)

EUR/USD พุ่งขึ้นมาที่ 1.0887 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ จากนั้นลงมาที่ 1.0802 เนื่องด้วยข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ที่ไม่สอดคล้องกันในบรรดาประเทศในยูโรโซน การคาดการณ์เบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นจาก 43.1 เป็น 46.8 จุด ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ที่ 43.5 ด้านดัชนีภาคบริการเพิ่มขึ้นจาก 45.4 เป็น 48.0 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้คือ 45.7 ดัชนีเหล่านี้สูงกว่าการคาดการณ์เป็นอย่างมาก จึงกระตุ้นความต้องการความเสี่ยงในหมู่นักลงทุน ไม่ใช่แค่ความต้องการซื้อหุ้นในตลาดหุ้นเท่านั้น แต่รวมถึงการซื้อสกุลเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

อย่างไรก็ดี ความสุขของฝั่งกระทิงยูโรนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และถูกยับยั้งโดยสถิติ PMI ของเยอรมนี ดัชนีภาคการผลิตของเยอรมนีร่วงลงจาก 45.5 เหลือ 42.3 จากการคาดการณ์ที่ 46.1 ด้าน PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนร่วงลงจาก 46.6 เหลือ 46.1 ซึ่งตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 47.0 ที่สำคัญคือควรคำนึงว่าดัชนีเหล่านี้นั้นต่ำกว่าระดับสำคัญที่ 50.0 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง มีแต่เพียงภาคบริการเท่านั้นที่แตะถึงระดับ 50.0 โดยรวมแล้ว ดัชนี PMI รวมของยูโรโซนนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 48.9 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 แต่ยังคงอยู่ในโซนติดลบเป็นเวลาเจ็ดเดือนติดต่อกัน

ด้านสถานการณ์อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติด ดัชนีเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเติบโต ดัชนีเบื้องต้นชี้ว่า ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคบริการอยู่ที่ 51.3 จุด และในภาคการผลิตคือ 51.5 โดยเมื่อวันพฤหัสบดีมีการประกาศจำนวนยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นในสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจาก 213K เหลือ 201K ในหนึ่งสัปดาห์ (การคาดการณ์อยู่ที่ 217K) ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานแข็งแกร่งขึ้น

EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่แล้วที่ 1.0820 นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงนั้นเป็นแค่ปรากฏการณ์ระยะยาว และดัชนี DXY คาดว่าจะกลับมาสู่แนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง มีเพียงเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองที่พิเศษจริง ๆ เท่านั้นที่จะป้องกันสิ่งนี้ได้ โดย ณ ขณะที่เขียนรีวิวฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์มีผู้เชี่ยวชาญ 50% ที่โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่า และราคาคู่นี้จะปรับลดลง ส่วน 30% โหวตให้ฝั่งยูโร ในขณะที่ 20% มีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มีเพียง 10% เท่านั้นที่ให้สัญญาณสีแดง 15% เท่านั้นที่ให้สีเทากลาง และ 75% เป็นสีเขียว โดยมี 20% อยู่ในโซน overbought ด้านสมดุลในหมู่อินดิเคเตอร์เทรนด์นั้นแตกต่างออกไป มี 35% ที่ให้สัญญาณสีแดง และ 65% เป็นสีเขียว สำหรับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ในโซน 1.0800 ตามมาด้วย 1.0725-1.0740, 1.0695, 1.0620, 1.0495-1.0515, 1.0450 โดยฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0840-1.0865, 1.0925, 1.0985-1.1015, 1.1050, 1.1110-1.1140, 1.1230-1.1275.

