กรกฎาคม 25, 2023

จอร์จ โซรอส คือชื่อที่กระตุ้นหลากหลายอารมณ์ให้กับคนทั่วโลก สำหรับบางคน เขาเป็นสัญลักษณ์ของการมีไหวพริบที่เฉียบแหลม และผู้ใจบุญ สำหรับบางคน เขาคือคนที่ปลุกปั่นทางการเมือง แต่จริง ๆ แล้ว ชายผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่ากว่า $8.5 พันล้านดอลลาร์คนนี้คือใครกันแน่?

ช่วงเริ่มต้น

จอร์จ โซรอส มีชื่อโดยกำเนิดคือกียอร์จี โซรอส (György Soros) เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1930 ที่กรุงบูดาเปสท์ ประเทศฮังการี เขามาจากครอบครัวชาวยิว พ่อแม่ของเขาชื่อ ทิวาดาร์ และแอร์ซาเบธ โซรอส เลี้ยงดูเขาอย่างครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ แต่ชีวิตของพวกต้องเปลี่ยนไปตลอดกาลหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครอบครัวชาวยิวของเขาเจอภัยคุกคามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ครอบครัวโซรอสรอดจากอุปสรรคครั้งใหญ่มาได้ โดยทิวาดาร์ช่วยเหลือครอบครัวของเขา โดยกุเรื่องขึ้นมาว่าพวกเขาเป็นชาวคริสเตียน และทำเอกสารปลอมขึ้นมาเพื่อรองรับคำโกหกเหล่านั้น ประสบการณ์นี้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อจอร์จในวัยเด็ก ต่อมาเขาเคยพูดว่า ความสามารถของเขาในการทำความเข้าใจ “สิ่งที่มันเป็นได้ ไม่ใช่สิ่งที่มันเป็น” ปรากฏขึ้นมาจากช่วงเวลานี้

หลังสงคราม โซรอสย้ายมาอยู่ลอนดอน ซึ่งเขาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัย London School of Economics (LSE) ที่นี่เอง เขาได้ค้นพบผลงานของ คาร์ล ป็อปเพอร์ (Karl Popper) นักปรัชญาผู้โด่งดังที่ช่วยขัดเกลามุมมองของเขาต่อสังคมและเศรษฐกิจ

ชายผู้เอาชนะธนาคารกลางอังกฤษ: เรื่องราวของเงินพันล้านดอลลาร์ของจอร์จ โซรอส1

อาชีพการเงินของเขา

หลังจากเรียนจบจาก LSE ในปี 1952 โซรอสก็เริ่มทำงานที่ Singer & Friedlander ในกรุงลอนดอน ในปี 1956 เขาย้ายมาสหรัฐอเมริกา และเริ่มทำงานที่ธนาคารเพื่อการลงทุน F.M. Mayer ในวอลล์สตรีท นิวยอร์ก โดยมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหลักทรัพย์ยุโรป ในปี 1959 เขาเข้าร่วมกับ Arnhold & S. Bleichroeder ซึ่งเขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัท จากนั้นในปี 1963 เขาได้ก่อตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนแรกเป็นของตนเองมีชื่อว่า “Double Eagle” ซึ่งใน 10 ปีต่อมา กองทุนนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “Soros Fund Management” ในช่วงนี้เอง Soros ได้ลาออกจาก Arnhold & S. Bleichroeder เพื่อหันมาให้ความสำคัญกับกองทุนของตนเอง

โซรอสบริหาร 'Soros Fund Management' จนกองทุนเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “Quantum Fund” และกลายเป็นรากฐานของความร่ำรวยและชื่อเสียงของเขาในโลกการเงิน ในเดือนกันยายน 1992 จอร์จ โซรอส ขึ้นสู่จุดสูงสุดของความสำเร็จทางธุรกิจของเขา เมื่อเขา “ทำลาย” เงินปอนด์อังกฤษ การกระทำนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “วันพุธทมิฬ” ซึ่งโซรอสทำเงินกำไรได้หลายพันล้านดอลลาร์ และดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก เขาได้รับสมญานามว่าเป็น “ชายผู้ทำลายธนาคารกลางอังกฤษ” ทำให้เขาเป็นที่โด่งดัง ไม่ใช่แค่ในอาณาจักรของนักธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงสาธารณะทั่วไปด้วย

