มีนาคม 2, 2024

EUR/USD: กระทิงอ่อนแอ vs. หมีอ่อนแอ

● ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา EUR/USD เทรดอยู่ในกรอบแคบ ๆ มาตลอด ข่าวต่าง ๆ ช่วยดันยูโรให้ขึ้นไปยังระดับแนวต้านที่ 1.0865 ในขณะที่ข่าวในทางบวกของฝั่งดอลลาร์พาราคาคู่นี้กลับมายังแนวรับที่ 1.0800 อย่างไรก็ตาม ทั้งฝั่งกระทิงและหมีต่างไม่มีกำลังมากพอที่จะพาราคาทะลุแนวรับและแนวต้านของทั้งสองฝั่งได้

● สถิติ GDP เบื้องต้นของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ ได้เพิ่มแรงกดดันต่อดอลลาร์ เพราะดัชนีออกมาต่ำกว่าทั้งการคาดการณ์และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 3.2% เทียบกับ 3.3% และ 4.9% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ฟื้นตัวได้ในวันถัดมา การรีบาวด์ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับดัชนีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนตัว (PCE) ของสหรัฐฯ ตัวชี้วัดนี้ใช้โดยธนาคารเฟดเพื่อคำนวณระดับเงินเฟ้อและเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดมาตรการในอนาคตของธนาคารกลาง

รายงานจากสำนักงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เผยว่า ดัชนี Core PCE ซ฿่งไม่รวมราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่มีความผันผวน นั้นอยู่ที่ 2.8% ปีต่อปีในเดือนมกราคม โดยต่ำกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 2.9% แต่ตรงกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์อย่างแม่นยำ ในส่วนการคาดการณ์รายเดือน ดัชนี PCE เพิ่มขึ้นจาก 0.1% เป็น 0.4% ผู้เล่นในตลาดจึงนึกถึงสถิติเงินเฟ้อของผู้บริโภค (CPI) และผู้ผลิต (PPI) ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้โดยทันที ซึ่งออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้พวกเขาเชื่อว่า แม้ว่า GDP จะลดลง ธนาคารกลางอาจเลื่อนการเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินออกไป (ปัจจุบัน ตลาดคาดหวังว่า ธนาคารเฟดจะเริ่มวัฎจักรการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนนี้)

ความเห็นสายเหยี่ยวจากผู้บริหารเฟด หลังการประกาศดัชนี PCE ช่วยหนุนดอลลาร์สหรัฐฯ Mary Daly ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกได้กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่ชะงักตัวได้ ในขณะที่ Raphael Bostic ประธานเฟดสาขาแอตแลนตาชี้ว่า อาจจะเหมาะสมที่ควรลดอัตราดอกเบี้ยในฤดูร้อนปีนี้

● ฝั่งผู้ขายเงินยูโรก็ได้รับอิทธิพลจากสถิติที่ค่อนข้างอ่อนแอจากยูโรโซนเช่นกัน ซึ่งปริมาณการให้สินเชื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมเติบโตอย่างล่าช้ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 ดัชนีนี้เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญอ้างถึงแรงกดดันต่อผู้บริโภคจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าเป็นสาเหตุหลักของแนวโน้มดังกล่าว และอาจเป็นข้อสนับสนุนเพิ่มเติมให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ในส่วนอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภค ตัวเลขนี้ในยุโรปค่อนข้างมีความหลากหลาย สถิติที่เผยแพร่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้วจากสเปนและฝรั่งเศสออกมาแข็งแกร่งกว่าการคาดการณ์ ในขณะที่ในเยอรมนี ดัชนี CPI ลดลงจาก 3.1% เหลือ 2.7% ปีต่อปี สอดรับกับการคาดการณ์ของตลาด ด้านพฤติกรรมของคู่ EUR/USD อาจได้รับอิทธิพลจากตัวเลขโดยรวมของยูโรโซน ซึ่งประกาศในวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ รายงานเบื้องต้นของ Eurostat ชี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2.6% ปีต่อปีในเดือนกุมภาพันธ์ โดยต่ำกว่า 2.8% ในเดือนมกราคม แต่สูงกว่าการคาดการณ์ที่ 2.5% ด้านตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานของเดือนลดลงเหลือ 3.1% ปีต่อปี เมื่อเทียบกับตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 3.3% แต่สูงกว่าการคาดการณ์ที่ 2.9% ในขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อลดลงรายปี แต่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในตัวเลขรายเดือน จาก -0.4% เป็น +0.6%