● กิจกรรมที่สำคัญที่ต้องไฮไลต์ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ได้แก่ สถิติอัปเดตเกี่ยวกับคำสั่งซื้อสินค้าคงทนในสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ ดัชนี GDP เบื้องต้นของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ในวันถัดมา สถิติยอดค้าปลีกและดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเยอรมนีจะประกาศในวันพฤหัสบดี ตลอดจนดัชนีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนตัวและสถิติตลาดแรงงาน ความผันผวนสูงนั้นคาดว่าจะปรากฏให้เห็นในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยในวันแรกของเดือนมีนาคมนั้นจะมีการประกาศทั้งอัตราเงินเฟ้อรายปี (CPI) ในยูโรโซน และตัวเลขสุดท้ายของดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในสหรัฐฯ

 

GBP/USD: เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเริ่มดีดตัวขึ้น

● ควบคู่ไปกับข้อมูลดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจจากสหรัฐฯ และยูโรโซน ด้านดัชนีเบื้องต้นของฝั่งสหราชอาณาจักรก็ประกาศออกมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์เช่นกัน ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรต่ำกว่าการคาดการณ์เล็กน้อยที่ 47.5 แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นจาก 47.0 เป็น 47.1 ดัชนีภาคบริการยังคงเท่าเดิมที่ 54.3 แต่ดัชนี PMI รวมขยับขึ้นมาที่ 53.3 ซึ่งสูงกว่าทั้งตัวเลขคาดการณ์และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 52.9 ซึ่งค่าตัวเลขที่สูงกว่า 50.0 เป็นโซนสีเขียวที่แสดงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอังกฤษที่ดียิ่งขึ้น และดูเหมือนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคที่เคยเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ได้สิ้นสุดลงแล้วหรืออย่างน้อยก็ใกล้จะสิ้นสุดลง

ในบทรีวิวฉบับที่แล้ว เราได้อ้างถึงการคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ของ Scotiabank ว่า เริ่มตั้งแต่โซนแนวรับในระยะยาวที่ 1.2500 GBP/USD จะเริ่มขยับขึ้นมาที่ 1.2700 การคาดการณ์นี้ปรากฏว่าเป็นจริงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ หลังการประกาศ PMI ของสหราชอาณาจักร เพราะคู่นี้ขึ้นไปแตะที่ 1.2709 โดยกลับมายังโซนตรงกลางของกรอบด้านข้างระยะกลางที่ 1.2600-1.2800

● สถิติที่ถือว่าดีของสหราชอาณาจักรและการฟื้นตัวของความต้องการความเสี่ยงน่าจะส่งผลในทางบวกต่อเงินปอนด์ ในสถานการณ์เช่นนี้ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร MUFG ของญี่ปุ่นเขียนรายงานว่า “หากธนาคารเฟดและ ECB ชะลอกำหนดเวลาในการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกออกไป ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) ก็จะชะลอด้วยเช่นกัน” ทั้งนี้ ผลสรุปการประชุมเมื่อวันที่ 1 มกราคม BoE ได้ประกาศให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันคือ 5.25% พร้อมคำแถลงที่ระบุว่า “ก่อนจะลดอัตราดอกเบี้ย จะต้องเห็นหลักฐานยืนยันว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะลดลงไปที่ 2.0% และคงอยู่ที่ระดับดังกล่าว” ผู้เล่นในตลาดคาดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ซึ่งการคาดการณ์นี้ถูกเก็งไว้โดยตลาดแล้ว และช่วยป้องกัน GBP/USD ไม่ให้ร่วงลง MUFG เชื่ออย่างนั้น “แม้ว่าความสัมพันธ์ของเงินปอนด์กับตลาดหุ้นเริ่มจะอ่อนแอลง แต่ก็ยังแข็งแกร่งกว่าความสัมพันธ์ของดอลลาร์กับความเสี่ยง และหากความต้องการความเสี่ยงยังคงอยู่ต่อไป นี่อาจช่วยให้เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นได้” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารแห่งนี้ก็เตือนเกี่ยวกับว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรที่กำลังเติบโตอยู่ตอนนี้อาจยับยั้งการเติบโตของเงินปอนด์ได้

GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่แล้วที่ 1.2670 ในส่วนการคาดการณ์ระยะกลางโดยนักวิเคราะห์ในไม่กี่วันข้างหน้านี้ มี 65% ที่โหวตให้ราคาคู่นี้ลดลง ในขณะที่ 35% สนับสนุนแนวโน้มการเติบโต ด้านออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 10% เท่านั้นที่ชี้ไปยังทิศใต้ 15% ชี้ไปยังทิศตะวันออก และ 75% ที่เหลือชี้ไปยังทิศเหนือ ซึ่งมี 10% เท่านั้นที่ให้สัญญาณ overbought ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์แสดงอคติเป็นอย่างมากต่อค่าเงินปอนด์ โดยมี 90% ที่ชี้ไปยังทิศเหนือ และ 10% ที่เหลือชี้ไปยังทิศใต้ ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่างจะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับที่ 1.2635-1.2650, 1.2570, 1.2500-1.2535, 1.2450, 1.2370, 1.2330 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้น แนวต้านจะอยู่ที่ระดับและโซนคือ 1.2695-1.2710, 1.2755-1.2775, 1.2825, 1.2880, 1.2940, 1.3000 และ 1.3140-1.3150

● ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติที่สำคัญทางเศรษฐกิจใด ๆ จากสหราชอาณาจักร

 

USD/JPY: ไปถึงดวงจันทร์และไกลกว่านั้น ดาวอังคารคือเป้าหมายถัดไป

● ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชุด 10 ปีในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 4.30% ซึ่งยังสนับสนุนดอลลาร์ต่อไป ในขณะที่เงินเยนนั้นให้ผลตอบแทนต่ำและมีอัตราดอกเบี้ยติดลบ จึงเป็นอีกครั้งที่ USD/JPY ขยับขึ้นเหนือระดับ 150.00 ในสัปดาห์ที่แล้วและพยายามที่จะจู่โจมขึ้นระดับ 151.00 และเป็นอีกครั้งที่ทำไม่สำเร็จ ราคาสูงสุดในกรอบอยู่ที่ 150.76 โดยปิดท้ายสัปดาห์ที่ 150.52

● ความระมัดระวังของฝั่งกระทิงของคู่ USD/JPY โดยหลักแล้วนั้นมาจากการที่โซน 150.00-152.00 เป็นจุดที่กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเริ่มเข้าแทรกแซงค่าเงินในช่วงเดือนตุลาคมปี 2022 และเดือนพฤศจิกายน 2023 อย่างไรก็ดี นักเทรดทุกคนทราบดีว่าผลลัพธ์ในอดีตไม่สามารถการันตีเหตุการณ์ในอนาคตได้ ดังนั้น จึงไม่มีความแน่นอนว่ากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) จะเดินตามรอยเดิมในครั้งนี้อีกหรือไม่

ทั้งนี้ GDP ญี่ปุ่นได้ตกลงมาเป็นเวลาสองไตรมาสติดต่อกัน ค่าเงินเยนที่อ่อนแอช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกโดยทำให้ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นนั้นน่าดึงดูดและแข่งขันได้ดีในตลาดต่างประเทศ จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น สิ่งนี้ช่วยอธิบายความลังเลของทางการญี่ปุ่นในการใช้นโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด นาย Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า คำถามว่าจะคงไว้หรือเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนั้นจะได้รับการพิจารณา “ก็ต่อเมื่อมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายราคาอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ”