ในตอนนั้น ยุโรปมีกลไกอัตราแลกเปลี่ยนของยุโรป (ERM) ซึ่งเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนภายในระบบการเงินของยุโรป ระบบนี้กำหนดให้สกุลเงินของประเทศที่เป็นสมาชิกจะต้องมีการรักษาไว้ในกรอบความผันผวนในระดับใดระดับหนึ่ง เงินปอนด์อังกฤษอยู่ในระบบนี้เช่นกัน โดยมีการผูกอัตราแลกเปลี่ยนไว้ระหว่างเงินปอนด์กับเงินมาร์คของเยอรมนีอย่างมีข้อจำกัดที่เฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เศรษฐกิจเจอแรงกดดันสูง และมีการเก็งกำไรจากตลาดค่าเงิน การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนในเงื่อนไขนี้จึงเกิดเป็นปัญหา

โซรอสมองเห็นโอกาสในการเก็งกำไรในสถานการณ์นี้ กองทุน Quantum Fund ของเขาเริ่มขายเงินปอนด์อย่างดุเดือด ทำให้เกิดแรงกดดันต่อค่าเงินเป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้เรียกว่า หมีทุบ' ซึ่งโซรอสและทีมงานของเขาแห่ขายเงินปอนด์ที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของ เพื่อหวังว่าจะเข้ามาซื้อในภายหลังที่ราคาต่ำกว่า และทำกำไรจากส่วนต่างของราคา

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1992 หรือ “วันพุธทมิฬ” ธนาคารแห่งชาติอังกฤษถูกบีบให้ต้องประกาศลดค่าเงินตราของเงินปอนด์และออกาจกระบบ ERM ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามหลายครั้งที่จะสนับสนุนค่าเงินผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการแทรกแซงตลาดค่าเงิน เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เงินปอนด์ร่วงลงถึง 15% เทียบกับมาร์คเยอรมัน และ 25% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รายงานระบุว่า จอร์จ โซรอส ทำเงินได้กว่า $1 พันล้านดอลลาร์ในข้ามคืน ทำให้เขากลายเป็นนักเก็งกำไรค่าเงินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ และ Quantum Fund ก็เป็นหนึ่งในเฮดจ์ฟันด์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

โซรอส และ Quantum Fund ทำเงินอย่างไร

หนึ่งในหลักการหลักของโซรอสคือ “ทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์” ซึ่งมองว่าตลาดเป็นระบบที่ไม่มีความเสถียรและคาดการณ์ไม่ได้ โดยมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น เขาจึงใช้กลยุทธ์การเก็งกำไรและการทำอาร์บิทราจ หรือการพยายามทำกำไรจากความผันผวนราคาในระยะสั้นและจากภาวะขาดสมดุลในตลาด โซรอสและ Quantum Fund ของเขาทำเงินรายได้มาจากการใช้เครื่องมือการลงทุนและเทคนิคที่หลากหลาย รวมถึงการซื้อหุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ สกุลเงิน และตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน เช่น โซรอสได้ลงทุนในหุ้นบริษัทไอทีในช่วงปลายปี 1990 และทำกำไรได้จากการขายหุ้นเหล่านี้ก่อนที่ “ฟองสบู่ดอทคอม” จะแตกลงในปี 2000

อย่างไรก็ดี การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ และแม้แต่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดก็สามารถทำพลาดได้เช่นกัน จอร์จ โซรอส เองก็เคยทำพลาด การซื้อขายบางธุรกรรมก็นำกำไรมหาศาลมาให้กับเขาและ Quantum Fund ในขณะที่หลายครั้งก็มาพร้อมกับการขาดทุน อย่างไรก็ดี โซรอสสามารถรักษาตำแหน่งนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและมีอิทธิพลสูงสุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ได้ และกลยุทธ์รวมถึงแนวทางของเขาก็มีอิทธิพลต่อโลกการเงิน