● ในช่วงท้ายสัปดาห์ทำการที่ผ่านมา ได้มีการประกาศสถิติสุดท้ายของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาค่อนข้างสร้างความผิดหวังให้กับตลาด ดัชนี PMI ของเดือนกุมภาพันธ์ลดลงจาก 49.1 เหลือ 47.8 จุด แม้ว่าตัวเลขคาดการณ์คิดว่าน่าจะสูงขึ้นที่ 49.5 ผลที่ตามมาก็คือ หลังจากราคารีบาวด์จากแนวรับที่ 1.0800 EUR/USD ก็เริ่มขยับขึ้นด้านบนอีกครั้ง และไปปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1.0839 ในส่วนการคาดการณ์ในระยะใกล้ ณ ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม มีผู้เชี่ยวชาญ 45% ที่โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น และราคาคู่นี้จะขยับลดลง 30% เห็นด้วยกับฝั่งยูโร ในขณะที่ 25% มีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 20% เท่านั้นที่ให้สัญญาณสีแดง อีก 20% ให้สีเทากลาง และ 60% ที่เหลือให้สัญญาณสีเขียว ซึ่ง 10% ของกลุ่มหลังสุดนี้ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought แล้ว ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 20% เป็นสีแดง และ 80% เป็นสีเขียว ส่วนระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่ 1.0800 ตามมาด้วย 1.0725-1.0740, 1.0680-1.0695, 1.0620, 1.0495-1.0515 และ 1.0450 โซนแนวต้านอยู่ที่บริเวณ 1.0845-1.0865, 1.0925, 1.0985-1.1015, 1.1050, 1.1110-1.1140 และ 1.1230-1.1275

● ในส่วนสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (PMI) ในสหรัฐฯ จะประกาศในวันอังคารที่ 5 มีนาคม ส่วนวันพุธและวันพฤหัสบดีจะมีการประกาศสถิติชุดหนึ่งจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยนาย Jerome Powell ประธานเฟดมีกำหนดจะกล่าวแถลงต่อสภาคองเกรสในวันเดียวกัน กิจกรรมหลักของสัปดาห์นี้จะเป็นการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม ซึ่งตลาดจะจับตารอดูท่าทีของธนาคารกลางยุโรปให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมคือ 4.50% และการแถลงข่าวที่ตามมาของผู้บริหารธนาคารฯ และความคิดเห็นต่อนโยบายทางการเงินในอนาคตจะเป็นส่วนที่น่าเฝ้าติดตาม ในช่วงท้ายสัปดาห์จะค่อนข้างมีความผันผวนเช่นกัน ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม เราจะได้รับสถิติ GDP ของยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 แล้วตามมาด้วยสถิติที่สำคัญเป็นอย่างมากจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งก็คือ อัตราว่างงาน ระดับค่าจ้างเฉลี่ย และจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (ดัชนี Non-Farm Payrolls หรือ NFP)

 

GBP/USD: งบประมาณจะช่วยหนุนเงินปอนด์หรือไม่?

● การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ธนาคารเฟด (Fed) และธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) จะมีขึ้นในวันที่ 20 และ 21 มีนาคม ตามลำดับ กิจกรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับปอนด์สเตอร์ลิงก์ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ คือ การประกาศงบประมาณโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรในวันที่ 6 มีนาคมนี้ งบประมาณนี้เป็นงบก่อนเลือกตั้ง นักยุทธศาสตร์จาก Rabobank ของเนเธอร์แลนด์จึงมองว่า น่าจะส่งผลเป็นอย่างมากต่อค่าเงินปอนด์ ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศ G10 ในปี 2024 รองจากดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ กติกาในปัจจุบันกำหนดให้การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรจะต้องจัดขึ้นไม่เกินวันที่ 28 มกราคม 2025 ซึ่ง นายกรัฐมนตรี Rishi Sunak กำลังวางแผนว่าจะจัดการเลือกตั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ตามรายงานจาก Guardian อย่างไรก็ตาม Daily Telegraph รายงานว่า การเลือกตั้งสภาล่างของรัฐบสภาสหราชอาณาจักรอาจมีขึ้นก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลินี้

● นักเศรษฐศาสตร์จาก Rabobank คาดว่า งบประมาณก่อนการเลือกตั้งจะประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นใหม่ให้กับเงินปอนด์ งบประมาณชุดนี้อาจรวมถึงการผ่อนคลายนโยบายทางการคลังแบบปานกลาง ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในการประกันสังคมแห่งชาติมากกว่าเรื่องภาษีรายได้ การปฏิรูปใด ๆ ที่อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการทำงานหรือการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบที่อาจกระตุ้นการลงทุนจะเป็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษต่อตลาด ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้นจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต และอาจมองได้ว่าเป็นปัจจัยในทางบวกต่อเงินปอนด์อังกฤษ

ทั้งธนาคาร Rabobank และ MUFG ของญี่ปุ่นต่างเขื่อว่า มาตรการกระตุ้นทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นไม่น่าจะเพียงพอที่จะปรับปรุงสถานการณ์เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม้แต่ ปัจจัยกระตุ้นดังกล่าวจำนวนเล็กน้อยก็น่าจะมีส่วนเสริมมุมมองทั่วไปว่า ธนาคารแห่งชาติอังกฤษไม่น่าจะรีบลดอัตราดอกเบี้ยและน่าจะไม่ดำเนินการดังกล่าวในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน

● ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมคือ 5.25% โดยมีคำแถลงคู่กันว่า “จะต้องมีหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคจะลดลงเหลือ 2.0% และคงอยู่ที่ระดับดังกล่าวก่อนจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย” ผู้เล่นในตลาดคาดหวังให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ความคาดหวังนี้ถูกเก็งไว้ในราคาอยู่แล้ว และป้องกันไม่ให้คู่ GBP/USD ขยับลดลง

อย่างไรก็ตาม หากอัตราเงินเฟ้อยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 4.0% ในเดือนกุมภาพันธ์ และ GDP ประเทศหดตัว -0.3% ดูเหมือนว่ารัฐบาลตั้งใจจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการคลังใหม่ อย่างไรก็ตาม หากมาตรการเหล่านี้ไม่นำไปสู่ GDP ที่เติบโตขึ้น อาจมีการหารืออีกครั้งเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยทันที ซึ่งจะส่งแรงกดดันต่อเงินปอนด์

GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 1.2652 โดยลดลงมาเพื่อออกจากกรอบด้านข้างระยะกลางที่  1.2600-1.2800 ในส่วนการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในอนาคตอันใกล้นี้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกอย่างเท่า ๆ กัน หนึ่งในสามโหวตว่าคู่นี้จะขยับลดลง หนึ่งในสามโหวตว่าจะขยับขึ้น และอีกหนึ่งในสามมีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 25% ที่ชี้ไปยังทิศใต้ 40% ไปยังทิศเหนือ และ 35% ที่เหลือชี้ไปยังทิศตะวันออก ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ยังคงเข้าข้างฝั่งเงินปอนด์เหมือนในสัปดาห์ที่แล้ว โดย 80% ชี้ไปยังทิศเหนือ และ 20% เป็นทิศใต้ ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่าง จะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับที่ 1.2575-1.2600, 1.2500-1.2535, 1.2450, 1.2375 และ 1.2330 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นมาจะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2695-1.2710, 1.2785-1.2815, 1.2880, 1.2940, 1.3000 และ 1.3140