● อย่างที่กล่าวไปแล้ว โอกาสที่ USD/JPY จะกลับทิศทางลงทิศใต้จากโซน 151.00-152.00 นั้นสูง แต่ก็ยังต่ำกว่า 100% ในเวลานี้ ราคาคู่นี้สูงกว่าจุดที่เคยอยู่ในปีที่แล้วประมาณ 14% ผู้เชี่ยวชาญบางท่านให้ข้อสังเกตว่า หน่วยงานทางการเงินของญี่ปุ่นเริ่มกระสับกระส่ายเมื่อตัวเลขนี้แตะถึง 20% ในรอบปี ณ ตอนนี้ พวกเขาอาจจะยังนิ่งนอนใจได้อยู่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวกับอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวได้แล้วในช่วงสองปีที่ผ่านมา ดังนั้น มันยังมีโอกาสที่เราอาจได้เห็นราคาไปถึง 160.00 ได้ แทนที่จะตกลงมายัง 140.00 อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 34 ปีที่แล้วในเดือนเมษายน 1990 ตามความเห็นของ Danske Bank

● ในส่วนอนาคตอันใกล้ ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคาร UOB ของสิงคโปร์เชื่อว่า ภายในหนึ่งถึงสามสัปดาห์นี้ USD/JPY นี้มีโอกาสที่จะเทรดอยู่ในกรอบ 148.70 ถึง 150.90 อย่างไรก็ตาม UOB ไม่ตัดโอกาสที่ราคาจะทะลุขึ้น 150.90 อาจกระตุ้นให้ราคาขึ้นไปถึง 152.00 ณ ขณะที่เขียนรีวิวฉบับนี้มีผู้เชี่ยวชาญ 40% ที่เห็นด้วยกับดอลลาร์ ในขณะที่ส่วนใหญ่ (60%) โหวตให้ว่าเงินเย็นจะแข็งค่า ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ชี้ไปยังฝั่งด้านบนทั้งหมด แต่มี 10% ของกลุ่มหลังที่ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought ในส่วนระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 149.70-150.00 ตามมาด้วย 148.25-148.40, 147.65, 146.65-146.85, 144.90-145.30, 143.40-143.75, 142.20, 140.25-140.60 ด้านระดับและโซนแนวต้านอยู่ที่ 150.90, 151.70-152.05 และ 153.15

● ไม่คาดว่าจะมีเหตุการณ์ที่สำคัญใดเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

 

สกุลเงินคริปโต: 5 เหตุผลที่ฤดูหนาวคริปโตสิ้นสุดลงแล้ว

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 20241

● ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว การต่อสู้ระหว่างฝั่งกระทิงและหมีของบิทคอยน์นั้นนิ่งสงบลง โดย BTC/USD ได้เลือกให้ระดับ $51,500 เป็น Pivot Point และขยับออกด้านข้างในกรอบแคบ ๆ ที่ $50,500-$52,500 ฝั่งกระทิงมีความพยายามที่จะฝ่าแนวต้านเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ แต่ก็ล้มเหลว และราคานี้ก็กลับมายังกรอบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อดีตเคยชี้ให้เห็นว่า ช่วงเวลาที่สงบนั้นไม่เคยอยู่ยาวนาน มันมักจะตามมาด้วยพายุครั้งใหญ่ และฝนที่เทกระหน่ำ โดยเฉพาะในตลาดที่มีความผันผวนสูงอย่างตลาดคริปโต แล้วเราจะคาดหวังอะไรได้บ้างหากอากาศมีการเปลี่ยนแปลงไป?

● Lucas Outumuro ประธานแผนกวิจัยของ IntoTheBlock ได้คาดการณ์โอกาส 85% ที่บิทคอยน์จะทำระดับสูงสุดใหม่ภายในหกเดือนข้างหน้า โดยน่าจะผ่านระดับ $70,000 ขึ้นไปได้ เขาให้ปัจจัยกระตุ้นการเติบโต 5 ประการ ดังนี้

1. การลดผลตอบแทนของการขุดเหรียญหรือ Halving ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการลดผลตอบแทนครั้งที่สี่จาก 6.25 BTC เหลือ 3.125 BTC ต่อเหรียญ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดแรงกดดันจากฝั่งผู้ขาย Outumuro ชี้ว่า บิทคอยน์น่าจะทำระดับสูงสุดใหม่ (ATH) ได้หนึ่งเดือนหลัง Halving