จาก “ชายผู้ทำลายธนาคารกลางอังกฤษ” สู่การกุศล

จอร์จ โซรอส เป็นมากกว่าแค่นักธุรกิจในตำนาน เขามีความสนใจที่กว้างกว่าแค่วอลล์สตรีท เขามีบทบาทอย่างมากในกิจกรรมการกุศล โดยใช้เงินจำนวนมากเพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อการกุศลมากมาย ในปี 1979 โซรอสได้ก่อตั้งมูลนิธิ Open Society Foundations (OSF) ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในองค์กรการกุศลขนาดใหญที่สุดของโลก มูลนิธินี้ดำเนินโครงการในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก โดยมีตัวอย่างโครงการดังนี้:

การศึกษาและวิทยาศาสตร์: มูลนิธินี้สนับสนุนโครงการริเริ่มที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่โครงการช่วยเหลือเด็กจากครอบครัวยากไร้ ไปจนถึงการสนับสนุนงานวิจัยและงานวิชาการของมหาวิทยาลัย ในปี 1991 โซรอสได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย Central European University ขึ้นในเมืองบูดาเปสท์

การปกป้องสิทธิมนุษยชน: OSF ให้เงินสนับสนุนองค์กรและกลุ่มเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สิทธิของผู้อพยพ แรงงานข้ามชาติ ชุมชน LGBT+ และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ

ความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย: มูลนิธิของเขาสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการต่อสู้ปัญหาการทุจริต และพัฒนาการทำงานของระบบกฎหมายและความยุติธรรม

ระบบสาธารณสุข: OSF มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการแก้ไขบางปัญหาสุขภาพที่สำคัญมากที่สุด เช่น โรค HIV/เอดส์ วัณโรค การติดยาเสพติด

ความเป็นอิสระของสื่อ: มูลนิธิสนับสนุนสื่อและนักเขียนที่เป็นอิสระที่ต้องเผชิญกับการถูกเซนเซอร์และถูกกดขี่ทางกฎหมาย

อย่างที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ หนึ่งในเป้าหมายของมูลนิธิ OSF คือเพื่อสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนและพยายามสร้างอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา หรือในที่ที่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยถูกคุกคาม การทำงานอย่างมีบทบาทสำคัญในทิศทางนี้ทำให้เขากลายเป็นศูนย์กลางของทฤษฎีสมคบคิดมากมาย เศรษฐีพันล้านท่านนี้มักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปฏิวัติสีและการประท้วงใหญ่ในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม สื่อหลายสำนักตั้งข้อสังเกตว่า โซรอสและมูลนิธิของเขาไม่ได้เป็นผู้คสบคุมหรือจัดการปฏิวัติเหล่านี้โดยตรง ในส่วนข้อกล่าวหา ส่วนใหญ่มาากรัฐบาลเผด็จการหรือกลุ่มการเมืองที่มองว่ากิจกรรมของมูลนิธิของเขาเป็นภัยคุกคามอำนาจ

ตัวอย่างเช่น ในปี 2018 OSF ถูกบังคับให้ยุติการดำเนินกิจกรรมในฮังการี เนื่องด้วยแรงกดดันอย่างต่อเนื่องและการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลของ Viktor Orban ซึ่งกล่าวหามูลนิธิว่ามีการบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติ และแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ ในส่วนเหตุการณ์อื่น ๆ หลายคนมองว่าโซรอสนั้นอยู่เบื้องหลัง “ปฏิวัติกุหลาบ” ในจอร์เจีย (2003) และ “ปฏิวัติสีส้ม” ในยูเครน (2004-2005) และ “ปฏิวัติทิวลิป” ในคีร์กีซสถาน (2005)

โซรอสเขียนหนังสือเรื่องใดบ้างและเขาเตือนเกี่ยวกับอะไร

จอร์จ โซรอส ไม่ใช่แค่นักการเงินและนักการกุศลเท่านั้น เขายังเป็นนักวิจารณ์ นักคิด และนักเขียนตัวยงอีกด้วย เขาเป็นเจ้าของหนังสือหลายเล่ม รวมถึงบทความและเรียงความมากมาย โดยเขาได้ใช้การวิเคราะห์เศรษฐกิจและแนวโน้มทางการเงินผสมผสานกับประเด็นเรื่องการเมืองและสังคม ทำให้ผลงานของเขามีความน่าสนใจสำหรับผู้อ่านที่เป็นมืออาชีพและผู้อ่านทั่วไป