● นอกจากการประกาศงบประมาณของประเทศในวันที่ 6 มีนาคมแล้ว ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญใด ๆ ของสหราชอาณาจักรในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

 

USD/JPY: การคาดการณ์ด้วยกลีบดอกไม้

● มีวิธีการโบราณในการทำนายอนาคตโดยใช้ดอกไม้ คือ การเด็ดดอกไม้มาดอกหนึ่งแล้วเด็ดกลีบออกทีละกลีบ กลีบแรกแปลว่าคน ๆ นั้นรักเรา กลีบที่สองแปลว่าไม่รัก กลีบที่สามคือรัก สี่คือไม่รัก และต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงกลีบสุดท้าย ซึ่งเชื่อกันว่ากลีบสุดท้ายจะเป็นกลีบที่เป็นจริง วิธีการทำนายอนาคตนี้อาจนำมาใช้อย่างหเหมาะเจาะได้กับกรณีของธนาคารกลางแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินหรือไม่ จะเปลี่ยน หรือไม่เปลี่ยน เปลี่ยน หรือไม่…

อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอาจทำให้เงินเยนมีราคาถูกลง ซึ่งก็ช่วยกระตุ้นการส่งออก ทำให้สินค้าของญี่ปุ่นแข่งขันได้ดีในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งนั้นก็เป็นการสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพราะทำให้การนำเข้าสินค้ามีราคาแพงมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าพลังงาน

ในเดือนมกราคม ดุลการค้าติดลบเป็นอย่างมาก ในเดือนธันวาคม ดุลการค้ายังดูดีในส่วนการนำเข้า (+69 ล้านเยน) ในเดือนมกราคม ตัวเลขดังกล่าวลบถึง -1758 พันล้านเยน เมื่อดูดุลการค้าตลอดปี 2023 ตัวเลขนำเข้ามักจะแพ้ตัวเลขส่งออก การผลิตเชิงอุตสาหกรรมลดลง -7.5% ในเดือนมกราคม ซึ่งอาจต่ำกว่าการเติบโตครั้งก่อนหน้าที่ +1.4% และการคาดการณ์ที่ -6.7% ดังนั้น ทางการญี่ปุ่นจึงอาจจะเป็นเหมือนกับวิธีการเด็ดดอกไม้แบบโบราณนี้ คือ อาจสงสัยว่าวิธีไหนนั้นดีและสำคัญกว่ากันระหว่างการพยุงเศรษฐกิจหรือการต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ในระหว่างนี้ BoJ ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมใด ๆ แต่จำกัดอยู่กับคำพูดที่กำกวม และหลายครั้งก็มักจะขัดแย้งกัน

● ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ หลังการแถลงความเห็นสายเหยี่ยวของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) Hajime Takata กรรมการบริหารธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวว่า ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 0.68% เป็น 0.71% และ USD/JPY ร่วงลงจาก 150.14 เหลือ 149.20 ผู้บริหารท่านนี้กล่าวว่า BoJ จะพิจารณาการปรับมาใช้มาตรการที่ยืดหยุ่นมากกว่า เช่น การค่อย ๆ ละทิ้งนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งนักลงทุนตีความว่าเป็นสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม แค่หนึ่งวันถัดมา Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นได้กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการที่ GDP ลดลงในไตรมาสที่สี่นั้นเป็นการปรับฐานหลังจากมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด Ueda ให้ความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังลดลงในอัตราที่รวดเร็วกว่าที่คาดคิด โดยไม่ต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยใด ๆ หลังจากคำแถลงนี้ USD/JPY กลับทิศทางขึ้นไปด้านบนและขยับขึ้นไปที่ 150.70