2. กระแสเงินที่ไหลเข้ากองทุนรวม (ETFs) บิทคอยน์ต่อเนื่องเป็นปัจจัยประการที่สอง แม้ว่าระยะเวลาของการไหลเข้ามาของกระแสเงินดังกล่าวยังดูไม่แน่นอน แต่ความต่อเนื่องอาจช่วยหนุนราคาสกุลเงินคริปโตได้เนื่องด้วยอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้น

3. IntoTheBlock เชื่อว่า ท่าทีเข้มงวดของธนาคารเฟดต่ออัตราดอกเบี้ยในปี 2022 เป็นพื้นฐานให้กับวัฎจักรตลาดหมีไม่ใช่แค่ในตลาดคริปโตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย เมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลงจาก 10% เหลือ 3% ภายในปี 2024 หลายคนคาดหวังการเปลี่ยนแปลงในนโยบายของธนาคารเฟดไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดันราคาบิทคอยน์และตลาดหุ้นขึ้นไป ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อสังเกตว่า พฤติกรรมราคาบิทคอยน์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับสินทรัพย์ดั้งเดิมในช่วงล่าสุด ซึ่งความสัมพันธ์ยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อดัชนี Nasdaq และ S&P ทำระดับสูงสุดในรอบสองเดือน

4. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน คนปัจจุบันจะคัดค้านสินทรัพย์ดิจิทัลโดยทั่วไปแล้ว แคมเปญการเลือกตั้งมักจะมีผลดีต่อตลาดคริปโต IntoTheBlock รายงานระบุว่า “พหุตลาดในปัจจุบันกำลังให้ไบเดนมีโอกาสเพียง 33% เท่านั้นที่จะได้รับเลือกตั้งอีก จึงคาดว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีความเป็นมิตรต่อคริปโตกว่ามาก น่าจะได้รับชัยชนะ” อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วงชิงโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ธนาคารเฟดอาจใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ดุดันมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้กระแสเงินไหลเข้ามาทั้งในตลาดหุ้นและตลาดคริปโตมากขึ้น

5. เฮดจ์ฟันด์ถือว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตที่ไม่ได้คาดหมายโดย Outumuro เขากล่าวว่า เมื่อบิทคอยน์ได้ฟื้นตัวจากภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2020 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเงินเริ่มยอมรับในศักยภาพของคริปโต การเริ่มให้บริการกองทุน ETF บิทคอยน์สปอตยิ่งให้โอกาสกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในการสะสมสินทรัพย์ประเภทใหม่ จึงมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นมาจากนักลงทุนแบบดั้งเดิม และนำไปสู่การใช้งานและยอมรับในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม IntoTheBlock ให้ข้อสังเกตว่า สถานการณ์เหล่านี้อาจเปลี่ยนไปเนื่องด้วยปัจจัยหลายประการได้ เช่น ธนาคารเฟดอาจไม่ผ่อนคลายนโยบาย บิทคอยน์อาจปรับฐาน 10% พัฒนาการเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่อาจส่งผลในทางลบต่อราคาทองคำดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ตัดโอกาสที่จะเกิดแรงกดดันจากฝั่งผู้ขายในกรณีที่ผู้เล่นรายใหญ่เกิดล้มละลาย

อย่างที่เขียนไว้ (ในข้อที่ 3) ความสัมพันธ์ระหว่างบิทคอยน์และดัชนี S&P 500 กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งชี้ว่า BTC อาจขยับขึ้นควบคู่ไปกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อดัชนีได้ขยับขึ้นผ่าน 5,000 จุด Goldman Sachs ธนาคารเพื่อการลงทุนก็ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ดัชนีปลายปีอยู่ที่ 5,200 จุด ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มแรงหนุนให้กับบิทคอยน์