ตัวอย่างหนังสือที่เขาเขียน ได้แก่:

"The Alchemy of Finance" ปี 1987 - ในหนังสือเล่มนี้ โซรอสได้ให้ข้อคิดมุมมองเกี่ยวกับการเงินและเศรษฐศาสตร์ รวมถึง “ทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์” ของเขา ทฤษนี้ชี้ว่า การตัดสินใจในการซื้อและขายหลักทรัพย์นั้นขึ้นอยู่กับความคาดหวังต่อราคาในอนาคต ความคาดหวังเหล่านี้เป็นเรื่องของจิตวิทยาทั้งสิ้น ดังนั้น ความคาดหวังเหล่านี้สามารถถูกขับเคลื่อนด้วยอิทธิพลเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนได้ (โดยหลักคือผ่านสื่อต่าง ๆ)

"Underwriting Democracy" ปี 1991 - ในหนังสือเล่มนี้ โซรอสได้แบ่งปันความเห็นและประสบการณ์ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเป็นระบบประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกหลังจากคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง

"The Crisis of Global Capitalism: Open Society Endangered" ปี 1998 - ในผลงานนี้ โซรอสได้วิเคราะห์วิกฤติกการเงินระหว่างปี 1997-1998 และผลที่ตามมาที่เกิดขึ้นในโลก

"The Tragedy of the European Union: Disintegration or Revival?" ปี 2014 - หนังสือเล่มนี้เป็นบทสนทนาระหว่างโซรอส กับ เกรเกอร์ ชมิท ซึ่งพวกเขาพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของสหภาพยุโรปและบทบาทของรัสเซียในโลก

คำพูดจากผลงานของโซรอสสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการความคิดและมุมมองของเขาต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมีคำพูดที่โด่งดัง เช่น:

– "ผมไม่กลัวที่จะขวางโลก ไม่กลัวที่จะขัดคนหมู่มาก”

– "ราคาตลาดจะผิดเสมอ ในแง่ที่มันแสดงถึงมุมมองต่ออนาคตอย่างมีอคติ"

– "ตลาดเป็นตัวสะท้อนถึงความมีสติโดยรวมของเรา แต่ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ"

– “ไม่มีประโยชน์เลยที่จะมั่นใจในตนเอง และถือคำสั่งขนาดเล็ก”

– “ผมรวยเพียงเพราะผมรู้เวลาที่ตนเองผิด”

– “ยิ่งระบบซับซ้อนมากเท่าไร ยิ่งมีพื้นที่ให้สำหรับความผิดพลาดมากเท่านั้น”

– "ตลาดการเงิน ไม่ว่าเราจะพยายามที่จะคาดการณ์มันขนาดไหน มันจะเต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจเสมอ”

– "สำหรับบางคนแล้ว การเป็นฝ่ายผิดเป็นเรื่องที่น่าละอาย สำหรับผมแล้ว การเข้าใจข้อผิดพลาดของตนเองคือที่มาของความภาคภูมิใจ"

– "ผมเลือกที่จะทำดี เพราะมันน่าพึงพอใจมากกว่าสำหรับผม"

– "การเข้าใจผิดและการแสดงวิธีการทำงานของอะไรบางอย่างอย่างผิด ๆ คือที่มาของความผิดพลาดหลายอย่าง หรือแม้กระทั่งส่วนใหญ่ในการเมือง”

– “หากการลงทุนเป็นเรื่องน่าบันเทิง และคุณสนุกกับมัน คุณอาจจะไม่ได้ทำเงินเท่าไร การลงทุนที่ดีนั้นน่าเบื่อ”

– "มันไม่ใช่ว่าคุณถูกหรือผิดที่เป็นเรื่องสำคัญ แต่คุณทำเงินได้เท่าไรต่างหากเวลาที่คุณถูก และคุณเสียเงินเท่าไรเวลาที่คุณผิด”


« บทความมีประโยชน์
ติดตามเรา (ในโชเซียลเน็ตเวิร์ค)