● ข้อดีหลักของเงินเยนในขณะนี้คือ แม้ว่าธนาคารกลาง G10 ขนาดใหญ่กำลังพิจารณาเรื่องการผ่อนคลายนโยบาย ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นสามารถพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดให้กับนโยบายเท่านั้น ชัดเจนว่าธนาคารฯ จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบอยู่แล้วที่ -0.10% Commerzbank ยังคงไม่ตัดโอกาสที่ BoJ อาจตัดสินใจเริ่มต้นปรับนโยบายทางการเงินให้เข้าสู่สภาวะปกติในเร็ว ๆ นี้ “อย่างไรก็ดี เราคาดว่ามันจะมีผลจำกัด” กล่าวโดยนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร “เหมือนกับในปี 2000 และ 2006 การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกน่าจะช่วยชะลอเงินเฟ้อ หลังจากนั้นจะไม่มีการปรับสมดุลอีกต่อไป” ธนาคาร Commerzbank จึงให้การคาดการณ์ว่า USD/JPY จะค่อย ๆ ขยับลงมายัง 142.00 ภายในเดือนธันวาคมในปีนี้ หลังจากนั้นจะขยับขึ้นไปที่ 146.00 ภายในสิ้นปี 2025

● ในสัปดาห์ที่แล้ว ราคาคู่นี้ปิดท้ายอยู่ที่ 150.10 ตามมาด้วยการประกาศดัชนี PMI ที่อ่อนแอในภาคการผลิตของสหรัฐฯ  เมื่อมองไปในอนาคต การคาดการณ์กลางของนักวิเคราะห์ 60% อยู่ฝั่งหมี ส่วน 20% เป็นฝั่งกระทิง และ 20% มีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 65% เป็นสีเขียว (10% อยู่ในโซน overbought) และ 35% ที่เหลือให้สีเทากลาง คล้ายกันนั้น 65% ของอินดิเคเตอร์เทรนด์ให้สีเขียว และ 35% ให้สีแดง โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 149.60 ตามมาด้วย 149.20, 148.25-148.40, 147.65, 146.65-146.85, 144.90-145.30, 143.40-143.75, 142.20 และ 140.25-140.60 ด้านระดับและโซนแนวต้านอยู่ที่ 150.90, 151.70-152.05 และ 153.15

● ในวันอังคารที่ 5 มีนาคมที่จะถึงนี้ ที่น่าจับตามองคือการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของโตเกียว และไม่มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นอื่น ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้

 

สกุลเงินคริปโต: สถิติใหม่สำหรับ “ราชาผู้เปลือยเปล่า”

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 4 - 8 มีนาคม 20241

● ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บิทคอยน์ได้ทำระดับสูงสุดเทียบกับสกุลเงินท้องถิ่นในหลายประเทศ ในขณะนี้ บิทคอยน์กำลังวางเป้าที่จะทดสอบและอาจแซงขึ้นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ $68,917 ที่เคยทำไว้ได้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 อย่างน้อย พฤติกรรมราคาในขณะนี้ก็บ่งบอกถึงเป้าหมายดังกล่าว โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ราคาอยู่ที่ $50,894 และ BTC/USD พุ่งขึ้นไปที่ $63,925 เมื่อวันพุธ โดยขึ้นมากว่า 25% ในเวลาเพียงสามวันเท่านั้น ในเวลานี้ ดัชนี Bitcoin Fear & Greed Index พุ่งขึ้นมา 82 จุด เข้าสู่โซนความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) ด้าน Matt Simpson นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสที่ City Index เขียนว่า “หากว่านี่เป็นตลาดอื่น ๆ คงถูกมองว่าเป็น “ตลาดกำลังคุกรุ่น และให้ออกห่างจากฟองสบู่นี้” แต่บิทคอยน์ได้เข้าสู่ระยะการทะยานขึ้นแบบพาราโบลิก และไม่มีสัญญาณว่าจุดสูงสุดกำลังก่อตัวในเร็ว ๆ นี้”

● ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา BTC มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $41,877 ดังนั้น ในเวลาเพียง 29 วัน ทองคำดิจิทัลมีมูลค่าขึ้นกว่า 50% จึงทำให้เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดสำหรับนักลงทุนในช่วงสามปีที่ผ่านมา เราได้พิจารณา 5 สาเหตุเบื้องหลังการทะยานขึ้นที่กำลังเกิดขึ้นในบทรีวิวฉบับที่แล้วของเรา ตั้งแต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดถึงสำคัญน้อยที่สุด การลงทุนจำนวนมากในกองทุน Bitcoin ETFs สปอตทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกระแสความต้องการบิทคอยน์ อย่างไรก็ตาม JPMorgan ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การซื้อกองทุนจากนักลงทุนคริปโตรายย่อยที่มักจะลงทุนเป็นเงินจำนวนไม่มากนั้นแซงหน้ากระแสเงินสดจากบริษัทรายใหญ่เป็นอย่างมากในจุด ๆ นี้

นักวิเคราะห์จาก Glassnode เชื่อว่า สถานการณ์ปัจจุบันคล้ายกับกระแสตลาดที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2020-2021 พฤติกรรมของกระแสเงินทุน กิจกรรมการแลกเปลี่ยน เลเวอเรจในอนุพันธ์คริปโต และความต้องการจากทั้งนักเก็งกำไรรายสถาบันและนักลงทุนรายย่อยต่างแสดงถึงการระเบิดขึ้นของความต้องการจากนักลงทุน สัญญาณการเก็งกำไรนั้นยังปรากฏในตลาดอนุพันธ์ด้วยเช่นกัน สัญญาการซื้อขายแบบ open interest (OI) ในฟิวเจอร์สบิทคอยน์แตะ $21 พันล้านเหรียญฯ และยังเข้าใกล้ระดับสูงสุดของปี 2021 โดยมี 7% ของวันทำการเทรดเท่านั้นที่ค่า OI สูงกว่า จำนวนคำสั่งขา short บิทคอยน์ที่ถูกขจัดไปมากขึ้นเป็นอย่างมากนั้นทำหน้าที่เป็นปัจจัยกระตุ้นเพิ่มเติม 

● IMax Keiser นักลงทุน ผู้ก่อตั้ง Heisenberg Capital และพิธีกรรายการ Keiser Report ได้เชื่อมโยงการลงทุนในบิทคอยน์กับการซื้อหุ้น Berkshire Hathaway ของนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ในช่วงเดือนมีนาคม 1985 ซึ่งในขณะนั้นราคาอยู่ที่หุ้นละ $1,500 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มูลค่าของหุ้นเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็น $629,000 นาย Keiser ชี้ว่า บิทคอยน์อาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 41,000% หากบิทคอยน์ประสบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดดังกล่าว แต่ละเหรียญจะมีมูลค่ากว่า $21,000,000 ในสถานการณ์นี้ มูลค่ารวมในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะขึ้นไปเกิน $450 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมากกว่ามูลค่าของบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อเทียบกันแล้ว มูลค่าตามราคาตลาดปัจจุบันของ Apple Inc. อยู่ที่ $2.82 ล้านล้านเหรียญฯ และขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลก ตามมาด้วย Microsoft ที่มีมูลค่าอยู่ที่ $2.0 ล้านล้านเหรียญฯ, Alphabet ที่ $1.77 ล้านล้านเหรียญฯ, และ  Amazon ที่ $1.6 ล้านล้านเหรียญฯ