● นักเทรดทุกคนทราบดีว่า การหาจังหวะที่เหมาะที่สุดในการขายสินทรัพย์นั้นสำคัญพอ ๆ กับการตัดสินใจเข้าซื้อ Dennis Liu หรือที่รู้จักในชื่อ Virtual Bacon ได้แบ่งปันแนวทางการลงทุนในบิทคอยน์ไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยให้องค์ประกอบสามอย่างที่น่าจะให้สัญญาณว่าตลาดได้มาถึงจุดสูงสุดแล้ว คือ

1. อินดิเคเตอร์แรกที่ควรพิจารณา คือ ความสำเร็จในการไปถึงระดับเป้าหมายใด ๆ เช่น $200,000 สำหรับบิทคอยน์ และ $15,000 สำหรับ Ethereum สมมติฐานของนาย Liu นั้นอ้างอิงจากวัฎจักรในอดีตและผลตอบแทนที่ลดลง นี่คืออินดิเคเตอร์ที่ชัดเจนและวัดปริมาณได้ ซึ่งขจัดการคาดเดาในการตัดสินใจว่าจะออกจากตลาดเมื่อใด

2. หลักเกณฑ์ที่สองของ Liu คือ จังหวะเวลา มันไม่สำคัญว่าพฤติกรรมราคาสินทรัพย์นั้นจะเป็นอย่างไร เขาวางแผนที่จะออกจากการเทรดภายในสิ้นปี 2025 การตัดสินใจนี้มาจากความสำคัญของการสังเกตรูปแบบในอดีต และอ้างอิงจากการวิเคราะห์วัฎจักร Havling และระยะเวลาของตลาดกระทิง

3. องค์ประกอบสุดท้ายของวิธีการวิเคราะห์ของ Liu คือ การติดตามรูปแบบราคาอย่างพิถีพิถัน โดยเฉพาะพฤติกรรมของ BTC ในเส้น EMAs แบบ 200 วัน และ 21 สัปดาห์ หากราคาตกลงต่ำกว่าระดับแนวรับเหล่านี้จะเป็นสัญญาณให้ต้องขายบิทคอยน์

● แน่นอนว่าระดับที่ $200,00 สำหรับบิทคอยน์นั้นเป็นการคาดการณ์ และเป็นการคาดการณ์ในระยะที่ค่อนข้างไกลด้วย ในส่วนอนาคตอันใกล้ ตัวชี้วัดจาก Glassnode ได้ระบุแล้วว่า ราคาได้เข้าสู่โซนที่เรียกว่า “โซนความเสี่ยง” พวกเขาสังเกตเห็นระดับกำไรสุทธิที่ค่อนข้างต่ำเมื่อพิจารณาการเติบโตของราคาอย่างแข็งขันในช่วงสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจาก Glassnode ให้ข้อสังเกตว่า ตัวชี้วัดระดับความเสี่ยงสูงนี้มักจะเห็นได้ในช่วงต้นของตลาดกระทิง เพราะว่าเมื่อถึง “ระดับสำคัญ” ของความสามารถในการทำกำไรนั้นแล้ว กลุ่มผู้ถือเหรียญระยะยาว (hodlers) อาจเริ่มเก็บกำไร และทำให้ราคาปรับฐานลงอย่างรุนแรงตามมาได้

 นักวิเคราะห์ที่ชื่อว่า Gareth Soloway แนะนำว่าบิทคอยน์อาจกลับไปทดสอบที่ระดับ $30,000 โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดหุ้นเข้าสู่การปรับฐานในช่วง 20% ถึง 30% เขาเรียกระดับแนวรับใหม่ที่เป็นไปได้ของบิทคอยน์ว่าเป็น “เส้นในกองทราบ” “เส้นหลักของผมในกองทรายคือระดับตั้งแต่ $30,000 ถึง $32,000 หากราคาลงมาต่ำกว่านั้น ผมจะเริ่มซื้อ BTC ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก” เขากล่าว

Michael Van De Poppe นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง MN Trading แนะนำให้นักลงทุนควรรอจนกว่าราคาจะปรับฐาน 20-40% ก่อนที่จะเข้าสู่ตลาด นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคาบิทคอยน์จะย่อตัวเมื่อไปถึงระดับ $53,000-$58,000 อย่างไรก็ตาม “หากคุณซื้อบิทคอยน์โดยตั้งใจว่าจะถือเป็นเวลาสองหรือสามปี และหากคุณเชื่อว่าในช่วงเวลานี้ บิทคอยน์จะเติบโตไปที่ $150,000 ก็ไม่มีอะไรที่ควรจะหยุดไม่ให้คุณซื้อมันในราคาปัจจุบันเหล่านี้” Van De Poppe กล่าว

● แม้ว่าบิทคอยน์อยู่ในแนวโน้มที่นิ่งตัวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (มีความผันผวนที่ 4% ซึ่งถือว่านิ่งสำหรับบิทคอยน์) คู่แข่งหลักของมัน Ethereum มีความคึกคักกว่ามาก Ethereum ฟื้นตัวจากปีที่แล้ว โดยเหรียญนี้มีผลงานที่ยอดเยี่ยมนับตั้งแต่เดือนมกราคม โดยเติบโตมากกว่า 35% และขึ้นแตะระดับสำคัญที่ $3,000 ซึ่งเป็นผลมาจากภาค DeFi ที่ฟื้นตัวและความหวังว่าจะมีการเปิดให้บริการกองทุน ETF ที่อ้างอิง ETH ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ แต่บทรีวิวฉบับที่แล้วได้กล่าวไปแล้วถึงข้อกังวลของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่มองในแง่บวกด้วยเช่นกัน เช่น นักวิเคราะห์จาก Bernstein เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่มันจะเกิดขึ้น เกือบ 50% ที่จะเริ่มให้บริการในเดือนพฤษภาคม และเกือบ 100% ภายใน 12 เดือนข้างหน้า
“Ethereum มีอัตราผลตอบแทนที่ดี มีดีไซน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ในการสร้างตลาดการเงินใหม่ ซึ่งมีศักยภาพที่แข็งแกร่งที่จะได้รับการยอมรับโดยสถาบันต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยน่าจะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลทางเลือกเดียวรองจากบิทคอยน์ที่จะได้รับการอนุมัติกองทุน ETF อย่างชัดเจนจาก SEC” Bernstein รายงาน นักวิเคราะห์เชื่อว่า ทางการต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดหุ้นดั้งเดิมไม่ใช่แค่อยากจะเปิดให้บริการกองทุน ETFs Ethereum คล้ายกับของบิทคอยน์เท่านั้น แต่ยังตั้งใจที่จะ “สร้างตลาดการเงินที่โปร่งใสและเหรียญที่เปิดกว้างมากขึ้นบนเครือข่าย ETH ซึ่งการใช้ประโยชน์จะเป็นมากกว่าแค่การสะสมเหรียญเท่านั้น” ตามการคาดการณ์ของธนาคาร Standard Chartered ชี้ว่า หาก ETH-ETF ได้รับการอนุมัติ ราคาเหรียญนี้อาจขึ้นไปถึง $4,000 ในอนาคตอันใกล้

● ณ ช่วงเย็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ขณะที่เขียนรีวิวฉบับนี้ BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ในโซน $51,000 และ ETH/USD ที่ $2,935 มูลค่ารวมตามราคาตลาดคริปโตยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ $1.95 ล้านล้านดอลลาร์ฯ และดัชนี Crypto Fear & Greed ขยับขึ้นมายังกรอบด้านล่างของโซนความโลภสุดขั้ว (Extreme Greed) ที่ 76 จุด (ขึ้นมาจาก 72 จุดในสัปดาห์ที่แล้ว)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)