นอกจากนี้ Max Keiser ยังได้ออกคำเตือนต่อนักเทรดและนักลงทุนเกี่ยวกับโอกาสที่จะเกิดตลาดหุ้นขาลงในสหรัฐฯ ที่คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 1987 เขากล่าวว่า “เหตุการณ์ตลาดหุ้นทรุดตัวในปี 1987 กำลังจะมาถึง บิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สมบูรณ์แบบ โดยราคาของมันอาจขึ้นไปเหนือ $500,000” ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ บิทคอยน์ได้ “ออกจาก” การเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง เพราะหุ้น และความสัมพันธ์กับดัชนีหุ้นอย่าง S&P500, Dow Jones และ Nasdaq ลดลงเกือบเป็นศูนย์

● หลังจาก BTC/USD ทะลุระดับ $56,000 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์  Peter Brandt นักเทรดในตำนาน นักวิเคราะห์ และประธานบริษัท Factor LLC ได้ทบทวนการคาดการณ์ราคาบิทคอยน์ในปี 2025 จาก $120,000 เป็น $200,000 โดยผู้เชี่ยวชาญได้ปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์ เพราะบิทคอยน์ได้ฝ่าขึ้นไปยังกรอบด้านบนของแนวต้านระยะ 15 เดือน (บนกราฟ BTC/USD จะเห็นเส้นเทรนด์ไลน์ที่เชื่อมต่อราคาต่ำสุดของเดือนพฤศจิกายน 2022 กับของเดือนกันยายน 2023 รวมถึงราคาสูงสุดของเดือนเมษายน 2023 และเดือนมกราคม 2024) นาย Brandt มองว่า วัฎจักรกระทิงในขณะนี้จะสิ้นสุดลงในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2025 ซึ่งในเวลานั้น ราคาทองคำดิจิทัลคาดว่าจะไปถึงระดับเป้าหมายที่ระบุ

ในส่วนการออกจากการเทรด Brandt พูดติดตลกหรืออาจจะจริงจังว่า เขาจะใช้สายตาเลเซอร์ (laser eyes) บน X ว่าเป็น “อินดิเคเตอร์ตรงกันข้าม” เหมือนกับในปี 2021 “ดังนั้นทุกคน ถ้าคุณอยากให้บิทคอยน์คงอยู่ในเทรนด์ที่แข็งแกร่ง โปรดอย่าโพสต์รูป laser eyes บนรูปโปรไฟล์ในโซเชียลของพวกคุณ พอมันมีมากเกินไปจะเป็นสัญญาณให้ถึงเวลาที่ต้องขาย”

ตัวเลขที่คล้ายกันนั้นยังระบุโดย ChatGPT-4 ซึ่ง Artificial Intelligence ระบุว่า ภายในเดือนสิงหาคม 2025 ราคาของ BTC อาจแตะถึง $179,000 ChatGPT-4 ยังได้ตระหนักถึงความยากลำบากในการคาดการณ์อย่างแม่นยำ และเตือนว่า “การคาดการณ์เหล่านี้เป็นความคิดเท่านั้น และยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ การกำกับดูแล และเทคโนโลยีที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้”.

● ในส่วนปีปัจจุบัน 2024 นั้น ราคาบิทคอยน์อาจแตะถึง $150,000 นี่คือความเห็นของ นาย Tom Lee ผู้ร่วมก่อตั้ง Fundstrat บริษัทด้านการวิเคราะห์ เขาอ้างถึงหลายปัจจุบันที่ช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ของเขา กองทุน ETFs ช่วยเพิ่มอุปสงค์ Halving ช่วยลดอุปทาน และการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินตามคาด ทั้งหมดนี้เอื้อต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น บิทคอยน์ นายทอม ลี แนะนำด้วยว่าตลาดคริปโตไม่น่าจะเจอกับการปรับฐานในเร็ว ๆ นี้ เมื่อมองไปข้างหน้า เขายืนยันการคาดการณ์ของเขาว่า บิทคอยน์อาจแตะถึง $500,000 ภายในห้าปีข้างหน้า โดยให้มันเป็นรูปแบบเงินที่น่าเชื่อถือและใช้ประโยชน์ได้ “มันเป็นเครื่องสะสมมูลค่าที่ดีเยี่ยมและเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงที่ดี ซึ่งปลอดภัยอย่างยอดเยี่ยมด้วย” กล่าวเสริมโดยผู้ร่วมก่อตั้ง Fundstrat

● ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $62,500 มูลค่ารวมในตลาดคริปโตได้แซงขึ้นระดับสำคัญที่ $2 ล้านล้านเหรียญฯ และแตะที่ $2.34 ล้านล้านเหรียญฯ (ขึ้นมาจาก $1.95 ล้านล้านเหรียญฯ ในสัปดาห์ที่แล้ว) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นมาจาก 76 เป็น 80 จุด และอยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Greed Zone)

● และสุดท้ายนี้ในขณะที่หลาย ๆ คนกำลังยินดีกับตลาดกระทิง ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารกลางยุโรปมีความเห็นที่ตรงกันข้าม และมองว่ามูลค่าที่เหมาะสมของบิทคอยน์จริง ๆ แล้วคือ ศูนย์ แม้ว่าจะมีการอนุมัติกองทุน ETFs บิทคอยน์ในสหรัฐฯ และราคากำลังทะยานขึ้นในขณะนี้ก็ตาม

ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ผู้เชี่ยวชาญจาก ECB ได้เผยแพร่บทความในหัวข้อเรื่อง “Bitcoin’s Last Stand” ซึ่งพวกเขาอธิบายถึงการมีเสถียรภาพของราคาคริปโตว่าเป็นจุดยืนที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเทียม ๆ สุดท้ายก่อนเส้นทางไปสู่ความหมดสมัยของมันในที่สุด ตั้งแต่นั้นมา ราคาของบิทคอยน์ก็ได้ขยับขึ้นมาจาก ~$17,000 ถึง ~$59,000 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญลังเลที่จะเปลี่ยนความคิดแต่อย่างใด ในเรียงความเรื่องใหม่ "ETF Approval – The Emperor's New Clothes" พวกเขากล่าวว่า ข้อสนับสนุนหลักของพวกเขาจากเมื่อหนึ่งปีที่แล้วยังคงถูกต้อง ประการแรกก็คือ บิทคอยน์ล้มเหลวในการเป็นสกุลเงินดิจิทัลกระจายศูนย์สำหรับการชำระเงินสากล ประการที่สองก็คือ สกุลเงินคริปโตไม่ได้กลายเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ใช้งานได้ที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“บิทคอยน์ยังคงไม่เหมาะสำหรับการลงทุน” “มันไม่ได้สร้างกระแสเงินสดใด ๆ (เหมือนกับอสังหาริมทรัพย์) หรือให้เงินปันผล (เหมือนกับหุ้น) ไม่สามารถใช้สร้างประโยชน์ได้ (เหมือนกับสินค้าโภคภัณฑ์) ไม่มีประโยชน์ทางสังคมใด ๆ (เหมือนกับเครื่องประดับทองคำ) หรือมูลค่าทางจิตใจที่มาจากทักษะอันยอดเยี่ยม (เหมือนผลงานศิลปะ)” กล่าวสรุปโดยผู้เชี่ยวชาญจาก ECB สิ่งที่น่าสนใจและต้องมาดูกันก็คือว่า พวกเขาจะพูดอะไรหากการคาดการณ์ เช่น ของนาย Max Keiser ออกมาถูกต้อง และ “ราชาผู้เปลือยเปล่า” อย่างบิทคอยน์นั้นมีมูลค่า $21 ล้านเหรียญฯ ต่อเหรียญขึ้นมาจริง ๆ

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้


« การวิเคราห์ตลาดและข่าว
รับการฝึก
มือใหม่ในตลาดใช่ไหม?ใช้ส่วน เริ่มฝึกฝน เริ่มฝึกฝน
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)